มีความเห็นว่าอย่างไร.. กับประเด็นที่ว่าเรียนมาอย่างไรก็สมควรทำงานอย่างนั้น ผมคิดว่าการเรียนสมควรบอกถึงประสิทธิภาพของความคิดที่พัฒนาขึ้นในทิศทางที่ถูก รู้จักประเมินความได้-เสียในทิศทางที่กำลังเดินไป ถ้าจะบอกว่าการทำงานที่มีสถานะว่าจบ สถาปัตย์ คำนำหน้าคือสถาปนิก มันจะดูแคบไปหรือไม่ ถ้าคำนำหน้าเปลี่ยนเป็นจบปริญญาตรี สิ่งที่ตามมาคือ การคิดเป็น มันจะดูดีกว่าหรือไม่ บ่นมานี้อยากรู้ว่าประเด็นนี้คิดกันอย่างไร จะลากยาวไปเรื่องอื่นก็ได้นะครับ เป้าหมายจริงๆที่อยากรู้ก็คือ การศึกษาปริญญาตรีให้อะไรกับคนเรียนมากน้อยขนาดไหน และอะไรคือสิ่งที่คนเรียนน่าจะได้ ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ
โดยคุณ : แวะมาเป็นประจำ. - [ 15 ต.ค. 2544 , 10:56:20 น. ]
ตอบ รู้สึกว่า มาตราฐานการศึกษาบ้านเราคง ยกระดับเป็น ปริญญาโทกันแล้ว เพราะระดับปริญญาตรี เริ่มเรียนกันแบบ นกแก้วนกขุนทอง คล้ายสมัยมัธยมกันแล้ว
ความจิงเรียนให้คิดเป็นคงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่าย หวังไว้ จบไปประยุกต์ความรู้ได้ แต่ดูเป็น อุดมคติเหลือเกิน
โดยคุณ : M&e - [ 16 ต.ค. 2544 , 00:16:59 น.]
ตอบ ดูเหมือนบางคนที่เรียนปริญญาตรีอยู่ตอนนี้ยังไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซำ้ว่าจบไปจะทำอย่างที่เราๆเลือกเอ็นท์กันเข้ามาหรือเปล่า เพราะวันๆพอเลิกเรียนก็เห็นแต่พุ่งไปเดินสยามเสียส่วนใหญ่ น้อยคนนักที่จะมุ่งไปหาแนวทางของตน(หรือไอ้ที่ทำอยู่มันใช่ก็ไม่รู้) ผมว่าก่อนที่เราจะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เราอาจยังไม่แน่ใจด้วยซำ้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร จนกระทั่งเข้ามาเรียนแล้ว ถึงพอจะรู้ว่า อ้อ!นี่กูอยากเป็นอย่างนี้นะ อ้าว!นี่กูเลือกเรียนผิดคณะนี่หว่า อะไรประมาณนี้ คือกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เรียนมาแล้ว2-3ปี จะถอนตัวก็ช้าไปเสียแล้ว ทางออกก็คงจะมาลงที่ ป.โท ส่วนหนึ่งมั้งครับ กว่าจะรู้ว่าอยากเรียนอะไร อยากทำอะไรก็จบ ป.ตรีไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้เลยมีป.โท กันให้เกลื่อนเหมือนเป็นปกติ
โดยคุณ : ploi - [ 16 ต.ค. 2544 , 01:16:45 น.]
ตอบ ความเห็นเป็นอย่างนี้...
สิ่งที่ยากลำบากของการเรียนรู้ คือ คือการโยกย้ายสิ่งที่เรียนรู้ไปสร้างประโยชน์อื่นๆ transfering of knowledge is so damned difficulty เป็นหน้าที่ของครู-นักเรียนพึงกระทำให้ "ต้อง" ได้ เช่นการสร้างแบบเรียนแบบฝึกหัดเป็นต้น ในหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก" เปรียบเทียบ เรื่องนี้ไว้น่าคิดน่าสนใจ เช่นในความตอนหนึ่ง...
--ปัญหาของระบบการศึกษา คือไม่ว่านักเรียน เรียนวิชาอะไร เขามัก จะออกมาทำอาชีพนั้น...มุ่งออกมาทำงานตามที่เล่าเรียนมา จนลืมไป ว่าเขากำลังทำงานให้คนอื่นและไม่ใช่เพื่อตัวเองเลย ถ้าต้องการมี ความมั่นคงทางการเงิน คุณต้องทำธุระกิจที่จะทำให้ทรัพย์สินของ คุณโตขึ้น...(ถ้าอยากรวย)
ทีนี้ลองคิดเล่นๆว่า ๑. จบแล้วไปทำงาน ฝึกงานในสำนักงานสถาปนิก หรือในองค์กรอื่นที่มีตำแหน่งสถาปนิกกำกับไว้จ้างงาน หรือ ๒. ไปประกอบธุระกิจที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์ โดยตัวเอง เป็นนาย คนจัดการควบคุมได้ จ้างผู้อื่นมาร่วมงาน เหมือน บิล เกตต์ หรือ... ๓. ทำอะไรอื่นๆ อยู่ไปวันๆโดยอย่าไปเบียดเบียน ไม่ให้มีชีวิตลำเค็ญ ฯลฯ
จะเลือกกันแบบไหนดี ? ...แล้วลองพิจารณาอีกความตอนหนึ่งที่ว่า..
--เราต้องควบคุมความต้องการ...หลายคนใช้มันในทางที่ผิด หลายคนตั้งตา รอวันเงินเดือนออก รอโอกาสจะได้เงินเดือนขึ้นก็เพราะความกลัวและ ความต้องการ โดยไม่คำนึงว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า เหมือน ลาที่ถูกล่อให้เดินตามหัวแครอตจนไม่เคยเหลียวดูหนทางและหวังว่าพรุ่งนี้ จะมีแครอตให้มันเดินตามอีก....(ถ้าอยากอิสระ)
การศึกษาในทุกระดับสร้างฐานความคิดให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในที่สุด คือการเลือกสรรหรือสร้างองค์ความรู้ของตนเองใหม่ แล้วเอาไปใช้ในชีวิตตนเองชีวิตใครชีวิตคนนั้น อย่าคิดว่า โรงเรียนจะให้อะไรกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราจะเอาอะไรใน "กองขยะ" กองใหญ่ๆจากโรงเรียนนั้น...ว่างๆลองนึกดู ความต้องการของเรา ลองอ่านข้อความนี้ดู....
--พ่อรวยสอนว่า..การมีชีวิตอยู่กับความกลัวเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เรา ควรมีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง ความฝัน และความสุข ไม่นอนก่ายหน้าผาก ว่าจะมีเงินเดือนให้ได้ใช้ไปอีกนานเท่าไร อย่าคิดว่าการมีงานทำจะทำให้ ชีวิตมั่นคง อย่าให้เงินควบคุมชีวิตของลูก....(ลูกกล้าคิดใหม่ไหมล่ะ?)
ความ "อีกจริง" เรียนให้คิดไม่ใช่อุดมคติหรอก เผอิญเราขี้เกียจคิด หรือคิดมากจนฟุ้งซ่าน จนเลย ชีวิตของเรานี้มีแต่ปัญหา...ปัญหา...แล้วก็อีกปัญหาๆ สาระของการเรียนหนึ่งคือการเรียนรู้การแก้ปัญหา วิชาต่างๆเป็นแค่กรณีศึกษา ระดับปริญญาเกิดเพราะ คนยังมองปัญหาไม่เจอ เลยชอบอยู่ใกล้ "กองขยะ" ไม่ยอมห่าง..บางคนร่วมสร้างกองขยะเอาเสียเลย
ก็จบกันดื้อๆแบเฉไฉไปเรื่อยอย่างเคยนะครับ
โดยคุณ : โม้เป็นประจำ - [ 17 ต.ค. 2544 , 11:08:48 น.]
ตอบ เคยดูหนังฝรั่งอยู่เรื่องหนึ่ง นางเอกบ่นเรื่องชีวิตวัยเด็กให้พระเอกฟัง "ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมแม่ชั้นถึงชอบคิดอะไรง่ายๆ ชั้นบอกว่าชั้นรักสัตว์เขาก็บอกว่าไปเป็นสัตวแพทย์สิ ชั้นบอกว่าชั้นชอบท่องเที่ยวแม่ก็บอกว่าเรียนไกด์ก็ดีนะ ชั้นบอกว่าชั้นชอบร้องเพลงแม่ก็บอกว่าเป็นนักร้องก็ดูดีไปอีกแบบ ทำไมแม่จะต้องจับให้ชั้นไปเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดให้ได้ก็ไม่รู้" ฟังแล้วก็สะดุดใจ ตอนเด็กๆผมวาดรูปสวยผู้ใหญ่เขาก็แนะนำให้เรียนถาปัด ไม่รู้จักหรอกว่าถาปัดเขาทำอะไรกัน พอรู้ตัวอีกทีก็มาอยู่คณะนี้เสียแล้ว
โดยคุณ : WC - [ 18 ต.ค. 2544 , 01:13:40 น.]
