วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 03, 2549

โวหารสมมุติ...ศาสนากับวิทยาศาสตร์


ว่าด้วยเรื่องโวหารสมมุติ... เพื่อความเข้าใจในพระพุทธศาสนากันอย่างแท้จริง
ถ้า...นาม-รูป เป็นเหตุปัจจัยหลักของ"สิ่ง"ที่เรียกว่า"จิต" และปรากฏการณ์เกิด-ดับของมันทำให้เกิด"เวลา"ใน"ความมี"ของจิตแล้ว จิต..ก็จะดำเนินไปอย่างกว้างขวางจนถึงที่สุดคือ จักรวาลของความมี"ตัวตน"และสิ่งแวดล้อมทั้งมวลอื่นๆ นั่นเอง บรรจุลงใน"ความว่าง"จนเติมเต็มเป็นโลกสมมุติของแต่ละชีวิตที่รวมเรียกกันว่า จักรวาลที่เป็นอนันต์
ฐานสมมุติแห่งนาม-รูป ก็จึงไม่แตกต่างจากความรู้สมมุติในปัจจุบันของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคือฐานสมมุติ"ตัวเลข"ของวิชาคณิตศาสตร์ นั่นคือ ตัวเลขของ 1-0(หนึ่งกับศูนย์) อันมีการบูรณาการกันอย่างไม่มีความสิ้นสุขในการสร้างนวัตกรรมของมนุษย์ แปลงกันจนเป็น"มายา" เช่น ภาพยนต์ หรือเรื่องราวอื่นๆผ่านให้เห็นกันทางเครื่องรับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์เป็นต้น
มนุษย์ ก็คือ นวัตกรรมหนึ่ง ที่เกิดจากการสรรสร้างของ"จิต" หรือ "พระเจ้า" นั่นเอง มีการบูรณาการในเชิงความสัมพันธ์ที่สอดคล้อง หรือในภาวะบรรสานของสรรพสิ่งทั้งมวล โดยรับความเป็น"มายา"นี้ ผ่านกระบวนการประมวลผล(เช่นอาศัยขัณฑ์ห้า) ยึดถือกันเป็น"ความจริง" ซึ่งอาจไม่แตกต่างกันนักกับการแปลงระหัสด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นซีดี หรือเครื่องทีวีปัจจุบันนี้
พีทาโกลัส สร้างสมมุติทางโวหารไว้ว่า... จักรวาลทั้งมวลประกอบกันขึ้นจากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ หรือที่..ดีโมคริตุส อ้างว่า... จักรวาลประกอบขึ้นจากอะตอม ก็ไม่ต่างจากที่พระพุทธเจ้าเทศนาว่า... จักรวาลเกิดขึ้นจากจิตที่ประกอบขึ้นมาจากนาม-รูป(นามกับรูป)นั่นเอง
ชีวิตเป็นเพียง"มายา" ..น่าจะ.. เกิดจากจิตที่ประมวลกันของนาม-รูป สร้างโลกที่ประกอบกันเป็นตัวเรา ล้วนเป็นโลกของมายา เลื่อนลอยไปตามอำนาจของจิตที่มีนาม-รูปเป็นเหตุปัจจัยต่อกันและกัน เรียกกันให้ชัดก็คือ เกิดเป็นโลกเสมือนจริง หรือ virtual world ในโวหารของภาษาคอมพิวเตอร์ปัจจุบันนี้
เมื่อเรายอมรับการใช้โวหารสมมุตินี้กันแล้ว ก็ ลองมาเปรียบเทียบกับการอ่านข้อเขียนบางตอนของคุณ สมชาย วสันตวิสุทธิ์ เขียนไว้ในคอลัมน์ "คิดนอกเส้น" เรื่อง... "เราสร้างโลกและจักรวาลนี้จากตัวเลขได้หรือไม่? ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับที่ 937 ดังนี้
"พีทาโกลัสบอกว่า พิ้นฐานของตัวเลข คือพื้นฐานของทุกสิ่ง และจักรวาลนี้แท้ที่จริงแล้วคือตัวเลขและภาวะบรรสาน หรือ harmony หรือความสอดคล้องของสรรพสิ่ง สามารถอธิบายได้ด้วยค่าตัวเลขทางคณิตศาสตร์ เช่น เลขคู่หรือเลขคี่ เลข ตรรกยะ หรือเลข อตรรกยะ หรือเลข ที่มีเหตุผล และเลข ที่ไม่มีเหตุผล นั่นคือเลขที่สามารถหาจำนวนเต็มและเป็นเศษส่วนได้ กับเลขที่ไม่สามารถเขียนเป็นเศษส่วนได้ แม้เลขที่เป็นเศษส่วนกลับของเลขจำนวนเต็ม เช่น เศษหนึ่งส่วนสอง หรือเศษหนึ่งส่วนสาม เศษหนึ่งส่วนสี่ ฯลฯ เลขเหล่านี้ล้วนมีบรรสานกันและกัน
