วันศุกร์, สิงหาคม 31, 2550

วิวาทะ..วิชาชีพสถาปัตยกรรม





ถาม...บทบาทของสถาปนิกในสังคมปัจจุบันคืออะไร ต้องการคำตอบด่วนมาก!!!! บทบาทของ architectที่มีต่อสังคมปัจจุบันคืออะไร ต้องการคำตอบด่วนมาก!!!!

โดยคุณ : fifth year Arch.student - ICQ : 85150457 - [ 19 ก.ย. 2543 , 03:10:26 น. ]

ตอบ ก็สร้างบ้านงัย

โดยคุณ : 123 - [ 19 ก.ย. 2543 , 13:12:41 น.]

ตอบ ลองทบทวนที่อาจารย์กฤษฎา เคยมาพูดครั้งแรกในวิชาสัมมนาสถาปัตยกรรม แล้วลองออกความเห็นว่า มันควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรสำหรับเหตุการณ์ปัจจุบัน ได้เชื้อแล้วเช่น จบออกไปแล้วต้องเป็นสถาปนิก ทำงานออกแบบเขียนแบบสร้างอาคารอย่างเดียว หรือ? เป็นนักแก้ปัญหาอื่นๆได้ไหมนอกจากปัญหาสร้างอาคารให้นายทุน (ซึ่งหายไปไหนหมดก็ไม่รู้) อย่างเดียว เป็นต้น อาจลองช่วยกันเสนอ น่าจะคุยกันสนุกได้นะครับ ผมเห็นใจนิสิตที่กำลังจบออกไป และผู้กำลังตกงานออกแบบตอนนี้จริง อยากช่วยให้กำลังใจและคิดร่วมกันด้วย อยากให้วิกฤติกลายเป็นโอกาศสำหรับนิสิตและบัณฑิตใหม่ทุกคนจริงๆครับ

โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 19 ก.ย. 2543 , 18:41:25 น.]

ตอบ ทำวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส ยากหน่อยแต่ก็ท้าทายดี หรือนี่ก็คือความรับผิดชอบต่อตัวเราเองรวมทั้งสังคมด้วย ได้ใช้สมองกันอย่างจริงจังเสียที

โดยคุณ : ศิษย์ของเพื่อนอาจารย์ - [ 23 ก.ย. 2543 , 16:07:38 น.]

ตอบ ผมว่า อาชีพสถาปนิก หลีกเลี่ยงการรับใช้ นายทุนไม่ได้ครับ ไม่เคยเห็นใคร ที่รับใช้คนจนเลย

ชนชั้นนายทุน คุมเศรษฐกิจ อำนาจการเมือง เป็นชนชั้นปกครอง ที่กำหนดแนวทาง สถาปัตยกรรม สถาปนิกต้องตามใจ

บทบาทต่อสังคมน่ะเหรอครับ... ผมว่า ต้องทบทวน

อย่างน้อย ต้องรู้ก่อนว่า"สภาพสังคมเป็นยังไง" ก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองทำอะไรต่อสังคมได้บ้าง

ไม่ใช่เอาแต่คิด ว่าจะตั้งใจเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับ1 จบออกมาจะทำงานกับบริษัทใหญ่ เป็นลูกจ้าง ได้ค่าแรงสูง ๆ ต่อมาอยากจะเป็นสถาปนิกชื่อดัง ออกแบบงานใหญ่ อินเตอร์ จะสร้างฐานะให้รวย มีครอบครัวดี อยู่ในสังคมชนชั้นสูง ///////////////////////// ถ้าคิดแค่นี้ ชีวิตในวัยเรียน ก็วนเวียนแค่ทำโปรเจค เรียน ทำรายงาน สอบ เวลาที่เหลือก็ ไปเที่ยว ถือว่ารับผิดชอบแล้ว.... จบหน้าที่แล้ว....พอ //////////////////////////
( อัดอั้นมานานแล้วครับเรื่องนี้ พูดแล้วยาว )

โดยคุณ : stupid student - [ 24 ก.ย. 2543 , 20:51:31 น.]

