วันจันทร์, ตุลาคม 18, 2564

 เกี่ยวกับแนวคิดสถาปัตยกรรมหลังทันสมัย..

Post-Modern theory of Architecture

ในราวปี 1960s เกิดความข้องใจและไม่พอใจกระแสของความทันสมัยโดยเฉพาะในทางแถบอเมริกาเหนือ ที่สะท้อนออกมาเป็นหนังสือสองเล่ม คือ The Death and Life of Great American Cities (1961) เขียนโดย Jane Jacobs และ Complexity and Contradiction in Architecture (1966) (งานเขียนและวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ Robert Venturi) นาง Jacobs ชี้ให้เห็นผลงานการออกแบบที่ล้มเหลวในการเชื่อมโยงกับชุมชนในรูปลักษณ์ของความเพ้อฝันของอาคารยุคทันสมัย ที่ซึ่ง Venturi วิจารณ์ว่าไร้ซึ่งความหมาย เพราะถูกออกแบบด้วยการเน้นถึงความเรียบง่าย และบริสุทธ์จนขาดความซับซ้อนที่ตรงกันข้ามกับคุณค่าเดิมที่มีของสถาปัตยกรรมในประวัติศาสตร์ ความไม่พอใจนี้ถูกเน้นย้ำในปี 1972 ถึงการทำลายทิ้งของอาคารสูงสำหรับอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย (คนอเมริกันนิโกร) Pruitt-Igoe ในเมือง St. Louis อาคารที่พักอาศัยนี้สูง ๑๔ ชั้นที่สร้างได้ราว ๒๐ ปี โดยสถาปนิก Yamasaki (สถาปนิกคนเดียวกันที่ออกแบบอาคารคู่เวิร์ลเทรดที่โดนทำลายไปแล้ว) และเป็นแบบที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกอเมริกันเสียด้วย เช่นเดียวกันกับการทุบทิ้งอาคารลักษณะเดียวกันในยุโรปและอเมริกาเหนือในสิบปีต่อมา กรณีเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุของการเริ่มต้นของยุคหลังทันสมัย..หรือโพสท์โมเดิร์น

หนังสือของ Venturi เรื่อง Learning from Las Vegas (ร่วมกับ Denise Scott Brown (ภรรยา)..และ Steven Izenour) พิมพ์ในปี 1972.เกิดขึ้นมาจากการศึกษาค้นหาสถาปัตยกรรมของความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่ ที่ถูกละเลยไปด้วยความบริสุทธ์อันเคร่งครัดของยุคทันสมัย ผู้เขียนพยาพยามเสนอแนะถึง ความสนุกสนานของสถาปัตยกรรมธุระกิจการค้า และป้ายโฆษณาทั้งหลายของเมือง Las Vegas และตามทางด่วนของเมืองด้วย Venturi และหุ้นส่วน John Rauch เสนอการออกแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะใหม่ที่มีความคิดหลักแหลม มีความเป็นมนุษย์ และมีประวัติศาสตร์เป็นการอ้างอิง เช่น Tucker House, Katonah, N.Y. (1975), และ Brant-Johnson House, Vail, Colo. (1976). มีการสืบทอดความคิดของ Lutyens ผู้ซึ่งเน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกันในความรู้สึก และความซับซ้อน (ตามชื่อหนังสือของเขา) อันเป็นผลการออกแบบและการเรียกร้องลึกๆในงานของ Venturi และสถาปนิกอื่นที่เห็นพ้องกัน เช่น Charles Moore และ Michael Graves. โดยเฉพาะในงานของ Graves การออกแบบ Portland Public Service Building, Portland, Ore. (1980-82), และ Humana Tower, Louisville, Ky. (1986), มีลักษณะกล่องเช่นอาคารสูงในยุคทันสมัย หากแต่แต่งเติมด้วยการตกแต่งด้วยของที่ระลึกบางสิ่งเอามาจากประวัติศาสตร์ เช่น แนวเสาเรียงรายอิสระ ขอบระเบียงหลังคา ช่องโค้งกับสลักยึดบน และสิ่งอื่นที่แอบเอาของอดีตมาใช้ เช่นเดียวกับงาน Piazza d'Italia, New Orleans (1975-80), และอาคาร Alumni Center, University of California ที่เมือง Irvine (1983-85), ของ Moore ที่เชื่อมั่นในเรื่องสีสรรของอาคารที่ตั้งใจตอบสนองคุณค่าตามรสนิยมของมวลชน ทีไม่เคยได้รับการตอบสนองจากงานสถาปัตยกรรมในยุคทันสมัยเลย

 

 

 

 

 

 

Michael Graves, Portland Public Service Building, Portland, Ore. (1980-82),

 

อารมณ์เช่นนี้โดนปลุกเร้าขึ้นในเมือง Venice ปี 1980 เมื่อกลุ่มสถาปนิกชาวอเมริกันและยุโรปรวมตัวกัน ประกอบด้วย Venturi, Moore, Paolo Portoghesi, Aldo Rossi, Hans Hollein, Ricardo Bofill, and Lon Krier, นำเสนองานออกแบบต่างๆของพวกเขาขึ้นในงานแสดงนิทรรศการ ชื่อ "The Presence of the Past." ซึ่งจัดโดยองค์กร the Venice Biennale กลุ่มสถาปนิกนี้ถือเป็นสถาปนิกยุคหลังทันสมัยที่สำคัญ เป็นตัวแทนของมุมมองที่แตกต่าง หากแต่ร่วมกันในความทะเยอทะยานที่จะขจัดความหวาดกลัวในความทรงจำของอดีตสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยให้หมดสิ้น


ในราวปี 1970s ถึง '80s สถาปนิกอเมริกันหลายคน เช่น Philip Johnson และหุ้นส่วน John Burgee และสถาปนิกสติเฟื่อง Robert Stern ได้นำรูปแบบสะเล่อๆ…pop-art ตามเช่นภาษาศิลป์ที่นิยมกันในสมัยนั้น มาใช้กระจายรวมกันกับของ “ชำร่วย” ทางประวัติศาสตร์ในงานสถาปัตยกรรม เช่น AT&T Building, New York City (1978-84), ตึกระฟ้าที่ประดับยอดเหมือนพนักเก้าอี้ Chippendale อาคารเรียนคณะสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัย Houston (1982-85) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Ledoux (1736-1806) ในโครงการณ์ออกแบบ House of Education at Chaux (1773-79) งานออกแบบของ Stern คือ Observatory Hill Dining Hall, University of Virginia, Charlottesville (1982-84), ที่สะท้อนแนวคิดคลาสสิกของ Jeffersonian (สถาปนิกยุค Colonialism อดีตประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา) ขณะที่อาคารอีกหลังของเขา Prospect Point Office Building, La Jolla, Calif. (1983-85), อ้างอิงกับรูปแบบอย่าง Spanish Colonial. สถาปนิกยุคหลังทันสมัยหลายคนได้รับการฝึกฝนและเคยฝึกฝนอย่างเดียวกันกับยุคทันสมัย หลายอย่างในเรื่ององค์ประกอบในการออกแบบของยุคทันสมัยเดิม ก็ถูกนำมาผสมผสานใช้กับงานของยุคหลังทันสมัย เช่นในงานของสถาปนิก Graves, Venturi, และ Richard Meier.

นอกจากการใช้องค์ประกอบในรูปแบบของความสนุก ออกแบบอาคารแบบไร้รสนิยม..kitsch ในทางตรงกันข้าม พวกสถาปนิกอื่นอย่างเช่น Allan Greenberg และ John Blatteau, เลือกใช้รูปแบบอย่างคลาสสิกที่ตรงไปตรงมา เช่นการตกแต่งห้องรับรองของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯในเมือง Washington, D.C. (1984-85). อีกตัวอย่างที่มีความสมบูรณ์ในเรื่องประวัติศาสตร์อาจเป็นอาคาร J. Paul Getty Museum, Malibu, Calif. (1970-75), อีกความพยายามในการออกแบบลักษณะของคลาสสิกใหม่คือ งานของ Langdon and Wilson,ที่อ้างถึงเอกสารและการแนะนำทางด้านโบราณคดี ด้วยการเน้นลักษณะที่แท้จริง ตามแบบบ้านพักชาวโรมัน..Herculaneum เดิม

คู่แฝดที่คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ในประเทศอังกฤษ คือรูปแบบของแบบสมัยนิยม.. populist ในงานของ Graves—คู่ขนานกับงานของ Terry Farrell (TV-am Studios, Camden Town, London, 1983), และงานของ James Stirling (Clore Gallery at the Tate Gallery, London, 1980-87), มีความเป็นคลาสสิกอย่างเถรตรง เจริญรอยตาม Quinlan Terry (Riverside Development, Richmond, Surrey, 1986-88), Julian Bicknell (Henbury Rotunda, Cheshire, 1984-86), and John Simpson (Ashfold House, Sussex, 1985-87). จิตวิญญาณการรื้อฟื้นออกแบบชุมชนในรูปแบบของคลาสสิก เสนอแนะในประเทศฝรั่งเศษด้วย อาคารรัฐสภา-- Senate Building, rue de Vaugirard, Paris (1975), ของ Christian Langlois และ อาคารประชุมภูมิภาค--Regional Council Building in Orleans (1979-81). การเน้นบริบทของสภาพแวดล้อมของชุมชนแผ่ขยายไปทั่วฝรั่งเศษ เช่นในงานออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆของสถาปนิก Ricardo Bofill เช่น Les Espaces d'Abraxas, Marne-la-Vallee, ใกล้เมือง Paris (1978-83) ลักษณะเด่นของเสาขาด ด้วยคอนกรีตสำเร็จรูป เรียงรายสะท้อนลักษณะของภาษาออกแบบอย่างคลาสสิกที่จำกัด แต่มีความหมายเกินเลยออกไป

แนวคิดที่สามของยุคหลังทันสมัย สะท้อนโดยความเป็นเหตุ-ผลแบบใหม่ (โดยทั่วไปหมายถึงการใช้เหตุผล..Rationality ระคนกันได้กับความไร้เหตุผล…Psyco-logic ในบางขณะ และต่อมาก็พัฒนาเป็นเรื่องเหตุปัจจัย คือเอานัยของเงื่อนไขมาประกอบการใช้เหตุผลด้วย) โดยรวมเข้ากันขององค์ประกอบที่สะท้อนคลาสสิกที่ตัดแยกออกเป็นชิ้นๆของศตวรรษที่ ๑๙ และศตวรรษที่ ๒๐ ตอนต้น แนวคิดในกระแสนี้เป็นส่วนของการสะท้อนออกในความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยการรวมแรงกดดันทางธุระกิจการค้า และมโนทัศน์ของยุคทันสมัย แนวคิดเชิงเหตุ-ผลใหม่-- Neorationalism นี้เริ่มขึ้นในอิตาลี่ ที่ซึ่งสถาปนิก Aldo Rossi ได้เขียนหนังสือที่ทรงอิทธิพลชื่อ L'architettura della citt’ (1966; The Architecture of the City). Rossi's Modena Cemetery (1971-77) นำเสนอเรื่องหลักการเบื้องต้นที่เคร่งครัดของคลาสสิก และความสนใจเรื่องสภาพแวดล้อมโดยรวมของเขา เพราะมันเป็นการสะท้อนรูปแบบของชนบทในบ้านนอกและโรงงานต่างในเมือง Lombardy ในเวลาเดียวกัน

