วันจันทร์, กันยายน 06, 2547

จีบสาวไม่เป็นสอนหน่อยครับ

ปุจฉา...
ผมชอบผู้หญิงคนหนึ่งแต่เขามีแต่คนมาจีบบอกผมหน่อยว่าจีบดีไหมและจีบอย่างไรดีครับ (เพราะผมเห็นเขากับชายอื่นหลายคนแล้วแต่ผมยังไม่เชื่อว่าเขาชอบผู้ชายคนนั้นเพราะเราส่งสายตากันตลอดแต่ผมยังไม่กล้าจีบครับ

วิสัชชนา..
ไม่ทราบว่าผู้ตั้งกระทู้นี้ เป็นนักเรียนสถาปัตย์ฯ หรือป่าว? ..ถ้าใช่เรื่องนี้ก็น่าคุย แต่เกรงว่าจะผิดวัตถุประสงค์ของเว็บบอร์ดนี้ ที่พวกเราช่วยทำกันเพื่อส่งเสริมความคิด เรื่องของสถาปัตยกรรมและการเรียนการสอน เพื่อการแสวงหาความรู้ของกันและกัน จริงอยู่การศึกษาสมัยใหม่ ขยายวิธีการเรียน การสอนไปมาก เช่น การเรียนรู้โดยใช้ปัญหา เป็นพื้นฐานของการเรียนสถาปัตยกรรม ซึ่ง จะเน้นความรู้ที่ได้รับ ไปใช้กับการแก้ปัญหา ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนจริงด้วย แต่ประเด็นเรื่องที่ถาม อาจออกแนวไปมาก เกรงว่าคุยกันแล้วจะหลงทาง กลับบ้านไม่ถูก คือกลับมาเรื่องการศึกษาสถาปัตยกรรมที่พวกเรา กำลังเป็นกันอยู่ไม่ได้ หรือเป็นทางอ้อมเกินไป ในหลายสิ่งที่เราอยากจะทำและรู้ในชีวิต บางทีต้อง จัดลำดับที่ควรจะทำก่อนหลังกันด้วย อาจต้องถือ ภาษิตเดิมๆที่กล่าวว่า "เรื่องเรียนต้องมาก่อน เรื่องรัก" คตินี้ช่วยให้คนที่ยึดถือประสบความ สำเร็จในชีวิตไปแล้วและมากทีเดียว ผมว่าน่าลองพิจารณาเรื่องความสนใจของเรา อะไรควรก่อนอะไรควรหลัง กันบ้างนะครับ ไม่งั้น จะสับสนกันไปใหญ่ว่า เรากำลังจะทำอะไรที่นี่ แต่ถ้าทนไม่ไหวจนจะตายให้ได้ ก็ขอมาปรึกษา กันเป็นการส่วนตัว จะดีกว่า ..นะครับ

ปุจฉา...
แต่ผมว่าการเรียนรู้สังคมก็เป็นสิ่งที่ดีนะ การสร้างความสัมพันธ์ของบุคคลต่อบุคคล การเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การร่วมแก้ปัญหาต่างๆ ผมว่าจีบหญิงก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้นะ ...55

วิสัชชนา...
ถ้าเป็นเพื่อการบูรณากันกับการเรียนก็ดี ขอให้เกิดขึ้นเองเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติ ผมกลัวว่า..อาจเกิดเป็นทุกข์หรือกังวลใจ เพิ่มมากขึ้น ถ้าได้คุณเธอที่หวังมาเป็น กำลังใจได้ก็ดี จะได้ทดแทนที่ขาดอาจารย์ แบบ "สายเดี่ยว" ที่มีน้อยในคณะนี้ ไม่มีอะไรจะขัดใจหรอก กลัวว่าจะเป็น เรื่องของ "การชิงสุกก่อนห่าม" เดี๋ยวใบ ปริญญาเลยหมดอร่อยไปครับ