ตอบ คุณ stupid student ผมไม่ใช่คนที่นี้ เราน่าจะลองคุยกันได้ ผมว่าคุณถ่อมตนพอสมควรและไม่รังเกียจที่จะคุยกัน icq 12768740

โดยคุณ : คน - [ 24 ก.ย. 2543 , 23:11:22 น.]

ตอบ ผมว่าผมเข้าใจความอัดอั้นตันใจของ Stupid Student (ที่จริงฉลาดมาก) แต่อาจารย์มีมุมมองอีกแบบหนึ่ง เพราะอาจารย์คิดว่าความเป็นสถาปนิกไม่ใช่ได้จากการเรียนจบสถาปัตยเพียงอย่างเดียว

ผู้เป็นสถาปนิกน่าจะเป็นผู้มีจิตใจที่อยากจะสร้าง อยากจะเห็นโลกแวดล้อมมีสภาพที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ อยากจะเห็นปัญหาถูกแก้ใข อะไรอย่างนั้น จะเรียนมาหรือไม่เรียนมา ถ้าเขามีจิตวิญญาณอย่างนั้น เขาก็เป็นสถาปนิกได้ เขาเพียงแต่ต้องเรียนเอาด้วยตนเองเท่านั้น

ถ้านายทุนให้โอกาสเขาได้ทำ เขาก็ควรทำ หากพระให้เขาออกแบบกุฎิในวัดป่า เขาก็จะทำ หากจะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในชาวสลัม เขาก็ถือเป็นโอกาสที่จะช่วย เพราะเขาเป็นนักสร้างสรรค์

แน่ละครับในระบบเศรษฐกิจและสังคมแบบที่เป็นอยู่ เขาก็ต้องเลี้ยงชีพ มันก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ หมือนครู เหมือนหมอ เหมือนคนขับรถเมล์ ต่างก็ทำงานหาเลี้ยงชีพ ด้วยจรรยาบรรณของแต่ละวิชาชีพ

หากไม่มีจรรยาบรรณ สถาปนิก ครู หมอ ก็เป็นเพียงนักทำมาหากินเท่านั้น หาความหมายให้กับชีวิตไม่ได้ แล้วจะตั้งหน้าหากินกันไปทำไม?

ต่อข้อถามที่ว่าสถาปนิกจะรับผิดชอบกับสังคมอย่างไร ขอแสดงความเห็นว่าด้วยการรักษาจรรยาบรรณของวิชาชีพเราไว้ให้มั่นคง จะเป็นสิ่งเล็กๆที่ทำสังคมเราดีขึ้น

โดยคุณ : อาจารย์ - [ 25 ก.ย. 2543 , 22:04:39 น.]

ตอบ อาจารย์ครับ เห็นด้วยหลายอย่างนะครับ //////////////ผมมองว่า //////// สถาปนิก หมายถึง กรรมกร ผู้ใช้แรงงานสมอง และทักษะฝีมือ ----ในที่นี้ผมหมายถึง คนที่ทำงาน ไม่ว่าจะออกแบบ/ spec แบบ/ การเงิน/ consult/ ทำBQ/ ทำเรื่องกฏหมาย/ ทำshop drawing / present ฯลฯ ผมมองรวม ๆ ว่าเป็นวิชาชีพช่างแขนงหนึ่ง เรียกว่า ช่างก่อสร้างแล้วกัน (เพราะไม่ได้ออกแบบไปซะทุกคน)

ถ้าถอยหลังออกมา ดูกว้าง ๆ ทั้งระบบ คนที่ทำงานเป็น สถาปนิก ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ก็คือ แรงงาน กรรมกร รับจ้างเหมือนกัน ไม่ต่างจากพนักงานธนาคาร ครู หมอ ทหาร ลูกจ้างร้านค้า กรรมกรโรงงานทอผ้า

( กำลังจะบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ทำให้สังคมพัฒนา )