มโนทัศน์ของความเป็นเหตุ-ผลนิยมใหม่ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกกับคนสวิสพูดอิตาเลียน เช่นในงานออกแบบ Mario Campi (Casa Maggi, Arosio, 1980); โดยสถาปนิก Mario Botta; และ Bruno Reichlin และงานออกแบบบ้าน Casa Tonino, Torricella (1972-74) โดย Fabio Reinhardt เป็นชิ้นส่วนเก่าแก่อันหนึ่งในตำนานการออกแบบของ Palladio เรื่องคอนกรีตสีขาว ใกล้เคียงกับงานชิ้นนี้คือกลุ่มอาคารในมลฑล Basque รวมถึงงานออกแบบโรงเรียนที่เมือง Ikastola (1974-78) โดย Miguel Garay และ Jose-Ignacio Linazasoro; และ Casa Mendiola at Andoian (1977-78) โดย Garay; และงานออกแบบ Rural Centre at Cordobilla (1981) โดย Manuel Iniguez และ Alberto Ustarroz. หลายโครงการของสถาปนิกเยอรมัน Oswald Matthias Ungers--เช่นงานออกแบบ Stadtloggia ในศูนย์การค้า the Hildesheim marketplace (1980)—เสนอเรื่องทำนองเดียวกันของสภาพแวดล้อมตามหลักเหตุ-ผลนิยมใหม่ในเยอรมัน มีอิทธิพลต่อการเติมแต่งอาคารให้กับเมืองประวัติศาสตร์อื่นๆในเยอรมัน อิตาลี่ และฝรั่งเศษ สถาปนิกชาวเวนิส ชื่อ Hans Hollein ก็ถ่ายทอดความคิดเลือกสรรชนิดหยิบโน่นผสมนี่อย่างรุนแรง เช่นลักษณะพิเศษภายในของสำนักงานท่องเที่ยวออสเตรีย ในเมืองเวียนนา (1978), ซึ่งมีลักษณะย้อนยุคตามสมัยของเมืองที่เคยออกแบบโดย Otto Wagner และ Josef Hoffmann. งานออกแบบชุมชนของสถาปนิกชาวเบลเยี่ยมชื่อ Rob Krier ได้สะท้อนแนวคิดใหม่เหล่านี้ โดยสามารถเห็นได้ในงานอาคารที่อยู่อาศัยในเมือง Ritterbergstrasse, Berlin (1978-80). น้องชายของเขา, Leon Krier, ได้รับอิทธิพลทางความคิดทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เรื่องรูปลักษณ์ของความเชื่อการวางผังแม่บทเมืองที่รุนแรง ในลักษณะรูปแบบอย่างคลาสสิกอย่างง่าย และโจมตีอย่างแรงในสิ่งที่เห็นว่าระเบียบเมืองและศักดิ์ศรีมนุษย์โดนทำลายด้วยวิทยาการสมัยใหม่


ในราวปี 1920s การฟื้นฟูองค์ประกอบในการออกแบบตามแนวคิดเหตุ-ผลนิยมใหม่ถูกนำเสนอในสหรัฐอเมริกาในงานออกแบบ Richard Meier, เช่นในโครงการ Smith House, Darien, Conn. (1965-67), ได้แรงจูงใจจากงานของ Le Corbusier--Citrohan และ Domino houses, และความซับซ้อนในการออกแบบ High Museum, Atlanta (1980-83). อาคารธนาคาร the South West, Houston (1982), ออกแบบโดย Helmut Jahn (สถาปนิกคนเดียวกันที่ออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิในประเทศไทย) หวลระลึกถึงอาคารกระจกระฟ้าแบบ Art Deco ขณะที่สิ่งเหล่านี้ปรากฏมากในงานออกแบบของ Kevin Roche ซึ่งได้รับการอบรม ในแนวลดทอนให้น้อย (minimalist) จากสถาปนิกยุคทันสมัย Eero Saarinen ในราวปี 1950s หันกลับมาใช้รูปทรงเดิมของอาคารระฟ้า ในงานออกแบบ Morgan Bank headquarters, New York City (1983-87), อาคารสูง ๔๘ ชั้น มีห้องโถงทางเข้าสูงตระหง่านถึง ๗๐ ฟุต หุ้มเสาลอยด้วยหินแกรนิตทั้งหมด


ในประเทศญี่ปุ่น Isozaki Arata และ Yamashita Kazumasa นำแนวคิดนี้ต่างออกไปจาก Brutalism และ Metabolism ไปสู่แนวคิดหลังทันสมัย โดยได้รับอิทธิพลจาก Charles Moore—เช่นงานออกแบบเขา Tsukuba Centre building, Tsukuba Science City, Ibaraki (1983), และงานออกแบบของ Yamashita คือ Japan Folk Arts Museum, Tokyo (1982). ในประเทศอินเดีย Charles Correa เป็นผู้นำความคิดถอยห่างจากอาคารสูงแบบกล่องที่อยู่อาศัยตามแบบอย่าง Le Corbusier. ในราวปี 1950s เขาเคยทำงานในรูปแบบของสากลนิยม (International Style) มาก่อน เช่นงานออกแบบโรงแรมด้วยคอนกรีตสีขาวในเมือง Ahmadabad, แต่อาคารที่อยู่อาศัยสูงปานกลางต่อมา และในหนังสือของเขาชื่อ The New Landscape (1985), เขาได้หันกลับไปออกแบบอาคารในลักษณะพื้นถิ่นเดิมของประเทศโลกที่สาม


จิตวิญญาณแห่งวิทยาการก้าวหน้า ในลักษณะความขัดแย้งได้ถูกเสนอในโครงการออกแบบ the Centre Pompidou, Paris (1971-77), โดยสถาปนิก Renzo Piano และ Richard Rogers. ด้วยส่วนบริการและโครงสร้างถูกแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งและมีสีสรรรุนแรง อาคารแสดงนิทรรศการนี้ ถูกมองว่าเป็นสิ่งตลกที่รุนแรงและล้ำสมัยสุดในประวัติความเป็นศูนย์กลางของนครปารีส แม้ความดื้อด้านของ "ความทันสมัย" ยังคงอยู่ แต่มันรวมกับความนิยมของหลังทันสมัย ในเรื่องของความสนุกสนานไว้กับความเชื่อของยุคทันสมัย และย้อนกลับไปอย่างน้อยในงานของ Viollet-le-Duc ที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งของโครงสร้างอันถือเป็นกระดูกของอาคาร Rogers ซ้ำรอยความคิดนี้ในงานออกแบบอาคาร Lloyd's Building, London (1984-86), และการเติมเชื้อของ Stirling ในโครงการออกแบบ the Staatsgalerie, Stuttgart, Ger. (1977-82), เป็นกุญแจสำคัญของอาคารหลังทันสมัยที่สะท้อนในความคิดของ Venturi ในความรู้สึกที่ว่า “มันเป็นการอ้างอิง (อย่างเย้ยหยัน) ถึงภาษาของ Schinkel โดยปราศจากการยอมรับหลักการเบื้องต้นของยุคคลาสสิกนิยม”

 

เกี่ยวกับ Robert Venturi สถาปนิกผู้นำของยุคหลังทันสมัย

เกิดในเมือง Philadelphia, มลรัฐ Pennsylvania ในปี 1925 ที่ซึ่งเขาเติบโตจนกลายเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง เขาเรียนที่มาวิทยาลัย Princeton ได้รับปริญญาตรีทางศิลปะและปริญญาโททางด้าน Fine Arts. เขาได้รับทุนการศึกษาของ American Academy ใน Rome และเริ่มงานอาชีพในช่วงหลังของหลังปี 1950's. เป็นหุ้นส่วนกับ John Rauch ตั้งแต่ปี 1964 และกับภรรยาคือ Denise Scott Brown เพิ่มจากการประสบความสำเร็จในอาชีพสถาปนิก เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเป็นที่นิยม เช่น เรื่องComplexity and Contradiction in Architecture, และเรื่อง Learning from Las Vegas; ซึ่งเป็นที่โจทย์ขานกันอย่างกว้างขวาง เขาขยายความคิดสร้างสรรค์ไปถึงการออกแบบ หม้อต้มกาแฟ นาฬิกาไก่ขัน จานและชาม หรือแม้แต่เชิงเทียนด้วย

 

1961 Venturi House Chestnut Hill, PA

1961 Guild House Philadelphia, PA

1973 Art Museum Oberlin, OH

1976 Franklin Court Philadelphia, PA

 

เขาเคยทำงานกับ Louis Kahn และกับ Eero Saarinen ด้วยในระยะเริ่มแรกของอาชีพสถาปนิก เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของ Michelangelo, Palladio, Le Corbusier และ Alvar Aalto. สำหรับ Aalto เขากล่าวว่า “งานของ Alvar Aalto มีความหมายสำหรับเขามากสำหรับสถาปนิกยุคทันสมัย มันเป็นลักษณะที่เคลื่อนไหว สัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่วิเศษในเรื่องศิลปะและเทคนิควิธีการออกแบบ."

สถาปัตยกรรมของเขา เกี่ยวโยงกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกันและกัน ประวัติศาสตร์และรูปแบบของอาคารสะท้อนในความคิดสร้างสรรค์ของเขา ก็เพื่อการตอบสนองกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ แม้มันจะแตกต่างจากอาคารอื่นก็ตาม แต่ละอาคารถูกเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมของมัน เขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มสถาปนิกของยุคหลังสมัย แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับความเชื่อบางอย่างของยุคหลังสมัยนี้


1980 Gordon Wu Hall Princeton, NJ

1983 Molecular-Bio Lab Princeton, NJ

1991 Sainsbury Wing National Gallery

1994 Emergency Services Orlando, FL

 

เขาออกแบบด้วยรูปทรงที่ง่ายแต่สื่อเป็นรูปสัญลักษณ์ บ่อยครั้งเขาใช้ความตลกและเย้ยหยันในการออกแบบ เขาใช้ลักษณะผสมของสากลนิยม (international style) และศิลปะแบบสุดโต่ง (pop art) ร่วมสมัยเป็นแนวทาง งานออกแบบของเขาสามารถเห็นได้จากการจัดแจงในรูปพื้นผิว ที่เป็นการตกแต่งและเป็นเชิงอนุสาวรีย์ถาวร (Monumentality) เขาใช้รูปเครื่องหมายและรูปแบบสัญลักษณ์ ทั้งในแง่งานทางกร๊าฟฟิค เป็นคุณสมบัติที่รวมอยู่ในการออกแบบของเขา "สถาปัตยกรรมควรเกี่ยวของกับความมีนัยยะและสัญญลักษณ์ และการอ้างอิงควรมาจากหรือเกี่ยวข้องกับสังคมและสภาพแวดล้อมในเชิงประวัติศาสตร์ของอาคาร" Robert Venturi นำคำกล่าวที่คุ้นเคยของ Mies van der Rohe ที่กล่าวว่า "น้อยคือมาก..less is more" มาเปลี่ยนเป็นคำพูดของเขาที่ว่า "น้อยคือน่าเบื่อ..less is a bore" นี่ไม่ได้หมายความว่าเขาสนใจการประดับประดาเพื่อผลในตัวมันเองเท่านั้น แต่หมายถึงความมีคุณค่าทั้งทางรูปทรงและความหมายของมันด้วย

เขาพัฒนาหลายความคิดที่กลายเป็นแบบชุดสำเนา (นำไปใช้ซ้ำๆ) เช่น แยกหลังคาจั่วธรรมดาออกเป็นสองส่วนตรงแนวกลาง ใช้ช่องหน้าต่างกว้างเป็นรูปจัตุรัส อีกทั้งรูปครึ่งวงกลมที่ใหญ่เกินขนาดในการออกแบบของเขาด้วย หน้าต่างกลมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในแนวความคิดของงานออกแบบที่สำคัญ


เขาต้องเผชิญกับงานออกแบบทั้งในสภาพแวดล้อมและการเทียบเคียงเป็นฉากหลังที่ใหญ่โต แต่อาคารที่เขาออกแบบจะผสมผสานและสัมพันธ์สอดคล้องกันกับที่ตั้งเสมอ เขาไม่เคยเพิกเฉยหรือละเลยธรรมชาติเดิมโดยรอบของที่ตั้ง เขากล่าวว่า "ผมชอบความซับซ้อนและความขัดแย้งกันในงานสถาปัตยกรรม..บนพื้นฐานของความสูงค่าและมีนัยยะที่กำกวมของประสบการณ์จากยุคทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นธรรมชาติของศิลปะ"