กลับมาอ่านอีกที..ยังติดใจอยู่ ถ้าอยากใช้เรื่องนี้เป็นการพัฒนาความคิด วิธีคิดวิธีหนึ่ง คือการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งพูดกันมากในวิชาการทหารและธุระกิจ เป็นลักษณะการคิดที่มีเป้าหมาย (end) แล้วหาวิธีการ (means)เพื่อการดำเนินการ ไปถึงเป้าหมายอันนั้น เป็นการคิดเชิงแข่งขันด้วย การคิดแบบนี้มักคิดเป็นกระบวนการ และต้องสร้างทางเลือกหลายทางเลือกด้วย ในกระบวนการจำเป็นต้องมี การวางแผน การแก้ปัญหาเมื่อมีอุปสรรค และการตัดสินใจในทางเลือก ต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ ตรวจสอบสถานะภาพตัวเอง ฯลฯ ถ้าลองคิดทำนองนี้แล้วบรรลุเป้าหมาย ได้คุณเธอมาเป็นแฟนละก้อ แสดงว่าคุณมีทักษะในการคิดแบบกลยุทธ์ ก็สามารถเป็นนักธุระกิจหรือเรียน แขนงวิชานี้ได้อย่างดีทีเดียว ทำธุระกิจการออกแบบ ก็จะรุ่งเรื่องในอาชีพต่อไป หลายคนคิดว่า การออกแบบเพื่อให้ลูกค้าหรืออาจารย์ยอมรับ นั้นถือว่าบรรลุเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานเยี่ยมยอด ซึ่งหาข้อกำหนดได้ยาก ต้องอาศัย การคิดแบบกลยุทธ์ ในการกำหนดเป้าหมายให้ ชัดเจนก่อนเท่านั้น จึงจะสร้างวิธีการไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายนั้น พวกนักเรียนที่เรียนเก่งนั้น เป็นเพราะเขามีทักษะการคิดแบบกลยุทธ์ที่เหมาะ เขาจึงประสบความสำเร็จในการเรียน ได้คะแนนดี ...ส่วนจะดีเลิศเป็นคนวิเศษต่อไป จนตลอดชีวิตหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณากัน เรื่องทักษะการคิดในลักษณะต่างๆนั้น มีกันมาทุกคน ติดตัวมาแต่เกิด เป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ บังเอิญไม่ได้รับการเอาใจใส่ และซ้ำยังโดนทอดทิ้ง ก็เลยเดี้ยงกันไป การศึกษาของมนุษย์ก็ คือ การพัฒนาทักษะในการคิดในรูปแบบต่างๆนั่น เอง เพราะถ้าเรารู้วิธีคิดมากหลายวิธี ก็เหมือนมีเครื่องมือหลายอย่าง ก็สามารถเลือกนำมาใช้ในการแก้ปํญหาต่างๆในการดำเนินชีวิตของเรา ..ถ้า สนใจลองเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับกระบวนการคิด ในรูปแบบต่างๆมาอ่านกันนะครับ เดี๋ยวนี้มีแปลเรียบเรียงเป็นภาษาไทยมากมาย อ่านแล้วบางทีทำให้เรา ระลึกความสามารถที่เรามีอยู่แล้วได้บ้าง ..นะครับ

จริงหรือเปล่าครับที่ในโลกนี้ไม่มีแบบที่perfect?


หรือว่าอาจจะมีที่ใกล้เคียงมากแต่หาไม่พบ หรือถ้าจะหาให้เจอก็ต้องใช้เวลากับแบบชิ้นนั้นมากๆ?