ถ้ามองสังคม ก็ต้องมองจากอดีตมาหาปัจจุบัน ดูตั้งแต่ว่าอาชีพสถาปนิก มีตั้งแต่เมื่อไหร่ สังคมเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร จนมาถึงวันนี้ ยุคนี้ ยุคทุนนิยมที่ทุกคนต้อง แข่งขัน เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด บริษัทก่อสร้าง ก็เช่นกันต้องทำงานแข่งกับ เวลาแย่งชิงลูกค้า ทำทุกอย่างเพื่อเงิน ไม่ได้เงิน ทุกอย่างก็จบ

ถ้าถามว่า ตึกสูง ราคาหลายสิบล้าน โรงแรมใหญ่ ๆ ธนาคาร โรงหนัง สวนสนุก มันเกิดได้อย่างไร ???????????


คำตอบคือ" เงิน " เท่านั้นที่ผลักดันให้เกิด




//สถาปนิกไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่า อาคารนี้ จะสร้างดีหรือไม่ //สถาปนิกไม่ปฏิเสธที่จะรับงานของนายทุน ที่เอาเงินจากการขูดรีดคนอื่น มาจ้างสถาปนิก //สถาปนิกย่อมต้องเอาใจลูกค้าเพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง เพราะนั่นถือเป็นความสำเร็จ //สถาปนิกมีสิทธิ์ฝัน แต่ถ้าไม่มีเงิน ความฝันก็คือความฝัน

นายทุน มีอำนาจที่จะเลือกจ้างสถาปนิกออกแบบ แต่สถาปนิก ไม่มีสิทธิ์เลือกงาน เพราะ งานแลกมาซึ่งเงิน
ดังนั้น ผมมองว่าสิ่งที่ สถาปนิก มีบทบาท ต่อสังคม คือ....เป็นแค่คนทำตามแบบแผน กฏระเบียบ ที่ถูกกำหนดมา ให้ผิดพลาดน้อยสุด อย่างที่อาจารย์บอก ดีที่สุดคือ คอรัปชั่นให้น้อยที่สุด ทำได้แค่นี้เอง แค่นี้จริง ๆ ( ผมเชื่อว่า ไม่มีใครซึ่อสัตย์ครับ ) -------------------------------------------------- คุณ คน ครับ ถ้าว่าง ผมจะรบกวนคุยด้วยครับ

โดยคุณ : stupid student - [ 25 ก.ย. 2543 , 23:40:22 น.]

ตอบ ผมคิดว่าบทบาทของสถาปนิกที่จะพัฒนาสังคม น่าจะเริ่มจากสถาปนิก อันเนื่องมาจากสังคมปัจจุบัน สิ่งที่ผมได้รับรู้คือ คนทั่วไปมีมุมมองต่อสถาปัตย์ต่างจากสถาปนิกมากเหลือเกินแม้สถาปนิกด้วยกัน เราแยกไม่ออกครับ ระหว่างวัตถุ กับคุณค่าของสถาปัตย์ที่เราพยายามหากันในส่วนลึกผมพยายามครับที่จะให้คนทั่วไปรอบตัวผมรักสถาปัตยกรรมมากกว่าการทุ่มเทต่อรถยนต์ แน่นอนครับ ความหัวดื้อเกิดขึ้นมากตามลำดับแต่ทางเดียวกันผมต้องพยายามรับฟังให้ได้มากที่สุด กาารเป็นคนพิการของระบบที่เราค้าน ทำให้เราเก็บงำแต่วันนี้ผมคิดว่าเราสถาปนิกต้องร่วมมือกันแบ่งปันความรักสถาปัตยกรรมสู่ประชาชนให้เหมือนเดิมเช่นสมัยก่อน

ตอนนี้ผมเห็นเพียงทางเดียวที่มีความหวังลึกๆ คือเริ่มจากเรา

โดยคุณ : คน - [ 27 ก.ย. 2543 , 02:08:17 น.]