ตอบ ผมเองพี่สาวก็แนะว่าเรียนถาปัดดี คนเรียนน้อยสนุกสนานกันทั้งวัน ไม่เกะกะระรานใครๆ ผมเลยเชื่อพี่สาว ตอนนี้ผมอินกับหนังสือ "พ่อรวยสอนลูก" ไม่เชื่อที่เขาเขียนหรอก แต่ชอบวิธีคิดต่าง ลองอ่านดู...(จากเล่มสอง)
คำพูดน่าคิดเกี่ยวกับการศึกษา วินตัน เชอร์ชิล....."ผมพร้อมที่จะเรียนเสมอ แต่ผมไม่ชอบถูกสอน" จอห์น อัปไดค์......"เมื่อพ่อแม่ทั้งหลายพบว่าเด็กเป็นภาระอันหนักอึ้ง เขาจึงส่งเด็กไปอยู่ในคุกที่เรียกว่าโรงเรียน และใช้ การศึกษาเป็นเครื่องมือทรมาน" นอร์มัน ดักลาส...."การศึกษาคือโรงงานผลิตเสียงสะท้อนที่ควบคุมโดยรัฐ" เอช แอล. แม็กเคน..."ชีวิตในโรงเรียนเป็นชีวิตที่ไม่มีความสุขที่สุด" กาลิเลโอ......"ไม่มีใครสอนใครได้ อย่างมากที่ทำได้คือช่วยให้เขาค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง" มาร์ค ทเวน..."ฉันไม่เคยให้โรงเรียนเข้ามายุ่งกับการศึกษาของฉัน" อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์...."การศึกษามีมากเกินไป โดยเฉพาะในโรงเรียนอเมริกัน"
โรเบิร์ต ที. คิโยซากิ..." ผมฝันจะสร้างระบบการสอนของผมเอง ระบบสำหรับ ผู้ต้องการเป็นเจ้าของกิจการหรือนักลงทุน ใจผมล่องลอย ไปสู่สมัยเด็ก.....ไม่ใช่ผมไม่ชอบโรงเรียนนะครับ แต่ผม "เกลียด" โรงเรียน เกลียดการถูกบังคับให้นั่งฟังคนที่ผมไม่นับถือ พูดสิ่งที่ไม่มีความน่าสนใจนานเป็นเดือนๆ ผมจะเป็นนักเรียน คนที่นั่งอยู่หลังสุด หันซ้ายหันขวา แกล้งคนโน้นทีแหย่คนนี้ที จนหมดชั่วโมง หรือบางทีก็ไม่เข้าห้องเรียนเฉยๆ ผมจึงตอบครู ที่ปรึกษาโดยไม่เสียเวลาคิดเลยว่า "ผมเกลียดการเป็นครู" " แท้จริงแล้วเป็นความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด ผมรักการเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ แต่ผมเกลียดโรงเรียน เพราะโรงเรียนบังคับให้ผม เป็นในสิ่งที่ผมไม่อยากเป็น เชื่อว่าคงไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึก เช่นนี้
หากการจัดตัวเขียนเลอะเทอะอย่าว่ากันนะ ผมลองทดสอบบางอย่างครับ
โดยคุณ : โม้อีกที - [ 18 ต.ค. 2544 , 10:58:38 น.]
ตอบ..แบบชนะประกวด...การออกแบบบ้าน
เท่าที่เห็นผลปรากฏในข่าวทีวี เป็นลักษณะการออกแบบที่พยายามให้เกิดระบบหมุนเวียนดีที่สุด ของอากาศ ภายในอาคาร มีที่ว่างกลาง ช่วยเร่งการเคลื่อนไหวของลมที่พัดผ่าน
การพิจารณาทิศทางของลมพัดผ่าน คงต้องพิจารณาที่ตั้งของอาคารข้างเคียงด้วยหรือแม้แต่ไอของความร้อน ที่ลมอาจหอบพัดมาด้วย เช่นจากผิวถนน หรือความร้อนที่แผ่กระจายจากหลังคาอาคารข้างเคียง แต่ เพราะเหตุปัจจัยที่กำหนดไว้แน่นอนแล้วว่าลมเย็นจะผ่านพัดเข้ามาจากหน้าบ้าน หรือเข้าช่องเปิดต่างๆของบ้านเสมอๆ ลักษณะการออกแบบ เลยเห็นเหมือนเช่นปกติ ที่เคยเป็น ว่าบ้านตั้งอยู่กลางท้องนาโล่งๆ มีลมเย็นผ่านกระทบบ้านอยู่ตลอดเวลา...เพราะโมเดลที่เห็นเป็นแค่เพียงแสดงตัวบ้านอย่างเดียว
ผมเคยสังเกตเห็นว่า บางบ้าน เรือนคนใช้ที่อยู่หลังตัวบ้านใหญ่ ได้ลมพัดโชยแรง เนื่องจากซอกระหว่างแนวรั้ว และผนังทึบด้านข้างของบ้าน กลายเป็นอุโมงลมที่เหมาะสม....... คนใช้บ้านนั้นเลยนอนหลับสบาย ทั้งๆที่สถาปนิกไม่ได้คาดคิดไว้เลย
อาคารในบางประเทศ ใช้ปล่องกลางบ้าน เป็นเครื่องมือที่ทำให้ช่วยเร่งการหมุนเวียนของอากาศ เป็นลักษณะเครื่องมือการดูดอากาศเหมือนลักษณะการช่วยการเผาไหม้ของปล่องไฟเตาผิงอาคารที่มี court ตรงกลาง และมีบ่อน้ำช่วยเพิ่มความเย็นของอากาศ ที่หมุนเวียน พบมากในประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งเพื่อนชาวอาหรับเคยเล่าให้ฟัง
ทีนี้ ถ้าลองปรับเปลี่ยนความคิดใหม่กันลองดูบ้าง เช่น ผู้อยู่อาศัยลดการอบความร้อนในร่างกายตัวเองจากผลของเสื้อผ้า เมื่ออยู่บ้านถอดเสื้อหรือ ใส่เสื้อผ้าฝ้ายบางๆ เหมือนคนสมัยปู่ย่าตายาย พอไม่ให้อุจจาดตา บ้านอาจไม่จำเป็นต้องมีช่องเปิดมาก แต่มีกำแพงที่ออกแบบเพื่อป้องกันอากาศร้อนภายนอก พอไม่ให้แทรกซึมเข้าบ้านมากๆ ด้วยอากาศเย็นที่สะสมไว้ในบ้านตอนช่วงกลางคืน ก็อาจช่วยให้ความอบอุ่นได้พอตลอดทั้งวัน หรือมิฉะนั้นก็ใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากๆในตอนกลางวันโดยเฉพาะในหน้าร้อน เหมือนชาวนาที่อาศัยร่มเงาจากต้นไม้
เมื่อต้องการความสบาย ประโยชน์ของบ้านอาจลดความจำเป็นลงบ้าง...ผมว่าถ้าสถาปนิกออกแบบให้ภายในบ้านอยู่สบายเกินไป อาจทำให้เราติดยึดอยู่กับที่ โดยไม่อยากออกไปสังคมกับคนนอกบ้านมากแล้ว ชีวิตก็อาจไม่มันนัก เพราะอยู่สบายเหมือนเทวดา ชนิดพรหมลูกฟักเกินไป
สรุป....คิดแบบบ้านหารสองเกินไป อาจได้ค่าเป็นศูนย์ คือไม่เหลืออะไรเลย ก็ได้นะครับ อยู่กับที่จนเนื้อตัวกลายเป็นจิ้งจกขาวเผือก กลัวแสงอาทิตย์ และความร้อนโดนกาย จนอาจเพี้ยนเอาก็ได้นะ..