 

1996 MCA La Jolla San Diego, CA

1995 Memorial Hall Harvard Universtiy


Robert Venturi พร้อมด้วยหุ้นส่วนของเขา Rauch, Scott Brown เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีอาณาจักรทางความคิดเป็นของตนเอง ในปี 1991, Robert Venturi ได้รับรางวัล Pritzker, รางวัลสำหรับสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค งานออกแบบของกลุ่มนี้ บ่อยครั้งเต็มไปด้วยลักษณะทางนามธรรมและอิงอยู่กับร่องรอยของประวัติศาสตร์ ทั้งในงานออกแบบ พิพิธภัณฑ์ บ้านอยู่อาศัย อาคารพักอาศัย อาคารธุระกิจการค้า และโครงการอื่นที่สร้างหลักประกันในอาชีพสถาปนิกที่พึงมีได้


 

เกี่ยวกับ… Robert A.M. Stern

 

Stern ...ถือว่าเป็นสถาปนิกและนักการศึกษาชั้นแนวหน้าอีกผู้หนึ่งของยุคหลังทันสมัย ได้รับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และไปได้ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเยลในปี 1965. ในขณะนั้นเป็นผู้กำกับโครงการของ the Architectural League ในเมือง New York ซึ่งสถาปัตยกรรมของเมืองนี้มีอิทธิพลกับเขาอย่างมาก เขายังเป็นที่ปรึกษาของรายการโชว์ทางโทรทัศน์ของ CBS ชื่อรายการ Eye on New York ซึ่งมีสถาปนิก Philip Johnson เกี่ยวข้องอยู่ด้วย


ในปี 1966 เขาทำงานกับ Richard Meier ในตำแห่งสถาปนิกออกแบบ จนถึงปี 1969 ได้มีหุ้นส่วนตั้งสำนักงานออกแบบ Robert A.M. Stern and John S. Hagmenn Architects. เขาเรียนรู้จาก Paul Rudolph ซึ่งถือว่าเป็นผู้เปิดสายตาของเขาที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ในช่วงสิบปีแรกในอาชีพของเขา เขาฝึกฝนใต้การนิยมทางความคิดของ Le Corbusier และ Frank Lloyd Wright ซึ่งมีอิทธิพลต่องานออกแบบของเขาในช่วงแรกๆ ต่อมาเป็นอิทธิพลของ Robert Venturi ที่ดูเหมือนมีเขา Stern เป็นศิษย์ผู้เจริญรอยตามผู้หนึ่ง ซึ่งจะพบเห็นในงานออกแบบของเขาในช่วงหลังๆ

1974 Lang Residence Washington, CT

1976 Westchester Residence NY

1983 Chilmark Residence

1986 Residence at Wilderness Point

 

Stern ให้ความสำคัญกับการยึดถือแนวปฏิบัติเรื่องการจัดองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน แต่ก็พอใจที่จะแหกกฎเหล่านั้นด้วย กับมโนทัศน์ที่ได้จากการเดินทาง ซึ่งเสริมคุณค่าในความเอาใจใส่ต่อการสื่อสถาปัตยกรรมที่ต้องการหักล้างรูปแบบเดิมของสถาปัตยกรรมยุคทันสมัย เขาไม่สนใจการเลียนแบบที่ถูกต้องเคร่งครัด เมื่อมาเป็นรูปทรงในงานของเขา เขาสร้างสรรค์งานศิลปะที่เด่น ไม่น่าเบื่อและซ้ำๆกัน เพราะมันถูกตีความใหม่แทนการเลียนแบบเดิมที่คุ้นเคยกันมา


1991 Disney World Resort Disney

1992 Newport Bay Club Euro Disney

1993 Roger Tory Peterson Institute

1995 Medical Center Celebration, FL

 

ผ่านการพิจารณาบริบทของสภาพแวดล้อม งานออกแบบที่อยู่อาศัยแถบฝั่งทะเลตะวันออก ทั้งปริมณฑลและที่ตั้งเฉพาะจุดของอาคาร อาคารที่เขาออกแบบขึ้นอยู่กับภูมิสถาปัตยกรรมและความสัมพันธ์ที่มันเกี่ยวข้องกับบริเวณโดยรอบของอาคาร เขาเชื่อว่าสถาปัตยกรรมผูกพันอยู่กับการแปรเปลี่ยนทันใดของเหตุการณ์ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ รูปแบบของแผ่นไม่ซ้อนทับกัน (shingle style) เขาใช้มากในงานออกแบบที่อยู่อาศัยในแถบฝั่งตะวันออก มันกลายเป็นแบบฉบับเฉพาะเป็นเครื่องหมายการค้าของ Stern


ด้วยการใช้รูปทรงทางเรขาคณิตทั่วไป Stern ได้พัฒนาองค์ประกอบซึ่งบ่อยครั้งคล้ายลักษณะของปราสาท Stern กล่าวว่า "ทัศนะคติของผมเกี่ยวกับรูปทรงอยู่บนพื้นฐานของความรักสำหรับความรู้ที่มีอยู่กับประวัติศาสตร์ ไม่พะวงอยู่กับความถูกต้องและการลอกเลียนแบบ เป็นการจับโน่นหยิบนี่ผสมผเสกัน เป็นการจับแพะชนแกะ และใช้เทคนิคการวางเรียงกันเพื่อให้ความหมายกับความคุ้นเคยเรื่องรูปร่างและการครอบคลุมพื้นผิวดินที่ต่างสภาพกัน." โดยการใช้รูปทรงตามจารีตนิยมเดิมและลวดลายที่ใช้กันในประวัติศาสตร์เดิม เป็นภาษาสำหรับการออกแบบที่เรียกกันปัจจุบันในรูปการสร้างประโยคทางภาษา (syntax) นั่นเอง


1999 Bangor Public Library Bangor, ME

ด้วยวัสดุที่ใช้เช่น อิฐ คอนกรีต และไม้ในการตกแต่งผิวหน้า การตัดกันของผืนหน้าอาคารโดยการใช้วัสดุหลายๆอย่าง ผิวของวัสดุเป็นลักษณะหลักที่เน้นมากโดย Stern….เขากล่าวอ้างเรื่องนี้ว่า…"วัสดุสามารถบังคับให้เกิดรูปทรง และเสนอแนะอะไรที่เป็นไปได้บ้างสำหรับคอนกรีตอัดแรงในงานสถาปัตยกรรม หรือชนิดอื่นๆของคอนกรีต และนั่นคือทุกวัสดุสามารถเป็นไปตามที่สถาปนิกต้องการให้เป็น." งานออกแบบของ Stern แสดงความบริสุทธ์ในเรื่องคุณภาพของแสงธรรมชาติและที่ว่างที่เกิดจากการหุ้มห่อด้วยแผ่นผืน ในรูปปริมาตรที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา

 

งานออกแบบในช่วงแรกของ Stern มีขีดจำกัดในเรื่องภูมิลำเนาของเขาขณะนั้นด้วย ในการทำงานที่ในเมือง New York ที่ซึ่ง Meier, Graves, Hejduk, Gwathmey, และ Eisenman (the New York Five) ได้งานออกแบบมากมาย ตรงกันข้ามงานส่วนมากที่ Stern ทำในเมือง New York ถ้าไม่เป็นบ้านอยู่อาศัย ก็จะเป็นอาคารเช่าพักอาศัยเท่านั้น ในช่วงนั้นเขาพยายามที่จะสร้างความต่างกันในทางความคิดจากงานของ Robert Venturi. งานออกแบบของเขากลายเป็นเรื่องการเพาะเมล็ดพันธ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม ที่จะแสดงความเป็นตัวมันเองออกมาได้มากกว่าเป็นแค่เพียงรูปแบบจำลองตามประวัติศาสตร์ ที่ถูกลดความขัดแย้งกันให้น้อยลงในสถาปัตยกรรมของยุคหลังทันสมัยนี้ อย่างไรก็ตาม Stern ก็ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกของยุคหลังทันสมัยคนหนึ่งด้วย

(บางส่วนของเนื้อหาผสมผเสเรียบเรียงและใช้ภาพ… จาก….http://www.Archpedia.com และ World Encyclopedia Britannica ฉบับซีดีรอม)

 

เพื่อความเข้าใจเรื่องแนวคิดหลังสมัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาวิชาอื่นๆ มีหนังสือเรื่อง.ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น เขียนโดย STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER คุณสมเกียรติ ตั้งนะโม จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาเรียบเรียงบางส่วนของสาระในหนังสือนี้ กล่าวถึงการเปรียบเทียบแนวคิดระหว่างยุคทันสมัยและหลังทันสมัย ซึ่งผมยกมาอ้างไว้บ้างแล้ว ในเรื่องแนวคิดทันสมัยและอิทธิพลทางการศึกษาของบาวเฮาส์ แต่ยังมีอีกส่วนที่ยังน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดหลังสมัยโดยเฉพาะ..จึงขอเพิ่มเติมให้พิจาณาเพิ่มเติม..(บางส่วนผมตัดทอน..เรียบเรียงพื่อความกระชับ) ดังนี้

วาทกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ยังปรากฎตัวในขอบเขตของทฤษฎีและเพ่งลงบนการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ และข้อถกเถียงกันต่างๆสำหรับความแตกร้าวของทฤษฎีสมัยใหม่ - ไล่ลำดับจากโครงการปรัชญาของ Descartes, ไปจนถึง the Enlightenment (เทียบได้คือ..ยุคทันสมัยของเรเนอซองค์นั่นเอง), จนกระทั่งถึงทฤษฎีทางสังคมของ Comte, Marx, Weber และคนอื่นๆ - ได้ถูกวิจารณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาเพื่อวางรากฐานการทำให้เป็นองค์ความรู้, การทำให้เป็นสากล และข้ออ้างแบบรวมทั้งหมด, การอวดอ้างต่อการค้นหาความจริงที่อยู่เหนือคำโต้แย้ง และลัทธิเหตุผลอันหลอกลวงและน่าสงสัย ในทางกลับกัน บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ ได้โจมตีลัทธิสัมพัทธนิยมหลังสมัยใหม่ (postmodern relativism), ลัทธิความไร้เหตุผล (irrationalism), และสุญญนิยม ..กังขานิยม (nihilism)

ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนความจริง และความเชื่อสมัยใหม่ที่ว่าทฤษฎีเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริง โดยแทนที่ฐานะสภาพทางทัศนียวิทยาและลักษณะสัมพัทธ์ที่ว่า ทฤษฎีต่างๆ อย่างเก่งที่สุด ก็เพียงให้ทัศนียภาพเพียงบางส่วนของวัตถุต่างๆ และการเป็นตัวแทนของการรับรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโลกนั้นเป็นเพียงสื่อกลางทางประวัติศาสตร์และทางภาษาเท่านั้น

ทฤษฎีหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์นบางทฤษฎี ปฏิเสธอย่างสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับทัศนียภาพขนาดใหญ่ (macroperspective) ทั้งหมดในเรื่องของสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการชื่นชอบโดยทฤษฎีสมัยใหม่หรือโมเดิร์น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีเล็กๆและการเมืองขนาดเล็ก (microthery and micropolitics..จากงานเขียนของ…Lyotard)

ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังปฏิเสธข้อสันนิษฐานต่างๆของทฤษฎีโมเดิร์นเกี่ยวกับความสอดคล้องกันทางสังคม และความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล. ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นสนับสนุนความหลากหลาย, ลักษณะพหุวิสัย, การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และลักษณะที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ

นอกจากนี้ ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังละทิ้งเรื่องของเหตุผลและอัตบุคคลที่เป็นหน่วยเดียว (unified subject) ซึ่งได้รับการยืนยันโดยทฤษฎีโมเดิร์นเป็นจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนการกระจายออกจากศูนย์กลางทางสังคมและทางภาษา และอัตบุคคลที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (fragmented subject)

ด้วยเหตุนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับแนวคิด ในที่นี้จึงอยากจะใช้ศัพท์คำว่า "ความเป็นหลังสมัยใหม่" ( postmodernity) เพื่ออธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาหลังจาก "ความเป็นสมัยใหม่" (modernity), และใช้คำว่า "ลัทธิหลังสมัยใหม่" (postmodernism) เพื่ออรรถาธิบายถึงขบวนการต่างๆและสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สามารถได้รับการจำแนกแยกแยะจากขบวนการต่างๆของสมัยใหม่ (modernist), รวมไปถึงตำรับตำราทั้งหลาย และปฏิบัติการต่างๆ

ในหนังสือนี้ ผู้เขียนยังแยกความแตกต่างระหว่าง "ทฤษฎีสมัยใหม่" (modern theory) กับ "ทฤษฎีหลังสมัยใหม่" (postmodern theory) ด้วย, เช่นเดียวกับระหว่าง "การเมืองสมัยใหม่" (modern politics) ซึ่งได้ถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาโดยพรรคการเมือง, รัฐสภา, หรือการเมืองแบบสหภาพแรงงาน (trade union politics - รูปแบบองค์กรทางการเมืองที่รวมตัวกันโดยคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง) ในทางที่ตรงข้ามกันกับ "การเมืองหลังสมัยใหม่" (postmodern politics) ที่เชื่อมสัมพันธ์กับการเมืองขนาดเล็กที่มีฐานของท้องถิ่น (locally base micropolitics) ซึ่งท้าทายต่อขบวนการอันกว้างขวางของวาทกรรมต่างๆ และรูปแบบที่ถูกทำให้เป็นสถาบันต่างๆขึ้นมาของอำนาจ

เพื่อให้ความกระจ่างแจ้งต่อความสับสนและวาทกรรมหลากรูปแตกต่างกันของโพสท์โมเดิร์น อันดับแรก ผู้เขียนจะนำเสนอวิธีการทางโบราณคดีหรือการขุดค้นเกี่ยวกับคำศัพท์ (จาก… Structuralism จนถึง… Post-structuralism) อธิบายอย่างละเอียดถึงประวัติศาสตร์ของมัน การนำมาใช้ในช่วงแรกๆ และความหมายที่ขัดแย้งกันต่างๆ ต่อจากนั้น ก็จะไปดูกันถึงพัฒนาการเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัยในบริบทของช่วงหลังทศวรรษที่ 1960s ในประเทศฝรั่งเศษ ที่ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับเงื่อนไขของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งกลายมาเป็นแนวทางหรือแก่นแกนสำคัญในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s

ผมตั้งใจไว้ว่าจะลองหาต้นฉบับของหนังสือนี้ทั้งเล่ม มาลองอ่านดูเพื่อความเข้าใจในแนวกว้างของแนวคิดหลังสมัยนี้ แล้วจึงย้อนกลับมาดูว่ายังมีประเด็นอื่นอีกไหม? ที่เราสามารถมาประยุกต์ใช้กับการตีความในอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม แทนที่สนใจเพียงการรับแนวทางการตีความที่สถาปนิกหลังทันสมัยอื่นกระทำการตีความและประยุกต์ใช้กันไปแล้ว..แต่ด้วยการสร้างความเข้าใจถึงรากเหง้า ต้นตอ หรือแม้กระทั่งความหลากหลายมุมมองของทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่เราแต่ละคนสนใจกัน น่าจะก่อให้เกิดความแตกฉาน ขยายวงกว้างทางความคิดออกไปได้นอกเหนือการรับรู้เพียงแค่วาทกรรมของแขนงวิชาเดียวทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น

 

 

 

ยังมีอีกงานเขียนที่ผมอ่านพบเกี่ยวกับ “กระแสความคิด” ของโพสท์โมเดิร์น คืออะไร..จากปฏิกริยาแบบมาร์กซ์ สู่ การเมืองแบบปฏิบัตินิยม โดย คุณ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ที่เป็นเรื่องหนึ่งรวมไว้ใน ทฤษฎีและความรู้ ในยุคโลกาภิวัฒน์ ของสถาบันวิถีทรรศน์ โดยมูลนิธิวิถีทรรศน์, ปีที่๕, ฉบับที่ ๑๙ ได้อธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมตามที่กล่าวอ้างไว้ข้างต้นอย่างดี โดยเฉพาะกล่าวถึงปฏิกริยาที่ปัญญาชนไทยมีต่อโพสท์โมเดิร์น..เช่นความคลั่งไคล้ที่มีคำว่าโพสท์โมเดิร์นปะหน้า ทั้งที่ยังไม่มีคำตอบที่ดี..ว่าอะไรดีกว่าอดีต และก็ยังไม่มีทางหาคำตอบที่ดี..ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือในอีกกลุ่มคนตรงกันข้ามที่บอกปัดอย่างไม่ใยดี อีกทั้งโจมตีว่า โพสท์โมเดิร์น ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแค่เป็นเรื่องเลอะเทอะเหลวไหล ขณะที่อีกลุ่มที่ “เป็นกลาง” พยายามที่จะอธิบาย โพสท์โมเดิร์น ให้มีประโยชน์กับสังคม เพื่อใช้เป็นวิธีคิดและเครื่องมือในการสร้างงานวิชาการและการเมืองบางอย่างขึ้นมาเป็นที่ยอมรับกันโดยเฉพาะกลุ่มเป็นกลางที่ว่า โพสท์โมเดิร์น เป็นกระแสความคิดหนึ่งที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แยกย่อย กระจัดกระจาย ไม่ได้ก่อรูปเป็นทฤษฎีที่มีกฎระเบียบที่ชัดจนนัก ไม่มีอุดมการณ์เพื่ออนาคต ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโลก และยังไม่ได้พูดถึงลักษณะของสังคม (การเมือง) ที่พึงปรารถนา ความคลุมเคลือนี้จึงมักถูกต่อต้านโดยนักสังคมศาสตร์บางคนว่า โพสท์โมเดิร์น ใช้การไม่ได้ นักปรัชญาก็ยังแย้งว่ามันไม่ได้พูดถึงอะไร นอกไปจาก..ความสงสัยและกังขา เป็นลัทธิสุญญนิยมเพื่อการหักล้างทำลายเท่านั้น (ในทางสถาปัตยกรรม..เป็นเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้นเองเช่น..อาคารทรงโรมัน....ผมว่าเอง) แต่สิ่งที่ผมสนใจคือการให้คำตอบที่พอน่ารับไว้พิจารณาคือข้อสรุปของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดของ โพสท์โมเดิร์น ที่คุณ ศิโรตม์เขียนไว้ในหัวข้อ โพสท์โมเดิร์นคืออะไร? ความว่า..ดังนี้

…โพสท์โมเดิร์น ตั้งคำถามกับความเชื่อที่ว่าความรู้นั้นเหมือนกระจก ส่วนโลกก็เหมือนวัตถุที่เราเอากระจกไปส่องให้เห็นได้อย่างถ้วนทั่ว สำหรับโพสท์โมเดิร์นแล้ววัตถุนั้นอยู่ห่างไกลจนไม่มีทางที่กระจกบานใดจะส่องได้ทั่วถึงและการจ้องมองวัตถุนั้นก็สัมพันธ์อย่างมากกับตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลผู้ถือกระจกเอง...

…สำหรับโพสท์โมเดิร์นแล้ว ศาสตร์และความรู้ทั้งหลายที่สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบแบบแผนโดยมีเป้าหมาย ที่จะอธิบายโลกและเข้าถึง “ความจริง" นั้น แท้จริงแล้วจึงเป็นแค่คำอวดอ้างที่ได้รับการค้ำยันจากระบบอำนาจในสังคม จนทำให้คำอวดอ้างนี้ยิ่งใหญ่และกลายเป็นความรู้ที่จริงแท้และไม่มีวันเป็นอย่างอื่นได้...

…โพสท์โมเดิร์นยอมรับการมีอยู่ของความจริง แต่การพูดถึงความจริงนั้นก็สัมพันธ์กับภาษาและถ้อยคำ ซึ่งไม่มีวันที่จะสะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบได้ และที่เราทำได้อย่างมากที่สุดก็คือมองเห็นข้อจำกัดนี้ และไม่อวดอ้างว่าได้เข้าถึงความรู้อันยิ่งใหญ่ใดๆที่เป็นเสมือนกุญแจไขไปสู่ความลึกลับของจักรวาล....

…โพสท์โมเดิร์นไม่ได้ล้มล้างภาวะสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในทางภูมิปัญญาหรือในทางโลกกายภาพ แต่สิ่งที่โพสท์โมเดิร์นทำคือการท้าทายและขัดแข้งขัดขาภาวะสมัยใหม่ไปตลอดเวลา แล้วเตือนให้ภาวะสมัยใหม่ตระหนักว่าตนเองไม่ได้เป็นบรรทัดฐานหนึ่งเดียวในการมองโลกและตัดสินความถูกผิดของจักรวาลไปตลอดเวลา...

…โพสท์โมเดิร์นไม่ได้เสนออะไรที่ชัดเจน เพราะตัวโพสท์โมเดิร์นเองเป็น "กระแสความคิด" มากกว่าเป็น "สำนักคิด" ที่มีระเบียบวิธี ปรัชญา และเป้าหมายในการศึกษาที่ชัดเจนตายตัว แต่อย่างไรก็ดีนี้ไม่ได้หมายความว่าโพสท์โมเดิร์นจะไม่มีอะไรบางอย่างร่วมๆกันเสียเลย และยิ่งไปกันใหญ่ หากจะบอกว่าโพสท์โมเดิร์นไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารอยู่ข้างใน....

ก็น่าจะจริงตามที่ผู้เขียนอธิบายไว้ ถ้าเราขีดขั้นให้ โพสท์โมเดิร์น หมายถึง “หลังสมัยใหม่” เป็นความแปลกแยกอย่างชัดเจนออกจาก “สมัยใหม่” ก็อาจทำให้เกิดวิวาทะกัน เช่นว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมยอมรับการเข้าสู่ โพสท์โมเดิร์น จึงยังไม่น่ามีอยู่จริง ทั้งๆที่ โพสท์โมเดิร์น บ่งบอกถึงปฏิกริยาที่นักคิดจำนวนไม่น้อยมีต่อความผิดปกติของ ความคิด, ความเชื่อ, ความรู้, แบบแผนปฏิบัติ, สถาบัน และอะไรอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับยุคที่เป็นภาวะสมัยใหม่ไปพร้อมๆกัน ข้อสังเกตหนึ่งที่สำคัญคงเป็นไปได้ว่า บางสังคมเช่น ประเทศไทย อาจไม่ได้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ที่สมบูรณ์ การดำรงหรืออาจมีอยู่ของ โพสท์โมเดิร์น จึงดำเนินควบคู่กันไป โดยที่อันหลังเป็นกระแสที่เป็นปฏิกริยาทางความคิดต่ออันแรกในเกือบทุกด้านเท่านั้น ยังไม่ปรากฏเด่นชัดในทางปฏิบัติ ผมเองคิดว่าสิ่งนี้เห็นได้ชัดในงานสถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งงานศิลปะอื่นก็ตาม ยิ่งในด้านการศึกษาที่นักวิชาการด้านนี้ ยังแทบแยกแยะกันออกไม่ได้เลย อีกทั้งกระบวนการศึกษาสถาปัตยกรรมยังเน้นการปฏิบัตินำความคิด หากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รุนแรง ความคิดที่สนับสนุนแนวทางการปฏิบัตินั้นก็คงต้องดำรงอยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง….หรือไม่ก็ แนวคิดสมัยใหม่กับแนวคิดหลังสมัยใหม่ จะอยู่ผสมปนเปและปะปนกันอย่างวุ่นวายขณะนี้…ลองมาพิจารณาเรื่องการถามตอบต่อไปนี้นะครับ…ในประเด็นคำถามของคุณ Gloria …เป็นการพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน..ในเว็บบอร์ด โดยเด็กไทยที่มีความรู้ภาษาต่างชาติอย่างดี..ลองพยายามอ่าน..แปลคำถามของเขานะครับ

 

When will Post-modern(comtemporary)gonna end? Since Renaissance, the arts and the architectures are remarkably remarkable and unique! Until it came to now--the Post modern. Post modern is not a period, indeed! It doesn't have its own distinctive style. It's just a jumble of old styles being recycled and used again confusingly. I mean, why do we still use the corinthian lintels?! The classic period had ended for many centuries! Why don't we try to search for new ideas and create our own period, like the way Le Corbusier, Mies Van de Rohe, etc. created the Modern or the Functionalism? They had avoided the classic useless decorations as hard as they could, but now we are using them again! Instead of heading for the future, why are we stepping backward?