ตอบ ข้อความทั้งหมดของผมpost ไม่เข้า ผมขอสั้นๆครับ ผมคิดว่า สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยมีนิยามแก่คนทั่วไป คือ อยู่ในมหาลัยและคำว่าโมเดิรน์ คนทั่วไปจะรู้แค่นี้ ไม่รู้โพสโมเดิรน์ ซึ่งผมก็ไม่รู้เท่าไรนัก และรู้มาจากการอ่าน ส่วนอารมณ์ร่วมกับยุคนี้ของยุโรปนั้นคงไม่ใช่อารมณ์เดียวกันกับคนสายเลือดยุโรปแน่ สิ่งที่ผมพยายามให้เกิดขึ้นแก่คนรุ่นเดียวกับผมคือ สถาปนิกน่าจะช่วยกันลบคำว่า วงการ ออกจากประชาชน ให้ได้ ผมอยากให้เขาเห็นว่าสถาปัตย์มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ ต้องสนใจและรักมันมากๆโดยไม่จำเป็นต้องเรียนมหาลัยคณะสถาปัตย์หรือช่าง คนทั่วไปควรรักมันมากด้วยเช่นกัน สังคมสมัยนี้ผมว่าต้องสถาปนิกครับที่เป็นคนทำอย่างไม่ท้อถอย ขอบคุณคุณนิสิตstupid ครับ

โดยคุณ : คน - [ 27 ก.ย. 2543 , 02:20:37 น.]

ตอบ คุณทำให้อาจารย์ต้องเขียนต่ออีกหน่อย บทสรุปของคุณเรื่องบทบาทอาจารย์เห็นว่าใช้ได้ แต่วิธีคิดค่อนข้างเสี่ยงไปหน่อย คุณวิธีมองภาพรวม (ฝรั่งเรียก Generalization) ซึ่งดี แต่บางครั้งพลาดได้เหมือนกัน ขอพูดเรื่องนี้นิดหนึ่ง

เมื่อคุณถอยหลังมาดูภาพรวมของสิ่งใด อันเป็นวิธีการที่สร้างความเข้าใจในปรากฎการณ์ต่างๆ แต่ในความเป็นจริงคุณจะเริ่มมองไม่เห็นรายละเอียดหรือต้องตัดรายละเอียดทิ้งไป ดังนั้นก็จะเริ่มมีแนวโน้มที่จะใช้ประสบการณ์ของตนเองที่จะสร้างภาพใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นจุดสำคัญ เพราะว่าความเป็นจริงอาจจะถูกบิดเบือนได้

เปรียบได้กับการที่คุณจะระบายสีลงบนแสตมป์ หากคุณใช้พู่กันใหญ่เกินไป จุ่มสีทีเดียว แสตมป์นั้นก็จะถูกย้อมสีไปทั้งดวง หากคุณใช้สีขาวแสตมป์ทั้งดวงก็จะเป็นสีขาว หากใช้สีดำ ทั้งดวงก็จะเป็นสีดำ ---ที่จริงแสตมป์นั้นควรจะมีหลากสีไม่ใช่หรือ?

ดังนั้น การจะถอยหลังมาดูภาพรวม จึงต้องมีความละเอียดอ่อน ถอยออกมาก้าวหนึ่งอาจจะเห็นสรรพสิ่งเป็นสีดำ ถอยออกมาอีกก้าวหนึ่งอาจเห็นเป็นสีขาว

จะถอยออกมาแค่ไหน จึงจะเห็นภาพรวมทั้งหมดและยังรับรู้ความหลากหลายที่อยู่ในนั้นด้วย

เปรียบได้กับสังคมมนุษย์ ผมเชื่อว่าไม่มีเอกภาพพอที่จะยึดถือว่ามีอยู่แบบเดียวรูปเดียว ผมยังเชื่อในความหลากหลาย เหมือนมีหลายสี มีขาวมีดำ มีดีมีชั่ว ผสมกันอยู่ และสามารถแยกแยะออกจากกันได้

แม้ว่าสีทั้งหลาย หรือความดีความชั่วทั้งหมดนั้น จริงๆแล้วเป็นเรื่องของความสัมพัทธ์ (relativity) มากกว่าที่จะเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน

อยากให้ลองคิดดูอีกที ทุกคนจะต้องไม่ซื่อสัตย์ไปทั้งหมดหรือ

โดยคุณ : อาจารย์ - [ 27 ก.ย. 2543 , 02:36:33 น.]