โลกที่เรามีชีวิตอยู่ หากเป็นโลกมายาที่ยอมรับเป็นความแท้จริงแล้ว ก็ไม่น่าจะต่างจากโลกเสมือนจริง เช่นในภาพยนต์ที่ถูกเก็บไว้ในแผ่นดิสก์ เช่นในเรื่อง the matrix ที่เฉลยไว้ว่า.. โลกที่เราดำเนินชีวิตกันอยู่นี้เกิดจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ยักษ์หรือแมทตริกที่คอยบงการ ซึ่งอำนาจนี้ ก็ไม่น่าต่างจาก"จิต"ของเราเท่าไรนัก
ตัวอย่างหนังที่เก็บไว้ในแผ่นวีซีดีหรือดีวีดี ทั้งหลายล้วนเป็นแผ่นข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น มันบรรจุ"ข้อมูล"ที่เป็นเลขฐานสอง คือเป็นตัวเลข "หนึ่งกับศูนย์" ด้วยกระบวนการเก็บที่เป็น"ร่อง"หรือ"หลุม"ขนาดจิ๋วบนผิวของแผ่นดิสก์ เมื่อส่องด้วยแสง"เลเซอร์"จากหัวอ่านของเครื่องเล่นก็จะสะท้อนแสงบ้างไม่สะท้อนบ้าง เกิดการติดกับดับ ซึ่งหมายถึง "เลขหนึ่งกับศูนย์" เมื่อไปแปลงค่าในแผ่นวงจร"ไอซี" ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ไปควบคุมหลอดภาพของทีวีหรือจอพลาสมาทีวีอีกที (อวัยวะสมองของเราก็น่าจะทำหน้าที่ทำนองนี้)
นั่นคือภาพยนต์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวเสมือนจริงขึ้น ซึ่งสามารถแปลงมาเป็นกฎตัวเลข คือเลขฐานสอง ซึ่งก็คือตัวเลข หนึ่งกับศูนย์นั่นเอง แล้วตัวเลขก็สามารถแปลงกลับไปเป็นเรื่อราวต่างๆเป็นโลกเสมือนจริง เช่นในภาพยนต์ด้วยหลักวิธีดังกล่าว ซึ่งต่อๆไปก็สามารถสร้างหนังด้วยตัวเลขล้วนๆได้ ดังเช่นหนังการ์ตูน เรื่อง"นีโม"ตามหาพ่อ...." (หรือ เรา..ตามหา"รอย"พระพุทธองค์)
ดังนั้น จักรวาลทั้งหมดก็สามารถถูกแปลงเป็นเลขฐานสองหรือ"ตัวเลข" ตามแนวความคิดของพีทาโกลัส ก็ได้ ถึงตรงนี้ "พระเจ้า" หรือ"จิต" ก็ไม่ต่างจากนักสร้างภาพยนต์ชั้นหนึ่ง"..กระมังครับ
สำหรับเรื่องของโวหารสมมุติข้างต้น เนื่องในสภาวการณ์ปัจจุบัน เราคงยากที่จะหลีกเลี่ยงความรู้ของวิทยาศาสตร์ แม้ว่า"ความจริง"ที่บอกกล่าวกันในโวหารนี้ จะเป็นเพียง"เงา"ของความจริงก็ตาม ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่พอจับเค้าพอมองเห็นได้ เพราะมันมีแสงแห่งปัญญา(บางส่วน)ส่องอยู่ แม้จะน้อยนิดเพียงจับต้องได้แค่เป็นเห็นเพียงเงาของความจริงก็ตาม เพราะยังไม่สามารถเห็นได้จะแจ้ง แต่ก็ยังพอนับได้ว่า นั่นเป็นเค้าโครงของความจริงได้ ก็..ยังดีเสียกว่าการ"มองเห็น"ที่เป็นเสมือน"ฝัน"อันผ่านทางกระบวนการจินตนาการของแต่ละคน อธิบายแก่กันนั้นยากที่จะเข้าใจ หรือแม้นว่า อาจเป็นแค่เพียงความหลงเชื่อ หลงติดจนกลายเป็นความงมงายที่ไม่อาจรู้เท่าทันก็ได้
ลองพิจารณาโวหารสมมุติในอีกข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้....