ใจจริงๆแล้ว สำหรับเรื่องนี้ ผมชอบการออกแบบประหยัดพลังงาน เน้นที่ passive มากกว่า active ดังที่นิยมแบบโบราณ หากแต่ ด้วยสภาวะปัจจุบันที่มี contex เปลี่ยนไป การคิดโดยวิธีการแรก...น่าจะได้รูปแบบบ้านใหม่ๆ ตัวอย่าง เช่น มนุษย์อาจลองอยู่แบบ มดปลวก ใต้ผิวดินมากๆกว่าปัจจุบันหน่อย หลังคาบ้าน ก็จะได้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนอื่นร่วมใช้ได้ด้วย จะมีโผล่เพียงปล่องสำหรับหายใจ และเพื่อแสงสว่างตามสมควร กลัวต้องดูดส้วมบ่อยๆ ก็อาจยอมให้โผล่บ้างก็ได้ สิ่งที่โผล่ดินเหล่านี้พอใช้แทน หมายหลักโฉนด หรือเครื่องหมายแสดงกรรมสิทธ์ อาณาจักรแห่งข้าฯว่าอยู่ตรงนี้นะ แค่เพียงเท่านั้นเอง ยามใดอยากเห็นโลกภายนอก ก็จะโผล่ตัวเองออกมาจากบ้าน ยามใดเลี่ยน หรือกลัวภัยเมื่อไร ก็หนีลงรูเสีย.....บ้านเมืองโดยรวม ก็จะได้ภาพปรากฏที่ไม่รกหูรกตาเช่นปัจจุบัน..
...ก็ลองแหยมความคิดเชยๆมาดูสำหรับการบ่นเรื่องนี้ครับ
จาก…เพื่อนอาจารย์
ถามว่า...ถ้าทำThesisแล้วปรึกษาอาจารย์นอกกลุ่มจะเป็นการข้ามหน้าข้ามตาอาจารย์ประจำกลุ่มหรือไม่ ได้มีโอกาสเข้าไปฟังการjury thesis เมื่ออาทิตย์ที่แล้วทำให้ได้รู้สึกว่างานของพี่หลายๆ คนยังไม่ครอบคลุมในdetailของสายงานต่างๆ ที่มีหลายๆสาย โดยเฉพาะในสายที่อาจารย์ผู้ร่วมให้คะแนนเชี่ยวชาญเฉพาะ ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่องานเป็นถึงงาน วิทยานิพนธ์ ทำไมพี่ๆ เขาไม่ได้ทำในส่วนนั้นๆ พออาจารย์ถามก็ตอบไม่ได้ หรือไม่ถูกต้องตามหลักความเป็นไปได้ หรือว่าไม่กล้าถามเพราะกลัวว่าจะเป็นการข้ามหน้าข้ามตา ท่านอาจารย์ประจำกลุ่มไปเลยทำให้งานที่น่าจะสมบูรณ์แบบมากๆ ไม่ต่างจากการทำ project ที่ผ่านมาเท่าไร รวมไปถึงที่เคยประสบเองในการทำprojectของปีต่ำๆลงมา เวลาไปถามท่านอาจารย์หลายๆท่าน เหมือนท่านจะเลี่ยงๆไม่อยากตอบเพราะไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำกลุ่ม ทั้งๆที่ท่านเหล่านั้นเคยบอกว่า ช่วงเรียนนี้มีอะไรให้รีบถาม ถ้าจบไปถามจะคิดตังค์ เลยอยากจะถามว่า การที่นิสิต(ไม่เน้นแต่วิทยานิพนธ์)จะไปถามอาจารย์ที่มีความรู้เฉพาะในด้านนั้นๆ จะเป็นการข้ามหน้าข้ามตาอาจารย์ประจำกลุ่มหรือไม่ แล้วถ้าเป็นจะให้นิสิตทำอย่างไรเพื่อให้สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพสนองอาจารย์ทุกท่านได้มากที่สุด นอกจากการค้นคว้าเองที่ผมคิดว่า บางครั้งก็ไม่สะดวก และชัดเจนเท่าปรึกษาผู้มีประสบการณืโดยตรง
โดยคุณ : ปี4เตรียมThesis - [ 5 มี.ค. 2544 , 12:11:42 น. ]
ตอบ...เป็นการเสียหน้าหรือไม่? คงไม่มีการเสียหน้าอะไรกันหรอก เพราะปกตินักวิชาการ ก็มักชอบฉีกหน้ากันอยู่แล้ว เพราะต่างนึกว่าตัวเองฉลาดกันเสียเต็มประดา หรืออาจถือว่าเป็นการกลั่นกรองแก่กันและกันก็ได้การข้ามหน้าข้ามตาไม่ต้องเป็นเรื่องที่ต้องเกรงใจกันเลย อาจสนับสนุนให้มีเสียด้วยซ้ำไป..ว่าแต่ขยันจะปรึกษาจริงๆเหร้อ
ตอบ..ควรบังคับการปรึกษาหรือไม่?ผมเคยเสนอ (กับใครก็ไม่รู้)หลายหนแล้วว่า ไม่ต้องไปกำหนดนิสิตต้องไปปรึกษากับใครเป็นกลุ่มใดเฉพาะ ปล่อยให้เป็นไปตามอัชฌาสัยไปปรึกษาเทวดาที่สวรรค์ไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นสวรรค์ที่คณะเรา ก็ต้องบังคับให้ได้ว่า ถ้ามีเทวดาคนใดที่นิสิตต้องการปรึกษาก็ต้องเอาปืนจ่อหัวต้องให้คำปรึกษา (เพื่อกันเบี้ยว) เพราะถ้าเทวดาคนนั้นยังต้องการเอาเงินเดือน (ที่มักดูแคลนว่าน้อยนิด แต่ยังทะลึ่งไปเบิกเอาอยู่ดี) จึงต้องให้บริการเรื่องนี้ ยิ่งโดยเฉพาะ กับเทวดาบางคนที่ฝันว่า จะมีนิสิตจบแล้วไปปรึกษา และยอมเสียสะตังค์ให้ด้วย ต้องคุมกันให้เข้มๆ ส่วนเทวดาภายนอกก็ให้บุพการีของนิสิตคุมเอง จ่ายเงินเอง..........สรุปก็ไม่ว่ากันจะปรึกษาหรือไม่ปรึกษาใครก็ตามที
ตอบ..การให้คำปรึกษา+การแนะนำ+การชี้ทางเท่าที่พยามยัดเยียดคำปรึกษาแนะนำให้นิสิตก็มักไม่เชื่อกัน นิสิตมักเอาหูทวนลมกันบ่อยเพราะคิดว่าตัวเองก็ฉลาดเหมือนกัน หรือไม่ก็แนะนำอะไร ที่ไม่มีใครเข้าใจได้ หรือทำไม่ได้เลยก็มี หรือแนะนำอะไรไม่เห็นเข้าท่าน่าเชื่อได้ ก็มีซึ่งถ้าไม่มีการบังคับด้วยคะแนน ผมว่าระบบให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์สูญพันธ์แน่นอน..เพราะถ้ามีแต่เทวดาชอบติ ไม่แนะ และบอกทางขึ้นสวรรค์ การถ่อสังขารไปปรึกษาก็เสียเวลาเปล่าๆ