โดยคุณ : Gloria - [ 25 ม.ค. 2002 , 14:27:09 น. ] --------------------------------------------------------------------------------ตอบ…..

คำกล่าวอ้างของข้อเขียนต่างๆข้างต้น ก่อนมาถึงคำถามนี้..น่าจะเป็นคำตอบได้บ้างแล้วนะครับ..ต่อไปเป็นการคุยกัน ตอบกันเป็นการอ้อมๆ อาจไม่ตรงนัก ..ในความเห็นผมเรื่องวิชาการตอบกันตรงบางทีไม่ได้ ดีไม่ดีอาจเป็นต่างคนส่องกระจกเบี้ยวดูกันไปก็ได้เหมือนกัน ยิ่งต่างคนทำเป็นผู้รู้แล้วจริงๆไม่รู้เลย หรือหลงความรู้ผิดๆนึกว่าถูกต้อง..เลยยิ่งหลงไปกันใหญ่ทีเดียว

ไม่ทราบว่าคุณ Gloria เป็นนิสิตหญิงต่างชาติ ที่เคยเห็นเดินไปมาอยู่ในคณะหรือป่าว ได้ข่าวว่าคณะเราเดี๋ยวนี้เข้าขั้นอินเตอร์แล้วนะ คือมีหลายเชื้อชาติมาร่วมเรียนกัน..ซึ่งดีมากๆ เรื่องทฤษฎีการสืบค้นในความรู้ทั้งหลายในโลกนี้...ผู้รู้บางท่านบอกเปรียบว่าเหมือนการแกว่งไกวของลูกตุ้ม คือย้อนไปย้อนมา แต่ตำแหน่งที่ดูเหมือนจะกลับมาที่เดิม..นั้นไม่ใช่เสียทีเดียวครับ มันมีส่วนคล้ายและแตกต่างกันอยู่ นานๆทีถึงจะมีการก้าวกระโดดเล็กน้อย ก็จะทำให้ความรู้นั้นเป็นที่ฮือฮาสักหน่อย เช่นตอนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและหลังสงคราม..Modernism ยุคไอทีก็น่าจะเป็นยุคก้าวกระโดดสำคัญอยู่บ้าง..เช่นงานของ Kazuyo Sejima ที่อ้างเรื่องการสะท้อนข่าวสาร ผมว่าน่าจับตาดูนะครับอาจมีทฤษฎีก้าวกระโดดที่น่าสนใจกว่าโพสท์โมเดิร์นก็ได้

การเรียนรู้มันเวียนว่ายวนอยู่ในน้ำเหมือนปลา อย่างนี้แหละครับ จนกว่าปลาบางตัวมีครีบงอกกลายเป็นขา แล้วก็สามารถกระโดดมาอยู่บนบกแล้วก็เริ่ม เวียนวนหาความรู้อยู่บนบกแถวนั้นอีกต่อๆไป...ไม่จบสิ้นเป็นสังสารวัฏ ประเด็นคือว่า ความรู้ที่เรากำลังสืบค้นอยู่นี้เป็นความรู้จริง หรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์การยกระดับจิตวิญญาณ หรือการดำรงชีวิตที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือป่าว น่าจะต้องตรวสอบกันอยู่เหมือนกันนะครับ

หมายเหตุ…สำหรับประเด็นนี้ผมอยากเพิ่มเติมเรื่องที่เคยอ่านมา ใน หนังสือ “ภิกษุกับนักปรัชญา” คุยกัน โดยคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ แปลไว้น่าอ่านมาก ตอนหนึ่งที่พระธิเบต..หลวงพ่อ มัตติเยอ ริการุ กล่าวตอบเรื่องศิลปะและการแสวงหาสิ่งใหม่ ในแนวทางพุทธปรัชญาไว้ดังนี้….

ความหมายของสิ่งใหม่ ความปรารถนาที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ ความกลัวที่จะลอกเลียนแบบของเก่าในอดีต เป็นการให้ความสำคัญกับ "บุคคลิก" แก่ความเป็นปัจเจกชนที่เข้าใจว่า จะแสดงออกโดยวิธีที่ไม่เหมือนใคร และมุมมองที่พยายามทำในทางตรงกันข้าม..คือสลายการยึดมั่นในอัตตาที่มีพลัง การแข่งขันที่จะทำไม่เหมือนใคร อย่างมากก็ฉาบฉวย เช่นศิลปินพยายามที่จะปลดเปลื้องจินตนาการให้เป็นอิสระ มักไม่ปรากฏในศิลปะศักดิ์สิทธ์ของศาสนา (พุทธสายธิเบต) แบบดั้งเดิม ที่มีไว้เพื่อสร้างเป็นสื่อวัตถุที่ใช้ในการทำสมาธิและเพ่งพิจารณา ช่วยเจาะลึกลงสู่ธรรมชาติของความจริง ศิลปะโดยทั่วไปเพื่อการปลุกอารมณ์ แต่ศิลปะศักดิ์สิทธ์นั้นเพื่อทำอารมณ์ให้หยุดนิ่ง การเต้นรำ การดนตรีทางศาสนา พยายามที่จะเชื่อมต่อเรากับความรู้และการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ โดยการใช้สัญลักษณ์ ศิลปินดั้งเดิม (เพื่อศิลปะศักดิ์สิทธ์) ใช้ทักษะทั้งหมดสร้างศิลปะ แต่ไม่เคยปลดปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระ เพียงเพื่อคิดค้นสัญลักษณ์หรือรูปแบบใหม่ล้วนๆเท่านั้น

ศิลปะศักดิ์สิทธ์นั้น ใช่ว่าจะติดยึดอยู่กับอดีตเพียงเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิญญาณจะเพิ่มส่วนประกอบใหม่ๆ ที่ได้จากประสบการณ์การทำสมาธิเพื่อเติมความรุ่มรวยอยู่ในศิลปะอยู่เสมอ..ศิลปินจะถอดใจและใส่พรสวรรค์ทั้งหมดลงในงานที่ทำ แต่บุคลิกของพวกเขาจะหายไปอยู่เบื้องหลังงานจนหมด ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของธิเบตจึงไม่ปรากฏชื่อศิลปิน..ศิลปะยังทำหน้าที่เป็นสื่อระหว่างชุมชนวัดกับฆราวาส พระเองจะแสดงการร่ายรำอันงดงามที่สอดคล้องกับการทำสมาธิภายในที่อยู่ในขั้นต่างขณะนั้นด้วย..การร่ายรำจึงเหมือนการแสดงธรรมให้รู้ด้วยสื่อของการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (bodily knowledge) ชาวบ้านในท้องถิ่นจะไม่พลาดงานฉลองในลักษณะนี้...ชาวบ้านยังสนใจงานศิลปะของศิลปิน เช่นรูปเคารพ "มันดาลา" ไม่ได้ตัดขาดจากศิลปะ แต่ไม่นิยมศิลปินที่หลงใหลไปในจินตนาการของตัวเอง..ซึ่งต่างจากศิลปินตะวันตกที่สร้างงานศิลปะที่สะท้อนด้วย "บุคลิก" ของศิลปินเองเสมอ..ศิลปะของตะวันออกมักเป็นลักษณะคลาสสิก ที่แสดงความยิ่งใหญ่ ด้วยการสร้างสรรค์กันมาต่อเนื่องเป็นแรมปี จึงทำให้เขาคิดถึงความแตกต่างระหว่างปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณของธิเบต ที่สอนจากประสบการณ์ที่ได้จากการเพ่งพิจารณาหรือการทำสามาธิมานานปี.. ไม่ใช่ศิลปะแบบง่ายๆที่นิยมของตะวันตก โดยผู้สอนวิถีทางจิตโดยศิลปินปัจจุบันไม่มีประสบการณ์เป็นของตัวเอง หรือเป็นเพียงการสอนด้วยการพูดคุยที่ไม่ได้แสดงออกถึงความรู้อันแท้จริง

สิ่งสำคัญที่สุดในการรับรู้ความจริงที่สะท้อนมาในงานหรือศิลปะนั้น ควรศึกษากันให้ลึกซึ้งและนำมาใช้กับตัวเอง และตระหนักรู้ได้ในความจริง ไม่ใช่แค่เพียงคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาโดยการทุ่มเทเต็มที่เพียงอย่างเดียวนั้น จะมีประโยชน์อะไรหรือ? ..ชีวิตทางจิตวิญญาณแตกต่างจากการวิ่งไล่ตามสิ่งใหม่หรือช่วยการค้นพบสิ่ง (ที่นึกเอาว่า) เรียบง่าย สิ่งที่เราอาจสูญเสียรสชาติไปแล้ว ในทางกลับกัน เราน่าจะ..ทำชีวิตของเราให้ง่ายขึ้นด้วยการไม่ทรมานตัวเองเพื่อการได้มาในส่งที่เราไม่ต้องการมันจริงๆ และเราควรทำจิตของเราให้ง่ายขึ้นด้วยการไม่หวลหาอดีตและจินตนาการถึงอนาคตอีกต่อไป

การสร้างสรรค์มักหมายถึงการแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนตัวภายในทันที ซึ่งวนเวียนไปมาในขอบข่ายและแนวโน้มที่มีเงื่อนไขของความเคยชิน ดังนั้น จึงไม่ช่วยให้ปลดเปลื้องตัวเราจากอวิชชา (ความไม่รู้) ความปรารถนา หรือความเป็นศัตรู ฯลฯ ได้ จึงไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ฉลาดหรือมีเมตตามากขึ้น การสร้างสรรค์ที่แท้ ต้องประกอบด้วย การสลัดเปลือกที่ห่อหุ้มของอวิชชาและความยึดมั่นในตัวเราไปทีละขั้น เพื่อค้นพบธรรมชาติที่แท้ของจิตและปรากฏการณ์ นั่นคือการค้นพบสิ่งใหม่โดยแท้จริง…ผมขอนำมาเสริมไว้เพื่องานสร้างสรรค์สำหรับสถาปนิกด้วยนะครับ..)….

ขอตอบเป็นภาษาไทย…จะได้คิดเป็นไทยคล่องกว่าตอบเป็นภาษาฝรั่งซึ่งต้องคิดแบบฝรั่ง หวังว่าคุณ Gloria อ่านไทยได้คล่องนะครับ

โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 30 ม.ค. 2002 , 09:23:10 น.]