มีผู้รู้บอกว่า ...คนส่วนมากสาระวน กับการแก้ปัญหาที่ตนไม่รู้จริงๆว่า เป็น "ปัญหา" เราจึงมักได้คำตอบ ส่วนมาก ..มาจากปัญหาที่ผิด เช่น การแก้ปัญหาจราจรของเมืองไทย เป็นต้น เรามักอ้างว่าปัญหาจราจรเป็น เพราะพื้นที่ถนนไม่พอเพียง ...ทั้งๆที่ เราน่าจะมาเน้นการพัฒนาใช้ "ขา" สัญจรกันในเมือง มากกว่าการใช้รถยนต์ ที่ผลาญพลังงานและสร้างมลภาวะอยู่ทุกวัน ในทางธรรมะ ..ความสมบูรณ์หรือ ultimate truth มีครับ พระท่านบอกว่าคือ "นิพพาน" เป็นความ สมบูรณ์ที่มีอยู่จริง แต่พวกเราไม่ชอบไปค้นหา เพราะมันไม่สนุกเหมือนมิติที่เรามั่วกันอยู่..คือ ยังชอบวงกลม ..ที่กลมบ้างไม่กลมบ้าง ...อยู่ครับ จะว่าไปแล้ว...ปัญหามันอยู่ที่ตัวเรา ..ในตัวเรา ปัญหาข้างนอกไม่มี ถึงมันมี ก็เรื่องของมัน เรา ไม่เกี่ยว มันมาข้องกับเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รับเอามา การแก้ปัญหาให้เสร็จสรรพได้ผลสมบูรณ์ ต้องแก้ ปัญหาที่ตัวเราเป็นคนก่อขึ้นมา ...แต่โลกที่มันสับสน อยู่ทุกวันนี้ เพราะ เรานึกว่าตัวเราไม่มีปัญหา เลยเที่ยวสะเปะสะปะไปแก้ปัญหาที่อื่น ที่เรา ควบคุมอะไรไม่ได้เลย ...ลองพิจารณาดูให้ดีซิ! แต่ละคนง่วนจะเที่ยวไปแก้ปัญหาคนอื่น ครูก็ สาระวนคิดกฏคิดเกณฑ์จะแก้ปัญหานักเรียน ไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองสุมปัญหา ความงี่เง่าไว้ มากน้อยเท่าไร ...บางคนอาจตายไปแล้ว ก็ ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา แล้วไม่เคยรู้ที่จะแก้ ก็เลยเวียนว่ายตายเกิด เป็นวงกลมบ้าง ไม่ กลมบ้าง เกิด-ตายอย่าง"เขียด" โดยไม่รู้วันสิ้นสุด มันเป็นอย่างนี้เอง....นะครับ

โดย ครูโง่

คุณครูครับ สงสัยครับ..?


ถาม...

คุณครูครับ สมมุติว่าได้ project มาแล้วอยากให้ทำออกมาดีที่สุด โดยที่มือไม่ดี จำเป็นรึเปล่าครับที่จะต้องทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการทำ project????แล้วคุณครูแบ่งเวลายังไงครับ
โดย เด็กโง่ [16 มิ.ย. 2546 , 21:08:50

ตอบ..

หลายคนมีความเชื่อว่า การดำเนินชีวิต ส่วนหนึ่ง เกี่ยวข้องกับการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ ในยุคสมัยอุตสาหกรรม ที่เน้น..ปริมาณ ในการทำงานหรือศึกษาที่มุ่งเน้นสาระที่เจาะจง ก็มักจัดลำดับความสำคัญของงานและวิชาที่เรียน เอาไว้ชัด คือเงินเดือนตามหน้าที่การงาน หรือ หน่วยกิตตามความสำคัญของวิชาที่เจาะจง เช่น วิชา project เป็นสาระวิชาที่สำคัญของการเรียนเพื่อการเป็นสถาปนิก ...เป็นวิชาที่สังเคราะห์เอาวิชารองอื่นๆ มารวมกันในวิชานี้ วิชานี้จึงสำคัญตามบัญญัติกันไว้ แต่จะไร้ความหมายหากไม่เรียนวิชารองๆมาก่อน เพราะวิชานี้เป็นเรื่องการเอาวิชารองต่างๆมาผนวกกัน แล้วสรุปผลการออกแบบในทางปฏิบัติ ..เชิงรูปธรรม