ตอบ..การจำกัดคำถามในการวัดผลเพราะมาตรฐานการวัดขั้นต่ำ มันไม่เคยลองกำหนดกันให้ชัดเจน เช่น ลองกำหนดว่าการเขียนแบบงานวิทยานิพนธ์ ในแบบที่ไม่แสดงช่องเปิด ต้องทำไม่ได้ หรือใส่รางน้ำไม่ถูกหลักโครงสร้าง หรือขนาดเล็กไม่พอระบาย ต้องได้F สถานเดียว ความคิดล้าสมัย โบราณกาเลต้องไม่แอบส่งเสริม ต้องขจัดความคิดตะกละตะกรามเกินเหตุ ของผู้ออกแบบ ที่ไม่ยอมเว้นที่ว่างให้สาธารณะ หรือยึดครอง ครอบครองหาดทราย หรือทรัพย์สินสาธารณะประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เอาใจใส่อาคารข้างเคียงไม่สนใจมลภาวะของอาคาร ที่ไปทำให้สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศวิทยาเสียหาย เพราะไม่สนใจว่ามันคืออะไร ไม่มีใครเคยสอนไว้ในห้องเรียนไม่ตระหนักที่จะใช้พลังงานทดแทน ในที่ๆไม่มีพลังงานหลักมาประเคนให้ไม่ได้ หรือถ้ามีก็คอยแต่สวาปามแค่ตัวเองจนเกินเลย เพราะเผอิญเกิดมาเป็นเปรตมือยาวกว่าคนอื่น หรืออื่นๆ ฯลฯ(ต้องหยุดเพราะชักเกิดอารมณ์บูดแล้วละครับ) ก็ต้องขจัดความ(ไม่)คิดพรรค์นี้อย่าให้ได้ผุดได้เกิด หรือ แม้แต่การออกแบบเอาใจแต่ห้องเจ้านาย ปล่อยให้ห้องคนงานหรือห้องภารโรงไม่มีหน้าต่างให้หายใจ เป็นพวกศักดินาสุดๆ ต้องให้ F สถานเดียวหรือจะเอาถึงขั้นติดแอร์กี่ตัน ห้องถึงจะเย็นเยือก(โดยไม่แคร์ว่าอาคารจะดูเชย) และอื่นๆอีกมากมายพะเรอเกวียน ก็ต้องตกลงกันให้ชัดแจ้งไปเลยจะได้ลงดาบฟันตอน jury แบบซาดิสท์ได้สบายใจโดยไม่กลัวบาป เพราะตกลงกันก่อนแล้ว..หรือไม่เอาอย่างที่ครูประชาบาลบอกไว้ก็ดีนะ
ตอบ...กำหนดขอบเขตของปัญหาการออกแบบเมื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำได้แล้ว ก็ต้องจำกัดโครงวิทยานิพนธ์อย่าให้เว่อ ใหญ่โตมโหฬาร คลุมปัญหาที่ต้องคำนึงถึงมากมาย อีกทั้งโครงการใหญ่ๆ อาจเป็นการชี้ช่องให้โดนถลุงถามกันจนงงได้ง่ายกว่าโครงการเล็กๆ ที่มีขอบเขตปัญหากำหนดชัดเจน เช่น โครงการวิทยานิพนธ์ ออกแบบส้วมสาธารณะ โดยไม่ต้องตามแก้ปัญหาเลยไปถึง จะเอาอุจจาระ หรือปัสสาวะ ในบ่อเกรอะ-บ่อซึมไปใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ อย่างไร หรือที่ไหนต่อไป เป็นต้น คือต้องกำหนดเพดานความสูงส่งของคำถามไว้ด้วยเหมือนกันนะ ไม่งั้นเจอคำถามเทวดา ก็จะยังยุ่งๆและงงๆอีกอยู่ดี
ตอบ..เอาคุณภาพหรือปริมาณเผอิญสังคมไทยทุกวัน เน้นความเป็นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เพราะคนมันมากจนจะล้นโลกการเรียนก็เป็นแบบ อัดหรือแย่งเป็นปลากระป๋องส่งนอก ปลาเน่าปลาดี กระป๋องมีสนิม บุบๆเบี้ยวๆก็ต้องยัดส่งออกจากคณะให้เร็วสุดๆเท่าทีทำได้กระป๋องกับปลาก็เปรียบเหมือนอาจารย์ที่ปรึกษากับนิสิตที่ทำวิทยานิพนธ์ ต่างไม่อยากเข้าใกล้กันเท่าไรถ้าไม่เชื่อ ลองเลิกบังคับให้คะแนนซิ รับรองต่างคนต่างอยากเรียนอยากสอนคนเดียว เพราะปรัชญาแห่งการเรียนรู้ด้วยกัน และความเป็นสังคมแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ไม่มีใคร get กันให้เมื่อยตุ้ม
ตอบ...การคัดเลือกคนปรึกษาและคนให้การปรึกษาเวลาเอาปลา (คนปรึกษา) มาแรกๆ ก็มีการคัดกันเป็นวรรคเป็นเวรแต่พอมาปรุงกันจนจะได้ที่ ไงถึงยังเจอเน่าตอนจะอัดกระป๋องส่งออก ส่วนด้านเจ้าเครื่องทำกระป๋อง(คนให้การปรึกษา) ใส่ปลา ทำทีไรกระป๋องเองก็บุบๆเบี้ยวๆทุกที แถมบางกระป๋องเพิ่มสนิมไปผสมโรงอีกต่างหาก พอตอนตรวจสอบคุณภาพสุดท้าย รสชาดปลา+กระป๋องไม่ดี ไม่มีรสชาดถูกปาก กระป๋องบุบ เจ้าปลาก็โทษกระป๋อง เจ้ากระป๋องก็โทษปลา ผมว่าบางทีคงต้องเลิกกิจการ เปลี่ยนโรงงาน จากทำปลากระป๋องเป็นโรงงานทำ พิชโช่กรอบใส่ซองละกัน ฉีกก็ง่ายเคี้ยวก็ง่าย ดีกว่าทำปลากระป๋องเดิมเป็นไหนๆ...สมัยนี้...เขา (ชาวเขา) ทันสม้ายกันแหล้วว...(ตัวอย่างไม่เห็นจะเกี่ยวกันเล้ย...เวรกรรมจริงๆ)
จบชั่วคราวจาก…เพื่อนอาจารย์
ตอบ...เรียนวิชาออกแบบ sk.d ยังไง...ที่ไม่ต้องได้คะแนน เอฟ
๑. พยายามนำเสนอความคิด ให้ใครๆรู้ให้ได้ว่าเรามี ความคิดที่ดีๆตามหลักวิชาที่ร่ำเรียนมา บวกการ มีคุณภาพของความคิดสร้างสรรค์อยู่บ้าง
๒. ตีความต้องการของโปรแกรมให้เข้าใจ ประเด็นความสามารถ ทางสถาปัตยกรรม อยู่ตรงไหน จะเน้นอะไร
๓. โชว์ทักษะการนำเสนอ ที่เคยฝึกฝนมา ให้สุดๆ ฝีมือการเสก็ตการเขียน ต้องมั่นฝึกฝน เช่นสังเกตผลงานเพื่อนๆที่ฝีมือเจ๋ง ได้คะแนน A บ่อยๆ
๔. แสดงความตั้งใจการเรียน การทำงานออกแบบของเราให้ได้ ให้อาจารย์ท่านซึมทราบให้ได้ ใช้มือเขียน สมองคิดๆๆๆ.. อย่าให้ผลงานดูเหมือนใช้เท้าช่วย เขียน ทำงานรีบๆ เหมือน นั่งรีบๆ..ขี้ๆๆในส้วม เสร็จแล้วสะบัดก้นหนี น้ำก็ไม่ตักราดขี้ ก่อนออกมา
ผมว่าถ้าพยายามทำได้อย่างที่แนะนำมา ก็ไม่น่าจะจะได้เกรดต่ำกว่า C-A หรือมีปัญหาอะไรมากมายนะครับผมเคยระบายเรื่องนี้มายาวๆ ในกระทู้ก่อนๆ ลองไปอ่านดู และคิดๆๆๆกันดู..พยายามมองปัญหาภายใน..อย่าพะวงปัญหาภายนอก ที่เราอาจบงการอะไรไม่ค่อยได้มากนัก...เชื่อผมเถอะ...pleaseeeee!!!