ตอบ….กลับ

ไม่ใช่หรอกครับ ผมเป็นแค่เด็กปี1ไร้เดียงสาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ผมก้อเคยเห็นผู้หญิง Foreighner คนนั้นเหมือนกัน คุณเพื่อนอาจารย์ครับ คุณคิดรึเปล่าครับว่าการที่จะเกิดการ "ก้าวกระโดด" ของยุคสมัยได้จำเป็นต้องมีผู้ที่ "ดื้อรั้น" ในความคิดและยืนหยัดจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อให้สังคมยอมรับ อย่าง Van Gogh ที่เปลี่ยนศิลปะจาก academic เป็นศิลปะแห่ง "อารมณ์" อย่างแท้จริง หรือ le corbusier และความคิดแบบ functionism ที่เป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งของยุค Modern เขาเหล่านี้ต้องทนกับคำวิจารย์และคำด่ามากมายในยุคตนเอง แต่ก็ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนไปตามกระแส เป็นไปได้ไหมครับว่ายุค post-modern นี้ไม่มีคนพันธุ์นี้แล้ว?

โดยคุณ : Gloria - [ 30 ม.ค. 2002 , 17:29:54 น.] --------------------------------------------------------------------------------

 

ตอบ…..

โลกในไซเบอร์สเปส..นี่แปลกแท้..เป็นโลกแห่งความไร้เพศไร้เชื้อชาติกันจริงๆ มีหรือ ? ชื่อเป็นฝรั่งมีความหมายของเพศหญิง แต่ดันมีคำตอบเป็น..คนไทยเพศชายเสียนิ…

ถ้าเป็นนิสิตปีหนึ่ง ตั้งคำถามเหล่านี้ได้ ก็นับว่ามีฐานความรู้ความเข้าใจสถาปัตยกรรมไม่ธรรมดา ยิ่งมีทักษะในภาษาอังกฤษดี ยิ่งได้เปรียบใหญ่ เพราะสามารถหาอ่านตำราสถาปัตยกรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นสินทรัพย์ทางความรู้มากกว่า การหาเอาหรือโดนยัดเยียดกันแค่ในห้องเรียน จุดอ่อนอย่างมากของนักเรียนไทย คือ เพียงแสวงหาความรู้แค่ในระบบหรือในห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าปัจจุบันไม่พอเพียง และจะไม่เหมาะกับบางคนที่ต้องการรู้นอกเหนืออาจารย์ คือ รู้และเข้าใจกันแค่ในห้องเรียน การโต้แย้งทางความคิดจึงมักไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก

คุณ Gloria ควรใช้ความได้เปรียบทางภาษา และศึกษาจากตำราต่างประเทศให้มากนะครับ อ่านไปก็คิดไปด้วย อย่าเอาแต่เชื่อพวกสถาปนิกฝรั่งช่างพูดอย่างเดียว ต้องศึกษาเปรียบเทียบความรู้ทำนองเดียวกัน ในต่างสาขาวิชาอื่นบ้าง อย่างเช่นแนวคิดเรื่อง โพสท์โมเดิร์น หรือ ดีคอนสตรั๊คชั่น อาจทำให้เข้าใจประเด็น ทางฤษฎีในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และอาจนำมาใช้เป็น application ในทางสถาปัตยกรรมที่เป็นของตัวเองได้ดีและสดกว่า applications ของ Eisenman และ Tschumi แทนที่จะคอยตามเอาอย่างเขาในงานที่เขาโฆษณาไว้ตามหนังสือสถาปัตยกรรม

ความดื้อรั้นที่พอดีพองามและอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ อาจไม่จำเป็นต้องเหมือน เลอคอร์บูซิเออร์ หรือสถาปนิกคนอื่น หรือบิลเกตส์ที่ปฏิเสธโรงเรียน ( เพราะขืนอยู่เรียนต่อไปก็เปล่าประโยชน์) สมัยนี้อาจต้องอาศัยนิสิตที่ฉลาดและมีเมตตาธรรมด้วย คือทนเรียนตามกระแสไป แต่รอโอกาสช่วยสอนการทวนกระแสความคิด (ทางอ้อม) ให้บรรดาอาจารย์ด้วยในเวลาเดียวกัน ก็เหมือนอย่าง Eisenman เขาก็เรียนไป คิดทวนกระแสไปจนถึงระดับปริญญาเอก แล้วต่อมายังยึดอาชีพสถาปนิกและนักการศึกษาไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีทำให้วงการสถาปัตยกรรมมีสีสรรค์มากขึ้น สำหรับเมืองไทยก็ยังรอนิสิตอย่างนี้อยู่ เพื่อสร้างการก้าวกระโดดทางวิชาสถาปัตยกรรมที่เป็นแนวทางของตนเองกันเสียที

คุณ Gloria ก็ช่วยเอาความรู้มากหรือคำถามมาอัดกันแรงๆหน่อยในบอร์ดนี้ อาจารย์คณะนี้จะได้รู้เสียมั่ง ใครเป็นใครนะครับ..ไม่เป็นนิสิตแค่ "ขาจู๋" กันเสมอไป

โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 31 ม.ค. 2002 , 22:29:52 น.]

--------------------------------------------------------------------------------

Good idea, Master's Friend. I too would love to see this forum highly academic. But since I myself know virtually nothing about architectural theories (particularly contemporary ones), I would also like to see topics in other areas raised here.

As for myself, should there be anything a cross between architecture, engineering, physics and maths, I will be happy to help keep the discussion going on.

โดยคุณ : TC - [ 1 ก.พ. 2002 , 16:59:15 น.]

--------------------------------------------------------------------------------

ตอบ …

จุดอ่อนสำคัญอันหนึ่ง คือรากฐานความคิดทางปรัชญา ที่เป็นจุดเริ่มของ theory building ในความคิดของแต่ละคน ยังขาดครูและผู้สนใจ กับการเรียนการสอนปรัชญาในคณะนี้ (นี่ยังไม่รวมถึงแบบจำลองทฤษฎีของภาษาคณิตศาสตร์ หรือความรู้พื้นฐานธรรมชาติของทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ปัจจุบัน) เราจึงตามความคิด อันเป็นรากฐานทางทฤษฎีของพวกฝรั่งไม่ได้ สิ่งที่เราเรียนรู้กัน ก็เพียงการดัดแปลง applications (ผลการตีความเป็นรูปแบบสำเร็จ) ของพวกสถาปนิกฝรั่ง ซึ่งเป็นผลปลายเหตุของความคิดทางสถาปัตยกรรมตะวันตกทั้งหลาย หรือไม่..หรือตรงกันข้าม..ยังลุ่มหลงในสถาปัตยกรรมอดีต เชื่อถือในลัทธิพราหมณ์ของความเป็นอาตมัน ความเป็นถาวรนิรันดร์กาล ที่ไม่ยอมหรือไม่รู้จะพัฒนากันอย่างไรต่อไป อย่างเช่นไม่มีการเน้นในศาสนปรัชญาทางพุทธ ในการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมไทยกันเลย ทั้งๆที่แนวคิดปรัชญาหรือทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ ทั้งหลายกำลังเคลื่อนตัวเข้าหาปรัชญาแนวพุทธ หรือปรัชญาอื่นของตะวันออกเข้าทุกที เช่น ทฤษฎีควอนตัม..เรื่องการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง ทฤษฎีองค์รวมของ ชีววิทยากระบวนระบบ (Systems Biology) เป็นต้น ในเรื่อง The Turning Point ของ ฟริตจ็อฟ คาปร้า พูดเรื่องเหล่านี้ไว้มากทีเดียว ผมเสียดายที่นักคิดนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์อย่างคุณ สมัคร บุราวาส มีน้อยเหลือเกินในเมืองไทย เสียดายที่ท่าน(ตาย)จากไปเร็วด้วย ไม่อย่างนั้นงานเขียนทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ของท่าน จะมีมากกว่าเท่าที่มีเผยแพร่กันตอนนี้ ที่สำคัญคือ การเชื่อมปรัชญาหลายแหล่ของตะวันตกเข้ากับศาสนาปรัชญาของพุทธศาสนา อันทำให้พวกเราได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของพุทธศาสนา ที่เกี่ยวข้องในทางความคิดและทฤษฎีมากยิ่งขึ้น

ก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนเข้าห้องเรียนในคณะฯเรากันเสียที การมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่เห็นมีการขยับตัวกันเลย...ก็เหงาใจจริงๆ

โดยคุณ : เพื่อนอาจารย์ - [ 4 ก.พ. 2002 , 14:48:57 น.]

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานสถาปัตยกรรมน่าจะพอมองเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่าแนวคิดทางปรัชญาหรือแม้แต่ในงานศิลปะ การพิจารณานั้นควรใช้หลักการเปรียบเทียบกันระหว่างโพ๊สโมเดิร์นกับโมเดิร์นนั้นแตกต่างกันอย่างไรเสียก่อน ซึ่งในงานสถาปัตยกรรมอาจมองได้ชัด โดยเฉพาะในเมืองไทยซึ่งถือว่าโรงเรียนสถาปัตยกรรมเริ่มสอนกันโดยแนวคิดของยุคทันสมัย (โมเดิร์น) เป็นหลัก ครูสอนสถาปัตยกรรมส่วนมากได้รับการฝึกและศึกษามาจากยุคสมันนี้ทั้งสิ้น จะว่าไปแล้วแนวทางการสอนสถาปัตยกรรมปัจจุบัน…กล่าวกันแบบฟันธงลงได้เลยว่า..ก็ยังเน้นหลักการออกแบบของยุคโมเดิร์นยังไม่เสื่อมคลาย แม้ในด้านสังคมและการเมืองก็ยังมีสิ่งเหล่านี้หลงเหลืออยู่ เช่น การยังเชื่อในทัศนะของ “ความโง่ที่ไม่เท่าเทียมกัน” อยู่ …หมายความว่ายังชื่อในความเป็นผู้ชำนาญการ และสถาปนิกนั้นยังเป็นผู้ที่รู้ดี และยังเป็นผู้ที่ควรกำหนดว่าความต้องการและรศนิยมทางสุนทรียศาสตร์ของผู้ใช้นั้นควรเป็นเช่นไร

อิทธิพลทางการศึกษาที่สำคัญคือ แนวทางการศึกษาของ Bauhaus ซึ่งเป็นแนวทางของยุคทันสมัยที่ยอมรับกันชัดเจน คือการรวมจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะอุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม เข้าเป็นโรงเรียนศิลปะและการออกแบบ งานทางสถาปัตยกรรม มักเป็นที่รวมของศิลปะในแทบทุกแขนงกันไว้เสมอ สุนทรียศาสตร์ของยุคทันสมัย จะว่าไปแล้วปรากฏขึ้นมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก บรรดานักทัศนะศิลป์ หรือ ศิลปินโมเดิร์นนิสท์ (the new avant-grade modern movement) เช่น Picasso และ Mondrian เป็นต้น แทบบทั้งนั้น ในหนังสือ Space Time and Architecture เขียนโดย Sigfried Giedion กล่าวถึงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของยุคทันสมัยไว้อย่างชัดเจนในเรื่องเหล่านี้