คิดกันแบบตรรกะธรรมดาๆ ก็มักยึดถือว่า วิชาไหนหรืองานไหนสำคัญ ก็ควรทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งนั้นก่อน ..นี่เป็นการคิด แบบแยกส่วนแบบกลไกจักรกล ไม่ใช่แบบองค์รวมแบบมนุษย์ เพราะอย่างที่กล่าวแล้ว วิชา project เรียนรู้ให้ได้ผล ต้องรู้วิชารองๆอื่นด้วย อาจทึกทักได้ว่า เข้าใจวิชารองๆหรือวิชาประกอบได้มากเท่าไร การเรียนรู้วิชา project ก็จะได้ผลได้รวดเร็วเท่านั้น การทุ่มเทเวลาให้บางสิ่งที่สำคัญๆ อาจไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณเวลา ที่ต้องใช้เสมอๆไป หากเผอิญคนๆนั้น มีพื้นฐานวิชารองดีแล้ว ก็อาจเรียนวิชาหลักให้ได้ผลดี และใช้เวลาน้อยกว่าก็ได้ ...นี่เป็น การแย้งให้เห็นว่า ตรรกะหรือเหตุผลแบบเดิมๆ บนกรอบความ คิดแบบแยกส่วน ....ไม่จริงเสมอไป ที่ว่า...."มือไม่ดี" ..คงหมายถึง ทักษะการเขียนแบบหรือเสนองาน หรือ คิดไม่เป็น ไม่รู้วิธีคิด ว่าปัญหาในแต่ละส่วนของวิชา project ควร ควรจัดการกันอย่างไร? ทักษะมีไม่พออาจเพราะสนใจหรือเข้าใจ วิชารองๆไม่ดีมาก่อน ไม่ฝึกฝนทักษะฝีมือ แล้วก็ไม่พยายามเรียนรู้ ปรับปรุงฝีมือให้ดีขึ้น เพราะเห็นว่าสำคัญน้อย เลยให้เวลาน้อยเสมอๆ เลยกลายมาเป็นปัญหาในการเรียนวิชา project ..ถึงจะเลือกให้เวลา วิชานี้ให้มากๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร? ตรงไหน? ถึงจะได้ผล จะกลับ ไปฝึก sketch หรือเขียนแบบ หรือจัดระบบความคิด หรือเข้าใจ วิธีคิด เชิงยุทธวิธี ก็ไม่น่ากระทำได้ ...ถ้ารู้ตัวว่า ไม่แน่จริง ก็ต้องเลือกวิธีการ ที่ใช้เวลาแล้วให้ได้ผลมากๆ เช่น ใช้เวลากับการทำแบบร่าง หลอก ใช้หรือปรึกษากับครูให้มากขึ้น ..อย่าทำตัวโง่เพราะความยิ่งยะโส..จง มีความอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วจะทำให้ได้คบหาครูหรือกัลยาณมิตรได้มากๆ อ่านหนังสือมาก จะรู้อะไรได้ผลเยอะขึ้น เสียเวลาน้อยกว่าการเอาแต่เรียนรู้ ลำพัง ..แต่..ถ้าอย่างหลังเป็นวิธีการเรียนของบางคนที่ได้ผล ....คนๆนั้นก็ ไม่รู้มาเรียนในสถาบันนี้ ...หาพระแสง? ..ทำไม?