เมื่อเขาไม่ชี้แนะ ก็นึกเสียว่า ครูเป็นใบ้ ลองมองตาครูแทน มองใจได้ยิ่งดี ถ้ามองอะไรไม่เห็น ก็เป็นคนชี้แนะตัวเอง อย่าหวังพึงอะไรจากคนอื่นทุกอย่าง..นึกเสียว่าครูเป็นแค่เพื่อน เพราะเราไม่ค่อยเคารพครูเท่าไรนัก ไปเตะบอล ถ้าไม่เรียนรู้อะไรด้วยตัวเอง ก็เตะไปเสียแรงเปล่าๆ เป็นนักเตะบอลฮ่วยๆ ก็ไม่มีใครจ้างเล่น เพราะไม่มีใครดู ของบางอย่างไม่รู้จะตอบให้เปลี่ยนความคิดได้อย่างไร ก็ต้องปลอบใจ ให้เปลี่ยนทัศนะคติใหม่ โลกใหม่ที่สดใสกว่าก็มีให้เห็นได้ มีคำถามที่พระพุทธเจ้าไม่ตอบ เช่นภิกษุมัวถามว่า คนเราตายแล้ว ไปไหนเอ่ย เพราะรู้เป็นคำถามที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่เอาจิตอยู่กับปัจจุบัน ทั้งๆที่ท่านสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด สำหรับคนที่ยังมีกิเลส ก็ดันทุรังถามอยู่ได้ ...หนอยอดีตยังลืม ปัจจุบันยังเผลอ.. ริอยากรู้อนาคต...ว่าเข้านั่น
ก็ยังตอบไม่ตรงอยู่ดี....ใช่ปล่าวครับ รู้สึกวันนี้มีอารมณ์ อยากเถียงจัง เห็นต้องพอไว้ก่อนนะ..สำหรับวันนี้
จาก…เพื่อนอาจารย์
ตอบ ผมเคยบอกแล้วว่า สมัยเด็ก ผมชอบฟังคน (ผู้ใหญ่)คุยกัน เถียงกันในร้านกาแฟ มันอาจได้ความรู้และการเข้าใจชีวิต ที่จะช่วยนำทางผมได้บ้างในอนาคต
เรื่องคุยกันที่นี่ ผมมีความตั้งใจว่า ประสบการณ์ส่วนตัว และมุมมองปัญหา ของผมอาจช่วยนิสิต ตัดความกังวลใจบางอย่างลงได้บ้าง เปลี่ยนทัศนะคติ ให้มีผลดีกับตัวเอง จิตใจจะได้เป็นสุข สิ่งดีๆจะได้เกิดขึ้นกับตัวเราอยู่เสมอ...อีกทั้งยังคอยเตือนตัวผมเองด้วย ว่าคนอื่น โดยเฉพาะนิสิต เขามองเราอย่างไรบ้าง...นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์
ปัญหาบางอย่างมันตอบกันตรงๆ ไม่ง่ายนัก เหมือนบางทีเราคิดแบบในปัญหาใดปัญหาหนึ่ง มันไม่ชอบ ถูกใจ ตัดสินใจเลือกลำบาก บางที่จำเป็นต้องทวนปัญหา หรือปรับเปลี่ยนปัญหานั้นเสียใหม่ โอกาศของมุมมองปัญหา และการแก้ไข อาจเกิดทางเลือกสำเร็จใหม่ๆได้...นี่คือที่ผมพยายามเตือนในที่นี้
การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ attitude changeเป็นการศึกษาที่ผมสนใจ เคยอ่านบทความทางวิชาจิตวิทยา เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง สนุกดี ผลทางวิชาการเรื่องนี้ มีการนำไปใช้ในงานอาชีพโฆษณามาก เรื่องทัศนคติ ถ้าเราไม่ระวัง บางทีมันกลายเป็น โมหะ หรือ ความหลง เป็นอกุศลจิตได้นะครับ
ความกระตือรือร้น ในการคิดอยากปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคม ที่ตนเองเกี่ยวข้อง ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี ทุกคนควรเอาใจใส่ แต่ยุทธวิธี ในการดำเนินการ ผมว่าจำเป็นต้องทำให้ถูกกาละเทศะ ต้องมองผลกระทบ และตัวแปรอื่นให้รอบด้านด้วย อย่าใช้อารมณ์ที่เกิดจากตัวเรา เป็นบรรทัดที่เคร่งครัดจนเกินไป ผลการกระทำอาจไม่เกิดดังที่เราประสงค์ได้ ไม่มีใครอยากคิด และทำงานร่วมกัน ด้วยความโกรธต่อกันและกัน แต่ถ้าปรับกันให้เกิดความรัก และเอื้อาทร ต่อกันได้ อะไรมันก็จะง่ายไปหมด ทัศนคติที่ไม่ดี บางทีมันก็เปลี่ยนแปลงไปได้...ต้องใช้ความรักเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างสังคมใหม่ที่ดีของเรานะครับ
ผมเข้ามาเป็นอาจารย์ ตอนช่วง ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลาต่อมา ชีวิตนิสิตและอาจารย์ช่วงนั้น สับสน ชุลมุน วุ่นวายมากๆ วันเกิดเรื่องราว นิสิตหลายคน คุยกับผมด้วยน้ำตา และความโกรธ บางคนบอกลา หลัง ๖ ตุลา เพื่อเข้าป่าจับปืนต่อสู้ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ (เผอิญผมมีนิสัยเสีย ไม่ชอบจำชื่อนิสิต เพราะกลัวมีอคติ ตอนกรอกคะแนน เดี๋ยวนี้เลยไปกันใหญ่ เจอหน้านิสิตเก่าจำได้ แต่นึกชื่อไม่เคยได้...ชาตินี้เป็นนักการเมืองยากแน่..)..หลายต่อหลายคน ผมเคยแนะว่า น่าจะเลือกการต่อสู้ที่เราถนัด มิฉะนั้นอาจพลาดพลั้งได้ง่าย การต่อสู้ทางปัญญา ผมว่าเสียหายน้อยที่สุด และเป็นการต่อสู้กับจิตของเราเองด้วยในเวลาเดียวกัน อย่ากลัวว่าเราจะเป็นเหยื่อ โดนหลอม ของความไม่ดี ไม่ถูกต้องของสังคมขณะนั้น เพราะถ้าจิตของเรามีกุศลจิตที่แท้จริง ผมว่าเราต้องหนักแน่นให้ได้ ถ้าแน่ใจว่าสิ่งที่เราจะทำถูกต้อง และเป็นธรรมต่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเท่านั้นพอ ก็เหมือนพระพุทธเจ้าเอา ชนะ องคุลีมาล และเทวทัตได้ ก็ด้วยปัญญาและบารมีที่ท่านสั่งสมมา..นั่นแหละ
ทำความเข้าใจกับ ธรรมชาติ และปรากฏการณ์ของแต่ละสิ่งที่เราเผชิญปัญหา ให้รอบคอบและประณีต เลือกโอกาศและยุทธวิธี ที่เหมาะตามศาสตร์ปัจจุบันที่บันทึกไว้ให้อ่านให้ศึกษา แล้วนำมาใช้เมื่อเรามีโอกาสหน้าที่ ที่ต้องรับผิดชอบ ชนะแก้ปัญหาได้ ก็ดีไป ไม่สำเร็จ ก็นำกลับมาทบทวน แล้วพยายามใหม่เมื่อมีโอกาสอีก ไม่ได้ชาตินี้ ก็รอชาติหน้า...ก็ต้องคุยอย่างนี้ เพราะความรู้อาจเรียนทัน หรือเรียนเลยกันได้ แต่บารมี ความดี กุศลจริต สะสมกันมา ไม่เท่าเทียมกัน ก็ต้องยอมรับ ตามหลักพุทธศาสนาที่บันทึกไว้นะครับ
ผมเอ่ยเรื่อง skd ที่คุยกันนี้กับอาจารย์อื่น เมื่อวานนี้ ทำให้นึกถึงอาจารย์เก่าหลายคนที่ผมเจอมา โดยเฉพาะในคณะเรา คือท่านอาจารย์แสงอรุณ รัตตกสิกร หรือ "ครูแสง" ที่นิสิตแทบทุกคน ทึ่ง รัก และเคารพท่านมาก แม้ท่านล่วงลับไปแล้ว แต่หลายคนยังระลึกถึง และยังประทับใจท่านเสมอ...มันแปลกตรงที่วิธีการให้เกรด เป็นอารมณ์สุดๆ หาเหตุผลกันไม่เจอ (ตามที่ลูกศิษย์อย่างผมเข้าใจนะ) เหมือนที่คุณกังวลใจ และอยากให้ได้เหตุผลจะแจ้งสุดๆ ตอนนี้ ...แต่ตอนนั้นไม่มีใครข้องใจอยากทราบ หรือพยายามตอแยท่านเลย..ผมคนหนึ่งที่ไม่เคยสงสัยอะไรท่านเลย หากแต่ ศรัทธา และยอมรับสิ่งที่ท่านทำกับนิสิต ทั้งนั้น เพราะผมแน่ใจว่าท่านรักการศึกษาสถาปัตยกรรม และคนเรียนสถาปัตยกรรมทุกคน...ท่านทำให้ผมเกิดรสชาดในการเรียนการสอน ตั้งแต่แรกที่เข้าเรียนคณะนี้ และขณะนี้ ...ผมอยากสรุปว่ามันเป็นเพราะบารมีของท่านจริงๆ
