วันพุธ, พฤศจิกายน 29, 2549

ความรัก...คือ...อะไร

เมื่อคืนก่อน..นอนดูหนังจีนเรื่อง"กระบี่เย้ยยุทธจักร์" งานวรรณกรรมของกิมย้งปรมาจารย์หนังจีนกำลังภายใน มีตอนหนึ่ง..แม่ชีน้อยอี่ลิ้ม ตอบคำถามแม่นางอิ๋งอิ๋ง....ว่า

"คนเราถ้าจะรักใคร จะต้องไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องการสิ่งตอบแทน...ใดๆ อะไรก็ตาม ที่ทำให้คนที่เรารักมีความสุข ตัวเราเองย่อมต้องเป็นสุขไปกับเขาด้วย... อันความรักมักเกิดความหึงหวง.. แต่ถ้าเรารักเขามากจริงๆแล้ว เราจะไม่มีความหึงหวงนั้นเลย"

ฟังแล้ว...แม่นางอิ๋งอิ๋ง ก็เข้าใจ ..บรรลุธรรมนี้แล

2 : ขอเพิ่มเติม..การรำพัน..เรื่องความรัก ของปรมาจารย์หนังจีนกำลังภายใน...อีกผู้หนึ่ง ...ท่านโกเล้ง..ฉายามังกรโบราณ

ความรัก คืออะไร?

รักกันดูดดื่มจนลืมตาย รักจนกระทั่งประสาทเลอะเลือน รักจนกระทั่งปัญญาโง่งม รักจนกระทั่งหากขาดเธอฉันก็จะตาย นอกจากเธอแล้วฉันไม่ต้องการสิ่งอื่นใดอีก รถยนต์ก็ไม่ต้องการ ตึกก็ไม่ต้องการ ชื่อเสียงก็ไม่ต้องการ อาชีพการงานก็ไม่ต้องการ มิตรสหายก็ไม่ต้องการ กระทั่ง พ่อ แม่ พี่ น้อง สามี และ บุตรก็ไม่ต้องการ กระทั่งแม้ทรัพย์สินเงินทองเพชรพลอย ก็ไม่ต้องการ กระทั่งแม้ชีวิตก็ไม่ต้องการ นี่จัดว่าเป็นความรักได้ไหม? ...แน่นอน ต้องเป็น

หากว่าแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ยังไม่อาจจัดว่าเป็นความรัก จะยังมีอารมณ์ความรู้สึกใดที่จัดว่าเป็นความรักได้อีก?

..แต่ว่า..ความรักเช่นนี้สามารถรักษาไว้ได้นานเท่าใดเล่า?

ความรักและมิตรภาพไม่เหมือนกัน

ความรัก คือสิ่งจริงแท้ คือสิ่งที่เข้มข้น คือการไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด คือการไม่คำนึงถึงความเป็นความตาย คือสิ่งที่สามารถทำให้หูของ คนเปลี่ยนเป็นหนวก ดวงตาของคนเปลี่ยนเป็นบอด และที่น่าเสียดาย ที่ความรักโดยทั่วไปแล้วมักเป็นสิ่งที่สั้นเพียงชั่วระยะหนึ่ง แต่ว่านี่ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า

แต่เมื่อยามที่ความรักแท้จริงได้รับการฟูมฟักดูแลอย่างตั้งใจ ย่อมจะออกดอกอันงดงามและหอมจรุงชนิดหนึ่ง...ดอกไม้แห่งมิตรภาพ

มิตรภาพและความรักนั้นไม่เหมือนกัน โดยพื้นฐานแล้วกลับเป็นสิ่งเกี่ยวโยงกัน เพราะว่าล้วนแต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด และเป็นความรู้สึกที่ปัจจุบันที่สุดเช่นกัน และเนื่องจากมนุษยชาติมี ความรู้สึกเช่นนี้เอง ดังนั้นมนุษยชาติจึงดำรงอยู่เป็นนิรันดร์

คนที่รู้จักกันนานปี แต่งงานเป็นสามีภรรยากัน ถึงท้ายที่สุดแล้วต้องมี มิตรภาพต่อกันและกัน มิตรภาพของคนที่ไว้ใจซึ่งกันและกัน มิตรภาพ แห่งการพึ่งพาแก่กันและกัน มิตรภาพที่จะไม่จากกันจนกว่าความตาย จะมาพลัดพราก ....ความรู้สึกผูกพันระหว่างท่านและสามีหรือภรรยาของท่าน คือมิตรภาพ? หรือว่าคือความรัก?

จาก..."เดียวดายใต้เงาจันทร์..โก้วเล้ง รำพัน" แปลเรียบเรียงโดย เรืองรอง รุ่งรัศมี...สำนักพิมพ์มติชน

3 : คราวนี้ลองมาฟังอีกทัศนะในแง่พระพุทธศาสนา อันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นะครับ....

รักด้วยเมตตาเป็นอย่างไร ? รักด้วยตัณหาเป็นอย่างไร ?

ความรักด้วยเมตตา .....เป็นความเยื่อใยในคนอื่น ใคร่ จะให้เขาได้ดีมีสุข โดยไม่ได้คำนึงว่า การได้ดีมีสุขของ คนเหล่านั้น ตนเองจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนความรักด้วยตัณหา ......เป็นเพียงความอยากได้ เป็นเพียงความเพลิดเพลินว่า ถ้าบุคคลนั้นมีอยู่เป็นไป อยู่ก็เป็นความสุขแก่เรา แม้ว่าบางครั้งจะเป็นการกระทำ ที่คิดว่าจะให้ผู้อื่นได้ดีมีสุขก็ตาม ตนเองต้องมีส่วน เกี่ยวข้องในความได้ดีมีสุขนั้นด้วย จึงจะกระทำ

ความรักด้วยเมตตา ......ไม่มีการหวังผลตอบแทน แม้ เพียงให้ผู้อื่นเห็นความดีของตน จึงไม่เป็นเหตุแห่งความ ทุกข์ ความเสียใจเนื่องจากความผิดหวังในภายหลัง

ส่วนความรักด้วยตัณหา ...มีการหวังตอบแทน ต้องการ ให้เขารักตอบ โดยที่สุด แม้เพียงให้เขาเห็นความดี ของตน เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นเหตุแห่งความ ทุกข์ความเสียใจ อันเนื่องมาแต่ความผิดหวังในภาย หลังได้ สมตามพระดำรัสที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง เมตตา กับ ตัณหา ความจริง คนเรายังละตัณหาไม่ได้อย่างพระอรหันต์ ก็มีทั้งความรักด้วยเมตตา และตัณหา เพียงแต่ว่า ใน ทั้งสองอย่างนั้น อย่างไหนจะเป็นประธานออกหน้ากว่า กันเท่านั้น

เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับธรรมชาติ ที่ชื่อว่า "เมตตา" นี้ ดียิ่งขึ้น จึงควรทราบลักษณะเป็นต้นแห่งความเมตตานี้ก่อน ดังต่อไปนี้

เมตตา - มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ - มีความนำเข้าไป ซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (กิจ) - มีการกำจัดความอาฆาตเป็นอาการปรากฏ - มีการเล็งเห็นภาวะ ที่สัตว์ทั้งหลายน่าพอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ก็สมบัติ คือ คุณของเมตตานี้ ได้แก่ความเข้าไปสงบความ พยาบาทได้นั่นเอง เพราะธรรมชาติของเมตตา เป็นไปเพื่อ กำจัดโทสะ ความเกิดขึ้นแห่งความใคร่ จัดว่าเป็นความวิบัติ ของเมตตา เพราะเหตุที่จะกลับกลายเป็นความรักด้วย ตัณหาไป ดังนี้

เพื่อเป็นการปลูกอุตสาหะ จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ หรือ ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการเจริญเมตตา ผู้เจริญ เมตตา พึงได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ
๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข ๓. ไม่ฝันร้าย ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๖. เทวดารักษา ๗. ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี อาวุธก็ดี ย่อมล่วงเกินเขาไม่ได้ ๘. จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว ๙. มีสีหน้าผ่องใส ๑๐. ไม่หลงตาย ๑๑.

เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงไปกว่านี้ไม่ได้ ก็จักเข้าถึงพรหมโลก

วิธีเจริญเมตตา
อันดับแรก ก่อนที่จะเจริญเมตตา ควรพิจารณาคุณของขันติ คือความอดกลั้น และโทษของความโกรธก่อน ถามว่า เพราะเหตุใด เพราะว่าการเจริญเมตตานี้เป็นไปเพื่อละโทสะ และเพื่อบรรลุธรรม คือ ขันติ ถ้าเราไม่รู้จักโทษของความโกรธ เราก็จะละความโกรธไม่ได้ และถ้าไม่รู้จักคุณของขันติ ก็จะบรรลุขันติไม่ได้

ควรพิจารณาเสมอว่า คนเราถ้าขาดความอดกลั้นเสียอย่างเดียว จะทำการงานอะไรๆ ให้สำเร็จมิได้เลยเพราะมีปัญหาอะไรนิดๆหน่อยๆ เขาก็ทนไม่ได้ คืองานหนักหน่อยก็บ่น ไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชา หรือ เพื่อนร่วมงาน แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆก็บ่น ก็ทนไม่ได้ จะหยุดงาน จะลาออก อย่างนี้แล้วจะไปประสบความสำเร็จในการงานอาชีพอะไรได้ เพราะมัวแต่ตั้งต้นกันใหม่ เริ่มกันใหม่อยู่ร่ำไป ทางโลกซึ่งเป็นเรื่องหยาบ ยังเป็นอย่างนี้ ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในส่วนเบื้องสูง จะป่วยกล่าวไปใยถึงความสำเร็จ ขันติจึงเป็นธรรมที่ต้องการอย่างยิ่ง ในเบื้องต้น ขาดขันติแล้ว การเจริญกุศลทุกอย่าง ย่อมสำเร็จไปไม่ได้ แม้แต่กุศลขั้นต่ำสุด คือทาน ได้แก่การให้ก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอ รู้สึกว่ายากลำบากหน่อยก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอรู้สึกว่ายากลำบาก หน่อยก็จะไม่ทำ เมื่อกุศลขั้นต่ำสุด ยังทำไม่ได้ กุศลที่สูงยิ่งไปกว่านี้ จึงมิจำเป็นต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องฝืนกิเลสมากกว่า จึงต้อง ใช้ความอดกลั้นมากกว่า

ก็เป็นอันว่า ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมที่จำเป็นต้องมีกำกับใน การกระทำกุศลทุกอย่าง เพราะเหตุนั้นนั่นเอง จึงทรงตรัสสรรเสริญธรรม คือ ขันตินี้ไว้ในฑีฆะนิกาย มหาวรรค ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา

ซึ่งแปลว่า "ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็น ตบะ (ธรรมเครื่องแผดเผา กิเลสให้ไหม้ไป) อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวนิพพานว่า เป็นธรรมที่ยอดเยี่ยม" ดังนี้ หรือใน ขุทกนิกาย ธรรมบท ๒๕/๖๙ ว่า

ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมฺหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

ซึ่งแปลว่า "เรากล่าว บุคคลผู้มีขันติเป็นกำลังเป็นกองทัพนั้นว่า เป็นพราหมณ์" ดังนี้ หรือใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๓๒๕ ว่า

ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

ซึ่งแปลว่า "ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ หามีไม่" ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นคุณของขันติที่พึงพิจารณาเนืองๆ
ส่วนสำหรับโทษของความโกรธนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่นว่า - คนเราจะประสบความสำเร็จในงานอาชีพ เพราะความโกรธ ก็หาไม่ ที่แท้แล้วมันจะล้มเหลวพินาศไปก็เพราะความโกรธนั่นแหละ