กระนั้นก็ตาม..ในเมืองไทยก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในความสำคัญของยุคหลังสมัยที่มีอิทธิพลทางความคิดศิลปะและการเมือง ในทางการเมืองการเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดคือความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย และการต่อต้านลัทธิ “ผู้ชำนาญการ” คือผู้นำทางเผด็จการในทุกรูปแบบ แม้สิ่งนี้อาจยังไม่ครอบคลุมในองค์กรย่อยๆต่างๆอื่นในสังคมไทย แต่ก็น่าเป็นสัญญานของการเปลี่ยนแปลงที่อาจเหมาได้ว่าจะมีการพัฒนาการในต่อๆไป…ตามข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ว่า..โครงสร้างในเชิงเอกภาพปิด(close unity)ใดๆ จะไม่มีความเป็นจริงได้ต่อไป เช่น ความเชื่อในกฎเกณฑ์และระเบียบจะไม่สามารถสร้างสังคมในรูปแบบเดียวได้เลย เช่นเราไม่สามารถนำไปใช้บังคับให้ทุกคนนับถือศาสนาคริสต์อย่างเดียว เพื่อทุกคนจะมีความสุขเท่าเทียมกัน หรือเรื่องของมนุษย์นิยม เหตุผลนิยม หรือแม้แต่สังคมนิยม อันเป็นการพยายามสร้างเอกภาพให้ทุกคนเชื่ออย่างนั้นเพียงอย่างเดียว แล้วจะสร้างสังคมให้มีความสุข และสมบูรณ์แบบได้ แต่ความจริงที่ปรากฏในอดีตนั้นล้มเหลว ใช้การไม่ได้ และหาสังคมที่นับถือศาสนาเดียวไม่ได้เลย…ความคิดทำนองนี้ก็ปรากฏให้เห็นในงานสถาปัตยกรรม ที่เคยมีความพยายามเสนอการสร้างรูปแบบสากล (International Style) ขึ้น เช่นในงานเขียนหนังสือตามชื่อนี้โดย Phillip Johnson ซึ่งสถาปนิกผู้เขียนเองก็หันมาปฏิเสธเรื่องนี้เสียเองในต่อมา

กล่าวโดยสรุป แนวคิดหลังสมัย ปฏิเสธแนวคิดตรรกะเชิงเส้นตรง ที่เหตุย่อมเท่ากับผล เป็นวิธีคิดอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต้องยอมรับวิธีอื่นที่สร้างแรงบันดาลใจได้ด้วย ต้องยอมรับความหลากหลายในทุกสิ่ง ดังนั้นแนวคิดหลังสมัยจึงรื้อฟื้นคุณค่าเก่าแบบดังเดิมขึ้นมาใหม่ กลับไปยอมรับการใช้สมองอีกส่วนที่ใช้แรงบันดาลใจ, ความเชื่อ, ความรัก, อารมณ์ หรือจริยธรรม ที่ยุคทันสมัยได้เมินเฉยไป เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย และกลับมาเน้นวิทยาศาสตร์ของความเป็นมนุษย์ (Humanity Science) เทียบเคียงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ(เชิงวัตถุ-เครื่องจักรกล)ที่เน้นโดยยุคทันสมัยเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศหากย้อนกลับไปราวทศวรรษ แนวคิดหลังสมัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมได้รับความสนใจอย่างมาก พอๆกับการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมของข่าวสารสารสนเทศที่ก้าวหน้าของยุคหลังอุตสาหกรรม งานศิลปะและสถาปัตยกรรมของยุคหลังสมัย ได้รังสรรค์ความยุ่งยากซับซ้อน (complexity) ความขัดแย้ง (contradiction) ให้อยู่รวมกันในเอกภาพเปิด (open unity) มีรูปแบบที่ต่างกัน (heterogeneous style) และสร้างภาษาที่ตอบโต้กันอย่างเร้าใจขึ้น สำหรับสังคมไทยสิ่งที่มองเห็นได้ชัดดังกล่าวแล้วคือ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย, การมีส่วนร่วม และมีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้น

เอาละครับ..มาถึงคำถามสำคัญที่คุณ Gloria เกริ่นไว้ว่า แล้วแนวคิด “หลังสมัย” จะสิ้นสุดลงหรือไม่? และเมื่อไร? เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งใดในโลกใบนี้นั้น ผมคิดว่ามีการสิ้นสุดหรือเปลี่ยนแปลงแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่พ้น แม้ในเรื่องอื่นในความคิดคำนึงของมนุษย์ ส่วนเป็นเวลาใดตอนไหน จะระบุเป็นเด็ดขาดย่อมไม่ได้ เดี๋ยวจะเหมือนเรื่องที่โดนวิจารณ์กันเมื่อ Charles Jencks นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ประกาศวันและเวลาการสิ้นสุดของแนวคิดสถาปัตยกรรมทันสมัย ซึ่งตรงกับวันและเวลาที่อาคารพักอาศัย Pruitt-Igoe ณ เมือง St. Louis ในสหรัฐอเมริกา โดนรื้อทำลายลงพอดี…สำหรับผมพอจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นแล้ว (อาจเป็นเรื่องของแนวคิด Deconstruction ก็ได้) เพราะได้อ่านบทความสรุปการสัมมนากันมาเกี่ยวกับเรื่องนี้…After Post-Modernism..ซึ่งใช้ชื่อย่อว่า APM ในการสัมมนาที่เมืองชิกาโกเสียด้วย แต่ยังมีเรื่องทราบที่ค้างใจอยู่จึงขอระบายไว้ก่อนดังนี้…ผมเคยอ่านพบจากที่ไหน?..จำไม่ได้…แต่เคยเข้าใจบทความที่เขาเขียนไว้ดังนี้…

 

ความคิดเบื่องต้นของโพสท์โมเดิร์น

เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หากแต่มีความจริงแฝงเล้นอยู่บ้าง มันเปรียบเสมือนนั่งร้านคนงานในงานก่อสร้างที่ทำให้เรื่องราวของ โพสท์โมเดิร์น ดูอาจเข้าท่าขึ้นบ้าง

เรื่องราวของคติทางความคิดต่างๆ

คติโบราณ… เริ่มในสมัยของชาวกรีกและโรมัน เราเผชิญกับคำถามมากมาย เช่น เรารู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้อย่างไร? เรารู้ความเป็นจริงได้อย่างไร? โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร? คนโบราณระลึกได้ว่าสิ่งที่ปรากฏอาจเป็นภาพลวงตาของความน่าเชื่อถือ ความคงที่ ที่รูปร่างของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วมีอาการและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะมีวิธีรู้ว่าสิ่งต่างๆเป็นความแท้จริงได้อย่างไรกัน? ปัญหาที่เสนอนี้ คนโบราณแยกสรรพสิ่งทั้งหลายออกโลกที่มองเห็นด้วยตา และโลกที่เป็น “จริง” ซึ่งมีความสมบูรณ์ เป็นองค์รวมและศักดิ์สิทธ์ ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธ์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เราจะจับชั่วขณะของ “ความจริง” ของโลกสมมุตินี้ได้. โดยไม่อ้างถึงการเวียนว่ายตายเกิดของเรา เราเห็นความไม่สมบูรณ์ ความอ่อนแอ และหลายสิ่งที่สึกกร่อน ด้วยความช่วยเหลือของหลักเหตุผลอันศักดิ์สิทธ์และคณิตศาสตร์ สิ่งที่สึกกร่อนกลับกลายเป็นสิ่งราบเรียบ เป็นสิ่งสมบูรณ์สิ่งแล้วสิ่งเหล่าต่อการรับรู้ของเรา ความคิดเป็นอภินิหารของสิ่งศักดิ์สิทธ์แสดงให้รู้ว่า โลกที่แท้จริงคือ มโนทัศน์ที่เกิดขึ้นประจำวันของเรา ที่สืบทอดมาจากรูปแบบความคิดที่แสวงหากันมาก่อนหน้า โดยคนโบราณ

คติสมัยใหม่… เริ่มต้นในสมัยเรเนอซองค์ (แต่ค่อยๆเป็นการเปลี่ยนจากคติโบราณที่สืบต่อกันมาจนถึงยุคสมัยกลางของยุโรป) ค่อยๆเปลี่ยนจากการถูกสอนให้เชื่อพระเจ้าคือความจริง—พระเจ้าในโบสถ์ ต่อมากลายเป็นการสอนตามทางบันทึกต่างๆในตำรา นักคิดที่ฉลาดบางคนเริ่มเชื่อการพบเห็นของตนเองและของหมู่คณะมากขึ้น แทนที่ยึดเอาพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มนุษย์เองกลายมาเป็นบรรทัดฐานการตัดสินความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายต่อมา ความฉลาดของมนุษย์สามารถเกี่ยวข้องทั้งความจริงและความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงตลอดเวลา ความแน่นอนกำหนดวิธีการเพื่อค้นหาความจริงและประเมินผลที่ปรากฏเพื่อการพิจารณาความน่าเชื่อถือ ความพอเพียงที่ยอมรับในความเป็นจริงของสิ่งที่ตรวจสอบ ไสยศาสตร์และจารีตนิยมถูกแทนที่โดยความมีเหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (วิธีที่ตรวจสอบได้ด้วยมวลชน) วิทยาการและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นสัญญานความรุ่งเรื่องของสังคม จนกระทั่งถึงมนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติด้วยความรู้และเครื่องมือของเขาเอง

กระนั้นก็ตาม นักปรัชญาทั้งหลายก็ยังคงลำบากกับคำถามเดิมของความจริงนั้นเรารู้มันได้อย่างไร? Kant เสนอว่าเราไม่อาจรับรู้ความเป็นจริงของสรรพสิ่ง แต่เราสามารถเข้าใกล้ความจริงด้วยมโนภาพในใจที่เข้ากันได้กับสิ่งที่มันเป็น คำว่า “ปรากฏการณ์” มาจาก Kant หมายถึง สาระสำคัญของ “การใกล้ชิดกับความเป็นจริง”

อย่างไรก็ตาม ในหลายปีต่อมา นักปรัชญาเริ่มตระหนักว่ามีทะเลขวางกั้นเป็นอุปสรรคให้ย่างก้าวไปไม่ถึงความเป็นจริง เพราะเรามีชีวิตในช่วงเวลาและสถานที่เฉพาะ ที่มีการกำหนดเงื่อนไขโดยชุดพิเศษของวัฒนธรรมและประสบการณ์ หากปราศจากพระเจ้าที่เป็นตัวเชื่อมเรากับความจริงแล้ว เราสามารถไปถึงได้อย่างไร? เราสามารถขยายขีดจำกัดของเราเองไปถึงสรรพสิ่งที่เป็นความแท้จริงได้อย่างไร? นี่ยังเป็นคำถามที่ยากและยังไม่มีข้อสรุปมานานนับปีแล้ว

คติหลังยุคทันสมัย 'Postmodernism', เป็นคำที่ยังบอกถึงความเกี่ยวข้องตอบสนองในวงกว้างๆกับคำเดิมทันสมัย ความทันสมัยเกี่ยวข้องกับการยึดวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำเราไปสู่ถนนของความรุ่งเรืองก้าวหน้า แต่ยุคหลังทันสมัย ตั้งคำถามว่าวิทยาศาสตร์ตามลำพังจะนำเราไปถึงได้จริงหรือ? ขณะที่ยุคทันสมัยได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และวิทยาการที่ก้าวหน้ามากมายในการพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น ยุคหลังทันสมัยกลับไปมองซ้ำและฉงนใจว่าชีวิตเรานั้นแท้จริงแล้วดีไปกว่าการเป็นแค่ของจุกจิกและของเล่นทั้งหลายหรือไม่? มองไปที่ความสุดยอดของยุคทันสมัยในศตวรรษที่ ๒๐ ผลที่เกิดขึ้นคือความรุนแรงในรูปแบบของ ชาตินิยม เผด็จการเบ็ดเสร็จ ความชำนาญการนิยม การบริโภคนิยม และสวัสดิการสมัยใหม่ ซึ่งเราอาจเห็นความมีประสิทธิภาพและพัฒนาขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมองเห็นการบั่นทอนความเป็นมนุษย์ลงไปด้วย ชีวิตเรากลายเป็นหรือมีผลกระทบจากเครื่องกลไกทั้งหลาย