คุณแต่ละคน ก็ควร และมี ความทรงจำที่ดีของครูเก่า กรุณาเก็บมันไว้เมื่อเราเจอครูคนอื่น เอาจิตใจและศรัทธาที่มีต่อท่านนั้น มา เผื่อแผ่ให้กับครูอื่นที่เรายังไม่ถูกใจนัก ผมว่าแค่นี้ก็พอ ทำให้ เราอาจเปลี่ยนแปลงทัศนคติเก่าได้นะครับ....อย่าบอกผมนะว่า ในชีวิตคุณไม่เคยเจอ สิ่งดี และครูดีนะ...ถ้าไม่มี ผมว่าคุณมีปัญหาที่ตัวเอง ต้องแก้ไขโดยการสร้างบารมี ต้องเข้าวัด หรือบวชเรียนพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นใด ให้มากๆ และหนักๆด้วยในชาตินี้ก่อน...แล้วจึงค่อยกลับมาเกิดใหม่ แล้วเรียนวิชา skd ต่อไป..ถึงตอนนั้น อะไรที่ดีๆ เป็นสุข ก็จะเกิดขึ้นแน่ๆ
ก็ขอระบายความในใจมาอีกยาวนะครับ
จาก…เพื่อนอาจารย์
ตอบ อ่านแล้ว สบายใจ ชื่นใจ ในความคิด และนับถือยิ่ง (ไม่ใช่เพราะมาเยินยอผมนะ..โปรดอย่าไว้ใจใครด่วนนัก เพราะเขาคนนั้นอาจเป็นพ่อมดก็ได้) ในผลผลิตบางส่วนที่เกิดจากสถาบันนี้ ผมสังเกตหลายต่อหลายคนว่า เบ้าหลอม (ซึ่งไม่ควรมีเบ้าหลอมกันเลย) บางครั้ง มันเปลี่ยน หรือบดบัง ศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละคนไม่ได้เลยจริงๆ หลายต่อหลายคน ไปประสพความสำเร็จในบทบาทอื่นๆ ทั้งที่ไม่ได้เรียนรู้สิ่งนั้นโดยตรง นี่เป็นความหลากหลายในวิชาสถาปัตยกรรม ที่บางอาชีพ เหมาว่า บ้าๆบวม หาจุดสรุปชัดๆไม่ได้ แม้ในหลักสูตร หรือความคิดอาจารย์ มันทำให้ผมค่อนข้างแน่ใจว่า การเรียนรู้ของเรานั้น องค์ประกอบของสถาบัน และครูนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แค่เสี้ยวเดียว..นิดๆ..ที่สร้างสติปัญญาแต่ละคนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดเลย
ผมปรารถนาอยากให้นิสิต เป็นว่าวที่ติดเครื่องยนตร์ หรือมีพลังอื่นใด เป็นของตัวมันเอง ส่งให้ลอยไปได้โดยไม่ต้องอาศัยลมจริงๆ เพราะลมนั้น มีหลายแบบ บางทีก็พัดเอื่อย ไม่มีแรงส่งว่าวให้ลอยพอ บางที่ก็พัดแรงเป็นพายุอุตลุด ทำให้ว่าว สับสน หมุนติ้ว จนหัวว่าวปักลงดิน หรือสายป่านขาด ไม่รู้ลอยไปไหน....ประเด็นคือว่า แล้วเครื่องยนตร์ หรือพลังอื่นที่มีติดว่าวแต่ละคน มันอยู่หนใดฤา...ตอบไม่ได้...กำลังแสวงหาอยู่ครับ..แม้ว่ายังหาไม่พบ แต่พยายามทำตัวเอง ไม่ให้เป็นลมบ้าหมูก็พอแล้ว..จริงไหม
ศาสตร์ทั้งหลาย เป็นเพียงการแยกชนิด เพื่อปรุงแต่งโลกนี้ให้ดูดี (ตามโมหะจริต) สุดท้ายก็ต้องไปรวมอยู่หนึ่งเดียว คือศาสตร์แห่งชีวิต เพราะว่าเรียนวิชาใด แล้วไม่ส่งผลดีต่อชีวิต ทำให้เป็นกุศล หรือเกิดกุศลจิตได้ ผมว่าเป็นศาสตร์ฮ่วยแตกทั้งเพ
เรื่องสาขาแลนด์เสคป หรือสถาปัตยกรรม หรือสาขาอื่นในคณะนี้ ที่ไม่ได้เอ่ยมา ผมคิดว่าไม่น่าต่างอะไรกันในเนื้อหา ยกเว้นเรื่องรูปเท่านั้นเอง สูงสุดแห่งเป้าหมายเดียวกัน คือการจรรโลงให้มนุษย์ใช้ สภาพแวดล้อมเหล่านี้ เป็นพาหะแห่งการพ้นทุกข์ได้อย่างไร..แสงเงาที่ระเบียงโรงเรียนที่เราประจักษ์ ก็เกิดขึ้นได้ท่ามกลางแมกไม้ หรือแม้แต่ห้องที่หลังคา หรือผนังมีรู ก็ได้นะครับ...ความประทับใจใดๆ เขา (ผู้รู้บางคน) โม้กันว่า เป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้า ประทานให้แต่ละคน ไม่เหมือนกัน แต่น่าจะแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันได้..ท่านผู้ให้คงยินดีแน่
การเขียนเล่าสู่กันฟัง เป็นอีกมิติที่น่าสนใจ ในการสื่อ หรือระบายความคิด ผมว่ามันต่างรสชาดจากการพูดคุยปกติ... เขียนคุยกับคนรักที่เรารู้จัก มีรูปวางตรงหน้า ก็อีกรสชาด เขียนคุยกับคนที่เราไม่แน่ใจว่ารู้จักหรือป่าว แต่คุยกันได้ แลกเปลี่ยนความคิดแก่กันและกันได้ ก็เป็นรสชาดที่ยิ่งแปลก..นี่แหละคือโลกที่น่าสนใจ ของ ไซเบอร์สเปส ที่ผมว่าไม่น่ามองข้ามนะครับ..วันก่อนอ่านบทความและวิธีการสอนสถาปัตยกรรม ผ่านทางอินเทอร์เนต ของ อาจารย์ ท่านหนึ่ง ชื่อคล้ายคนจีน เน้นความคิดของการออกแบบ โดยสื่อทางการเขียนภาษา อย่างเดียวล้วนๆ ..ผมสนใจเรื่องนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเปลี่ยนมิติการคิดที่เราเคยชิน หรือค่อนข้างจะตันแล้ว หรือยังหาทางออกใหม่ๆไม่ได้...ยังไม่รู้จะเริ่มลองที่ตรงไหนดี ด้วยความหวังว่า อาจทำให้นิสิตบางคน เจอพลังของตนเองแทนลมว่าวอย่างเดิมๆ
ก่อนจบขอแถมอีกนิด..สมัยที่เป็นนิสิตในสถาบันนี้ ผมสังเกตเห็นว่า ที่นี่เป็นสถาบัน ทำเบ้าหลอม เพื่อที่จะสอนให้นิสิตยอมรับ และมีความอดทนที่จะอยู่สบายๆในเบ้า .. แต่ก็มุ่งหวังเป็นนัยๆ เพื่อการแย้ง (กระทืบเบ้า หรือกระดอง) ในอนาคต เมื่อจบออกไป..ผมเลยยังไม่แน่ใจว่า ถ้าเราเริ่มการแย้งกันแล้วในวันนี้ ตอนเป็นนิสิต ต่อไปภายหน้าเราจะแย้งอะไรอีก หรือแย้งไปจนตลอดชีวิต แล้วไม่เคยยอมรับอะไรเลย ผมว่าเราอาจพลาดโอกาศ หรือของดีๆ ไปได้เหมือนกัน... โปรดอย่าไว้ใจตาเรา หรือความคิดเราเองด้วย เพราะบางครั้งมันก็มั่วๆได้เหมือนกันนะครับ
ผมก็เคยประชดเรื่องในทำนองนี้กับนิสิตเหมือนกัน....แต่ตามสภาพความจริงในปัจจุบัน ก็คงเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ ยังมีผู้เลือกเรียนสถาปัตย์ ตอนสมัครสอบเอ็นทร้านซ์เข้ามหาวิทยาลัย
ข้อดีในการตั้งกระทู้นี้ ก็ตรงที่ การหันมาหยุดมองตัวเอง ทบทวนบทบาทที่ตนเองเลือกใน การเรียนรู้ และการประกอบอาชีพนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรกระทำเป็นปกตินิสัย อยู่เสมอๆ
การล้มกระดานแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้ หรือมีผลดียั่งยืนนัก ก็เหมือนการทำรัฐประหารในทางการเมือง ที่ล้มเหลวมาแล้ว..ประเด็นที่น่าถูกต้อง คือการเสริม การมีส่วนร่วมของประชนทางการเมือง หรือส่งเสริม การมีส่วนร่วมของประชาคมทางการศึกษาด้วย