เวลา...เป็นปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาในโรงเรียน เพราะมันคอยกำกับกิจกรรมการเรียนเพื่อให้เป็นระบบหรือระเบียบ วิธี ..ไม่อย่างนั้นการศึกษาจะบริหารจัดการได้ลำบาก ...ทุกคนก็ต้อง ยอมรับกัน แต่ในทางปฏิบัติหรือการจัดการกับเวลาของแต่ละคนไม่ เหมือนกัน บางคนเรียนเก่งเพราะมีวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ดี ใช้เวลาน้อย แต่ได้ผลมาก เช่นขีดเขียนดี มีทักษะสูงเพราะเข้าใจเรียนวิชารองนี้ มาพร้อมแล้ว จึงใช้เวลาเขียนได้เร็ว ไม่สงสัยหรือลังเล ได้ผลสวยงาม เป็นต้น ยิ่งมีทักษะคิดเก่ง คิดเป็น คิดถูกตรงกับสถานะการณ์ ..ยิ่งใช้ เวลาน้อย ในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องในวิชา project ได้รวดเร็ว นี่เป็นบทสรุปคำตอบที่น้อยนิด ในความเห็นเพียงหนึ่งเท่านั้น แต่พึงระวังไว้ ..ท่านผู้รู้มักเสียดสีว่า.. วัฒนธรรมแบบไทย มักเรียนรู้แบบเอาแต่ฟัง(นักเรียน)และพูด(ครู) ..ไม่ชอบการคิด...อ่านและ ขีด...เขียน เมื่อต้องเผชิญปัญหาต่างๆทั้งในการเรียนและในการดำเนิน ชีวิต จึงสับสนและไม่รู้บริหารเวลากันอย่างไร? มักหลงไปว่า การใช้เวลาสัมพันธ์ทางตรงกับผลงานหรือความสำเร็จ ..ซึ่ง ไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะมันขึ้นอยู่กับความเป็นองค์รวมหรือ เหตุปัจจัยต่างๆที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ...พระท่านบอกว่า ขึ้นอยู่กับกรรมใคร..กรรมมัน ฝึกฝนหรือสร้างสมปัญญามาดี และสม่ำเสมอ ก็มีปัญญามาก แก้ทุกข์ได้มาก อาจถึง "นิพพาน" หรือถึงความรู้แจ้ง โดยใช้เวลาน้อยนิดก็ได้ ...จริงไหมครับ?

ป.ล. สำหรับผม ..เวลามีเหลือไม่มาก แต่ก็มักใช้จนหมดในทุกการงาน (ซึ่งก็มีไม่มากเช่นกัน) ซึ่งไม่รู้จะแบ่งเวลาของผมที่น้อยนิดไปทำไม? เวลา นั้น ..จริงแล้ว มีในจักรวาลนี้ไม่จำกัด อาจเป็นอนันต์ด้วยซ้ำ .. .แล้วนายไอน์สไตล์ ดันโม้ว่า "เวลา ยืดหดได้อีก ..เหมือนเช่นจักรวาล" บวกกับความเห็นข้างต้นดังที่พล่ามมา ...ผมยังคงค้นหาและฝึกฝนการ ทำงาน..ยิ่งถ้าใหญ่ๆและสำคัญๆมาก..ก็อยากใช้เวลาให้น้อยที่สุด หรือ แทบไม่ต้องใช้เลย เพราะอยากขออุทิศเวลาทั้งหมด (ในส่วนที่พระเจ้าให้ผม) ในจักรวาลนี้ เพิ่มให้กับคนอื่นๆที่สนใจเรื่อง เวลา พอๆกับเงินและ เกียรติยศ ..... พระท่านว่า ทำได้อย่างนี้แล้ว ..จะได้บุญกุศลมากเลย...ครับ

โดย ครูโง่ [18 มิ.ย. 2546 , 12:48:25 น.]

ศิษย์โง่..เพราะใคร?

จาก...http://www.eduzones.com/newwebboard/board/webboard_ans.php?id=107513

" 'หมอประเวศ'ชี้เด็กไทยไม่โง่แต่ระบบการศึกษาทำให้โง่"

