วันพุธ, มกราคม 21, 2552

เรื่องน่าอ่าน..น่ารู้

จะแสดงความคิดเห็นใดๆก็ได้
ไม่แสดงก็ได้..แต่อยากให้อ่านว่ะ

หัวข้อ : ระบบการศึกษายุคใหม่ทำเด็กลืมกำพืดตัวเอง

ข้อความ : ปราชญ์ชาวบ้านชี้เด็กยุคใหม่บอบบาง ทำอะไรง่ายๆ ไม่อดทน อีกทั้งไม่อยากเป็นอย่างที่พ่อแม่ตัวเองเคยเป็น ระบุไทยมีการสร้างองค์ความรู้เอง แต่พอใช้ระบบการศึกษาตามแบบฝรั่งก็เริ่มคิดเองไม่เป็น ต้องพึ่งคนอื่น ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านจากจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการเนื่องในโอกาสครบสามปีของการปฏิรูปการศึกษาเรื่อง “การศึกษาทางเลือก : ทางออกของสังคมไทย”ว่า สังคมไทยในอดีตเป็นสังคมของการเรียนรู้ ขณะที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่คนไทยกลับไม่ฉลาดขึ้น จึงตั้งข้อสงสัยว่าระบบของสังคมไทยมีปัญหาอะไรหรือไม่ ในเมื่อเรียนหนังสือไปแล้วไม่หายโง่ ไม่ลดการเห็นแก่ตัว ไม่สามารถบรรเทาความทุกข์ ฉะนั้นจะเรียนไปทำไม “ถ้าเรามีลูกเราเลือกเส้นทางให้ลูกได้จริงหรือเปล่า ในระดับชาวบ้านเขาสามารถเลือกเส้นทางให้ลูกได้จริงหรือเปล่า เมื่อพวกเขาส่งลูกเรียน เด็กก็เอาแต่เรียน เรียนไปก็เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ พ่อแม่เป็นชาวนาส่งลูกเรียน ลูกกลับไม่อยากเป็นชาวนา เด็กยุคนี้เปราะบาง ไม่ค่อยอดทน อยากทำอะไรง่ายๆ และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้คนในสังคมอยากเป็นนักเรียน ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ได้ตลอดเวลา” ทั้งนี้ครูบาสุทธินันท์ กล่าวว่า เป็นเพราะการศึกษาของเราลอกเลียนแบบต่างประเทศมา ทั้งๆ ที่จริงเราก็มีกระบวนการเรียนรู้ของเราเองมาแต่ไหนแต่ไร ไม่เช่นนั้นจะไม่มีภูมิปัญญาไทย ชุดความรู้ต่างๆ ที่มีขึ้นมาเพื่อตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จนสามารถพึ่งตนเองได้ในทุกเรื่อง “เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา คนไทยสร้างชุดความรู้ได้อย่างเป็นระบบ เช่นการสร้างบ้านเรือน วัด สิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ การทำมาหากิน การประกอบอาหารไทย การใช้สมุนไพร ทำให้เรามีการใช้ปัจจัย 4 อย่างครบครัน สมัยนั้นเราอยากได้อะไร เราก็ค้นคว้ากันเอง เรียนรู้กันเอง ถ่ายทอดกันเอง แค่ไม้ไผ่กอเดียวก็สามารถนำมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยได้นับร้อยนับพันอย่าง แต่เมื่อมาถึงวันนี้เราแทบจะไม่สามารถผลิตชุดความรู้อะไรที่เป็นของเราได้เลย เพราะเราพอใจที่จะพึ่งคนชาติอื่น รอรับรู้จากคนอื่น นำเข้าทุน นำเข้าความรู้ นำเข้าวัฒนธรรม อยากได้อะไรก็สั่งซื้อเข้ามา ผลสุดท้ายต้องมานั่งจ่ายค่าโง่กัน” ครูบาสุทธินันท์ กล่าวอีกว่า นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันยังเรียนรู้โดยห่างจากความเป็นจริงของวิถีชิวตและวัฒนธรรมไทย ฉะนั้นต้องช่วยกันแก้ไขให้เด็กรุ่นใหม่มีค่านิยมและมีความคิดเป็นของตัวเอง โดยได้เสนอวิธีการเรียนรู้แบบสังคมไทยในมิติผูกพันกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ 6 ข้อด้วยกัน คือ 1.เรียนรู้แบบลงมือกระทำ อันจำเป็นต่อพื้นฐานการดำรงชีพ 2.การเรียนรู้ที่หลากหลายและมีการบูรณาการ 3.การเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรมทางสังคม 4.การเรียนรู้จากการได้เผชิญสถานการณ์จริงและการแก้ปัญหา 5.การเรียนรู้ตามธรรมนองคลองธรรม ที่ไม่มุ่งแข่งขัน แก่งแย่ง และ 6. การเรียนรู้ที่ใช้จินตนาการและการประจักษ์ความรู้ นอกจากนี้ กระบวนสร้างเสริมชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น ในโรงเรียนควรส่งเสริมให้เด็กมีความสนใจเรื่องเดียวกัน รวมกลุ่มเรียนรู้ เน้นความหลากหลายในสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้ ส่งเสริมในส่วนของเทคโนโลยี สถานที่ งบประมาณ ในส่วนของมหาวิทยาลัยให้ส่งเสริมการเป็นผู้นำ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างพรมแดนแห่งความรู้โลกกับความรู้ท้องถิ่น ในชุมชนให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มประชาคมต่างๆ ตามความสนใจ สร้างเสริมให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และในส่วนขององค์กรก็ควรจะส่งเสริมให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยอีกเช่นกัน จาก : ผู้จัดการรายวัน 8 ก.ย.45 - 08/09/2002 22:10
โดย เพื่อนอาจารย์ [9 ก.ย. 2545 , 10:50:11 น.]