- คนมักโกรธ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้อยากคบเพราะเขากลัวจะ มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งขัดเคืองใจกัน
- คนเราเมื่อความโกรธครอบงำ โอกาสที่จะขาดสติสัมปชัญญะ กระทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา และด้วยใจ ย่อมมีได้ ทั้งๆที่ไม่คิด ว่าจะทำได้มาก่อน ซึ่งอย่างน้อยมันก็จะเป็นเหตุให้ต้องเสียใจ เสวยทุกข์โทมนัสในการกระทำของตนในภายหลังได้ ในเมื่อได้สำนึก
- หลายคนต้องเสวยทุกข์ เสวยความลำบากเพราะการถูกลงโทษ ลงอาญาจากทางบ้านเมือง รวมทั้งต้องเสวยทุกข์ด้วยความเดือดร้อน ในอบาย เพราะกรรมชั่วที่ทำด้วยความโกรธ ฯลฯ

อนึ่ง โทษของความโกรธ พึงทราบโดยนัยตรงข้ามกับอานิสงส์ ของเมตตา ประการที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว นี้เป็นโทษของความโกรธที่พึงพิจารณาเนืองๆ

ก็เมื่อจะอบรมจิต เจริญเมตตา ควรแยกบุคคลที่เป็นอารมณ์ของ เมตตาออกก่อน ไม่ควรเจริญในบุคคล ๔ ประเภทก่อน คือ คนที่เกลียด ๑ คนกลางๆ ๑ คนที่รักมาก ๑ คนมีเวร หรือเป็นศัตรูกัน ๑ เพราะจิตใจที่ยังไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกของเมตตา เมื่อพยายามจะ แผ่ความรักไปยังคนที่เกลียด โดยทำให้เป็นที่รัก ย่อมลำบาก ทำได้ยาก ถ้าพยายามแผ่ไปในคนที่รักมาก เช่น บุตร ภรรยา หรือสหายรัก โอกาสที่ จะเกินเลยกลายเป็นตัณหาไปก็มีมาก สำหรับบุคคลที่เป็นกลางๆ ไม่ได้รัก แต่ไม่ถึงกับเกลียด การที่จะทำให้ความรู้สึกพอใจ อิ่มเอิบใจเป็นไปใน บุคคลนั้นได้นานๆ ย่อมเป็นการลำบาก ส่วนผู้ที่มีเวรเป็นศัตรูกันมาก่อน นั้นเล่าก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลย เพราะปกติเพียงแต่นึกถึงเขาใน แง่ดีบ้าง ก็ยังยากอยู่แล้ว จะป่วยการกล่าวไปใยถึงการที่จะแผ่เมตตาไปในเขา เพราะฉะนั้น แรกเริ่มเดิมที ควรเว้นบุคคลเหล่านี้เอาไว้ก่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้เริ่มที่ใครก่อนเล่า ?
ตอบว่าในตนเองก่อน ควรสงสัยว่า ทำไมจะต้องให้แผ่เมตตาไป ในตนก่อน เพราะตามปกติ คนเราก็มีความรักในตนเองอยู่แล้ว? ตอบว่า ความรักที่มีในตนนั้น สำหรับผู้ที่มิได้มีจิตอบรมมาทางเมตตา จนเกิดความคุ้นเคยแล้ว มักจะเป็นไปด้วยอำนาจตัณหาไม่ใช่เมตตา เพราะมันเกิดขึ้นโดยสักแต่เห็นว่า "เป็นเรา" เมื่อเป็นเช่นนี้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับตัวเรามันก็เป็นไปได้ในด้านดีไปเสียทั้งนั้น

ก็แต่ว่า ความเมตตาที่เป็นไปในตนที่ประสงค์เอาในที่นี้ ได้แก่ที่ทำให้ เกิดขึ้นในฐานะว่า เราก็เป็นสัตว์โลกผู้หนึ่งเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่รักสุข เกลียดทุกข์เท่านั้นเอง พูดง่ายๆว่า การเจริญเมตตาในตนก็คือการทำ ความใคร่ต่อประโยชน์สุข และประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นให้เกิดขึ้นโดย ตั้งตนไว้ในฐานะแห่งพยานนั่นเอง โดยนัยว่า "เราเป็นผู้ใคร่สุขเกลียดทุกข์ รักชีวิตและไม่อยากตายฉันใด แม้บุคคลอื่น สัตว์อื่นทั้งหลายก็ฉันนั้น" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๑๐๙ ว่า

สพฺ พา ทิสา อนุปริคคมฺม เจตสา เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ ตสฺมา น หึเส ปรมตฺตกาโม

ซึ่งแปลว่า " เราเที่ยวตามค้นหาด้วยใจตลอดทิศทั้งปวง ก็ไม่ได้พบพานบุคคล ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่า ตน ในที่ไหนไหนถึงตนของคนเหล่าอื่น ก็เป็นที่รัก มากมายอย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รักตน ไม่ควรเบียด เบียนผู้อื่น" ดังนี้

เมื่อได้อบรมเมตตา โดยตั้งต้นไว้ในฐานะพยานอย่างนี้ จนคุ้นเคย คล่องแคล่วดีแล้ว ต่อไปก็ให้แผ่ไปในบุคคลอื่นๆ คือในบุคคลผู้เป็น ที่รักอย่างกลางๆ ไม่ถึงกับเป็นที่รักมากค่อนไปในทางเคารพบูชา เช่น ผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นต้น จนคุ้นเคยคล่องแคล่วดีแล้ว ต่อจากนั้นก็แผ่ไปในบุคคลที่รักมาก ที่มีเวร หรือเป็นศัตรูกันถ้าหากว่า มีตามลำดับ

ก็แต่ว่าเวลานึกถึงบุคคลผู้มีเวรกันนั้น ความขัดเคืองย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะได้ระลึกถึงโทษที่เขาได้ทำไว้แก่เรา ก็เป็นเหตุขัดขวางการเจริญเมตตา เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ความขัดเคืองอันนั้นสงบลงไปโดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้ก่อน

- ลำดับแรกตักเตือนตนเองว่า พระพุทธเจ้าทรงติเตียนผู้ที่โกรธตอบผู้อื่นว่า เลวกว่าเขา เพราะเหตุที่รู้อยู่แล้วว่า ความโกรธนั้นเป็นของไม่ดี ก็ยังทำให้มัน เกิดขึ้นในใจของตนอีก เท่ากับช่วยขยายความโกรธนั้นให้แผ่กว้างออกไป

- คนที่เป็นศัตรูย่อมปรารถนาไม่ดีต่อศัตรูของตนว่า "ขอให้ผิวพรรณทราม" บ้าง "ขอให้อัตคัด ยากจน" บ้าง "ขอให้ทรัพย์สมบัติพินาสวอดวาย" บ้าง ตลอดจน "ขอให้ตกนรก" บ้าง ก็แต่ว่าการที่เราโกรธเขาแล้วปรารถนาอย่าง นี้นั้น ผู้ที่มีโอกาสประสบความไม่สวัสดีก่อนเป็นคนแรกคือ เรานี้เอง เพราะความโกรธที่เกิดขึ้นขณะนี้ กำลังทำให้เรามีหน้าตาขมึงทึง ผิวพรรณทราม และถ้าหากว่าลุแก่อำนาจของความโกรธแล้ว เราก็ต้องทำกรรมชั่ว มีหวังว่า จะต้องประสบกับความอัตคัด ยากจน เป็นต้น ตลอดแม้จน ตกนรกก็ได้ พราะฉะนั้น การโกรธเขาก็คือการให้ทุกข์แก่ตน เหมือนซัดทรายทวนลม ไปฉะนั้น

ถ้าได้ตักเตือนตนอย่างนี้แล้วยังมิได้ผล ก็ลองใช้วิธีอื่นดู คือ ความประพฤติของคนเรามี 3 แบบ คือ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา และความประพฤติทางใจ

บางคนความประพฤติทางกายไม่ดี เช่น เป็นคนหยาบคายทางกริยา ลุกลี้ลุกลน ไม่สำรวม แต่ ความประพฤติทางวาจาของเขาดี คือ พูดจาอ่อนหวาน พูดจาชัดถ้อยชัดคำ พูดง่ายๆ ว่าดีทางเจรจาให้คน ฟังชอบใจ กรณีนี้ให้เรานึกถึงแต่ความประพฤติทางวาจาของเขา โดยอย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางกายของเขา ความขัดเคือง ก็มีโอกาสสงบลงได้

หรือบางคนความประพฤติทางวาจาไม่ดี มีพูดจาสามหาว มากไปด้วย คำหยาบเป็นต้น แต่มีความประพฤติทางใจดี เช่นเป็นผู้มากในการทำกุศล เช่นชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น อย่างที่เราเรียกว่า ปากร้ายใจดีนั่นแหละ เราก็อย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางวาจาของเขาให้พยายามนึกถึง ความประพฤติทางใจของเขาเท่านั้น ความขัดเคืองก็มีโอกาสสงบลงได้

หากว่าบางคนมีความประพฤติไม่ดีเลยทั้งสามทาง ก็ไม่มีอุบายวิธีอื่นใด นอกจากตั้งความกรุณาให้เกิดขึ้น ว่า "บุคคลผู้นี้ อุตส่าห์ได้อัตตภาพมา เป็นมนุษย์แล้ว ก็ปล่อยโอกาสให้เสียไป จะประพฤติอะไรให้สมกับ อัตตภาพไม่มีเลย เขามีโอกาสท่องเที่ยวไปในโลกมนุษย์ก็แต่อัตตภาพนี้ เท่านั้น อัตตภาพต่อไปก็เห็นทีว่าจะท่องเที่ยวอยู่แต่ในอบายมีนรกเป็นต้น เป็นแน่แท้" ดังนี้ ความขัดเคืองก็พอจะสงบระงับไปได้เหมือนกัน

ถ้าหากว่า โดยอุบายวิธีนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่ นั้นเอง ก็ลองให้โอวาทตนเองดังต่อไปนี้ดู

คือ ให้พิจารณาถึงภาวะ ที่บุคคลมีกรรมของตน ว่า "ทุกคนมีกรรมเป็นของตนจะ ประสบสุข ประสบทุกข์ ก็ด้วยกรรมของตนที่ได้กระทำไว้เท่านั้น ไม่มีใครทำให้ บัดนี้ตัวเจ้าอาศัยความโกรธ คิดจะกระทำตอบแทนต่อเขา ก็กรรมที่คิดจะกระทำ ต่อเขานั้น มันจะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ความไม่สวัสดีแก่เขาก็หาไม่ ที่แท้ตัวเจ้า ผู้กระทำนั่นแหละ จะเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เปรียบเหมือนการจับก้อนอาจม หรือ ก้อนถ่านลุกแดง ใคร่จะปาให้โดนผู้อื่น คนจับปานั่นแหละเป็นคนเปื้อนอาจม ก่อน ถึงฝ่ายเขาก็เช่นเดียวกัน การที่เขามุ่งร้ายต่อเรา ทำกรรมไม่ดีต่อเขา เขานั่นแหละ จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมชั่วที่เขาก่อไว้ มิใช่เราทำให้" ดังนี้ ก็อาจจะยังความโกรธ ความไม่พอใจให้สงบระงับได้