โรงเรียนเคยเริ่มต้นจากการเรียนในวัด ที่จริง เป็นการเริ่มต้น ของการสร้างคุณค่าตรง ที่ต้องเรียนรู้ทางจริยธรรม คู่ขนานกับการมีความรู้ในเรื่องทั้งหลาย แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมา ก็มีการกลายพันธ์ จนเรื่องคุณธรรมไม่เน้น ให้ชัดแจ้งกันนักในมหาวิทยาลัย ซึ่งคงอาจถือเป็นเรื่องที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องตระหนักเป็นธรรมชาติอยู่แล้วก็ได้....แต่ผลที่ปรากฏ คือเกิดข้อครหาในปัจจุบัน หรือเรื่องที่ต้องขุด เอามาย้ำเตือนกันให้แน่ใจอีกกันบ้าง
มองในแง่ดี ส่วนหนึ่งเป็นความกังวลที่เกิดขึ้น จากผลการศึกษามันไม่สะท้อนความดีงามจากผลของอาชีพนี้เท่าที่ควร...เพระหวังสูงในทางอุดมคติมากเกินไป...ก็ได้... แต่ถ้าความกังวลนี้มีมากเข้าๆ ก็อาจทำให้เราต้องทบทวน ทั้งเนื้อหาที่ศึกษา และการปฏิบัติจัดการในการศึกษาในคณะนี้ ที่ต้องปรับปรุงพัฒนากันแน่ๆ
ตอนนี้ที่คณะเราก็พยายาม เพิ่มครูทั้งอาชีพและสมัครเล่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ผมว่าเป็นสิ่งดีทีเดียว ที่ทำให้สถาบันนี้เป็นส่วนของประชาคม หรือ ให้เกิดมีความรับผิดชอบของทุกคนมากที่สุด เท่าที่ผู้บริหารพึงกระทำได้
ส่วนในการเรียนนอกระบบ ผมว่าก็เป็นอีกทางเลือกอื่น ที่จะช่วยเสริมกันและกัน อย่างเช่นระบบการเรียนรู้ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งผมสนใจ และคิดว่า พวกเราน่าจะลองเสริมในทางเลือกใหม่นี้ด้วย เพราะเครื่องมือทางเทคโนโลยี มีอำนวยให้พอกระทำได้ เช่นเว็ปบอร์ดนี้ ก็อาจถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการจุดประกายความคิดเห็นที่ดี มีประโยชน์ใหม่ๆได้...ซึ่งในหลายๆทางเลือกที่มีขึ้น ก็จะทำให้ของเก่าที่มีอยู่เดิม ก็จำเป็นต้องพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วย มิฉะนั้นก็ต้องเฉาตายไปโดยปริยาย.... สปิริตของโรงเรียนที่เกิดจากคนคุยกันใต้ต้นไม้ หรือ การเรียนแบบครูพักลักจำ ก็จะกลับมาอีก...หากแต่ในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันก็ได้นะครับ...ขอเพียงแต่พวกเราอย่าสิ้นหวังเลยครับ
จาก…เพื่อนอาจารย์
กระทู้ถ้าชีวิตเราเหมือนภาชนะว่าง..จะเป็นแบบกระโถนหรือกระถางกันแน่
ท่าน ชยสาโรภิกขุ เป็นคนต่างชาติชาวอังกฤษ สนใจศึกษาพุทธศาสนามาก่อน เคยแสวงหาไปทั่วถึงอินเดียและเนปาล และเคยฝึกด้านโยคะสมาธิตัดสินใจบวชเป็นพระในบวรพุทธศาสนา และศึกษาธรรมกับท่านอาจารย์ชา แห่งวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี เดินทางมาถึงเมืองไทยโดยมีเงินเหลือเพียง ๒๐๐-๓๐๐ บาท เพราะไม่ต้องการมีสตางค์กลับไปบ้านที่อังกฤษอีก และต้องอยู่ศึกษาและเป็นพระที่วัดนี้ไม่น้อยกว่า ๕ ปี เพื่อทดสอบว่ามีบารมีพอที่จะรักษาพรหมจรรย์ในชีวิตพระได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ บัดนี้ท่านศึกษาและปฏิบัติธรรมจนร่วมนานกว่าสิบปีแล้ว ท่านพร้อมจะเป็นภิกษุไปตลอดชีวิตและดำเนินการเผยแพร่ธรรมเพื่อสันติสุขของชาวโลกสืบไป
นี่เป็นหนึ่งในข้อคิดหลายอย่างของท่านที่แสดงไว้..ดังความว่า
ชีวิตของเราก็เหมือนกับเป็นภาชนะว่างถ้าหากเราไม่สนใจไม่ตั้งใจในการฝึกฝนอบรมตนเอาแต่ของไม่สะอาดใส่ในกาย วาจา ใจของเราชีวิตของเราก็เป็นภาชนะว่างที่กลายเป็น "กระโถน"แต่ถ้าเราฝืนกิเลสของตัวเอง ไม่ทำตามกิเลสสนใจในการที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยธรรมทำชีวิตให้เบิกบานโดยคุณธรรม มันก็เหมือนกับว่าเราตั้งภาชนะนี้ไว้ในที่ดีแล้วเอาดินใส่ เอาต้นไม้ใส่ รดน้ำพรวนดินเสร็จแล้วภาชนะนี้จะเรียกเป็นกระโถนไม่ได้ต้องเรียกว่าเป็น "กระถาง"
ความตอนหนึ่งจากธรรมเทศนา ณ จังหวัดอุบลราชธานีโปรดจดจำชื่อและติดตามงานคิดและปฏิบัติของท่านนะครับ
ขอคัดเนื้อหาธรรมของท่านมาให้ทราบอีก...ดังนี้
๑. ..........ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืนแต่ความจริงของชีวิตเป็นสิ่งไม่ตายเข้าถึงความจริงของชีวิตมากเมื่อไรก็ห่างไกลออกจากความตายมากเท่านั้น
๒....ธรรมของพระพุทธองค์เรียกว่าเป็น อกาลิโก (ไม่มีเวลา)เพราะคนที่ไหนก็ตาม เป็นคนชาติไหนวรรณะไหนก็ตามถ้าปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์อย่างถูกต้องแล้วล้วนแต่สามารถเข้าถึงธรรมะได้ทั้งนั้น
๓.......การดึงจิตออกจากโลกกลับมาสู่ธรรมเป็นเนกขัมมบารมี เป็นเหมือนการออกบวชให้พวกเราหาโอกาสที่จะออกบวชทุกวันคือออกจากความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตเป็นกุศลปล่อยวางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามนั้นเป็นการออกบวช
๔.......วิปัสสนา คือความรู้แจ้ง เกิดในจิตที่สงบแล้วถ้าจิตไม่สงบมันอดยุ่งกับอารมณ์ไม่ได้เมื่อมันยุ่งกับอารมณ์ ไปถือกรรมสิทธิ์ในอารมณ์จิตไม่สามารถที่จะเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงวิปัสสนาไม่เกิดเงื่อนไขสำคัญของวิปัสสนาจึงอยู่ที่จิตใจที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
๕......เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิภาวนาให้มากเถิดเพราะผู้ที่ทำสมาธิได้ดีแล้วย่อมรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
๖....สติ เป็นตัวระลึกสัมปชัญญะเป็นตัวรู้ขาดสติแล้วก็ลืมลืมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ขาดสัมปชัญญะแล้วก็หลงไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่ในปัจจุบันมีประโยชน์หรือไม่ควรเจริญหรือควรละ
๗....เราขาดสัมมาทิฏฐิ (ปัญญาอันเห็นชอบ คืออริยสัจ ๔) ข้อเดียวปฏิบัติเท่าไหร่ เราอาจจะไม่ได้ผล
หลวงพ่อชาบอกว่า....