ตอบ ผมขอขอบคุณอาจารย์มากเลยครับที่ช่วยเปิดมุมมองของผมในหลายๆ เรื่อง จากหลายๆสิ่งที่อาจารย์แนะนำลูกศิษย์ ที่สำคัญช่วยทำให้ผมเปิดใจได้มากขึ้นอีกคับ ขอบคุณครับ

โดยคุณ : คน - [ 27 ก.ย. 2543 , 13:32:20 น.]

ตอบ ยินดีที่คุณ คน เข้ามาร่วมสนทนา ผมอยากส่งสารให้ Stupid Student เข้ามาอ่านและลองคิดอีกที เพราะผมว่าโลกยังมีความสดใสกว่าที่เขามองเห็น

โดยคุณ : อาจารย์ - [ 27 ก.ย. 2543 , 23:23:14 น.]

ตอบ ขอบคุณครับอาจารย์ ส่วนตัวผมมีความเห็นว่า คุณนิสิต ต้องการแรงบันดาลใจครับ ซึ่งเราต้องแบ่งปันกันให้สม่ำเสมอ ในสังคมผมก็อยากให้คุณนิสิตเอาความหวัง แค่แสงลอดช่องประตู มาเปิดประตูให้ได้ครับ ตัวผมนั้นเคยมองแง่บวก มาแง่ลบ แล้วมองข้ามมาแง่บวกให้ได้มันยากครับแต่อะไรมันจะสวยก็ต้องสวยที่ใจให้ได้ พยายามครับๆ ผมชักงงว่าไม่รู้ผมพูดอะไรเนี่ย

โดยคุณ : คน - [ 28 ก.ย. 2543 , 01:20:07 น.]

ตอบ ผมนำเรื่องไว้ เห็นควรต้องแจมมั่ง... อ่านที่อาจารย์คุยมีหลายประเด็นน่าสนใจ ที่ คุณstupid student (ชื่อแสลงใจจริง) หรือคุณ "คน" ก็น่าคิด แต่มีมุมมองต่างกันคนละประเด็น ผมลองมองจุดเชื่อมโยงกันและกัน ก็งงๆ แต่ก็ช่างมันผมไม่แคร์ดีกว่า..ความเห็นผมเป็นดังนี้ครับ

สังคมเรามันประกอบไปด้วยหน่วยย่อยๆหลายหน่วยที่หลากหลายรวมกัน บทบาทของสถาปนิกจึงขึ้นอยู่กับชนิดและปรัชญา(ความรู้+ความคิด)ของสถาปนิกแต่ละคน หรือกลุ่มด้วย ว่าเลือกที่จะแม๊ค(ยึดติด)กับสังคมหน่วยไหน เช่นพวกชอบเงินก็ต้องมองกลุ่มนายทุนเป็นคู่รักกัน พวกสถาปนิกธัมมะธัมโม ก็จะเป็นคู่รักกับพวก กลุ่มพระหรือพวกธรรมะธัมโม รับค่าแบบแต่บุญอย่างเดียว เป็นต้น บทบาทที่มีต่อกันและกันก็ จะกระหนุงกระหนิงกันไปเรื่อยจนกว่าจะเลี่ยนกันไป แล้วก็อาจมีเปลี่ยนไปคู่ไปกับหน่วยสังคมย่อยอื่นได้...