ถ้าหากว่า โดยอุบายนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่นั่นเอง ก็ลองใช้อุบายอื่นอีก คือ สำหรับบุคคลผู้มากด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็พึง พิจารณาความประพฤติของพระศาสดาในครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญ ปารมีอยู่ โดยอาศัยเรื่องราวในชาดก อันกว่าด้วยการบำเพ็ญขันติบารมีว่า ในครั้งนั้นๆ พระโพธิสัตว์ทรงอดกลั้นต่อความโกรธ ไม่ลุแก่อำนาจของความโกรธ แม้ต่อผู้ที่มาปลงชีวิตของพระองค์ดังนี้ เป็นต้น สำหรับเราเรื่องก็เพียงเล็กๆน้อยๆ ไม่ถึงขนาดว่าจะเอาชีวิตอะไรกันยังอดกลั้นไม่ได้ ป่วยการที่จะนับถือพระพุทธองค์ ว่าเป็นศาสดา ด้วยว่าโอวาทจากพระองค์เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ยังปฏิบัติตามไม่ได้

หากว่าความโกรธยังไม่สงบอีก แม้ด้วยอุบายวิธีนี้ เพราะเหตุที่เป็นผู้มีกิเลสสะสม มาหนาแน่น อย่างยากที่จะสะสาง ก็พึงพิจารณาความที่ตนมีความเกี่ยวข้องในด้านดี กับคนอื่น มาแล้วในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน โดยนัยแห่งพระดำรัส ที่ตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๗/๒๒๓-๒๒๔ ว่า

"น โส ภิกฺขเว สตฺโต สุลภรูโป โย น มาตา ภูตปุพฺโพ ฯเปฯ" ดังนี้ เป็นต้น

ซึ่งแปลว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ที่ไม่เคยเป็นบิดา ที่ไม่เคยเป็นพี่ชาย น้องชาย ที่ไม่เคยเป็นพี่สาว น้องสาว ที่ไม่เคยเป็นบุตร ที่ไม่เคยเป็นธิดาหาได้ไม่ง่ายเลย" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ความคิดอย่างนี้ว่า "ในสังสารวัฏที่เราเกิดๆ ตายๆ อยู่นาน หนักหนานี้ ผู้นี้อาจเคยเป็นบิดา เป็นมารดา ผู้เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรามา ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ด้วยความรัก แม้ชีวิตก็ยินดีสละให้ได้ ในเวลานี้โทษที่เขาทำ กับเราแม้ว่ามีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับบุญคุณในอดีตก็เป็นของเล็กน้อยนัก ไม่น่าถือ โกรธเลย" อะไรทำนองนี้ ความโกรธก็อาจสงบระงับได้

หรือไม่เช่นนั้น ก็โดยอุบายแยกธาตุ โดยนัยว่า "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ความจริงแล้ว สัตว์บุคคลหามีไม่ ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงความเป็นไป ของนาม และรูป ซึ่งนามนั้นก็ยังประกอบด้วยขันธ์ต่างๆ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ถึงรูปแม้ว่าจะเป็นรูปขันธ์อย่างเดียว แต่รูปขันธ์นั้น ก็ยังประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป"

ก็ที่เราสำคัญว่า "โกรธเขานั้น โกรธใคร โกรธอะไร โกรธเวทนาหรือโกรธสัญญา โกรธธาตุดิน หรือโกรธธาตุน้ำ -- - - - " ก็จะหาบุคคลผู้ที่เราจะโกรธไม่ได้ ความโกรธย่อมมีโอกาสสงบระงับได้เหมือนกัน

ถ้าหากว่าไม่สงบระงับอีก ก็ลองใช้วิธีจำแนกทาน คือให้ตัดอกตัดใจสละของ อะไรๆที่มีค่าพอที่จะรู้สึกว่าเป็นการบริจาคให้แก่ผู้ที่เราผูกโกรธ ไม่พอใจคนนั้นไป วิธีนี้อาจจะสงบระงับความโกรธ ความไม่พอใจแต่ดั้งเดิมได้ เพราะการให้เป็นการ สร้างความรู้สึกที่เป็นมิตรอย่างหนึ่ง

อุบายวิธีต่างๆ เพื่อสงบระงับความโกรธความไม่พอใจเท่าที่กล่าวมานี้ ก็สามารถนำไปใช้ได้ในกาลทุกเมื่อความโกรธสงบระงับเป็นอย่างดีแล้ว ก็อบรมเมตตา ทำให้เป็นธรรมชาติที่คุ้นเคย ต่อไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเนื้อหาสาระบางประการที่ควรทราบเกี่ยวกับ เมตตาพรหมวิหาร ส่วนเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับการเจริญเมตตา จนจิตสงบ ระงับไปตามลำดับจนกระทั่งบรรลุถึงอัปปนา หรือ ฌาน จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ความละเอียดในเรื่องนี้ ผู้สนใจจะหาดูได้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเถิด.

บางส่วนจาก ปัญญาสาร ฉบับที่ ๖ เรื่อง เมตตา โดย ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์ (เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค มาเรียบเรียงอธิบาย) อภินันทนาการ จาก มูลนิธิ แนบ มหานีรานนท์

ป.ล...เรื่องของ"พรหมวิหารสี่" เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ คนเราดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข และทำให้ โลกทั้งมวลมีความสุขและสันติด้วย....นะครับ

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 09, 2549

ร้านกาแฟ..ธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง


มีร้านกาแฟแบบนี้....บ้างไหม? ท่านเคยคิดทำร้านขายกาแฟ ให้ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดราคาเองหลังจากดื่มกาแฟที่ท่านบริการแล้วเสร็จ บ้างไหม?คิดให้หนักก่อนที่จะร้อง..ยี้..แล้วบอก...ม่ายเอา

ร้านกาแฟส่วนมากในระบบทุนนิยม (สร้างหนี้ก่อนเปิดร้าน)มักกำหนดราคาเพื่อการตลาดและโลภ ...ทั้งที่เกินความเป็นจริงไม่ตรงกับการสมยอมและด้วยความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักท่านลองขอเขาดมกาแฟก่อนทางร้านใส่เครื่องชง ว่ามีกลิ่นคุ้มค่าเงินที่ท่านต้องจ่ายหรือไม่? ...ส่วนมากเรามักจ่ายเกินคุณภาพของมัน

ต้นทุนกาแฟ(อย่างเดียว ) ๑ ช๊อท..คั่วเอง บดเอง ชงเอง ...ฟันธง..ไม่เกินสามบาท เชื่อหรือไม่? ไม่มีลูกค้าดื่มกาแฟสดไทยในเมืองไทยจ่ายเงินให้คุณต่ำกว่า ๒๐ บาทต่อแก้ว..แน่นอน โปรดอย่ากลัวจนเงินเกินที่ลูกค้าบางคนจ่ายให้มา ..คุ้มกับที่ให้คนไม่มีสตังค์(จริงๆ)ดื่มฟรี...แน่นอน..ชัวร์

มาลองทดสอบเรื่องนี้กันดีไหม? ....นี่แหละแนวคิดทำเศรษฐกิจแบบพอเพียง ..ไม่มีเงินเก็บและรวยความสุข ...ก็ให้มันรู้ไปเลยใจถึงกันอย่างนี้ซิ ถึงจะเป็นแฟนพันธ์แท้..คนรักกาแฟ

ผมก็ไม่ต่างกันเท่าไรเกิดมาโดยมีระบบทุนนิยมตะวันตกอัดสมองและการกระทำในเรื่องธุรกิจแต่ถ้าเราลองหวลกลับไปสู่อดีตของเราเราจะเห็นและเข้าใจความต่างกัน

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนละเมียดละไมมากต้องอาศัยธรรมปฏิบัติเป็นฐานของความคิดเรื่องแรก..ถ้าเราจะมีธุรกิจกาแฟ ต้องรักและมีความรู้และสติและกุศลในทานเป็นเบื้องต้น เพิ่มพูนสติและความรู้ที่จะทำสิ่งนั้นๆให้มีผลดีสูงสุดเสมอๆ ..ผลตอบแทนธรรมปฏิบัติของเราก็จะตามมาไม่ต้องกลัวจน

สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลนี้มีความเชื่อมโยงเป็นองค์รวม เราชอบคิดแบบแยกส่วนและรวบรัดธรรมปฏิบัติในการทำงานของพวกเราเลยสับสนน้อยบ้าง มากบ้าง ตามระบบทุนนิยมผิด ที่เรามั่วนิ่มเป็นถูก กันในขณะนี้

คนรุ่นใหม่ๆกำลังตกเป็นเหยื่อของข่าวสารที่เป็นเท็จกันมาก โดยเฉพาะกระแสทางการตลาดหรือระบบ mba ที่เอาวัตถุหรือเงินเป็นที่ตั้งตามอย่างชาติตะวันตกบางชาติที่เมามันมุ่งสร้างความสุขจากภายนอก มากกว่าการสร้างความสุขจากภายในจิตใจของตัวเราเอง

คนรุ่นใหม่ต้อง คิดใหม่ คิดใหญ่ คิดริเริ่ม ด้วยฐานความรู้ความเข้าใจที่เรามีกันมา และทบทวนให้ถ่องแท้ในความพอดี พอเพียง และมีธรรมปฏิบัติเป็นหลัก กุศลในการกระทำย่อมเกิดตามหลักของทฤษฎีองค์รวม ดังพล่ามมาแล้ว
อย่าเพิ่งเชื่อ...แต่ก็อย่าเพิ่งปฏิเสธ...นะครับ

ใจเย็นๆครับอย่าเพิ่งกลัว"บุญ"ที่ยังมาไม่เห็นคุณภาพของกาแฟเป็นสิ่งที่เราต้องรักและรักษาไว้ยิ่งได้ผลที่ไม่พอใจก็ยิ่งต้องเร่งคุณภาพให้ดีขึ้น เป็นที่สุดเท่าที่เราทำได้ซึ่งต้องอาศัยความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก

เมื่อคืนก่อนอ่านเรื่องกาแฟเรื่อง ลุงพร ชอนอาชีพในเศรษฐกิจชาวบ้านของมติชนท่านพัฒนาคุณภาพจากการให้คนชิมฟรีจนนานเดี๋ยวนี้ท่านยังขายด้วยราคาเพียง ๑๐ บาทล่าสุดที่ otop เมืองทอง ท่านขายได้ ๑๗๐,๐๐๐ บาท รวม ๙ วันทำยอดขายสูงสุดได้วันละ ๓๗,๐๐๐ บาท

นี่แหละครับ ตัวอย่างอนิสงษ์ของคนทำดีอย่าดูถูกคนไทยด้วยกัน ...โดยเฉพาะลูกค้าของเราครับ .....

อย่ากลัวจนเพราะทำความดี...นะครับ

ลองหลับตา..แล้วลืมภาพและความคิดทุนนิยมที่พบเห็นสร้างเป้าวัตถุประสงค์ที่ความสุข ไม่ใช่กำไรจากตัวเงิน

หากมีความสุขที่จะทำ...ก็จงทำ เงินทุนก็คิดแบบพอเพียง หาญาติ หาเพื่อน พวกพ้องให้มาร่วมทุนกัน อย่าสร้างหนี้ที่ตัวเองอาจรับความทุกข์ไม่ไหวเมื่อผิดพลาด ต้องมีการป้องกันความเสี่ยง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภาพลวงๆทั้งหลายที่พบเห็นตามร้านที่มีอยู่ ลืมเลือนให้สิ้น มีเก้าอี้ให้ลูกค้าที่นับเสมือนเพื่อน มิตรสหาย พ่อแม่ ได้นั่ง มีที่ๆตั้งเครื่องชงกาแฟพอ เพื่อบริการกาแฟที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งแค่นี้ก็นับเป็นร้านกาแฟที่ดีได้แล้ว อย่างอื่นเป็นเครื่องปรุงแต่ง

ลูกค้า ให้ถือเสมือนเป็น..เพื่อนๆ ญาติๆ พ่อแม่ ของเราทุกคนความรัก ความเมตตา และมิตรภาพ ที่เราหยิบยื่นให้ ต้องกลับมาตอบแทน เป็นส่วนมาก ไม่มีขาดทุน ความสุขจึงตามมา

ต้องฝึกจิตใจให้ยิ่งใหญ่ ใจใหญ่ เมตตาที่สูง อย่าเอาอย่างพวกนักธุรกิจขี้งก บ้าการเอาเปรียบผู้อื่น ...แล้วเจ้งในที่สุดซึ่งมีตัวอย่างให้พบเห็นมากมาย อย่างเช่นในเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วนี้

เมื่อ เป็นเจ้าของร้านกาแฟที่มุ่งความสุขเช่นนี้ ไม่มีวันล้มเหลวเพราะคิดจากความสุขบนพื้นฐานของความว่างเปล่า(ของจิต) ธุรกิจบนพื้นฐานเช่นนี้ จึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวลใจ บนความว่างเปล่าของ(จิต)เจ้าของร้าน จึงทำให้มีพื้นที่มากมายให้(จิต)ผู้อื่น โดยเฉพาะลูกค้าได้จับจอง ไม่มีวันเจ้ง ไม่ว่าธุรกิจกาแฟเป็นขาขึ้นหรือขาลงไม่มีความหมาย เพราะความสุขและมิตรภาพ คือความยั่งยืนของธุรกิจร้านกาแฟที่ควรเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้

ถ้าไม่เข้าใจ...หรือไม่อยากเป็น...ไม่เชื่อเมตตาธรรม และไม่เชื่อว่าชีวิต...มี จิตที่ความว่างเปล่า...ก็จงเป็นเจ้าของร้านกาแฟ ที่ทุกข์ระทมตลอดไปเถิด ...ไม่ว่าธุรกิจกาแฟจะขาขึ้นหรือขาลง ก็ไปไม่รอดหรอก...ครับ

จาก...คนรักกาแฟ...ตัวจริง

วันพุธ, กันยายน 06, 2549

คิดฟุ้ง..คุยเฟื่อง


space..ไทยๆ

space หรือที่ว่างแบบ ไทยๆ หรือแบบพอเพียงนี่มันควรจะเป็นรูปแบบไหนครับอาจารย์ เป็นแบบโล่งๆจัดกิจกรรมหลากหลายได้ในแบบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยสมัยก่อนหรือเปล่าครับ...แล้วมันจะเอามาใช้กับยุคสมัยนี้ได้อย่างอย่างไรครับ ...ขอบคุณอาจารย์มากครับ
โดย เด็กตึกแถว [13 ก.ค. 2548 , 18:42:35 น.]

ข้อความ 1
หรือว่าขึ้นอยู่กับกิจกรรมและวิถีชีวิตครับ
โดย เด็กตึกแถว [13 ก.ค. 2548 , 18:43:35 น.]

ข้อความ 2
พูดกันถึงที่ว่างในการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมไทย กิจกรรมและ วิถึชีวิตเป็นเรื่องสำคัญอย่างที่คุณอ้าง..ครับ

ความแตกต่างในเรื่องนี้หรือวัฒนธรรม ทำให้สถาปัตยกรรมของแต่ละชนชาติมี ความแตกต่างกัน มากกว่ารูปแบบ
ปัจจุบันวัฒนธรรมเชื่อมโยงกันมากขึ้น บางครั้งกลืนกินกันไปจนอาจยากที่จะ สังเกตุความแตกต่างได้ แต้ถ้าพิจารณากันให้ ละเอียดและเอาใจใส่มากขึ้น ความแตกต่าง ก็ยังเห็นๆกันได้อยู่

ความแตกต่างที่สำคัญ คือ เรื่องดินฟ้าอากาศ อันชี้นำหรือกำหนดให้วิถีชีวิตและกิจกรรม แตกต่างกันด้วย เรื่องที่ว่างของสถาปัตยกรรม ในอดีตของแต่ละชาติพึงเห็นได้ชัดเจน แม้ แต่ชาวเอเซียด้วยกันก็ตาม

ในหนังสือเรื่อง"เยินเงาสลัว" อธิบายเรื่อง ที่ว่างและสุนทรีย์ของชาวญี่ปุ่นได้อย่างน่าสนใจ หากมีใครศึกษาเรื่องทำนองนี้ เยินเงาสล้ว ในเรื่องที่ว่างของไทย ก็จะน่าสนใจไม่แพ้กัน

หากคุณมีเวลาลองไปเดินในบริเวณวัดพระแก้ว ตามลำพังและปล่อยอารมณ์ให้เต็มที่ ละก้อ คุณก็อาจได้สัมผัสสื่งนี้ได้ชัดเจนกว่ารูปทรง ที่พวกเรามักเน้นความต่างกันเป็นส่วนมาก จนบางทีเป็นการดัดจริต ติดยึดกับอดีตแบบ คนปัญญานิ่ม ไม่ลงลึกลงในความเข้าใจ สถาปัตยกรรมไทยที่เพียงพอ

ความคิดอย่างพอเพียงประสานความรู้ด้วย การมีสติปัญญาอย่างเพียงพอ เราก็จะสามารถ สร้างสถาปัตยกรรมที่งดงามและสมดุลป์กับ ธรรมชาติที่เราเป็นของแต่ละคนแต่ละชนชาติ ได้อย่างน่าชื่นชม.....นะครับ
โดย อาจารย์ [25 ก.ค. 2548 , 16:10:18 น.]

อยากรบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายความสัมพันธ์ของ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งในทาง 1.พุทธศาสนา 2.วิทยาศาสตร์ 3.สถาปัตยกรรม เผื่อผมอาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบอ่ะครับ.....ขอบคุณอาจารย์ล่วงหน้าครับ
ปล....ตอนนี้อาจารย์เป็นไงบ้างครับ....ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรงนะครับ แล้วจะไปทานกาแฟร้านอาจารย์ครับ
โดย เด็กตึกแถว [19 มิ.ย. 2548 , 00:58:13 น.]

ข้อความ 1
เรื่อง...อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

เมื่อตอนสองยามคืนก่อน ผมเขียนตอบมาแล้ว แต่.. ปรากฏว่ายาวเกินไป เซิฟเวอร์รับไม่ได้ เผอิญ.. ผมเข้าอินเทอร์เนทด้วยพีดีเอ จึงย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ เลยต้องบรรเลงเพ้อเจ้อเรื่องนี้กันใหม่

นี่ถ้าอดีตเอาคืนมาได้ ผมก็คงยึดอดีต เอาข้อความที่ เขียนไว้ก่อนมาฉายซ้ำ...จึงไม่เป็นการคิดและเขียน ใน..ปัจจุบัน เมื่อเอาอดีตกลับมาได้ เราก็มักคิดเอาเป็น บันทัดฐาน เอาไปฉายซ้ำเรื่อยๆ บางครั้งก็ฝันเฟื่องไป.. อนาคต คิดปรับปรุงไปฉายซ้ำ หรือยัดเยียดให้เข้ากับเรื่อง ที่คล้ายๆกัน ....นี่เป็นตัวอย่างพฤติกรรมของผมที่เกิดขึ้น ในอดีตเมื่อคืนก่อนเท่านั้น..นะครับ ยังมีอีกมากมายที่ผม มักคิดและปฏิบัติทำนองนี้

ในแง่พุทธศาสนา...(เท่าที่สติปัญญาผมเข้าใจว่า)..เรามักติด ยึดกับ"อุปทาน" ของอดีต กับฝันเฟื่องเรื่องอนาคต เสมอๆ เลย ไม่เคยพบกับปัจจุบัน.. การฝึกเจริญสติและภาวนานั้น ก็เพื่อให้ จิตเข้าถึงปัจจุบันจริงๆ คนที่บรรลุธรรมในแนวทางพระพุทธศาสนา จะไม่ติดยึดกับอุปทานของ อดีตและอนาคต สภาพที่เกิดขึ้นของ ปัญญาในจิตขณะนั้น จึงเป็นเรื่องของความแท้จริงในสภาวะของ สรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกสมมุติใบนี้ แต่...คนที่ยังยึดติดกับ อุปทานของอดีตและอนาคต ปัญญาที่เกิดขึ้นจึงไม่ตรงกับความเป็น จริงแท้ทั้งสิ้น...มันเป็นแค่ความจริงที่เกิดจากอุปทานที่ยึดไว้ในจิต ของแต่ละคน ...ซึ่งก็คือความจริงสมมุติของโลกในขณะนี้
โดย คุยครั้งที่ ๑ [20 มิ.ย. 2548 , 12:35:56 น.]

ข้อความ 2
ในแง่วิทยาศาสตร์...สาระของวิชาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (natural science) สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ก็เพื่อการค้นหาความเป็นจริง ของธรรมชาติหรือของสรรพสิ่งทั้งหลาย พยายามศึกษากลไกของ ความเชื่อมโยงกันต่างๆนั่นเอง แต่เนื่องจากสภาวะจิตของนักวิทยา ศาสตร์ยังมีอุปทานติดยึดกับอดีตและอนาคต ไม่เป็นจิตปัจจุบัน ผล ทางทฤษฎีที่ประกาศ จึงเป็นความจริงสมมุติทั้งสิ้น ..พูดให้ฟังดี ก็ เป็นเพียงแค่ "เงา" ของความจริงเท่านั้น ...พ่อมดทางวิทยาศาสตร์ เช่น ไอสไตน์ เอง ก็ยอมรับในประเด็นนี้

ผลข้างเคียงของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (ที่ยังไม่สมบูรณ์) คือ วิทยาศาสตร์ ประยุกต์ที่แตกแขนงเป็นเทคโนโลยี ผลิตวัตถุกลไกต่างๆตามอุปทาน ของแต่ละคน จนทำให้ชีวิตของแต่ละคนสับสนวุ่นวายไปกันใหญ่ ก่อผล กระทบในเรื่องความสมดุลป์ของธรรมชาติต่างๆนานา ดังที่เราเผชิญ กันอยู่ในขณะนี้ และจะดำเนินต่อไปตามอุปทานที่ขยายเป็นความโกรธ โลภและหลง ....ตราบเท่าที่จิตยังห่างไกลกับสภาวะที่เป็นปัจจุบัน
โดย คุยครั้งที่ ๒ [20 มิ.ย. 2548 , 12:44:38 น.]

ข้อความ 3
ในแง่สถาปัตยกรรม ..เพราะจิตสถาปนิกยังข้องแวะกับอดีตและอนาคต ไม่เคยฝึกและเข้าใจความเป็นปัจจุบัน จึงนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ของ เทคโนโลยีมาต่อแขนงให้ความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมเตลิดเปิดเปิง ออกไปอีก เลยกลับกลายเป็นตัวเร่งทำลายความสมดุลป์หรือความเป็น จริงของธรรมชาติต่อๆไป ถ้าเราฝึกจิตให้อยู่ปัจจุบันมากๆ เราก็จะเข้าถึง สถาปัตยกรรมพอเพียงหรือสถาปัตยกรรมยั่งยืนได้มากขึ้น รูปลักษณ์ของ มันจะเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์ จะให้เกิดความสมดุลป์กับ ธรรมชาติได้มากน้อยอย่างไร จนเกิดความพอดี..ที่ตรงกับปัจจุบันที่สุด ไม่ใช่ กับอดีตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หรือสำหรับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และไม่จำเป็น ที่ต้องพยายามจะหยั่งรู้ไปให้ได้ก่อน ...

อาจารย์ฝรั่งของผมในอดีต เคยแย้งนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่นำเอา สถาปัตยกรรมในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นในห้วงอวกาศมาให้วิจารณ์ ท่านบอกกลับไปว่า ...นั่นเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่สถาปัตยกรรมของอนาคต ..เพราะเรื่องของอนาคต..ไม่มี ใครหยั่งรู้ได้ ..นอกจาก "พระเจ้า"..เท่านั้น

นี่เป็นการโม้ที่ผมพยายามให้จิตของผมเป็นปัจจุบันที่สุด ...แต่อนิจจา จิตผมก็ยังติดกับอุปทานของอดีตและอนาคต อีรุงตุงนังเหมือนคนอื่น หรือคุณ..เช่นกัน..ไม่มีขอยกเว้นครับ ...โปรดอย่ายึดคำตอบของผม เป็นสาระ ขอเพียงให้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องที่คุณถามมา ก็พอแล้ว จงพยายามยึดคำเตือนของพระดีๆที่ว่า....ให้เราจงทำปัจจุบันที่เราคิดเรา รู้กันอยู่ขณะนี้(แม้เป็นความจริงสมมุติก็ตาม)..ให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ขอให้งาน สถาปัตยกรรมของเรามีผลกระทบ(ด้านเลวๆ)กับต้วเราและผู้อื่น รวมทั้งกับ สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงรอบตัวเรา...ให้มันน้อยที่สุด..เท่าสติปัญญาเรามี อยู่ในขณะนั้น...ก็พอเพียงแล้ว...นะครับ
โดย คุยครั้งที่ ๓ [20 มิ.ย. 2548 , 12:46:27 น.]

ข้อความ 4
"อดีตสอนปัจจุบัน ปัจจุบันส่องอนาคต"..ให้อดีตเป็นครูแล้วทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่อที่อนาคตจะได้ไม่หันมาเสียใจหรือเสียดายในภายหลังใช่มั้ยครับ
โดย เด็กตึกแถว [21 มิ.ย. 2548 , 22:27:31 น.]

ข้อความ 5
ใช่เลย...ครับ
งานสถาปัตยกรรม...ไม่ต่างจาก "สากกะเบือ...ยันเรือรบ" จง ...ทำสากกะเบือให้ดีเท่ากับเรือรบ
นะครับ
โดย ถูกต้อง...นะคร๊าบบบ [23 มิ.ย. 2548 , 16:08:01 น.]

ข้อความ 6
เอ่อ อาจารย์ครับ แล้วศิลปะที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งหรือเปล่า...อะไรคือศิลปะที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุดครับ......แล้วคนเราจะเข้าถึงศิลปะที่อยู่ใกล้ชิดกับเราที่สุดได้อย่างไรครับ......
โดย เด็กตึกแถว [13 ก.ค. 2548 , 18:49:51 น.]

ข้อความ 7
ในซีดีที่แจกให้ไปอัดกันเองนั้น ในถังขยะฯ-๔ มีเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ ในแง่พุทธศาสนา ที่ท่านพุทธทาส อรรถาธิบายไว้ ผมว่าน่าพิจารณาดูนะ ผมคิดว่าน่าจะได้คำตอบที่ใกล้เคียง ความ"เป็นจริง"ที่สุด

อย่าหาว่าเลี่ยงบาลีไม่ตอบตรงๆนะ ผมว่า"ความรู้"ของแต่ละคนไม่ได้มาจาก การบอกล่าว...แต่จะเกิดขึ้นจากความเข้าใจ ของแต่ละคนที่อาจแตกต่างกัน กัลยาณมิตร หรือ ครู ทำได้เพียงการชี้แนะบอกทาง ให้ศิษย์ได้เรียนรู้และเข้าใจด้วยตนเอง หากแต่ครูปัจจุบันชอบเอาความรู้"เทียม" ยัดบอกแก่ศิษย์กันทุกๆวัน....ไม่ถูกต้องนะครับ
โดย อาจารย์ [15 ก.ค. 2548 , 10:06:28 น.]

แวะมาทักทายครับ
ตอนนี้ทำทีสิสอยู่ บอกตามตรงว่าคิดถึงอาจารย์ครับ การตรวจแบบทีสิสค่อนข้างละเอียดมากครับ เหมือนกับจะต้องการให้นิสิตทำได้ดีในทุกๆเรื่อง ทั้งที่บางทีก็เป็นเรื่องธรรมดาๆอย่าง บันไดหนีไฟ ระยะต่างๆ ห้องน้ำ ห้องเครื่อง ...etc. อยากจะบอกอาจารย์ว่าผมไม่ค่อยเกิดinspirationในการทำแบบ อะไรเลยกับการตรวจแบบ แบบนี้ คือเป็นเหมือนการตรวจว่าเราทำถูก หรือผิด แต่ไม่ได้ทำให้เกิดจินตนาการ คิดถึงตอนตรวจกับอาจารย์ มาฟังอาจารย์พูด ได้แนวคิดบ้าง ก็นำมาใช้กับแบบได้ เเถมยังจะมีมุขตลกๆ เสมอครับ ก็ปีใหม่แล้วขอให้อาจารย์มีสุขภาพที่ดีครับ
โดย 218 [31 ธ.ค. 2547 , 14:01:58 น.]

ข้อความ 1
ขอขอบคุณในไมตรีที่มีระลึกให้กัน และขอให้พ้นทุกข์ในเร็วพลัน..นะครับ
พระท่านสอนไว้ว่า สุขใดไม่เท่าสุขที่เกิดจาก"ความว่าง" ในสังคมทางโลกนั้นมีความหลากหลายไร้ที่สิ้นสุด โดยเฉพาะมาตราฐานของมนุษย์ด้วยกันที่ต่าง กรรมต่างวัยและต่างวาระ

การดำเนินชีวิตนั้นก็คือการดำรงอยู่กับมันให้ได้ เมื่ออากาศร้อนก็ทนร้อน หนาวก็ทนหนาว เจอ ซูนามิ ก็ต้องทนเอา เพราะกรรมของเราดันทะลึ่ง ให้ได้เจอสิ่งต่างๆเหล่านี้ การรู้เข้าใจธรรมชาติเหล่านี้ ก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงหรือทนกับมันได้เพราะทางเลือกอื่นนั้นไม่มี..หากันไม่เจอ

การเรียนรู้ยังต้องมีกันต่อๆไปทุกคนตราบเท่าที่ตัวเรา ยังดำรงอยู่ พระท่านบอก..ชีวิต คือ สิกขา หรือการเรียนรู้..ครับ
ทีสิส ที่ว่า.. เป็นเรื่องจิ๊บจัอยมากเลยครับ สร้างจิตใจ ของคุณให้"ใหญ่" ไว้มากๆ มีทัศนะคติที่กว้างไกล เรื่องพรรค์นี้ก็จะไม่สร้างความกังวัลใจให้เราต่อไป

ปีใหม่นี้..ขอให้ทุกๆคนรับเอาแต่สิ่งดีมีแต่กุศลไว้กัน ทุกคนนะครับ...คิดถึงพวกคุณเช่นกันครับ
โดย อาจารย์(อดีต) [2 ม.ค. 2548 , 10:54:54 น.]

Energy Producing

ไม่ทราบว่าอาจารย์สนใจแนวคิดทางด้านนี้บ้างไหมครับ ส่วนตัวผมแล้วว่าน่าสนใจมาก แม้จะรู้สึกว่าไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเท่าไรนัก สำหรับสถาปัตยกรรมยุคอนาคต แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีทีเดียว ตอนนี้ผมเรียนกับอาจารย์สุนทร อยู่ครับ ผมว่าแกมีความคิดที่น่าสนใจเยอะมากเลยครับ แต่ในเรื่องบางอย่างในการทดลอง หรือวิจัยต้องใช้งบประมาณและคนที่ที่มีความรู้ความสามารถมากครับ ตอนนี้อาจารย์สุนทร กำลังจะเลย Energy Producingไปแล้ว จะไปสู่ยุคใหม่อีก ไม่ทราบว่าอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ

ปล มีงานสาระศาสตร์วันที่20 ตค นี้ มีเรื่องที่น่าสนใจและอาจารย์สุนทรก้อพูดด้วยครับ
โดย Wong [14 ต.ค. 2548 , 21:21:33 น.]

ข้อความ 1
ผมเคยคุยและฟังความคิดอจ.สุนทรเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน และความเชื่อมโยงกับการออกแบบสถาปัตยกรรม
โดยส่วนตัวผมชื่นชมอจ.ในเรื่องงานวิชาการ เพราะอจ.เลือกแนวคิดที่ชัดเจนและค้นคว้าลงลึก
ผมเคยเชิญอจ.มาคุยเรื่องนี้ในวิชาสัมมนาฯ สร้าง
แรงบันดาลใจให้นิสิตมีความกระตือรือร้นได้อย่างมาก นับว่าเป็นคุณสมบัติของอจ.ยุคใหม่
คือไม่มัวคอยเอาแต่เสี้ยมสอนนิสิต หรือยัดเยียด ในสิ่งที่ตน..บางทีไม่สู้เข้าใจและรู้ไม่ลึกซึ้ง จึงมักสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตไม่ได้

ส่วนอจ.สุนทร นั้น..ถ้านิสิตได้ฟังก็จะเกิดความ สนใจในเรื่องที่อจ.ศึกษาและค้นคว้าวิจัย ทำให้รัก และเกิดแรงบันดาลใจ เช่นที่คุณกำลังเป็นอยู่ขณะนี้..ครับ

ไม่ว่าเรื่องอะไรที่เราสนใจ ถ้ามีการสืบไปได้ตลอด วิชาการนั้นๆก็จะกลายเสมือนเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่ง ไปได้มาก คือมองเห็นความเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆได้ เป็นวงจรสัมพันธ์ต่อกันและกัน

ผมว่า..นี่คือสิ่งที่นักวิชาการมีหน้าที่ต้องทำในสำนักศึกษาทั้งหลาย
...นะครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [15 ต.ค. 2548 , 13:26:22 น.]

ข้อความ 2
ขอบคุณครับ
แต่ผมอยากทราบถึงแนวทางด้านสถาปัตยกรรมยุคใหม่ในของไทย ความเห็นอาจารย์น่ะครับ ไม่ทราบว่าอาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างครับ
โดย Wong [16 ต.ค. 2548 , 19:17:33 น.]

ข้อความ 3
ในความคิดผม เห็นว่าเรื่องบริบทหรือ context เป็นเรื่องที่สามารถเริ่มต้นแนวความคิดได้ทางหนึ่ง
การจะสร้างแนวคิดในการออกแบบสถ.ไทย ก็ จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจบริบทของสังคมไทย ให้ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ นี่คือสิ่งที่ผมสนใจขณะนี้

ผมเริ่มจากการสัมผัสกับชุมชนที่รายรอบที่ตั้ง ศึกษาทั้งเรื่องกายภาพและลักษณะเฉพาะด้านนามธรรม เท่าที่ผมจะเข้าใจได้ แล้วนำมาเป็นจุดตัดสินใจ ในการเลือกแนวความคิด ปกติเรามักโดนสอนให้ สร้างจินตภาพบนโต๊ะเขียนแบบและลิสความต้องการ แล้วพยายามยัดเยียดหรืออนุโลมให้เข้ากับบริบท ที่เราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังเท่าไร เพราะต้องรีบสร้างจินตภาพ เพื่อเอาไปตรวจกับอจ.ในสตูดิโอ ในสมัยผมอจ. ไม่ชอบสนทนาเรื่องความคิดเท่าไร อยากเห็นแบบ แล้วให้ความเห็นตามทัศนะของอจ.

การสร้างเรื่องราวหรือแนวคิดจากบริบทที่เป็นอยู่ และการคาดการณ์พอประมาณของที่ตั้งที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และผลในอนาคต เป็นสิ่งที่ผมสนใจ ไม่สร้างหรือ กำหนดจินตภาพของสถ.ล่วงหน้าอย่างจริงจังนัก สนใจว่าสิ่งที่เราออกแบบจะไปส่งเสริมอะไรกับชุมชนได้บ้าง อย่าเอาแต่ออกแบบให้เป็นสิ่งแปลกหรือยกตนข่มท่านถ่ายเดียว

ส่วนเรื่องพลังงานหรือด้านเท็คโนโลยีเป็นเรื่องของยุคสมัย แต่หากสร้างมิติทางความคิดเรื่องนี้ในสเกลที่กว้างขี้น เข้าถึงระบบนิเวศของชุมชนโดยรวม ผมว่าจำเป็น..นะครับ

การออกแบบในลักษณะองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับ
บริบท เป็นเรื่องการออกแบบสถ.ไทยที่ควรเอาใจใส่อย่างยิ่ง อย่างน้อยทำให้เราเข้าใจความเป็นตัวตนของเราและเปลือกนอก(บริบท)ที่หลอมการดำเนินชีวิตของเราได้ดีขึ้น..นะครับ... ผมขอแสดงความเห็นแค่นี้นะ ไม่ทราบตรงกับที่อยากรู้หรือปล่าว..ครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [22 ต.ค. 2548 , 08:39:22 น.]

ข้อความ 4
ขอบคุณครับ
โดย Wong [23 ต.ค. 2548 , 21:24:00 น.]

ถามอาจารย์ครับ
อาจารย์ครับ เวลาทำโปรเจกใดๆก็ตาม จำเป็นไหมที่จะต้องทำตาม design process ทุกขั้นตอนที่เรียนมา เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะเริ่มโปรเจกหลังอ่านโปรแกรมและไปดู site มาแล้ว โดยที่ไม่ต้องมานั่งเขียน Tabulation ก่อน แล้วตามด้วย relationship diagram หรือ bubble diagram อะไรตามแบบอย่างที่เคยเรียนๆกันมา เพราะอ่านโปรแกรมกี่ปีกี่ปีเขาก็บอกให้ส่งแบบนี้

หรือว่าวิธีการนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วในการออกแบบจริงๆครับ???
โดย นิสิตปี 4 [16 มิ.ย. 2547 , 23:03:06 น.]

ข้อความ 1
เรื่องวิธีการออกแบบ..จะว่าไปก็เป็นวิธีการใคร วิธีการมัน มีความหลากหลายตามประสบการณ์ ของแต่ละคนเป็นสำคัญ แต่เราก็สามารถปรับปรุง และพัฒนากันได้ (ซึ่งควรทำ) เพื่อให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

การศึกษาวิธีการของผู้อื่นบางครั้งจำเป็น
ในการศึกษาเรื่องวิธีการ..methodology พยายาม รวบรวมขั้นตอนหรือวิธีการต่างๆที่มีผลในการออกแบบ หรือการแก้ปัญหาที่ประสบผลสำเร็จมาบันทึกไว้

เรื่องของวิธีการออกแบบ เปรียบเหมือนเครื่องมือ ที่ใช้ในการทำงานทางความคิด หากมีเครื่องมือ มากและหลายแบบ ก็น่าจะสะดวกในการเลือก นำมาใช้ในกระบวนการทางความคิด...นะครับ

สำหรับเรื่องของ พื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ หรือ tabulation area มีประโยชน์ในการกำหนดขนาดของ ที่ว่างและขนาดรูปทรงของอาคาร ผมเคยเปรียบเทียบ เหมือนหีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ลักษณะรูปทรงภายนอก ของอาคารน่าจะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งขนาดของที่ว่าง ต่างๆจะมีผลในเรื่องการคำนวนราคาค่าก่อสร้าง อาคารภายหลัง(ในทางวิชาชีพ)

เรื่องของ diagram เป็นรูปลักษณ์ของระบบความ สัมพันธ์ของกิจกรรมต่างๆที่กำหนดขึ้นในอาคาร ที่กำลังออกแบบ เป็นสื่อความคิดหนึ่งในความเข้า ใจของผู้ออกแบบ เหมือนภาพเสก็ตทางความคิด หรือภาษาที่พูดอธิบายกัน อาจไม่จำเป็นมีแบบตายตัว ในการสื่อสารกันนัก ...แต่จะสะดวกในการกำหนด ขั้นตอนต่างๆของความคิดที่ซับซ้อน เช่น การทำ งานของกลไกเครื่องจักรกล เป็นต้น ส่วน bubble diagram อาจคุ้นกับสถาปนิก เพราะเหมือน ภาพเสก็ตเคร่าๆของแบบแปลน ...โดยสรุปเรื่องนี้ คุณอาจใช้รูปลักษณ์แทนความคิดความเข้าใจ อะไรก็ได้ ถ้าทำให้คุณเองเข้าใจความคิดของคุณ และถ่ายทอดให้ผู้อื่นร่วมเข้าใจได้ด้วย สื่อแบบไหน ก็น่าจะใช้ได้ นอกเหนือจากภาษาเขียนสามัญทั่วไป ภาษาของสถาปนิกมักนิยมเป็นภาพ ใกล้เคียงสิ่ง ที่เห็นจริงได้มากเท่าไรยิ่งดีครับ

วิธีการที่ดีที่สุด คือ วิธีการที่เราใช้แล้วได้ผลเลิศ ผมคิดว่าควรใช้วิธีการนั้น แต่อย่างที่บอก..คนคิด เก่ง คิดสร้างสรรค์ให้ได้ผลงานดีๆ มักเป็นคนที่มี หลายวิธีการทางความคิด มักไม่ติดยึดกับวิธีการใด วิธีการเดียวเสมอไป

ไม่ทราบคุยมาตรงประเด็นหรือป่าว...ครับ

อยากให้ลองอ่าน "ลายแทงความคิด" เขียนโดย คุณเกรียงศักดิ์ ...มีในห้องสมุด จะได้เข้าใจรูปแบบ ของความคิดต่างๆ และวิธีการอธิบายความคิดนั้นๆ ..นะครับ
โดย อาจารย์ [17 มิ.ย. 2547 , 11:26:16 น.]

ข้อความ 2
ขอบคุณครับ จะลองไปหาอ่านดู ได้เรื่องยังไงหรือสงสัยประการใดจะกลับมาคุยกับอาจารย์ใหม่ครับ
โดย นิสิตปี 4 [20 มิ.ย. 2547 , 22:34:09 น.]

projectที่เป็นระดับชาติจำเป็นต้องแสดงถึงความเป็นชาตินั้นรึเปล่าครับ?
เช่นสนามบินของประเทศต่างๆ จำเป็นรึเปล่าที่architectureควรจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นชาตินั้นๆ ที่นั้นๆ อย่างสนามบินหนองงูเห่าถือว่าเป็นยังไงครับ?
โดย เด็กช่างสงสัย [3 เม.ย. 2547 , 21:40:18 น.]

ข้อความ 1
มันขึ้นอยู่กับสติปัญญาของคนตัดสิน..คนดู..คนใช้ ว่าความเป็น"ชาติ"มันอยู่ตรงไหน..ที่ไหน เราเสนอไปถ้ามันตรงใจกัน เกมก็จบ อาจได้รางวัล สถาปัตยกรรมดีเด่นของชาติ..จนทำให้เรากลายเป็น สถาปนิก"เทวดา" เป็นบ้าไปได้อีกนานๆ
อัตตาในเรื่องตัวตนของคนมีกิเลสนั้นมีสูง ชื่อตัวเอง นามสกุลตัวเอง กำพืดตัวเอง ฯลฯ ก็มักเชื่อว่ามีและ จะดีกว่าของคนอื่นๆ ความเป็นชาติเลยเกิดขึ้น คนในชาติจะงี่เง่าอย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองก็มัก ตอแหลบอกว่า ชาติเราดี ต้องอวดและเชื่อว่าดีไว้เสมอ ว่าชาตินี้สิ้นเมื่อใด..ตัวเองก็จะสิ้นตาม ทั้งๆที่ขณะชาติยังอยู่ แต่คนส่วนใหญ่ของชาติกำลังจะจนตาย ก็ยังบอกว่า พวกเอ็งต้องรักชาติอวดความเป็นชาติกันไว้นะ

โลกในอนาคต..ความเป็นชาติจะหลอกกันไม่ได้นาน เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายคนไปอยู่ในชาติที่ให้ ประโยชน์ตนและครอบครัวสูงสุดกันทั้งนั้น
หลายคนที่เก่งๆมักย้ายไปเป็นคนอเมริกันกัน แล้วสังเกตุว่าพวกเขารักชาติอเมริกันกันมาก เพราะเป็นชาติที่ให้สิทธิคนในชาติ
เท่าเทียมกัน คนที่อยู่ได้ประโยชน์แล้วรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ประเทศที่ตนอยู่เหมือนๆกัน...นี่เป็นข้อสังเกตุ
เพราะคิดมาก..เลยคิดยาว..จึงมีต่อครับ
โดย อาจารย์ [8 เม.ย. 2547 , 11:31:43 น.]

ข้อความ 2
สถาปัตยกรรม..เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็จริง แต่ สถาปนิกอาจไม่ใช่..ไม่จำเป็นสำหรับคนทุกคน ยิ่งหลักสูตรที่ฝึกสถาปนิกในแนวคิดทุนนิยม สถาปนิกจึงเป็น "ผู้บริการ" สำหรับคนที่เห่อจะรับบริการ ยิ่งเลือกบริการแค่กับ"พวกเถ้าแก่"พอใจรับเศษเงิน คิดกันแบบร้ายๆ ..ก็ไม่ต่างหญิงบริการเท่าไรนัก หากพวก เถ้าแก่นึกสนุกอยากให้สถาปนิกแต่งทรงไทยมา บริการ พวกเราก็เลยเอาด้วย จะแต่งตัวเป็นนาง บริการแบบไทย หรือไม่แต่ง ก็เป็นแค่นางบริการ อยู่ดีแหละครับ

ยุคบ้าหาเงินสมัยนี้ เห่อการท่องเที่ยว อยากอวด เอาเงินต่างชาติ เลยเน้นการ"แต่งตัว"บริการกัน ใหญ่ เพื่ออวดความเป็นชาติไทยกันยกใหญ่

ผมเพิ่งกลับมาจากเที่ยวต่างจังหวัด หลายๆที่ที่เคย บริสุทธิ์เหมือนสาวพรมจารี เดี๋ยวนี้งอมกันทั่ว เหมือน หญิงโดนโทรมกันทั่วหน้า สถาปนิกสร้างสิ่งแปลกปลอม หลอกชาวบ้านเป็นผีเทวดาไปหมด ผมดูแล้วสังเวชใจ ถ้าเลือกเกิดใหม่ได้ ไม่อยากเป็นสถาปนิกสอนสถาปัตยกรรม
ที่แทบไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านคนส่วนใหญ่ของประเทศกันเลย

ถ้าพวกเราที่เป็นสถาปนิกเอาพระบรมราโชบาย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่อง"ความพอเพียง"ยัดใส่ในหัวไว้บ้าง พยายามสร้างสรรค์สืบค้นสถาปัตยกรรมแห่งความพอเพียงกันแล้ว ความเป็นชาติ เอกลักษณ์ของชาติอย่างนี้จะยั่งยืน ไม่ใช่ความเป็นชาติแบบ"ตอแหล"ที่กำลังหลอกหลอนกันอยู่ขณะนี้

จะสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพอเพียงได้ ตัวเองต้อง ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงก่อนใด ต้องเข้าใจสาระ ธรรมนี้ให้ถ่องแท้..จึงจะเป็นสถาปนิก"เทวดา"จริงๆ ไม่ใช่สถาปนิกบริการแต่งตัวไทยๆเลียนแบบย่าทวด ของเราที่"ตาย"ไปแล้ว แล้วไปปลุกผีให้ตื่นมาจาก หลุมหลอกหลอนกันเล่นสนุกไปวันๆ

ยังสติแตก..ยังมีต่ออีก
โดย ขออีกที [8 เม.ย. 2547 , 11:34:54 น.]