จากการปาฐกถาเรื่อง “เด็กไทยไม่โง่” เมื่อ วันที่ 26 พ.ค. ศ.น.พ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า การศึกษาของไทยมีรูปแบบเอกนิยม คือ บีบให้ทุกคนต้องศึกษาเรื่องที่เหมือนกัน ขณะที่ธรรมชาติของมนุษย์มีความหลากหลาย มีความสนใจ และความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อถูกบีบคั้นให้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบก็อาจทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและกลายเป็นปัญหาอื่น ๆ ระบบการศึกษาแบบนี้จึงสร้างตราบาปให้กับคนทั้งชาติ ทั้งที่คนไทยไม่ได้โง่ แต่ระบบการศึกษาทำให้คนไทยโง่ เพราะต้องเรียนเรื่องที่เหมือนกัน ใครที่มีความสามารถโดดเด่นออกมาก็มักจะถูกมองว่ามีปัญหา ประเทศไทยจึงสูญเสียโอกาสในการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน และระบบการศึกษาที่มีการแข่งขันกันด้วยการสอบและคะแนน ยังเป็นตัวทำลายศีลธรรมพื้นฐานทั้งหมด ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นคน เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กสอบไม่ได้ หรือทำคะแนนได้น้อยก็จะบอกว่าคนนี้ไม่เก่ง เด็กก็จะรู้สึกด้อยค่าลง รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง สังคมไทยในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่รู้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ศ.น.พ.ประเวศ กล่าวต่อไปว่า เราควรเลิกสนใจเรื่องหงส์แดง หงส์ดำกันเสียที และรัฐบาลควรหันมาใส่ใจเรื่องการศึกษา ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการปฏิรูปการศึกษาระยะที่ 2 หมายถึงปฏิรูประบบการศึกษาและปฏิรูประบบการเรียนรู้ โดยต้องดำเนินการดังนี้ 1.ลดการเรียนแบบท่องจำจากหนังสือภายในห้องเรียนให้เหลือน้อยลงที่สุด 2.ให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ วิถีชีวิต ชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด 3. เรียนรู้จากสื่อ เช่น เอกสาร อินเทอร์เน็ต และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสื่อก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย 4.เรียนตามความสามารถของแต่ละบุคคล ไม่ต้องเรียนเหมือนกัน 5.มีการศึกษา วิจัยให้ลึกซึ้งขึ้น โดยการฝึกบันทึก นำเสนอในกลุ่ม ตั้งคำถามและหาคำตอบ ซึ่งการวิจัยจะทำให้เกิดกระบวนการศึกษา แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการทำวิจัยจำนวนน้อย และ 6.ต้องศึกษาโดยรู้จักเห็นจิตใจและมีสำนึกนึกคิดในตนเองเพราะหากเก่งโดยไม่รู้ใจตนเองก็ง่ายต่อการหลงผิด ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอัจฉริยะ คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าในทุกโรงเรียนและเกือบทุกชั้นเรียนมีเด็กอัจฉริยะประมาณร้อยละ 1 ของเด็กทั้งหมด ซึ่งหากมีระบบส่งเสริมสนับสนุนที่ดี เราก็น่าจะมีอัจฉริยะบุคคลระดับไอน์สไตน์ได้ แต่ระบบปัจจุบันไม่เอื้อให้เด็กฉายแววออกมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีครูผู้สอนจำนวนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกอิจฉาเด็ก โดยเห็นว่าในเมื่อเด็กเก่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมาถาม ซึ่งตรงนี้ถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง “ขณะนี้เราได้ทำคู่มือสำรวจแววความสามารถพิเศษขึ้นมาใหม่ ซึ่งครูสามารถนำไปสำรวจแววความสามารถพิเศษในเด็กนักเรียนได้ ส่วนคู่มือที่จัดทำก่อนหน้านี้ยังไม่ใช่คู่มือในการทดสอบเด็ก แต่เป็นการรวบรวมบุคลิกลักษณะของมนุษย์ ซึ่งมีแววความสามารถต่าง ๆ จำนวน 10 แวว ไว้ให้ครูใช้สังเกตเด็กในเบื้องต้น ซึ่งมีการนำไปใช้ผิดกันมาก แต่คู่มือใหม่นี้จะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า” ผศ.ดร.อุษณีย์กล่าว.
โดย : EZ News - [ 27/05/2547 - 18:12 น. ]

ผมเห็นด้วยกับความคิดนี้ทุกประการ..เลยขออนุญาตยกเอามาเกริ่นไว้ก่อน..ครับ