ไอน์สไตน์กล่าวว่า.... "วิทยาศาสตร์ที่ไร้ศาสนาก็เหมือนคนขาเป๋ ศาสนาที่ไร้วิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด"
พระสันตะปะปาจอห์น พอลที่สอง กล่าวว่า.."วิทยาศาสตร์สามารถชำระศาสนาให้สะอาดขึ้นจากความผิดพลาดและความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ศาสนาก็สามารถชำระวิทยาศาสตร์ให้สะอาดจากความเชื่อในบางสิ่งจนเกินเลยไป และกลายเป็นความสัมบูรณ์ที่ผิดพลาดได้ แต่ ทั้งสองสิ่งนี้ สามารถนำพากันไปสู่โลกที่กว้างขึ้น การเชื่อมสองสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล"
หากพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์จริง...หรือเกิดขึ้นมาโดยไม่มีทางเลือก(เพราะกรรม) ก็คงมีจุดประสงค์ให้เราใช้สมองของเราคิดและไตร่ตรองหาเหตุผล ซึ่งในที่สุดแล้วนำพาโลก(และตัวเรา)ไปสู่ความสงบสมบูรณ์
การชี้ว่ามนุษย์ต้องเลือกทางเดินของตนเองและรับผิดชอบการกระทำของตน ก็คล้ายเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในแนวพุทธ ส่วนเรื่องอิสระภาพการเลือกใช้ชีวิตนั้น ก็คล้ายแนวทางเต๋า..นี่เป็นสาระของปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลิสม์ของ..ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เจ้าของวาทะ.."การเกิดมาในโลกนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่มีทางเลือก อิสรภาพที่จะไม่เลือกอิสระ... ไม่ใช่อิสรภาพ"
ปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลิสม์ เป็นรูปแบบหนึ่งของมนุษย์นิยม ที่เชื่อใน 3เรื่องคือ..อิสระภาพปัจเจก(individual freedom) ทางเลือก(choice) และความรับผิดชอบของมนุษย์หรือตัวตนของปัจเจก(individual existence)
ในแนวพุทธ...อิสระภาพที่แท้คือ อิสระภาพที่พ้นจากกิเลสทั้งปวงที่ครอบงำจิตของเรา
การตีความคัมภีย์ให้ถูกไม่สำคัญเท่าการตีความให้เป็นประโยชน์ต่อ(ตนเองและ)สังคม
ไม่ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้นเองหรือไม่ก็ตาม เราไม่มีทางรู้ สิ่งที่เราทำได้ดูเหมือนไม่มีทางเลือกเท่าใด เราต้องก้าวต่อไปโดยทำทีไม่สนใจว่าชีวิตเราถูกกำหนดมาหรือไม่ เพราะหากมันไม่ถูกกำหนดมาก่อน เรายังมีโอกาสมากกว่าที่จะไม่ทำอะไรเสียเลย
จาก..."พระเจ้าไม่เล่นบอล? ว่าด้วยผู้สร้าง" โดย วินทร์ เลียววาริณ (http://www.winbookclub.com/)
สรุปกันได้ว่า.... โวหารอันเป็นสมมุติบัญญัติดังกล่าว ก็เป็นเรื่องของ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูชนรู้ได้ด้วยตนเอง อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านว่า...ให้เชื่อตัวเอง ให้เห็นให้เข้าใจด้วยตัวของเราเอง

พึงเจริญในธรรม...นะครับ
โดยคุณ : เด็กข้างวัด - 16/11/2004 00:51

ไม่มีความคิดเห็น: