เวลา..ของเพื่อนคนหนึ่ง.. อ.สมสิทธิ์ นิตยะ หมดลงในเทศะนี้แล้ว สิ่งที่หลงเหลือคือ ..สัญญา ..ในความทรงจำ เคยพานพบกันมา ..จู่ๆ ..ต้องห่างหายจากไป ทำให้นึกถึงบทกวีของใครบางคน ..เอ่ยถึง "ใบไม้ที่หายไป" เพราะต่างเคยประดับ เป็นใบชูชัน เสียดสี ทับเกย อวดสร้าง สีสรร ร่วมกันบนต้นไม้หนึ่ง..ในชุมชนสถาปัตยกรรม พลันเกิดช่องว่างของใบไม้ที่เหลือคาต้น ..ให้อ้างว้าง เดียวดาย ..แล้วอีกไม่นาน ทุกๆใบก็ต้องร่วงลงเช่นกัน .. เวลาของมวลใบไม้..ในเทศะนี้...มันช่างมีกันน้อยจริงๆ
โดย เพื่อนอาจารย์ [19 พ.ค. 2546 , 09:39:43 น.]
ฝากให้..ไทแมน ลองพิจารณาดู...นะครับ
ความงามกับการพัฒนาทางจิตวิญญาณ
ในความจริงมีความงาม ถ้าเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่ง ก็จะประสบความงาม การประสบความงามทำให้เกิด ความสุข ในธรรมชาติของสรรพสิ่งมีความงามอยู่ทั่วไป ความสุขที่ได้สัมผัสกับความงาม พัฒนาจิตใจให้สูงและ เจริญขึ้น ..ความงาม ๑๐ ประการที่ประสบได้ในวิถีชีวิต
๑. ความงามของธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
๒. ศิลปะ เป็นความงามที่มนุษย์สร้างขึ้นควร เพื่อการลดกิเลส
๓. ความงามในงาน งานที่ทำอย่างประนีต ให้เกิดประโยชน์สำเร็จ
๔. ความงามในความรู้ รู้จริงรู้ทั่วรู้การเชื่อมโยงด้วยกันทั้งหมด
๕. ความงามของจิตใจ พัฒนาให้เจริญในพรมวิหารธรรม
๖. ความงามในวาจา ด้วยปิยวาจา ความจริง วจีสุจริต
๗. ความงามในการกระทำ ไม่เบียดเบียน มีศิลเป็นความงาม
๘. ความงามในความเป็นชุมชน การรวมตัวเอื้ออาทรกันตามโอกาส
๙. ความงามในสัญลักษณ์ทางศาสนา ส่งเสริมให้คุณค่าคำสอน
๑๐. ความงามในสติ(ศีล) สมาธิ และปัญญา เพื่อพัฒนาสู่สังคมแห่งความรู้
เรื่องงานของรัฐฯขณะนี้ ถ้ามองกันในแง่บวก ก็ต้องกล่าวว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ อย่าถือว่าจะเป็นเรื่องจริงจัง ที่ว่า "ท่าน" จะทำให้ความยากจนหายไปจากเมืองไทย ภายในหกปี ...เมื่อมีคนที่สมมุติว่ารวย ก็ ย่อมมีสมมุติว่าจนควบคู่กันไปเสมอแหละ ต้องยอมรับว่า "คนไม่รู้" ยังชอบความหวัง ลมๆแล้งๆกันอยู่เสมอ มักใช้เป็นยากล่อม ประสาททางใจ ไม่ต่างกับยาบ้าทางกายนัก เผอิญ..ยังไม่ถึงเวลาของอนาคต ที่จะมีใคร ฆ่าตัดตอนคนขายความหวังลมๆแล้งขณะนี้
การไม่ต้องติด "ยา" แบบนี้ มีทางเดียวที่แก้ คือสร้างความคิดที่เรียกว่า "สันโดษ" เท่านั้น คือหมายถึงความสุขในสิ่งที่ตนมี ซึ่งตรงข้ามกับ ความไม่สันโดษ คือความสุขในสิ่งที่ตนไม่มี แต่ ผู้มี "ปัญญา" นั้นต้องไม่สันโดษในการค้นหา ความ "เป็นจริง" ของโลกที่เป็นของเราขณะนี้ เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ครู" ที่ยิ่ง ใหญ่ของพวกเรา (ทุกศาสนา) ที่ไม่ยอมสันโดษ กับสิ่งที่ท่านบรรลุคือ "ฌาน" หรือเช่นความรวย ของคนที่แสวงกันอยู่ทุกวันนี้ ทั้งๆที่เป็นสุขที่ไม่จริง
ผมชอบความคิดที่ว่า "พระเจ้า" มักเป็นอะไรก็ได้ ในสิ่งที่เราคาดไม่ถึง แม้แต่ "คนยาม" ที่ยังนอน อยู่ในป้อมยามขณะนี้ ถ้าเผอิญเขานอนอย่างมี "ความสุข" เพราะเมื่อหลับแล้วก็คงไม่ต่างกันกับ คนนอนในที่ไหนๆ ลองพิจารณาตัวอย่างศาสดา ของพวกเรา มักเป็นพระเจ้าในรูปของผู้ยากไร้ เสมอ ...มีทัศนะคติอย่างนี้แหละที่ผมว่าเป็นการ พัฒนาตนไม่ให้เกิดการแบ่งแยกกันในทุกเรื่อง เข่นเดียวกับ ครู-ศิษย์ นั้นในความจริงไม่มี มีแต่ ในความสมมุติกันเท่านั้น ...เพราะ โง่-ฉลาดพอกัน ไม่แตกต่างกับ คนยาม-นายกฯ ฯลฯ ที่รวยจนพอกัน
ว่าแต่ "ความจริง" ของความฉลาดหรือความรวย ที่เรามีความหวังกันนั้น ..มันคืออะไรกันแน่?
อ่านจบ..งงกันไหม? ครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [28 ก.พ. 2546 , 09:37:01 น.]
ศาสดาในศาสนาอื่นมักไม่ใช่กษัตริย์ ก็ยังปฏิวัติอำนาจต่างๆได้ ตามในประวัติศาสตร์ ในกรณีของพระพุทธเจ้านั้น ท่านดำรง อยู่ใน "วิถี" ที่ต้องบรรลุพระสัมมาโพธิญาณ ดังนั้นในภพชาติสุดท้าย จึงต้องอยู่ใน "เงื่อนไข" หรือปัจจัย ที่จะต้องทำให้บรรลุ เป้าหมายที่ตั้งใจพระทัยไว้แน่นอน
เงื่อนไขในสมัยพุทธกาล ไม่เหมือนใน สมัยโรมัน หรือในจีน ที่ทำให้เกิด "ศาสดา" เช่นพระไครสต์หรือ เล่าจื้อ ขงจื้อ แต่พระองค์ เกิดอยู่ท่ามกลางความหลงผิดในแง่ความรู้ ในขณะนั้น เช่นลัทธิพระเวท ทั้งหลาย รวม ทั้งการแบ่งชั้นวรรณะ จึงเป็นการปฏิวัติกัน ทางความรู้ความคิดเป็นส่วนใหญ่ ก็คงเหมือน เช่นนักวิทยาศาสตร์หรือนักปรัชญาในยุคนี้ ที่ต้องมีการเรียนรู้วิชาทั้งหลายมาก่อน จึงจะปฏิวัติ หรือสร้างทฤษฎีใหม่ๆได้ ไม่งั้นการยอมรับก็ จะไม่เพรียบพร้อม กรณีของพระพุทธองค์ ถ้าย้อนศึกษาประสบการณ์ในอดีตแล้ว จะไม่มีข้อกังขาในสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ได้เลย เช่นยศฐาบันดาศักดิ์ หรือความร่ำรวยทั้งหลาย ที่สุดท้ายก็ต้องละ เพราะไม่เป็นความจริงที่ยั่งยืน หรือทำให้เกิดความ "หลุดพ้น" นั่นเอง ตัณหา อุปทาน และสุขในชีวิต คือความทุกข์ทั้งสิ้น จะพ้นความทุกข์ถึงขั้น "วิมุติ" นั้น ต้องเพื่อการละ ทั้งสิ้น ....เรื่องนี้ซับซ้อนจริงๆครับ ปัญญาที่ สะสมกันมาน้อยของพวกเราไม่พอ จำต้องอาศัย กุศลธรรม ที่ต้องสะสมกันต่อไปอีกนานครับ จึงจะเข้าใจ ..ขนาดเกิดมาในกาลที่พระพุทธศาสนา ยังปรากฏให้ศึกษากัน ..ก็ยังขยาดไม่ยอมรู้กันเลย
พูดหรือคิดกันเรื่องนี้แล้ว ...จะเหนื่อยเอาการจริงๆ แฮะ.......๕๕๕๕๕๕๕
โดย เพื่อนอาจารย์ [1 มี.ค. 2546 , 15:11:32 น
บนวัฒนธรรมไทยแบบเดิมๆในแง่ความงดงามนั้น ความเป็นส่วนตัวและส่วนรวมของครอบครัว มักแยกกันไม่ค่อยชัดเจนนัก หรือถือเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้
การมีความสัมพันธ์ในแง่เซ็กส์ จึงต้องมีความสำรวม ไม่สะท้อนกันด้วยอารมณ์กันได้อย่างเต็มที่นัก ที่ว่างทางสถาปัตยกรรมที่สร้างเพื่อการร่วมอาศัยกัน จึงควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้พอเหมาะพอควรได้บ้างนะ
แต่ในระยะหลังการออกแบบที่ว่างเปลี่ยนไป เน้นความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเหมือนอย่าง ของวัฒนธรรมตะวันตก ความเอื้ออาทรทางสังคม หรือเครือญาติก็ลดทอนลงไป มีการอยู่กินกันแบบตัวใครตัวมัน มากขึ้น เดี๋ยวนี้เราสร้างบ้านกันใหญ่โตแต่อยู่กันแค่ไม่กี่คน ความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติหรือครอบครัวก็ลดลงไป ความเป็นส่วนตัวก็มากขึ้นจนเกินเลย ในที่สุด สถาบันครอบครัวก็เหือดหายไป พร้อมสาเหตุอื่นๆ
สังคมที่เน้นด้านจิตวิญญาณแต่เดิมกำลังถูกทดแทน ด้วยการเน้นวัตถุนิยมมากขึ้น จนชักจะเป็นเรื่องของวิกฤติ ในระดับมหาภาค ขณะนี้พวกนิวเอชกำลังจะดึงเรื่อง เหล่านี้กลับคืนมา เพื่อลดวิกฤติทางครอบครัวและสังคมกัน
ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะได้หรือเปล่า แต่ก็หวังว่าน่าจะพยายาม เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความสมดุลป์ให้เกิดขึ้น รูปแบบสถาปัตยกรรมอาจกลับไปสู่อดีตได้ยาก แต่รูปแบบใหม่ที่เราคิดกัน ก็น่าคำนึงถึงรักษาคุณค่าเดิมๆที่งดงามไว้บ้าง นะครับ ..
สำหรับผมนั้นสนับสนุนเรื่องครอบครัว และเครือญาติมาก และชอบสถาปัตยกรรมแบบ เอื้ออาทรกัน จะเป็นระดับไหนๆก็เห็นด้วยทั้งนั้นครับ ..ยังรู้สึกนับถือเรื่องการจัดการเรื่องที่ว่าง ของคนไทยในอดีต ที่ใช้กันอย่าประหยัดและเป็น แบบพอเพียง และยังควบคุมพฤติกรรมอื่นๆได้อีกด้วย...ครับ
โดย เพื่อนอาจารย์ [22 ธ.ค. 2545 , 13:52:44 น.
ไม่ว่าท่านเป็นหญิงจริง หรือชายแท้ ขอคุยเรื่องนี้กันดังต่อไปนี้
เมื่อเช้านี้ได้ข่าวจากสื่อว่า ..พวกนักเรียนสมัยนี้เรียกร้อง อยากได้ครูประเภทสรวมเสื้อสายเดี่ยว อายุไม่เกิน ๒๕ เพราะหากเรียนกับครูแก่ๆ ก็จะเหมือนโดนตา-ยาย คอยตามมาหลอกหลอนกันอีกถึงโรงเรียน นี่เป็นการ เรียกร้องเรื่องเพศ ...ใช่ไหม?
อารมณ์ที่เกิด "อุปทาน" เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติทั้งหญิงทั้งชาย สำหรับคนในวัยเจริญพันธ์ คือ ผู้ยังมักฝักใฝ่อยู่กับ "ความเกิด" เพื่อการสืบต่อภพชาติ มากกว่าคนแก่ที่มักใฝ่กับ "ความดับ" ซึ่งก็เพื่อความเกิดอีกอยู่ดี ..แต่หากอยากตัดตอนวัฏฏะ หรือ การสืบต่อภพชาติเช่นนี้ ก็ต้องเจริญรอยตามคำสั่งสอน ขององค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระพุทธศาสนา
คำกล่าวจั่วหัวกระทู้เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าละอายแต่อย่างไรเลย นะครับ ..ปุถุชนก็เป็นเช่นนี้กันทั้งนั้นแล
ทีนี้ลองมาพิจารณาเพื่อการลดทอนเรื่องนี้ดูกันบ้าง ส่วนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น ทางพุทธศาสนาเตือน ให้ลองลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงให้น้อยๆหน่อย เพราะการบริโภคอาหารนั้นจะสัมพันธ์กับอารมณ์ ที่เกิดขึ้นของมนุษย์ โดยเฉพาะอุปทานในเรื่องกามารมณ์ หรืออารมณ์ทางเพศ ที่เกินเลยปกติตามธรรมชาติ มนุษย์นั้นต่างจากสัตว์ในเรื่องนี้มากทีเดียว เพราะมีจิตที่ใหญ่โตกว่าสัตว์ เลยไม่ค่อยบันยี้บันยัง การสร้างอารมณ์ต่างๆเท่าไรนัก .....
ต่อไปนี้ค้นหามาจากเรื่องราวที่บันทึกในพระไตรปิฏกฯ และการอธิบายของผู้รู้ต่างๆ ..นะครับ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปาทานเป็นไฉน?
วัตถุแห่งความยึดของบุคคลนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประการ เรียกว่า อุปทาน
๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม
๒. ทิฏฐุปาทาน ความยึดมั่นในทิฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรตหรือพิธีรีตองต่าง ๆ
๔. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในตัวตน
แต่..จะขอเน้นเฉพาะ กามุปาทาน ไม่งั้นจะยาว จนเบื่อแล้วไม่อยากอ่าน เลยยังไม่รู้อยู่อีกต่อไป
อุปาทาน
อธิบายเพิ่มเติมโดยท่านอาจารย์ วศิน อินทสระ เน้นย้ำเป็นดังนี้..
โดยทั่วไปชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความยึดมั่น เร่าร้อนอยู่ด้วยความต้องการ อันไม่มีขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด ถูกความอยากเผาลนให้เร่าร้อนอยู่ภายใน แม้สิ่งที่เขาเข้าใจว่าเป็นความสุขหรือความสนุกสนานเพลิดเพลิน ก็มีความทุกข์เจือปนอยู่ แต่มนุษย์ก็ยังต้องการ
๑. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม
กามแปลได้ ๒ อย่าง คือ ความใคร่อย่างหนึ่ง สิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนาอย่างหนึ่ง อย่างหลังท่านเรียกว่า วัตถุกาม อย่างแรกเรียกว่า กิเลสกาม
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ นั่นเองเป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งแห่งกามเป็นสิ่งเร้าให้เกิดความ ใคร่ส่วนตัว ความใคร่เองท่านเรียกว่า กิเลสกาม
มนุษย์ทั้งหลายได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของกามทั้ง ๒ นี้ อย่างไร เห็น ๆ กันอยู่แล้ว มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายยึดมั่นอยู่ว่า ความสุข ของเขาจะมีได้ก็ต้องอาศัยกาม คือต้องได้เห็นรูป ได้ฟังเสียง ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้นรสและได้ถูกต้องสิ่งที่น่าใคร่iน่าปรารถนาน่าพอใจ
ปราศจากสิ่งเหล่านี้เสียแล้วเขาจะมีความสุขไม่ได้ แม้ตัวความใคร่เอง ซึ่งมีสภาพเป็นสิ่งเร่าร้อนกระวนกระวาย ทำปัญญาให้มืดมน ทำจิต ให้ตกต่ำ เขาก็ยังเข้าใจผิดไปว่าเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขของเขา ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ เขาไม่เคยได้รับความสุขใดที่เหนือกว่านี้หรือแปลกไปกว่านี้
เช่นความสุขอันเกิดจากความสงบ หรือเกิดจากคุณธรรม เหมือนเด็ก ที่พอใจแต่ในความสุขอันเกิดจากการเล่นทรายหรือโคลนตม แต่พอเขา เป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็เลิกพอใจในความสุขอย่างนั้น แต่พอใจในความสุข ที่สะอาดกว่า ประณีตกว่า
เขาจะไปจับต้องทรายหรือโคลนตมก็ด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเกี่ยวกับการงานเป็นต้น แล้วก็รีบล้างมือ ล้างตัวให้สะอาด
ในทำนองเดียวกัน คนที่จิตใจยังเยาว์ยังไม่ได้รับการพัฒนาทางจิตใจ ย่อมพอใจหมกมุ่นมัวเมาอยู่ในกาม ด้วยความสำคัญผิดและยึดมั่นอยู่ว่า "กามนี้เท่านั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข" แม้ถูกหนามแห่งกามทิ่มแทงเอา ถูกไฟคือกามเผาลนเอาก็ยังไม่รู้สึก
สำคัญผิดไปอีกว่าเป็นเพราะเหตุอื่นและโทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่แท้เป็นเรื่อง ของความใคร่ในกามคุณของตนเอง เป็นเรื่องความยึดมั่นของตนเอง
ตัวอย่างเช่น ชายหนุ่มรักหญิงสาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นความใคร่ในกามคุณ เสียมากกว่าความรักแท้รักบริสุทธิ์ แต่เขายังเข้าใจผิดว่าความรักของเขาบริสุทธิ์ เขารักด้วยต้องการเชยชม รูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะทางกายที่จะพึงได้จากหญิงนั้น
แม้จะมีเรื่องคุณธรรมและความเห็นอกเห็นใจเจืออยู่ด้วยก็ตาม ข้อพิสูจน์ว่า เขารักใคร่ด้วยอำนาจกามคุณก็คือ ถ้าหญิงนั้นไปเกี่ยวข้องกับชายอื่นในแง่ เสน่หา เขาจะโกรธมาก อาจทำลายชีวิตของหญิงนั้นเสียก็ได้
นี่หรือรักแท้ รักบริสุทธิ์ ความจริงมันคือกามคุณที่เขาพากันเรียกเสียใหม่ว่า ความรัก เพราะความรักของเขาเต็มไปด้วยความยึดมั่น หวงแหน คับแค้น เร่าร้อน ริษยาและทำให้เกิดโทสะง่ายที่สุด ในกรณีที่หญิงสาวรักชายหนุ่ม ก็เหมือนกัน
ในรายที่แต่งงานกัน จนมีลูกด้วยกันแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปรักคนอื่นอีก ก็ถือเป็นเรื่องเดือดร้อนมาก ความริษยา ความชิงชัง ความอาฆาตเคียดแค้น เกิดขึ้นอย่างสุดจะพรรณาได้ จนถึงกับทำร้าย ทุบตีและประหารชีวิตของ ฝ่ายหนึ่งเสียก็มี
ความเคียดแค้นเหล่านั้น สืบเนื่องมาจากความใคร่ ความยึดมั่นในกาม ข้อพิสูจน์ก็คือ ในรายที่เรามิได้มีความใคร่ ความยึดมั่นในกามก็ไม่ทำให้ เราเดือดร้อนได้ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะไปทำอะไร อย่างไร กับใครที่ไหน
การทำการแก้แค้น สร้างเวรสร้างกรรมจนเขาเสียชีวิตและตนเองต้องเป็น อาชญากรนั้นเป็นเกียรติยศนักหรือ ? ลูกของตนซึ่งมีพ่อหรือแม่ เป็น อาชญากรนั้นเป็นเกียรติยศนักหรือ ? การต้องไปติดคุกติดตาราง ถึง ๒๐ - ๓๐ ปี นั้นเป็นเกียรติหรือ ?
ถ้ามองชีวิตในระยะยาวจะเห็นว่าไม่ควรทำ เมื่อเหตุกราณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นก็ควร จะละอุปาทานในกามเสีย และถือเป็นโอกาสปลีกตนออกจากกาม ซึ่งเป็นของร้อน เข้าหาความสงบเย็นในธรรม หรือการบำเพ็ญคุณงามความดีให้สูงขึ้นไปจน ใจพ้นจากความยึดมั่นและจะเห็นคุณค่าของการทำอย่างนี้ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม กามคุณนี่แหละ คือเสน่ห์ของโลก เพราะมันเป็นเหยื่อของโลก (โลกามิส) ทำนองเดียวกับเหยื่อที่ติดอยู่กับเบ็ดหุ้มเบ็ดอยู่ นั้นแหละคือ เสน่ห์ของเบ็ด ปราศจากเหยื่อแล้วจะไม่มีปลาตัวใดติดเบ็ด
เพราะเหยื่อปลาจึงติดเบ็ด ได้กินเหยื่อเพียงนิดเดียว กลืนเบ็ดเข้าไปด้วย ปลาโง่ จึงถูกพรานเบ็ดลากไปได้ตามปรารถนา และวัดขึ้นบกต้องทุรน ทุราย ทุกข์ทรมานไปจนกว่าจะสิ้นชีวิตและเป็นเหยื่อของพรานเบ็ดนั่นเอง
ลองนึกดูเถิดว่าคนในโลกที่พอใจติดเหยื่อของโลกแล้วต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ใน โลกนี้มีประมาณเท่าใด น่าสงสารเพียงใด น่าช่วยเหลือเพียงใด อย่างน้อย ช่วยให้เขาได้รู้ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วย
ขอให้กินเหยื่อด้วยความระมัดระวัง ถ้าฉลาดขึ้นก็จะกินแต่เหยื่อได้โดยไม่ติดเบ็ด ทำให้พรานเบ็ดต้องเก้อ ยกเบ็ดขึ้นดูบ่อย ๆ เห็นแต่เบ็ด เหยื่อหายไป
แต่จะมีใครสักกี่คนเล่าในโลกนี้ ที่เป็นเช่นปลาฉลาด รอบรู้ และที่ฉลาดขึ้นไปกว่านั้น ก็สามารถรู้ได้ว่าเหยื่ออันใดมีเบ็ดเหยื่ออันใดไม่มีเบ็ด เลือกกินเฉพาะเหยื่อที่ไม่มีเบ็ด ก็จะสามารถรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตลอด
ความกำหนัดในกามเป็นอาสวะ (สิ่งหมักดอง) อย่างหนึ่ง ซึ่งหมักหมมอยู่ใน จิตสันดานของสัตว์โลก ยากที่จะละหรือปลดเปลื้องได้ ทั้งนี้เพราะมีความสุข เล็ก ๆ น้อย ๆ คอยเป็นเหยื่อล่อให้หลง เป็นหลุมพรางให้ก้าวขึ้นไป เมื่อติด หล่มคือกามแล้ว ก็ยากที่จะถอนตนขึ้นมาแล้วก้าวให้พ้นไปได้
สำหรับผู้สำเนียกรู้ถึงโทษของกามแล้วพยายามออกจากกาม แต่ยังออกไม่ได้ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นพันธกรณีเกี่ยวกับความรับผิดชอบ หรือกำลังใจยัง ไม่พอเป็นต้น ก็ไม่น่าวิตก เพราะถึงอย่างไรคนพวกนี้ จะต้องออกไปได้ วันหนึ่งเมื่อพันธกรณีสิ้นสุดลง
หรืออบรมจิตและปัญญาจนกำลังใจและกำลังปัญญาเพียงพอแล้ว แต่คนที่ไม่เคยสำเนียกรู้ถึงโทษของกามเลย ศึกษาเรียนรู้แต่เรื่องคุณของกาม ได้ยินได้ฟังแต่กถาอันเป็นเหตุให้ความกระหายในกามเริงแรงขึ้น มี กิจกรรมอันยั่วยุกามารมณ์อยู่ไม่เว้นวัน
การศึกษา การทำงาน และการเกี่ยวข้องในสังคมล้วนมุ่งเอาความสำเร็จ ทางกามเป็นผลที่มุ่งหมาย ในฐานะเป็นความสำเร็จของชีวิต ถ้าอย่างนี้แล้ว เขาจะออกจากกามได้อย่างไร คงจะต้องยึดมั่นเอากามารมณ์เป็นจุดหมาย ปลายทางของชีวิตเป็นแน่แท้
ในขณะที่กำลังแสวงหาอยู่นั้น ดวงจิตของเขาก็จะถูกเฆี่ยนด้วยแส้ คือ ความผิดหวัง ระทมขมขื่น โชกด้วยน้ำตาครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงกระนั้น เขาก็ยังคงกระเสือกกระสน แสวงหากามอยู่นั่นเอง เพราะอานุภาพของ กามุปาทาน คือยึดมั่นว่ากามนี่แหละเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขอันแท้จริง
กามในฐานะเป็นบ่วงที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "กามปาสะ" หรือ กามบาสนั้น มีลักษณะคล้องและผูกมัดสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพให้ เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏแห่งกามภพนี้
การผูกมัด มีลักษณะที่ผูกหย่อน ๆ ก็จริง แต่แก้ได้ยากมากทีเดียว ผู้ต้องการแก้จะต้องใช้กำลังใจมาก ใช้กำลังสมาธิอย่างแรง เพราะ แก้ไม่ได้ด้วยวิธีธรรมดา เหมือนปมบางอย่าง ที่แก้ได้ยาก มันยุ่งไปหมด ต้องใช้ดาบฟัน ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกปมชนิดนี้ว่า Gordian Knot* อย่างที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชทรงทำ
กามคุณในฐานะเป็นพวงดอกไม้ของมาร มารคือสิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี และทำให้เสียคนได้ง่าย มารอาศัยพวงดอกไม้ทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและสัมผัสทางกายนี่แหละเที่ยวยั่วยวนมนุษย์และสัตว์ในกามโลกทั้งมวล ให้หลงเพลิดเพลินเดินเข้าไปสู่หลุมพรางของตนแล้วกักขังห้ำหั่นย่ำยีเอาได้ ตามใจปรารถนา
การควบคุมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การทำจิตให้มั่นคงด้วยกำลัง สมาธิ และการพัฒนาปัญญาให้รุ่งเรือง จนสามารถมองเห็นโทษของกามคุณ อย่างชัดเจนอยู่เสมอ ๆ ทางนี้แหละจะสามารถเอาชนะกามกิเลสได้ไม่กลับ มาเวียนว่ายตายเกิดในกามโลกนี้อีก
ความเร่าร้อนทางใจอันมีกามคุณเป็นเหตุนั้น ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ในที่ทั่วไป ทั้งที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและเกิดแก่ผู้อื่น น่าจะเป็นสังเวควัตถุ (เรื่องชวนสังเวชสลดจิต) เพื่อถอนใจออกไปจากกามุปาทานได้
สำหรับผู้มีปัญญาจักษุดำเนินชีวิตอยู่ในทางสว่าง แต่สำหรับผู้ไร้ปัญญา จักษุเดินอยู่ในทางมืดและไร้ประสบกราณ์ก็คงมองไม่เห็นอะไรอยู่นั่นเอง
*Gordian Kno เล่ากันว่าเป็นปมที่กษัตริย์กอรดิอุส (Gordius) แห่งไฟรเกีย (Phrygia) ผูกไว้ในสมัยโบราณ กล่าวกันว่าใครแก้ปมนี้ได้จะได้เป็นใหญ่ในเอเชีย อเลกซานเดอร์มหาราช ทรงใช้ดาบของพระองค์ตัดปมนี้
ดังนั้นคำว่าตัด "กอรเดียน น้อท" จึงกลายเป็นสำนวนหมายความว่า การแก้ปัญหายุ่งยากโดยฉับพลันด้วยการใช้กำลัง อธิบายนี้จาก พจนานุกรมอังกฤษฉบับของ A.S. Hornby หน้า ๕๓๙
คัดลอกมาโดยคุณ : mayrin [ 13 ธ.ค. 2545 / 14:50:16 น. ] ในเว็บบอร์ดห้องสมุดของพันทิพย์ ผมเลยไม่ทราบว่าอยู่ในหนังสือเล่มไหนของท่าน
ผมขอแถมท้ายเรื่องที่พระอานนท์จดจำพระพุทธพจน์ ดังอ้างบันทึกไว้พระไตรปิฎกไว้ด้วยนะครับ ..จะได้ขลัง ขึ้นอีกหน่อย แล้วอุปทานของพวกเราก็จะลดลงได้บ้าง เมื่อรู้เหตุปัจจัยของการเกิดอุปทานในเรื่องกาม
(4) เล่มที่ ๒o
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระ ผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าฯ
[๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนรูปสตรีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ฯ
[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนเสียงสตรีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ ฯ
[๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนกลิ่นสตรีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลิ่นสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ฯ
[๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนรสสตรีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รสสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ฯ
[๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่เหมือนโผฏฐัพพะของสตรีเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โผฏฐัพพะสตรีย่อมครอบงำจิตของบุรุษตั้งอยู่ฯ
[๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่เหมือนรูปบุรุษเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่ฯ
[๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่เหมือนเสียงบุรุษเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่ฯ
[๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่เหมือนกลิ่นบุรุษเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลิ่นบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่ฯ
[๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่เหมือนรสบุรุษเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย รสบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่ฯ
[๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่เหมือนโผฏฐัพพะบุรุษเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย โผฏฐัพพะของบุรุษย่อมครอบงำจิตของสตรีตั้งอยู่ ฯ
จบวรรคที่ ๑
อ่านมาจนจบ ก็ยังไม่อยากปลงใจอยู่ดีนะครับ รสกามใครเคยได้ยิน หรือเคยลองลิ้มแล้ว ก็ยากที่จะลืมได้ จริงป่าว?
โดย เพื่อนอาจารย์ [23 ธ.ค. 2545 , 12:46:06 น
ปกติมนุษย์เรานั้นมักรู้ในสิ่งที่เห็นและสัมผัสในแง่ของมิติทั่วไป ที่เราเองรับรู้จากประสบการณ์เท่านั้น น่าจะยังมีความรู้ในมิติอื่นๆ ที่เราอาจยังไม่เคยสัมผัส หรือยังไม่เจอประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะ คนเรานั้นมีความต่างจากสัตว์ที่มีจิตซึ่งใหญ่โตกว่า มีความ หลากหลายกว่า และสามารพัฒนาการได้สูงกว่าอีกด้วย ถ้าคิด จะพัฒนากัน
เช่น ความเป็นภิกษุในสาวกของพุทธศาสนา เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ผู้ปฏิบัติตนจะพบความสุขที่เหนือจากความเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเรื่องการอบรมเพื่อระงับอุปทานในเรื่องกามารมณ์ หรือการมีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ที่มนุษย์เองสามารถควบคุม สิ่งเหล่านี้ได้ เพราะได้พบปัญญาที่พึงได้รับเป็นลักษณะของวิมุตติ หรือ "ความหลุดพ้น" เช่นพระสุปันโนหลายรูปในเมืองไทย ซึ่งมีมากในการครองตนลักษณะนี้ ..เราจึงไม่ควรปฏิเสธ ในประสบการณ์ที่เรายังไม่เคยลองรู้ในสิ่งเหล่านี้
ตัวอย่างเช่นเมื่อวานนี้ ผมได้หนังชีวิตดี (ในรศนิยมผม) มาเรื่องหนึ่งชื่อ the simple life of Noah Dearborn มีดาราผิวหมึก ที่ผมชอบคือ Sidney Poitier แสดงนำ เป็นเรื่องราวของคนที่ใช้ ชีวิตแสนเรียบง่าย ทำงานในสิ่งที่ตนชอบและรัก มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่นเสมอ ทำให้มีชีวิตที่ยืนยาวและดูหนุ่มกว่าวัย เพราะตัดเรื่องอื่นๆที่ไร้สาระออกจากการเป็นคนเช่นปกติธรรมดา รวมทั้งเรื่องเซ็กส์ คล้ายชีวิตของภิกษุที่มุ่งแต่การเจริญจิตและการ ภาวนาเป็นสำคัญ อาจเป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิตในมิติอื่น ที่เราอาจมองข้ามคุณค่าดีๆของมันไป ดังเช่นคุณค่าของสังคมชนบท ในเรื่องภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ที่สังคมสมัยใหม่พยายามตามไป เบียดเบียนให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่คนสมัยใหม่เองก็ไม่รู้จริงในสิ่งที่ตนทำ โดยเฉพาะนักพัฒนาสมัยใหม่ทั้งหลาย ลองหาหนังเรื่องนี้มาดูกันนะครับ ..แต่ไม่รับรองว่าพวกคุณจะอิน เหมือนผมหรือป่าว?
ผมเองนั้นเชื่อว่า การดำเนินชีวิตที่มีความสุขจริงนั้น คือ ความเป็นธรรมดาและเรียบง่าย และควรไปไกลเกินมิติที่เรา เคยรับรู้ได้จากสังคมปัจจุบัน ซึ่งมักเป็นสิ่งเรากลัวหรือไม่กล้าลอง เราเลยง่วนอยู่กับสิ่งที่เคยชินและอาจทำแต่เรื่องไร้สาระมากเกินไป คือทั้งที่รู้และทำอะไรได้มากมาย แต่ก็ไม่รู้จริงก็เลยทำอะไรไม่ได้ผลดีมากนัก เช่น มัวเอาแต่ตอแหลเล่นลิ้นกันในเรื่องพิธีการพีธกรรมบ้าๆบอๆ ซึ่งเห็นกันเกลื่อนกลาดในสังคมปัจจุบัน เลยไม่มีเวลาเจริญปัญญากันเต็มที่ การคิดทำงานสร้างสรรค์จึงไม่ประสบผลในความเป็นจริงเท่าไรนัก
การออกแบบสถาปัตยกรรมหรือทำอะไรให้ดีให้งามนั้น เหนืออื่นใด จิตใจของสถาปนิกจะต้องมีความสมบูรณ์ถูกต้องในเรื่องความดีงามก่อน คือต้องมีจิตใจที่ดีมีความเอื้อาทรในตัวเองก่อน จึงจะทำให้การดำเนินชีวิตมีได้อย่างมีความสุข แล้วก็จะถึงการผลิตงานการต่างๆออกมาอย่างมีคุณค่าได้จริง ซึ่งการประเมินคุณค่างานในลักษณะนี้ ต้องไปไกลเกินมิติที่เราพึงรับรับรู้ได้จากสังคมที่เราพบเห็น หรือต่างบรรทัดฐานกันในปัจจุบัน ซึ่งผมว่าส่วนมากที่รับรู้กันในปัจจุบันนั้น เป็นบรรทัดฐานสำหรับของเทียม ไม่เป็นจริงแทบทั้งสิ้น
ว่างๆลองทบทวนการดำเนินชีวิต ที่ต่างจากมิติที่เรากำลังเป็นกันอยู่บ้างนะ บางทีเราอาจได้พบปัญญาในการรู้ทุกข์ เห็นทุกข์ และสามารถแก้ทุกข์ ทั้งหลายได้ในที่สุดก็ได้นะครับ .ขอให้ถือเสียว่า.เป็นการฝึก การพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ในอีกระดับหนึ่งแล้วกันนะ ... แหมพล่ามเสียยาวเลย
โดย ขออีกที [25 ธ.ค. 2545 , 12:27:53 น.]
ขอฝอยต่ออีกหน่อยนะ เพราะนับถือคำกล่าวของครูประชาบาล ที่ตอบได้รวบรัดและได้สาระดีแท้
เผอิญเมื่อคืนอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการศึกษา เพราะโดนบังคับแบบยินยอมให้ไปช่วยระดมความคิดกันในเร็วๆนี้
ในหนังสือพิมพ์แจกเรื่อง การศึกษาฉบับง่าย ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฏกฯ มีความตอนหนึ่ง ท่านพูดเรื่อง "กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา" มีสาระสอดคล้องกับที่ครูประชาบาลกล่าวไว้ข้างต้น
การกินนั้นต้องมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ภายนอก (คือศีลหรือพฤติกรรม..สิกขาที่ ๑) เพราะ ถ้าไม่สัมพันธ์กันก็เกิดโทษจากการกิน หรือการเสพ ใดๆรวมทั้งเรื่องเพศด้วย
ในขณะที่กิน ยังขึ้นอยู่กับจิตใจ (หรือสมาธิที่เป็นสิกขาที่ ๒) คือจะมีความพอใจหรือไม่พอใจ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์และอื่นๆต่างๆนาๆ สรุปก็คือกินไปต้องทำโยนิโสมนสิการ หรือคิดไตร่ตรองตามไปด้วย เพื่อให้เกิดปัญญารู้ ได้ในการกิน (คือเป็นสิกขาที่ ๓) ว่าควรกินอย่างมี ความสุขนั้นเป็นอย่างไร ตรงตามความมุ่งหมาย เพื่อให้มีสุขภาพดี หากถ้าไม่คิด กินเพื่อสนองความพอใจหรืออารมณ์อื่น ความพอใจหรือความสุขก็เป็นไปอีกแบบหนึ่ง ตัวปัญญารู้จึงมาเป็นเหตุปัจจัย หรือนำทางให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้ในการกินไปด้วย
ด้วยสาระที่ย่นย่อมานี้ พอจะสรุปได้ว่า การศึกษา คือการเรียนรู้ชีวิตที่ต้องเป็นไตรสิกขา ทั้งสามด้าน คือ ศีลหรือพฤติกรรม สมาธิหรือจิตใจที่ผ่องใส นำไปสู่....ปัญญา คือ การรู้ความจริง ที่แสนเป็นธรรมดา และเป็นธรรมชาติที่เป็นอยู่แล้วเช่นนั้น
การเรียนรู้วิชาอะไรๆนั้น ต้องเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตที่ควรตรงกับความเป็นจริง เป็น ธรรมดา และเป็นตามธรรมชาติ แนวคิดนี้ พวกฝรั่งกำลังปรับปรุงกันในเรื่องการศึกษา โดยเฉพาะวิธีการสอนของครู ซึ่งท่านเจ้าคุณอ้างไว้ว่าเป็นงานของพระพุทธเจ้า การสอนคือ การช่วยให้ศึกษา (ให้ครบไตรสิกขา) เพื่อสร้าง ทางชีวิต (หรือมรรค) ในการดำเนินชีวิตของเรา ทุกๆคน ครูต้องสอนเด็กให้เรียนรู้ครบไตรสิกขา เมื่อเด็กรู้การกินนั้นควรเป็นอย่างไร ครั้นพอกินอยู่เป็นแล้ว..ก็คิดเป็นเอง และคิดถูกตามความเป็นจริง เป็นธรรมดา และเป็นตามธรรมชาตินั่นเอง ที่สำคัญคือผู้สอนต้องเลียนแบบพระพุทธเจ้า ให้ได้ก่อน จึงจะทำงานเยี่ยงพระพุทธเจ้าได้ครับ
แหม..ผมเกือบจบไม่ลงแล้วซินะ
โดย ขออีกที [5 ม.ค. 2546 , 09:47:16 น.]
คำกล่าวข้างต้น น่าคิดน่านับถือครับ ผมขอคุยเพิ่มดังนี้ ...นะครับ
ความสวยนั้น เป็นเรื่องการปรุงแต่งที่เกิดในจิต ความสวยตามหลักธรรมนั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้อง เกิดจากจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส จิตที่เกิดโดยการ ปฏิบัติในทางธรรม เกิดรู้จากปัญญาในสิ่ง ที่ตรงความเป็นจริง คือ มีลักษณะของไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา บังคับ บัญชาเอาเองไม่ได้ เช่นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
แต่ปรมัตต์ธรรมเช่นนี้ เอามาใช้ทางสมมติบัญญัติ อาจไม่เหมาะสม หากจะหวังโลภที่คะแนนจากครู นอกจากแปลงความสวยให้ตรงกับที่ครูรู้ครูพอใจ ครูได้ความสุขปิติ ถ้าทำให้ครูเกิดปัญญารู้ทุกข์ได้อีก การสนองความสวยนั้น ก็เป็นกุศลกับครูและผู้อื่น
เราทุกคนมักแสวงหาความบริสุทธิ์ผ่องใสของจิต กันทุกคน แต่เผอิญเราต่างก็ไม่รู้ ไม่เชื่อ และไม่มีปัญญา พอจะเข้าใจความจริงในสิ่งที่จะทำให้จิตเราเกิดความ บริสุทธิ์และผ่องใส หลายคนจึงยังวนเวียนค้นหามัน จากเหตุปัจจัยที่มีความโลภ ความโกรธและความหลง เพราะไม่เชื่อว่าการสร้างสรรค์ความสวยที่ปราศจาก เหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น ไม่มี เพราะติดที่ความเคยชินมา นานมีมาหลายภพหลายชาติที่ความเป็นมนุษย์เรานั้น เวียนว่ายตายเกิดกันอยู่
สิ่งที่เราเรียนรู้กันทางโลก จึงเป็นเรื่องการปรุงแต่ง เป็นเรื่องของสมมติบัญญัติทั้งสิ้น Design Fundamental ยุคนี้สมมติและบัญญัติกันเป็นยังไง ก็คงต้องถือความสวยจาก หลักเกณฑ์ที่เรายึดกันดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจหรือสื่อ ถึงกันได้ระหว่างครูและศิษย์ ส่วนจะก้าวกระโดดต่อไปนั้น เป็นเรื่องของการแสวงหาร่วมกัน ถ้าเห็นพ้องกันก็ถือว่า เป็นกัลยาณมิตรแก่กันและกัน ยิ่งถ้าเป็นไปในแนวทาง ของกุศลธรรม ก็ช่วยพัฒนาให้จิตของแต่ละคนเกิดความ เจริญในความบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งขึ้น ผลมันจะสนองใน สิ่งที่เป็นคุณแก่ชีวิตมากมาย ไม่ใช่ความสวยที่เราคิดกัน อยู่ขณะนั้น แต่มันเป็นความสวยที่ครอบคลุมไปทุกส่วน ของชีวิตที่เรากำลังดำเนินอยู่
เพราะวิทยาศาสตร์ใหม่กำลังก้าวไปในความรู้ของ ความจริงหรือความเป็นองค์รวม ความเชื่อมโยงกัน ของทุกสรรพสิ่งที่เราสมมติเป็นชีวิตหรือจักรวาล จึงมีคำกล่าวที่ว่า เด็ดดอกไม้กระทบถึงดวงดาวบน ท้องฟ้า ความสั่นสะเทือนที่เกิดจากผีเสื้อขยับปีกใน สถานที่หนึ่ง อาจโยงไปถึงความสะเทือนของแผ่นดิน ในสถานที่แห่งอื่นๆ เป็นต้น คตินี้ให้ข้อเตือนใจที่ว่า ถ้าใครคนหนึ่งทำชั่ว สร้างสิ่งเลวเป็นอกุศลแล้ว ผล เสียก็จะเกิดแผ่ขยายไปทั่ว รวมกันมากเข้าก็เป็นหายนะ ให้กับชีวิตและจักรวาลของเราทุกคนได้ ตรงข้ามถ้า ทำดี เป็นกุศล ผลดีก็จะเกิดขยายไปทั่วเช่นกัน แบบหลัง เชื่อว่าน่าทำให้ชีวิตและจักรวาลของเราเกิดสันติสุข มีอายุการคงอยู่และสมดุลป์ยืนยาวขึ้นอีกหน่อย ใน ทางสมมติเขาจัดไว้ในชั้นของสวรรค์แดนสุขาวดี ไม่ใช่แดนนรก ในสถานที่ซึ่งมีเวลาของสรรพสิ่งใน แต่ละแห่งต่างกัน
ดังนั้น บนความสัมพันธ์ของการเรียนรู้ระหว่างครูกับศิษย์ ก็ต้องสร้างความเป็นกุศลกันไว้เรื่อยๆตั้งแต่แรกพบจนต้อง จากกัน ความสวยก็จะงอกงามกันไปเรื่อยๆ คือเกิดความ บริสุทธิ์และผ่องใสของจิตใจในแต่ละคนนั่นเอง ผมว่า.. นี่เป็นความสวยแบบยั่งยืนถาวร ไม่ใช่ความสวยจากการ ปรุงแต่งชั่วครู่ชั่วยาม เพื่อได้คะแนน A แค่นั้น เพราะ A เป็นเรื่องของบัญญัติสมมติขั้นต่ำเอามากๆ ยิ่งถ้าเป็นไป เพื่อความโลภ ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะไม่เป็นความรู้ที่ได้เพื่อ สร้างปัญญาให้เราๆรู้ทุกข์ได้เลยในชาติภพนี้
สรุปก็ต้องบอกว่า เรียนเอาใจเพื่อตัวเราและก็เพื่อครูด้วย จิตเรานั้นสามารถเนรมิตให้เกิดได้ผลทั้งสองอย่าง ไม่ จำเป็นต้องเป็นอย่างเดียวเสมอไป สร้างกุศลนั้นช่วย ทุกคนให้ก้าวพ้นโลกสมมติไปได้ ส่วนอกุศลช่วยใครๆ ไม่ได้เลย ทั้งตัวเราและครู มันจะดึงลงเหวลงนรกกัน ในที่สุดเท่านั้นเอง
อย่าถามนะ...สูตรหรือวิธีทำดังว่าที่ชัดๆนั้นเป็นอย่างไร เพราะสัจจธรรมในเรื่องนี้นั้น เป็นเรื่องทางใครทางมัน จริงๆ แม้จะมีแนวทางที่มีผู้ค้นพบให้มาแล้วก็ตาม ..แต่ใคร จะไปเชื่อ...มรรคแปดคืออะไร ทุกข์คืออะไร ก็ยังไม่กันรู้เลย ผมเอง..ก็ยังไม่รู้ ..แค่พล่ามมาให้งงๆกัน ก็แค่นั้นเอง
โดย เพื่อนอาจารย์ [31 ธ.ค. 2545 , 12:54:14 น.]
ผมนั้น..เหมือนฟ้าลิขิต ให้ต้องไปใช้ชีวิต ที่บ้านนอกตั้งแต่เด็ก เรียนรู้ชีวิตจากการฟังคนพูดคุย กัน..ส่วนมากก็ในร้านกาแฟ เพราะเกิดใน ยุคข้อมูลที่แสนหายาก หนังสือมีน้อยและก็ หาอ่านได้ยากด้วย อีกทั้งต้องอยู่บ้านที่ตรงข้าม กับโรงหนังแหล่งบันเทิงเยี่ยมของคนสมัยนั้นและที่นั่น เลยดูหนังกันตะบันแทบทุกวันแทนการอ่านนิยาย หลายสิ่งหลายอย่างเรียนรู้และเลียนแบบพระเอกในหนัง เฉพาะการฟังคนแก่วัยคุยกันหรือทะเลาะกันนั้น ช่วยให้รู้ประสบการณ์ของคนสูงวัย เอามาปรับมาแต่ง มาเตือนชีวิตที่จะพึงอาจพบพานในภายภาคหน้า จึงทำให้ต้องกลายเป็นนิสัยคนช่างคิดช่างฝัน ช่างฟังและแน่นอนช่างพูดเมื่อมีโอกาสเช่นนี้ นี่ก็ยังขอบคุณสวรรค์ ที่กำหนดให้มีหน้าที่เป็นครู เลยสนุกใหญ่เพราะได้พูดสมใจ ใครจะฟังนั้น ไม่ถือว่าสำคัญที่ทำให้ต้องหยุดพูด ครั้นเมื่อแก่วัย ก็คงต้องจำยอมหยุดบ้าง แต่ก็หันมาเขียนแบบคุยให้ ตัวเองฟังบ้าง คิดเอาว่าเป็นแบบนี้แล้ว คงลดความรำคาญกับลูกและคนอื่นๆได้บ้าง
ต้องขอบคุณ (สวรรค์) ที่มีเท็คโนโลยีเว็บบอร์ด เกิดขึ้นขณะนี้ ดำรงความเป็นร้านกาแฟให้ได้ มีโอกาศฟังคนคุยกัน ในเรื่องที่ต้องการจะฟัง เห็นช่องว่างที่ทำให้แคบลงได้ระหว่างคนต่างวัย เป็นการบรรเทาในปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนในสังคม มีปฏิสัมพันธ์กันน้อยได้บ้าง โดยเฉพาะระหว่าง ศิษย์-อาจารย์ คนแก่-คนหนุ่ม ได้เป็นเยี่ยงกระจก หนึ่งที่เห็นสภาพสังคมไทยที่เป็นอยู่ขณะนี้ แม้เป็นกระจกบานเล็ก แต่ก็ชัดในการมองบางสิ่ง ที่แต่ละคนสนใจ เรียนรู้อะไรต่างๆในชีวิต ที่เหลืออยู่จากคนอื่นได้ด้วย
โลกของการเรียนรู้อะไรต่างๆนั้นกำลังแปรรูป มหาวิทยาลัยกำลังไม่เป็นแหล่งสถิตวิชาแห่งเดียว แต่จะกลายเป็นความหลากหลายบนโลกของอินเทอร์เนท
ผมจึงอยากปรึกษาตรวจสอบกันกับคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่..ใช่หรือไม่? ทัศนะและความรอบรู้ของคนยุคใหม่จะเปลี่ยน ไปจากคนรุ่นเดิมอย่างผม ที่เคยเรียนรู้อะไร จากร้านกาแฟที่บ้านนอก..หรือไม่?
โลกของอินเทอร์เนท จึงเป็นฝันของผมที่อยาก สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างอิสระต่างจาก มหาวิทยาลัย ที่กำลังจะกลายเป็นตลาดการค้าเข้าไปทุกทีขณะนี้...นะครับ
เรียนรู้กันจากประสบการณ์ของกันและกันแล้ว ความต่างวัยต่างทิฐฐิกัน ก็จะลดน้อยหรือใกล้ชิดกันมากเข้า จนความแก่ความหนุ่มหรือความต่างวัย หมดสิ้นไปในสังคมไทย เมื่อนั้นเวลาก็จะมีความหมายน้อยลง.... จริงไหมครับท่าน?
โดย เพื่อนอาจารย์ [15 ต.ค. 2545 , 11:52:08 น.]