ข้อความ 1
ขอบคุณครับ
โดย เมืองFISH_Sit [9 ก.ย. 2545 , 21:05:18 น.]

ข้อความ 2
อืม... ผมว่าอย่างงี้จะบอกว่าเราไปลอกฝรั่งมาก็ไม่ถูกทีเดียว เท่าที่ผมรู้ เมืองนอก เค้าก็ยังเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกสิ่งที่อยากเรียนอยากรู้จริงๆ ไม่เผมือนวิชา บังคับเลือก ต่างๆของเรา และเค้าก็ปล่อยให้เด็กบางคนมีเวลาว่างที่จะหาเลี้ยงชีพเองหรือไปทำไรอย่างอื่นบ้าง ไม่ใช่ต้องเข้าแถว 7.30 เลิก 16.30 จริงๆของเราก็มีบางวันเลิกเร็วนะ แต่ก็ไม่รู้จะทำไร หรือมันอยู่ที่สำนึกใฝ่ดีของเด็กแต่ละคนเองด้วย แต่ผมว่าหลักๆคือ เราลอกเค้ามาบางส่วน แต่ลอกไม่เหมือน และลอกโดยไม่เข้าใจ
โดย เด็กหัดเดิน [10 ก.ย. 2545 , 06:43:00 น.]

ข้อความ 3
ผมเองก็ไม่ห่วงเรื่องนี้เท่าไรครับ เวลายังมีให้เรียนรู้อีกมาก เรียนของเขาอย่างไร แล้วเอามาใช้ กับเรื่องของเรา ที่เราเป็นอยู่ ไม่ได้ ไม่แม็ทกันเดี๋ยว เราก็จะกลับมาสำรวจตนเองอีกที ให้เรียนรู้ให้ลึกๆในเรื่องของเรา แล้วก็จะเกิด ความรู้ใหม่ที่เหมาะสมกว่าอีกได้ แต่บางเรื่องเราเอาของเขามาใช้กันผิดๆ ผลเสียหาย ก็อาจเกิดมาก ตอนซ่อมแซมอาจจะเหนื่อยหน่อย เรียนรู้คู่ๆกันไปผมว่าน่าจะดีเหมือนกัน บางทีการมีทัศนะคติผิดๆกับความรู้ของเขา สนใจแต่เรื่องของเราเกินเหตุ เช่น เรื่องของภาษา เราก็เลยอ่านพูดภาษา เขาไม่ได้ เลยพาลไม่รู้เรื่องดีๆของเขา ที่อาจเหมาะสมกับเรื่องของเราก็ได้ ..นะครับ ป.ล. ผมเอามาโพ๊สต์เพื่อการเตือนสติเท่านั้น ไม่อยากให้เห็นด้วยทั้งหมดครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [10 ก.ย. 2545 , 18:33:26 น.]