ผมคิดแบบพวกจิตนิยม ผมอยากได้สังคมเป็นตามที่ฝันอย่างไร ผมก็ทำตัวให้ดีมีประโยชน์ต่อสังคมกลุ่มย่อย (ที่ผมเลือกสังกัด) ที่ผมมุ่งหวังเท่าที่จะทำได้ อย่างนั้นเช่น ผมไม่อยากออกแบบอาคารอาบอบนวด เพราะเป็นที่อโคจร (ผมไม่อยากไป เพราะอาจทำให้ผมนอกใจภรรยาผมได้) ไม่ควรมีอาคารชนิดนี้ในสังคมความฝันของผม แต่ในสังคมก้อนใหญ่ผมต้องยอมรับที่จะอยู่กับการมีสถานอาบอบนวดที่ออกแบบโดยสถาปนิก ซึ่งอาจเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของผมก็ได้ แต่เราอยู่กันคนละกลุ่มในสังคมย่อยๆดังที่ผมกล่าวแยกมาแล้วตอนต้น....โดยส่วนตัวสำหรับผม.... ที่แน่นอนก็คือจะไม่มีนายทุนที่ชอบธุระกิจอาบอบนวดมาให้ผมออกแบบอาคารประเภทนี้ได้เป็นเด็ดขาด เพราะเราไม่ใช่คู่รักกัน ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่องแน่ มันเข้ากันไม่ได้ แต่ไม่ใช่ใครดีเลวกว่ากันนะครับ มันเป็นสิ่งที่ไม่แม๊คกัน แต่ต้องอยู่ร่วมสังคมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องขัดแย้ง หรือมาบังคับเปลี่ยนเป็นของกันและกัน...มิฉะนั้นจะทำให้สังคมวุ่นวาย เพราะไม่ชอบกันแล้วยังเลือกที่จะต้องหักล้างกันด้วย...ซึ่งผมว่าเราน่าต่างคนต่างอยู่กันได้โดยสงบดีกว่า

ทีนี้บทสรุปก็ต้องบอกว่า สถาปนิกต้องเลือกสังคมกลุ่มย่อย ที่คุณจะแต่งงานด้วยแล้วแสดงบทบาทส่งเสริมกลุ่มสังคมนั้นให้ดีและแข็งแรง จนกลุ่มอื่นอิจฉาแล้วอาจเปลี่ยนมาเป็นการร่วมแนวคิดเดียวกันได้ต่อไป...ผมว่าแค่นี้ก็เหลือกินแล้วที่สถาปนิก จะมีบทบาทที่ดีต่อสังคมโดยรวมอย่างไร...แต่ละคู่รัก ควร รักและซื่อสัตย์ต่อกันนานๆมากๆๆทุกวัน สังคมย่อยๆนั้นก็อาจกลายเป็นหัวหน้า เป็นแชมป์ของสังคมโดยรวมได้สักวัน แต่ก็ไม่ตลอดกาลหรอกนะ เพราะพระท่านว่าทุกอย่างมันเป็นอนิจจังทั้งสิ้นครับ..ประเด็นเน้นๆสุดท้ายคือว่า เป็นคู่รักกันแล้วอย่านอกใจ อย่าทรยศกัน ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เพราะคุณเองนั่นแหละจะว้าวุ่น หากลุ่มสังคมย่อยลงไม่ได้ สุดท้ายก็จะไปเที่ยวรังควานสังคมกลุ่มย่อยอื่นๆ ให้เขาวุ่นวายจนกระทบกระเทือนไปสู่สังคมใหญ่โดยรวม ที่เราทุกคนอยากให้ เป็นสังคมเดียวที่เป็นสุข และมีความหลากหลายคงไว้ สำหรับลูกหลานเราในอนาคต...ครับ

โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 29 ก.ย. 2543 , 15:09:09 น.]

ตอบ ยังมีสถาปนิกที่ทำงานเพื่อสังคมอีก ถ้านิสิตสติปิดเปิดใจ อะไรๆมันไม่ได้แย่ไปซะทุกอย่าง แต่เอาเป็นว่าเข้าใจ เพราะผมเองก็เคยคิดเรื่องการเป็นวิชาชีพที่รับใช้นายทุนเหมือนกัน จนต้องแสวงหาตัวเองด้วยการออกไปรับงานมาทำบ้าง อยากลองดูว่าสายงานที่เกี่ยวกับเราโดยตรง มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นยังไง...ลองแล้วก็รู้ว่ามิใช่ทั้งหมดจริงๆ...
โดยคุณ : russian - [ 30 ก.ย. 2543 , 02:37:07 น.]

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความนะค่ะ