ข้อความ 3
ถ้าเขาอนุญาตให้โพสต์..ก็คงคุยจบเสียทีครับ
โปรเจ็คอะไรที่นับเป็นระดับชาติ ต้องคิดถึงหรือสท้อน คนที่เป็นพื้นฐานของประเทศ ไม่ใช่ชนชั้นปกครอง ไม่ใช่วัดกันที่ขนาดหรือความใหญ่โต แต่ทำอย่างไร จะกระจายทรัพยากรหรือเงินไปให้ทั่วประเทศ ตอนผมได้รับมอบหมายจากคณะฯให้เป็น"ตรายาง" พิจารณาสนามบินที่ว่านี้ ผมบอกท่าน"หัวหน้า" ไปว่า ไม่ควรเลือกมันทุกแบบ และไม่ควรให้มันสร้างสักแบบ เอามาออกแบบเป็นสนามบินเล็กกระจายกันให้ทั่ว ทุกตำบลกันเลย ชาวบ้านจะได้ใช้เดินเล่นหลังเสร็จทำนา ที่ผมสวนกระแสไปนั้น..ไม่ใช่ความคิดนี้จะวิเศษอะไรหรอก เพียงแต่พวกนักการเมืองเขาเลือกสถาปนิกและแบบ กันไว้แล้ว เราจะมาเสียเวลาบริการสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ไปทำไมกัน

ปัญหาสถาปัตยกรรมที่สนองความเป็นชาติที่คุณคุยมา เป็นปัญหา"สมมุติ"บัญญัติกันไป คิด..แสดง..กันไป ได้จนตาย..คุณจะเล่นบทยังไงให้ได้งานได้ผล ก็น่าจะพอแล้ว..เช่นถ้าจะทำเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ ให้จบไปเร็ว ก็ดูผลงานที่อาจารย์คณะเราเขาชอบ ก็ทำไปทำนองนั้นแหละ..ส่วนจะเป็นชาติเป็นไทย ยังไง ก็ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของพวกครูที่จะให้คะแนคุณ อยากเป็นสถาปนิกบริการ..ก็คิดเสียว่าครูให้คะแนน คือ"เถ้าแก่" แต่งตัวตามบริการที่เขาชอบ ..แต่ถ้า คุณไปบริการเจ้านายแบบ"หลวงพ่อชา" หรือท่าน "พุทธทาส" (ซึ่งมรณะภาพไปแล้ว) ...เผลอๆจะเป็น คนละเรื่อง ความเป็นชาติที่ท่านเทศน์ให้รู้ อาจทำ ให้คุณเลิกเป็น"นางบริการ"ไปเลย

ว่าแต่..คุณไม่ได้กำลังทำวิทยานิพนธ์เอาเปรียญธรรมเก้าประโยคนะครับ.. แต่เอาปริญญาสถาปัตยกรรม ก็ต้องเลือก"เถ้าแก่"ให้ตรง จบไปจากคณะนี้แล้ว..ก็ค่อยว่าเรื่องความเป็นชาติ กันใหม่

ปัญหานี้..ถ้าไม่"ตอแหล"ก็ตอบไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาของ เรื่องสมมุติ เป็นปัญหาโลกแตกครับ หาคำตอบ "ตัวเดียวอันเดียว" ไม่ได้ครับ
โดย ทีสุดท้าย [8 เม.ย. 2547 , 11:38:01 น.]

สถาปัตยกรรมกับพลังงานทดแทน

พอดีไม่ได้คุยกับอาจารย์นานเลย เลยอยากถามความคิดเห็นของอาจารย์ว่า ในเรื่องของพลังงานทดแทนที่ดูมีแนวโน้มสูง ว่าจะมาทดแทนการใช้พลังงานเดิมที่มาจากใต้พิภพ ที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าปัจจบันพลังงานทดแทน จะยังไม่มีประสิทธิภาพสูงมากนักแต่ก็มีแนวโน้ม ว่าจะมีการพัฒนาและใช้กันเพิ่มขึ้น และในสถาปัตยกรรมแบบ Green architecture ก็กำลังให้ ความสนใจกันอยู่ แต่ในวงการสถาปัตยกรรมของไทย นี่สิครับ มีการรณรงค์ การประกวด บ้านประหยัดพลังงาน เท่าที่ผมเห็น มักจะไม่มีสิ่งใหม่มากเท่าที่ควร เอะอะก็ช่องเปิด ลมพัดดี มีSolar cell ก็ชนะแล้ว ไม่ทราบว่าอาจารย์คิด เห็นอย่างไรครับ
โดย Wong - [25 มิ.ย. 2549 , 12:11:44 น.]

ข้อความ 1
สำหรับผม..แนวคิดเรื่องสถาปัตยกรรม ควรศึกษาและไตร่ตรองในเชิงของ"องค์รวม" มากกว่าการคิดแบบแยกส่วน ตามที่เราโดนสอนมา

สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่เกิดขึ้นและดับไปนั้น มีความเชื่อมโยงแก่กันและกันตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดอยู่เป็นเอกเทศ งานสถาปัตยกรรม ก็เช่นเดียวกัน

สถาปัตยกรรม การดำรงชีวิต ดำเนินชีวิต ฯลฯในบริบท ที่แตกต่างกัน ควรมีผลให้ลักษณะความคิดและการสร้างสรรค์ ต้องแตกต่างกันด้วย แต่เพราะตัณหา..ทำให้เราอยากผูกขาด ความคิดและการกระทำให้มีผลเหมือนๆกัน ก็เหมือน สินค้าบริโภคอุปโภคที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้

เพราะสถาปัตยกรรมไม่ถูกต้องและเหมาะสม การสิ้นเปลือง พลังงานจึงเป็นปัญหาและเกิดความไม่สมดุลป์ การแสวงหาพลังงานทดแทนจึงต้องมีการดิ้นรนกัน

ผม..จะงดกล่าวถึงการใช้รถยนต์อย่างบ้าคลั่ง และการขยายเมือง อย่างไร้การควบคุม และความเหมาะสมกับบริบทที่ควรเป็น เอาแค่ตึกรามบ้านเรือนที่พวกเราช่วยกันรังสรรค์ ก็อาจพบปัญหาต่างๆมากมาย กิจกรรมการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยใส่เสื้อผ้าบางๆ ไปเป็นสูทหรือเสื้อผ้าหนาๆ เมื่อร้อนเลยต้องใช้แอร์ กิจกรรมที่เคยอยู่ภายนอกกลายเป็นภายใน พื้นที่ว่างอาคารเลยมากขึ้น ทั้งๆที่ภูมิอากาศในบ้านเราสดใสเป็นส่วนมาก พื้นที่ว่างภายนอกที่เคยเป็นธรรมชาติกลับลดน้อยลง กลายเป็นถนนที่กว้างขึ้นรองรับรถยนต์ที่ใช้แทนอวัยวะ คือขาตัวเองมากขึ้น อุปกรณ์ทางเทคโนฯ ที่มาเสริมแต่งล้วนบริโภคพลังงานทั้งสิ้น

แนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาสถาปัตยกรรมในเรื่องพลังงาน มีอยู่สองแนว คือ passive และ active อย่างแรก ก็แบบแนวคิด green architecture อย่างหลังคือใช้ สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนฯ เช่นแอร์หรือโซล่าเซล เข้าช่วย ถ้าสถาปนิกให้ความสำคัญและคิดค้นแบบแรกมากๆ เสริมแบบหลังน้อยๆ พลังงานก็อาจสิ้นเปลืองน้อยลง

การแก้ที่สถาปัตยกรรมแบบมีข้อจำกัด ผมว่าไม่พอ ต้องศึกษาและพิจารณาความเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นๆด้วย ที่สำคัญ คือรูปแบบของการดำเนินชีวิตที่เรายึดถืออยู่ปัจจุบัน ต้องปรับให้เหมาะสมด้วย

อยากให้คุณ Wong ลองกลับไปดูหนังจีนกำลังภายใน ดูฉากหรือสถาปัตยกรรมที่ผู้สร้างพยายามจำลองสิ่งที่น่าจะเป็นในอดีต แล้วกลับมามองสถาปัตยกรรมเมืองร้อนของเราในปัจจุบัน ผมว่าภาพในอดีตก็คงไม่ต่างจาก แนวคิด green architecture ที่เรากำลังย้อนรอยเท่าไรนัก...นะครับ

การมีเวลาทบทวนสิ่งที่เราทำมาแล้ว กำลังทำ หรือจะทำในภายหน้า ผมว่าสถาปนิกทุกคนควรกระทำ และต้องมีความอิสระให้มากพอ ความรู้ที่เรามีก็จะกลายเป็นสติปัญญาที่จะรังสรรค์สิ่งที่ดีและถูกต้องได้มากขึ้น

การใช้ความรู้ ควรเป็นไปพร้อมๆกับการลดละกิเลสตัณหาของตนให้เบาบางลง ยิ่งลดลงมากเท่าไร ความรู้ของเราก็จะกลายเป็นปัญญา ได้เห็นและทำเห็นสิ่งที่ถูกต้องได้มากยิ่งขึ้น...นะครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [29 มิ.ย. 2549 , 13:12:16 น.]

ข้อความ 2
อย่าไปกลุ้มใจกับเรื่องผลการประกวดแบบ
ผมชอบที่ท่าน Frank Lloy Wrigth เคยปรามาสไว้ว่า... แบบที่ชนะการประกวด ก็คือ แบบที่กรรมการยืมมือผู้เข้าประกวดให้กระทำตามที่ตัวเองคิดไว้แล้ว

ในชีวิตการทำงานของท่าน...ท่านจึงไม่เคยเข้าร่วมประกวดแบบ...เลยครับ
โดย ขออีกที [29 มิ.ย. 2549 , 13:30:38 น.]