ข้อความ 4
อาจเพราะว่าปัจจุบัน มีความที่เป็นประชาคมโลก ทำให้ การอยู่ร่วมกันบนโลก ต้องมีอะไรบางอย่างเหมือนๆกัน การที่เราต้องรับระบบการศึกษา และรูปแบบความรู้ ก็อาจนับได้ว่าเป็นเรื่อง ของการอยู่ร่วมโลก ซึ่งทีนี้ แกนนำทางที่เป็นระบบการศึกษา (ของโลก) มันไม่ใช่วิธีของเราที่มีแต่ดั้งเดิมมา ทำให้เราต้องปรับ ของเราให้เข้ากับระบบของโลกกระมัง ซึ่งปัญหา ก็อาจเกิดจากการที่เรายังไปไม่ถึงปลายทาง (ซึ่งก็ไม่รู้ชัด) นึกรวมไปถึงวิถีชีวิต ว่าแบบไหนจึงจะถือเป็นวิถีที่เหมาะสำหรับ ดำรงตนบนโลก จะเป็น นักธุรกิจ ครู ชาวนา กรรมกร นักมวย ว่าจะใช้ชีวิตแบบเมือง หรือชนบท อีกหน่อยรูปแบบพวกนี้มันก็คงถูกชี้ถูกนำ ให้หลงตามกันไปอีก ตราบใดที่ไม่มีใครในพวกเรา เป็นคนกำหนด และบอกให้ชาวโลกทั่วไปรู้ว่า "เฮ้ย วิธีของพวกฉันเนี่ยะ ดีนะโว๊ย ลองดูหน่อยสิ คุณบัง คุณฝรั่ง"
โดย เด็กวัด [11 ก.ย. 2545 , 23:22:05 น.]

ข้อความ 5
ผมว่ามันก็จิงบ้างนะครับ ตอนเด็กๆไม่เห็นต้องอยากรู้อะไร อยู่ก็มีคนมาบังคับให้เรัยน ก็เรียนอยู่กับหนังสือ พอดีทำได้ดีได้เกรด4มาเกือบ12ปีเกียรติบัติเต็มบ้าน ก็เลยคิดว่าสิ่งที่ทำดีแล้วคิดว่าฉลาด ไม่ต้องคิด/อยากรู้อะไรอีก พอจบมาเรียนมหาลัย ไม่มีคนมาบังคับ ต้องเรียนเอง ที่สำคัญคณะนี้ยิ่งไม่มีอะไรผิด-ถูก คราวนี้เคว้งเลยครับ เลยเพิ่งรู้ว่า เออ จิงๆแล้วกูโง่สัดเลยว่ะ สมาธิก็สั้น ความอดทนก็ต่ำ ตอนนี้รู้ตัวก็พยายามพัฒนาตัวเองอยู่ ขอโทดอาจารย์ยงยุทธด้วยนะครับที่ทำตังแย่ไม่ส่งแบบ แถมงานก็ไม่ดี เพราะเป็นโรคเกลียดคนขยันแต่ไม่คิดแล้วได้คะแนนดี เลยทำตัวขี้เกียจสุดท้ายก็โง่ซะเอง ขอบคุณอาจารย์นะครับที่ทำให้ได้คิดว่าสถาปัตยกรรมต้องออกแบบมากกว่า space-formและfunction
โดย ตายอนาถเพราะไม่เคยส่งแบบ [18 ก.ย. 2545 , 03:21:10 น.]

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อมูล