เหมือนกับตักปลาในหนองที่ไม่มีปลา จะขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่ถ้าไม่มีปลาอยู่ในที่นั้นความเพียรก็จะเป็นหมัน
๘........พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่ยืนยันอย่างไม่หวั่นไหวว่ามนุษย์สามารถพัฒนาตนให้ถึงจุดสมบูรณ์โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งนอกตัวทั้งสิ้น
๙....และ ๑๐...แจ้งในกระทู้ข้างต้นแล้ว
เดี๋ยวนี้คนตะวันตกเขา "ทันสมัย" แล้วโยมล่ะยังคงเก็บตกของ "ล้าสมัย" ของพวกเขาอยู่เหรอะ.....อนิจจา
จาก…เพื่อนอาจารย์
"ลูกศิษย์ฝรั่ง สอนไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือนควายเดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"
คำปรารภของ ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท
ที่มาส่วนหนึ่ง...ของอาชีพ..อาจารย์
สำหรับผม..เพราะอยากและชอบเรียนหนังสือไปตลอดชีวิต ตอนสมัครเป็นอาจารย์ ก็ตอบการสัมภาษณ์ เหมือนที่คุณถามมานี่ล่ะ..มีกรรมการท่านหนึ่ง สวนกลับมาว่า.."เฮ้ย สมัครผิดที่ละมั้ง คุณต้องมาสอนซิ"..ผมก็สู้สวนตอบกลับไปแบบไม่ได้ก็ไม่ได้ว่ะ..."ก็ถ้าผมไม่เรียนด้วย ผมจะเอาอะไรไปสอน..อ้ายที่เรียนทำโก้ได้ปริญญาเมืองนอกแค่สองปี..กลับมาสองสามวันเผลอๆ ก็หมดน้ำยาแล้วครับ"...โชคดีผมเถียงแบบน่ารัก..น่าร๊าก เลยแบบมั่วๆได้มากินเงินเดือนที่นี่...
ประวัติการเรียนที่นี่ของผม..คุณผิดคาดแน่ๆ..เพราะผมห่วยกว่าอาจารย์ทุกคนที่นี่เลยครับ...จึงเป็นบัญชาของสวรรค์ ที่ผมต้องมาแก้ทุกข์ที่นี่...ยังไม่รู้อีกนานเท่าไร ท่านถึงจะเรียกกลับไป พิจารณาอีกว่า จะอยู่ถาวรที่สวรรค์ คอยสอพลอท่าน (?)ใกล้ๆ หรือไปลงนรกให้พ้นหูพ้นตา...ก็ยังไม่รู้เลยครับ
เรื่องงานออกแบบ..อุปมาเหมือนพระในวัด เลยทำแต่ที่ในวัด ตามที่สมภารสั่ง พอมีค่า ม่าม่า ไว้แอบฉันตอนกลางคืนได้บ้าง จะไปทำอะไรนอกวัด ก็ขัดๆกับปัญญาที่มีของผม...คือรู้พระอภิธรรมยังไม่แจ้ง นักธรรมเอก ก็ไม่ได้ เทศน์ยังไม่ค่อยมีคนเชื่อ..ขนาดอยู่ในวัด ก็แค่นานๆครั้งเป็นแค่พระสำรองกิจ...จะคิดไปเปิดบริษัทเทศน์นอกวัด..ก็บ้าจี้ซิคุณ...เลี้ยงลูกสองคนที่บ้าน (สึกแล้วนะ) ก็หืดขึ้นคอ เลี้ยงเพิ่มลูกๆ (นอกกระดอง) ในบริษัทอีก มิพาลตายเร็วหรึ... ยิ่งพวกเราช่วยกันทำจนฉิบหาย จะเจ้งประเทศอยู่ลำมะล่อ...ผมว่าผมคิดถูกว่ะ
ด้วยความบกพร่องทางส่วนตัวของผมดังกล่าว...เลยต้องทำงานออกแบบเป็นงานอดิเรก..แบบพอกันไม่ให้ลูกศิษย์เหยียดหยาม...เรียนหนังสือ (หลอกว่าเป็นสอน) กับพวกคุณๆเป็นงานหลัก..ตอบมาให้แล้วนะ..อย่าไปโพนทะนา ให้ท่านสมภาร (กลับเข้าวัดแล้ว) รู้ล่ะเดี่ยวโดนจับสึก แบบหล่วงพี่ที่หนีเที่ยวคาเฟ่ในข่าว..นะหนูนะ...ว่าจะไม่ยาวแล้วเชียวตู (บ่น)ก็บอกไปแล้วไง...พ่อ russian เอ้ย..มีอารมณ์ขัน (ซึ่งก็ขันอยู่แล้ว) เสียบ้าง ผมเผ้าจะได้ไม่ร่วงเร็ว (แต่อาจต้องหงอก) คิดเป็นแบบนักเรียน และอยู่ในวัด ทำได้แค่ไหน ก็ดีแล้วทั้งนั้น ใครให้เกรดอย่างไร ก็ช่างประไร เป็นพระก็ต้องสมถะ พึงชอบในสิ่งที่ตนมีอยู่ คือมีสันโดษ ไม่ใช่อยู่อย่างโดดเดี่ยวนะครับ เทศน์ดี ภาวนาดี องค์พระปฏิมาท่านรู้ ไม่ต้องไปอวดใครหลอก เช่น สมภาร หรือสีกาที่คอยอุปฐากอยู่ หรือ ไปอวดอิทธิฤทธ์ ปาฎิหารกับ สามเณรน้อย (เจ้าปัญญาด้วย..ป่าวไม่รู้นะ) เช่นพวกคุณ ตอบส่งเดช หรืออวดส่งเดช เดี๋ยวก็กลายเป็นพระบ้า...โดนจับสึกเอาง่ายๆ...สามเณรฉลาดก็น่าจะใช้ปัญญาพึงมีเห็นได้...อย่าเอาเวลาไปคอยแอบจับผิด พระผิดศีลผิดวินัยเลย...เริ่มภาวนาของตนเองเลยดีกว่า ภาวนามากๆก็เห็นธรรมเอง..มีดวงตาเห็นธรรมเป็นของเราแล้ว...อะไรต่ออะไรที่เห็น มันก็มีเหตุปัจจัยของมันเองทั้งสิ้น...ใจเรามันเป็นธรรมชาติว่างั้นเถอะ..
ขออีกนิด...เอาอย่างสิทธาระถะซิ (งานเขียนของ Heman Hassa) ปรารภกับพระพุทธเจ้าว่า ที่ท่านอธิบายอะไรต่ออะไร นั้นครบถ้วนสมบูรณ์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ท่าน ตอบไม่ได้คืออะไรเกิดขึ้นใต้ต้นโพธ์ พระพุทธเจ้าวางเฉย...เป็นอุเบกขา (หมายตอบถึงหนทางการตรัสรู้ไม่มีเหมือนกันทุกคน คือทางใครทางมัน บอกให้กันและกันก็ไร้ประโยชน์) และแล้ว สิทธาระถะก็ลาออกจากบรรพชิต กลับไปเริ่มต้นใหม่อย่างคนธรรมดา เรียนรู้สรรพสิ่งต่างๆ จนมาสิ้นสุดลงเป็นคนแจวเรือจ้าง ที่เพื่อนคือ โควินทะ ยกเรือให้ เพราะตนตรัสรู้แล้ว พร้อมไปเป็นบรรชิต สุดท้ายสิทธาระถะแจวเรือไปๆ จะตรัสรู้และกลับไปเป็นบรรพชิต หรือไม่ โปรดไปหาอ่านเองนะ....หลวงพี่ขอเตือนสามเณรน้อยมาถ้วนหน้า...แล
จาก…เพื่อนอาจารย์
คุณธรรมของครูอาจารย์และผู้บริหาร...มีดังนี้
"ความมีกัลยาณมิตรและเป็นกัลยาณมิตรนี้เป็นคุณสมบัติที่เราต้องการข้อแรกทีเดียวเราต้องตั้งเป้าหมายว่าทำอย่างไรจะให้ชุมชนหรือสังคมของเรา เป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตรคือคนที่อยู่ในชุมชนทางวิชาการ เช่นมหาวิทยาลัยนั้นจะต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน คือ เป็นปัจจัย หรือสิ่งแวดล้อมแก่กันในทางที่เอื้อต่อกันในการศึกษาหรือในการพัฒนาทุกด้าน ครูก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของลูกศิษย์ครูอาจารย์เองด้วยกัน และลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์ด้วยกัน ก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อกันผู้บริหารก็เป็นปัจจัยเอื้อต่อการเจริญงอกงามของครูอาจารย์และทุกคนในชุมชน"
ความตอนหนึ่ง...จากหนังสือ "เพื่อชุมชนแห่งการศึกษา และบรรยากาศแห่งวิชาการ" โดย พระธรรมปิฎก ( ป. อ. ปยุตโต)
อัญเชิญ…พระราชดำรัส
ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ์ และห่วงรายได้กันมาก ๆ เข้าแล้ว จะเอาจิตเอาใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญของเด็ก ความห่วงในสิ่งเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ ปั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือใช้ พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลือ อยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาอีกต่อไป
พระราชทานแก่ครูอาวุโสในโอกาสเข้าเฝ้าฯณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2531