ข้อความ 3
ขอบคุณครับ

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 03, 2549

โวหารสมมุติ...ศาสนากับวิทยาศาสตร์


ว่าด้วยเรื่องโวหารสมมุติ... เพื่อความเข้าใจในพระพุทธศาสนากันอย่างแท้จริง
ถ้า...นาม-รูป เป็นเหตุปัจจัยหลักของ"สิ่ง"ที่เรียกว่า"จิต" และปรากฏการณ์เกิด-ดับของมันทำให้เกิด"เวลา"ใน"ความมี"ของจิตแล้ว จิต..ก็จะดำเนินไปอย่างกว้างขวางจนถึงที่สุดคือ จักรวาลของความมี"ตัวตน"และสิ่งแวดล้อมทั้งมวลอื่นๆ นั่นเอง บรรจุลงใน"ความว่าง"จนเติมเต็มเป็นโลกสมมุติของแต่ละชีวิตที่รวมเรียกกันว่า จักรวาลที่เป็นอนันต์
ฐานสมมุติแห่งนาม-รูป ก็จึงไม่แตกต่างจากความรู้สมมุติในปัจจุบันของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคือฐานสมมุติ"ตัวเลข"ของวิชาคณิตศาสตร์ นั่นคือ ตัวเลขของ 1-0(หนึ่งกับศูนย์) อันมีการบูรณาการกันอย่างไม่มีความสิ้นสุขในการสร้างนวัตกรรมของมนุษย์ แปลงกันจนเป็น"มายา" เช่น ภาพยนต์ หรือเรื่องราวอื่นๆผ่านให้เห็นกันทางเครื่องรับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์เป็นต้น
มนุษย์ ก็คือ นวัตกรรมหนึ่ง ที่เกิดจากการสรรสร้างของ"จิต" หรือ "พระเจ้า" นั่นเอง มีการบูรณาการในเชิงความสัมพันธ์ที่สอดคล้อง หรือในภาวะบรรสานของสรรพสิ่งทั้งมวล โดยรับความเป็น"มายา"นี้ ผ่านกระบวนการประมวลผล(เช่นอาศัยขัณฑ์ห้า) ยึดถือกันเป็น"ความจริง" ซึ่งอาจไม่แตกต่างกันนักกับการแปลงระหัสด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นซีดี หรือเครื่องทีวีปัจจุบันนี้
พีทาโกลัส สร้างสมมุติทางโวหารไว้ว่า... จักรวาลทั้งมวลประกอบกันขึ้นจากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ หรือที่..ดีโมคริตุส อ้างว่า... จักรวาลประกอบขึ้นจากอะตอม ก็ไม่ต่างจากที่พระพุทธเจ้าเทศนาว่า... จักรวาลเกิดขึ้นจากจิตที่ประกอบขึ้นมาจากนาม-รูป(นามกับรูป)นั่นเอง
ชีวิตเป็นเพียง"มายา" ..น่าจะ.. เกิดจากจิตที่ประมวลกันของนาม-รูป สร้างโลกที่ประกอบกันเป็นตัวเรา ล้วนเป็นโลกของมายา เลื่อนลอยไปตามอำนาจของจิตที่มีนาม-รูปเป็นเหตุปัจจัยต่อกันและกัน เรียกกันให้ชัดก็คือ เกิดเป็นโลกเสมือนจริง หรือ virtual world ในโวหารของภาษาคอมพิวเตอร์ปัจจุบันนี้
เมื่อเรายอมรับการใช้โวหารสมมุตินี้กันแล้ว ก็ ลองมาเปรียบเทียบกับการอ่านข้อเขียนบางตอนของคุณ สมชาย วสันตวิสุทธิ์ เขียนไว้ในคอลัมน์ "คิดนอกเส้น" เรื่อง... "เราสร้างโลกและจักรวาลนี้จากตัวเลขได้หรือไม่? ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับที่ 937 ดังนี้
"พีทาโกลัสบอกว่า พิ้นฐานของตัวเลข คือพื้นฐานของทุกสิ่ง และจักรวาลนี้แท้ที่จริงแล้วคือตัวเลขและภาวะบรรสาน หรือ harmony หรือความสอดคล้องของสรรพสิ่ง สามารถอธิบายได้ด้วยค่าตัวเลขทางคณิตศาสตร์ เช่น เลขคู่หรือเลขคี่ เลข ตรรกยะ หรือเลข อตรรกยะ หรือเลข ที่มีเหตุผล และเลข ที่ไม่มีเหตุผล นั่นคือเลขที่สามารถหาจำนวนเต็มและเป็นเศษส่วนได้ กับเลขที่ไม่สามารถเขียนเป็นเศษส่วนได้ แม้เลขที่เป็นเศษส่วนกลับของเลขจำนวนเต็ม เช่น เศษหนึ่งส่วนสอง หรือเศษหนึ่งส่วนสาม เศษหนึ่งส่วนสี่ ฯลฯ เลขเหล่านี้ล้วนมีบรรสานกันและกัน
โลกที่เรามีชีวิตอยู่ หากเป็นโลกมายาที่ยอมรับเป็นความแท้จริงแล้ว ก็ไม่น่าจะต่างจากโลกเสมือนจริง เช่นในภาพยนต์ที่ถูกเก็บไว้ในแผ่นดิสก์ เช่นในเรื่อง the matrix ที่เฉลยไว้ว่า.. โลกที่เราดำเนินชีวิตกันอยู่นี้เกิดจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ยักษ์หรือแมทตริกที่คอยบงการ ซึ่งอำนาจนี้ ก็ไม่น่าต่างจาก"จิต"ของเราเท่าไรนัก
ตัวอย่างหนังที่เก็บไว้ในแผ่นวีซีดีหรือดีวีดี ทั้งหลายล้วนเป็นแผ่นข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น มันบรรจุ"ข้อมูล"ที่เป็นเลขฐานสอง คือเป็นตัวเลข "หนึ่งกับศูนย์" ด้วยกระบวนการเก็บที่เป็น"ร่อง"หรือ"หลุม"ขนาดจิ๋วบนผิวของแผ่นดิสก์ เมื่อส่องด้วยแสง"เลเซอร์"จากหัวอ่านของเครื่องเล่นก็จะสะท้อนแสงบ้างไม่สะท้อนบ้าง เกิดการติดกับดับ ซึ่งหมายถึง "เลขหนึ่งกับศูนย์" เมื่อไปแปลงค่าในแผ่นวงจร"ไอซี" ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ไปควบคุมหลอดภาพของทีวีหรือจอพลาสมาทีวีอีกที (อวัยวะสมองของเราก็น่าจะทำหน้าที่ทำนองนี้)
นั่นคือภาพยนต์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวเสมือนจริงขึ้น ซึ่งสามารถแปลงมาเป็นกฎตัวเลข คือเลขฐานสอง ซึ่งก็คือตัวเลข หนึ่งกับศูนย์นั่นเอง แล้วตัวเลขก็สามารถแปลงกลับไปเป็นเรื่อราวต่างๆเป็นโลกเสมือนจริง เช่นในภาพยนต์ด้วยหลักวิธีดังกล่าว ซึ่งต่อๆไปก็สามารถสร้างหนังด้วยตัวเลขล้วนๆได้ ดังเช่นหนังการ์ตูน เรื่อง"นีโม"ตามหาพ่อ...." (หรือ เรา..ตามหา"รอย"พระพุทธองค์)
ดังนั้น จักรวาลทั้งหมดก็สามารถถูกแปลงเป็นเลขฐานสองหรือ"ตัวเลข" ตามแนวความคิดของพีทาโกลัส ก็ได้ ถึงตรงนี้ "พระเจ้า" หรือ"จิต" ก็ไม่ต่างจากนักสร้างภาพยนต์ชั้นหนึ่ง"..กระมังครับ
สำหรับเรื่องของโวหารสมมุติข้างต้น เนื่องในสภาวการณ์ปัจจุบัน เราคงยากที่จะหลีกเลี่ยงความรู้ของวิทยาศาสตร์ แม้ว่า"ความจริง"ที่บอกกล่าวกันในโวหารนี้ จะเป็นเพียง"เงา"ของความจริงก็ตาม ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่พอจับเค้าพอมองเห็นได้ เพราะมันมีแสงแห่งปัญญา(บางส่วน)ส่องอยู่ แม้จะน้อยนิดเพียงจับต้องได้แค่เป็นเห็นเพียงเงาของความจริงก็ตาม เพราะยังไม่สามารถเห็นได้จะแจ้ง แต่ก็ยังพอนับได้ว่า นั่นเป็นเค้าโครงของความจริงได้ ก็..ยังดีเสียกว่าการ"มองเห็น"ที่เป็นเสมือน"ฝัน"อันผ่านทางกระบวนการจินตนาการของแต่ละคน อธิบายแก่กันนั้นยากที่จะเข้าใจ หรือแม้นว่า อาจเป็นแค่เพียงความหลงเชื่อ หลงติดจนกลายเป็นความงมงายที่ไม่อาจรู้เท่าทันก็ได้
ลองพิจารณาโวหารสมมุติในอีกข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้....
ไอน์สไตน์กล่าวว่า.... "วิทยาศาสตร์ที่ไร้ศาสนาก็เหมือนคนขาเป๋ ศาสนาที่ไร้วิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด"
พระสันตะปะปาจอห์น พอลที่สอง กล่าวว่า.."วิทยาศาสตร์สามารถชำระศาสนาให้สะอาดขึ้นจากความผิดพลาดและความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ ศาสนาก็สามารถชำระวิทยาศาสตร์ให้สะอาดจากความเชื่อในบางสิ่งจนเกินเลยไป และกลายเป็นความสัมบูรณ์ที่ผิดพลาดได้ แต่ ทั้งสองสิ่งนี้ สามารถนำพากันไปสู่โลกที่กว้างขึ้น การเชื่อมสองสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดูแล"
หากพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์จริง...หรือเกิดขึ้นมาโดยไม่มีทางเลือก(เพราะกรรม) ก็คงมีจุดประสงค์ให้เราใช้สมองของเราคิดและไตร่ตรองหาเหตุผล ซึ่งในที่สุดแล้วนำพาโลก(และตัวเรา)ไปสู่ความสงบสมบูรณ์
การชี้ว่ามนุษย์ต้องเลือกทางเดินของตนเองและรับผิดชอบการกระทำของตน ก็คล้ายเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในแนวพุทธ ส่วนเรื่องอิสระภาพการเลือกใช้ชีวิตนั้น ก็คล้ายแนวทางเต๋า..นี่เป็นสาระของปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลิสม์ของ..ฌอง-ปอล ซาร์ตร์ เจ้าของวาทะ.."การเกิดมาในโลกนี้เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่มีทางเลือก อิสรภาพที่จะไม่เลือกอิสระ... ไม่ใช่อิสรภาพ"
ปรัชญาเอ็กซิสเตนเชียลิสม์ เป็นรูปแบบหนึ่งของมนุษย์นิยม ที่เชื่อใน 3เรื่องคือ..อิสระภาพปัจเจก(individual freedom) ทางเลือก(choice) และความรับผิดชอบของมนุษย์หรือตัวตนของปัจเจก(individual existence)
ในแนวพุทธ...อิสระภาพที่แท้คือ อิสระภาพที่พ้นจากกิเลสทั้งปวงที่ครอบงำจิตของเรา
การตีความคัมภีย์ให้ถูกไม่สำคัญเท่าการตีความให้เป็นประโยชน์ต่อ(ตนเองและ)สังคม
ไม่ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดขึ้นเองหรือไม่ก็ตาม เราไม่มีทางรู้ สิ่งที่เราทำได้ดูเหมือนไม่มีทางเลือกเท่าใด เราต้องก้าวต่อไปโดยทำทีไม่สนใจว่าชีวิตเราถูกกำหนดมาหรือไม่ เพราะหากมันไม่ถูกกำหนดมาก่อน เรายังมีโอกาสมากกว่าที่จะไม่ทำอะไรเสียเลย
จาก..."พระเจ้าไม่เล่นบอล? ว่าด้วยผู้สร้าง" โดย วินทร์ เลียววาริณ (http://www.winbookclub.com/)
สรุปกันได้ว่า.... โวหารอันเป็นสมมุติบัญญัติดังกล่าว ก็เป็นเรื่องของ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูชนรู้ได้ด้วยตนเอง อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านว่า...ให้เชื่อตัวเอง ให้เห็นให้เข้าใจด้วยตัวของเราเอง

พึงเจริญในธรรม...นะครับ
โดยคุณ : เด็กข้างวัด - 16/11/2004 00:51