สำหรับคำถามซ้ำซากเกี่ยวกับ อะไรคือความจริงและความรู้? นักหลังทันสมัยนิยม อาจกล่าวว่า “ความจริง คือสิ่งที่ทุกคนตกลงยอมรับกัน” หรือ “ความจริงคืออะไรๆที่ใช้งานได้” หรือ “เฮ้..ไม่มีความจริง ..หากมีแต่สิ่งละอันพันละน้อยของความจริงโลดเล่นอยู่รอบๆ” นักยุคหลังทันสมัย โน้มเอียงไปทางปฏิเสธมโนทัศน์ของความจริงที่เกิดจากคติโบราณ แทนที่ด้วยความจริงเป็นความไม่คงที่ ความจริงที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา-เทศะ (ที่ว่าง) ที่ครอบครองอยู่ขณะนั้น และมุมมองที่หลากหลาย แทนที่จะค้นหามโนทัศน์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง น่าจะกลับมายินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันและไม่คงที่ของแต่ละชีวิตจะดีกว่า

ในหนังสือ ERIC Digest, Hlynka และ Yeaman (1992) เน้นประเด็นหลักๆของความคิดหลังทันสมัยไว้ง่ายๆ ดังนี้

  1. ยอมรับ มุมมองที่เป็นแบบพหุนิยมของ ความหมาย วิธีการ คุณค่า-ทั้งหมด
  2. ค้นหาความชื่นชมกับความหมายสองแง่ และการตีความโดยมีทางเลือกอื่นเสมอ หลายสิ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามและไม่ตั้งใจจริง
  3. จงวิจารณ์และไม่วางใจกับเรื่องใหญ่ๆ ที่หมายจะอธิบายความในทุกสิ่งทุกอย่างได้ นี่รวมถึงทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายทางวิทยาศาสตร์ ศรัทธาและความเชื่อตามศาสนา ชาติ วัฒนธรรม และอาชีพของเรา สำหรับเพื่อใช้เป็นการอธิบายว่าทำไมสิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่
  4. ยอมรับว่า-เพราะเป็นมุมมองแบบพหุนิยม และหลายวิถีทางของการรู้--มีความจริงอย่างมากเหลือคณานับได้

ในบทอีกหนึ่ง Hlynka และ Yeaman (1992) แนะนำ (แบบแดกดัน!) ๔ ขั้นตอนง่ายๆของการกลายเป็นนักหลังทันสมัยนิยม คือ

  1. เป็นนักวิจารณ์ แนวความคิด มโนทัศน์ และสิ่งที่ปรากฏ ที่เป็นเหมือนเช่นถ้อยคำในหนังสือทั้งหลาย และความหมายของทุกต้นฉบับในถ้อยคำเหล่านี้ ต้องเปิดให้มีการตีความได้
  2. จงมองความตรงกันข้ามของคำเช่น ดี/เลว ก้าวหน้า/ประเพณี วิทยาศาสตร์/ความเชื่องมงาย รัก/เกลียด ผู้ชาย/ผู้หญิง และ เรื่องจริง/นิยาย.
  3. "การรื้อโครงสร้าง"..deconstruct คือ ทบทวนหรือเปลี่ยนประโยคของถ้อยคำที่แสดงความตรงกันข้ามที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจริง.
  4. กำหนดถ้อยคำที่ขาดหายไป ของกลุ่มที่ไม่เป็นตัวแทนและโดนตัดทิ้งไป ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นโดยเจตนาแต่มีความสำคัญ ..(หน้า. 1-2)

ความคิดหลังทันสมัย เกิดมาจากแขนงวิชาของมนุษย์ศาสตร์ ระหว่างประเพณี-ปรัชญา วรรณคดีวิจารณ์ ศิลปะศาสตร์ สิ่งนี้ช่วยให้เห็นความแตกต่างระหว่างนักออกแบบและนักวิจารณ์หลังทันสมัยนิยม เหมือน C. P. Snow แย้งไว้ในหนังสือ The Two Cultures (1969), คนในแขนงวิชาวิทยาศาสตร์ มองเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนในแขนงวิชามนุษย์ศาสตร์ ในแขนงวิชาการออกแบบ เช่น เรื่องการเรียนการสอน เกิดจากจิตวิทยาด้านพฤติกรรมมนุษย์ วิทยาการกระบวนระบบ และทฤษฎีการจัดการ มองเห็นว่า โลกที่มองผ่านแว่นขยายของ “วิทยาศาสตร์” นักหลังทันสมัยเอนเอียงมองเห็นในสิ่งที่เป็นวิกฤต ด้วยแว่นขยายของมนุษย์ศาสตร์ เป้าหมายของศิลปินหรือนักวิจารณ์ คือ ไม่เน้นความมากมายในการอธิบาย การทำนาย การควบคุม หากแต่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ การชื่นชมปรีดา และการตีความในความหมายต่างๆ หลายปีมานี้ แนวทางหลังทันสมัยได้ขยายรวมเข้าด้วยกันของ วิทยาศาสตร์ ความเสมอภาพสตรี การศึกษา และวิทยาศาสตร์สังคม แต่ทิศทางยังคงเหลือไว้กับการตีความหมายมากกว่าการทำนายหรือควบคุมบังคับในสิ่งที่มองหาความเป็นจริงของมัน…..

ต่อไปนี้เป็นเรื่องของนักปรัชญาคุยกัน เพื่อค้นหาว่ามีแนวทางความคิดเกิดต่อจากยุคหลังทันสมัยหรือไม่….การอ่านเรื่องของปรัชญานั้น ผู้รู้บางท่านแนะว่าให้อ่านไปเรื่อยๆอย่าเอาจริงเอาจังในเรื่องคำ ประโยคของความเรียงมากนัก อ่านไปแล้ว เผอิญถ้ามันโยงเข้ากับความเข้าใจเดิมที่เรามี ก็รับเอาไว้..ไปครุ่นคิดต่อทีหลัง ถ้าไม่ได้เรื่องได้ราว ก็ผ่านไปแบบไม่รู้ไม่ชี้แล้วกัน…กระทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็จะระงับอาการงงและความปั่นป่วนในความคิดของเราได้…ก็ลองอ่านดูนะครับ

แนวคิดต่อจาก …After…ยุคหลังทันสมัย

จากเอกสารรายงานการประชุมของมหาวิทยาลัยชิคาโก (APM-After Postmodernism papers) เมื่อวันที่ ๑๔–๑๖ เดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. ๑๙๗๗ (อ่านได้จาก.. http://www.focusing.org/apm.htm)

มีแนวคิดต่อจากยุคหลังทันสมัย-จริงหรือ? ยุคหลังทันสมัยผ่านพ้นไปแล้วหรือ? คำตอบ คือ ไม่จริงทีเดียว มีความหมายซ้อนกันอย่างจงใจของคำว่า “ภายหลัง” ยุคหลังทันสมัย

"เรายังคงรักษาการวิพากวิจารณ์ความทันสมัยอยู่ แต่เราเลยไปแล้วแบบทึกทักเอาว่า ยุคหลังสมัยได้เริ่มมีการประกาศขึ้นแล้ว เราตั้งคำถามเบื้องต้นทุกคำถาม แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า “ทุกสิ่งที่แล้วมาหมดสิ้นไป”

นี่เป็นประกาศสรุปของการประชุม "APM" ที่มหาวิทยาลัยชิกคาโกจำนวน ๙๓ คน ส่วนมากเป็นนักปรัชญา กับบางคนเป็นนักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และคนอื่นๆ ร่วมกันสนทนากันว่าจะขยายความคิดที่ดูเหมือนเป็นทางเลือกที่กำหนดให้โดยยุคหลังทันสมัยกันอย่างไรกระบวนการที่เสนอไว้เป็นจริงหรือ หรือไม่มีความเป็นจริงทั้งหมดเลย

คำประกาศมีว่า…..

"ใช่ ทุกคำยืนยันเป็นจุดได้เปรียบ…(และ) คำกล่าวทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ “อภิปรัชญา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้เข้าใจว่า แต่เพราะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงทำได้ไม่มากไปกว่า… (จบ ลงที่) ย้ายจุด (ยืน) ตรงกลางเสีย อย่าเพิ่งตกลงใจ สร้างรอยแยกเข้าไว้ ไม่ต้องมีการใส่ใจ มีความสงสัย (aporia) แล้วจึงเปลี่ยนแปลงมันเสียหรือ?

ต่อจาก…ยุคหลังทันสมัย มันยังคงถูกสัญญาไว้ว่า

  1. การเล่น และ ความขบขัน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่คอยมองข้าม
  2. ความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง เรื่องเพศ และอำนาจที่เกี่ยวกับคนหมู่มาก ทำให้เกิดความประจักษ์แจ้ง
  3. การตระหนักถึงข้อสันนิษฐานที่หลากหลาย และไม่มีการรับรองทั้งหลายมาก่อน แทนที่ (เหมือนเคย) กระทำกันอย่างผิวเผิน เพื่อประโยชน์สำหรับคนที่รู้กันแล้ว

เราเพิ่งผ่านช่วงเวลาของการปฏิวัติและอิสระ ต่อการลดความสำคัญของตรรกะเบื้องต้นทั้งลาย และวิทยาศาสตร์ที่เป็นลักษณะ “วัตถุประสงค์นิยม” แต่เมื่อยุคหลังทันสมัยชื่นชมการปฏิเสธทางเลือกเหล่านี้ หุ่นยนต์ทางวิทยาศาสตร์ก็เข้ามาแทนที่ เพียงการปฏิเสธ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อสันนิษฐานและคุณค่าที่ยังคงกำหนดนโยบายทางด้านสังคมและขนบธรรมเนียมของเราอยู่ขณะนี้ ในด้านปรัชญา มันเป็นวินัยที่ยึดถือกันมา และมักเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อสันนิษฐานนั้นๆ และต้องคอยตรวจสอบด้วยว่ามันสามารถเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

หลายคนได้รวบเอาข้อเท็จจริงที่มีคำกล่าวเกี่ยวกับความคิดเก่ามาใช้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวได้ แต่นั่นเป็นการกล่าวของยุคหลังทันสมัย ที่ทำให้เราหมดโอกาสใช้วิธีและภาษาที่ใหม่สดหรือ? ปัญหาและการวิจารณ์ยุคหลังทันสมัยเป็นที่เข้าใจกันแพร่หลายในปัจจุบัน แต่หลายคนก็ไม่อยากที่จะให้ถูกยกเลิกไป ราวกับว่าคำเดิมทุกๆคำ มีความลำบากใจที่จะนำกลับมาใช้กับอภิปรัชญาเดิม มันถึงเวลาที่จะเคลื่อนจากความขบขันครึ่งๆกลางๆไปก็จริง แต่บางเวลาทั้งหมดก็เป็นจริงเกินไปสำหรับ “การโต้แย้งของยุคหลังทันสมัย” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธความจริงทุกสถานะภาพ ไม่มีแม้อย่างอื่น—ไม่มีทั้งหมดที่คงเหลือไว้ ในทางปฏิบัติ เราทั้งหมดทำได้ดีกว่านั้น

จากการสนทนาเจาะกันอย่างตรงประเด็น จุดมุ่งหมายของการประชุมไม่ใช่เพื่อการตกลงเป็นข้อสรุปร่วมกัน แต่เปิดให้เสนอความคิดใหม่ที่ขยายต่อจากยุคหลังทันสมัย หลายคน “กล่าวหา” ว่าเป็น “แค่” ยุคหลังทันสมัย มากกว่า “สืบต่อจาก” ยุคหลังทันสมัย หรือแม้แต่เป็น “ก่อน” ยุคหลังทันสมัย แต่ก็มีหลายคนร่วมเสนอโครงการที่ไปเกินจากยุคหลังทันสมัย

หลังการสัมมนาในกลุ่มย่อยอย่างแข็งขัน มีข้อสรุปตามประเด็นดังนี้…

เราไม่ได้ติดกับดักของอภิปรัชญา

ถ้านำข้อเขียนของ Heidegger’s critique มาพิจารณาเราจะพบว่า , Wittgenstein เสนอว่าแนวคิดทางอภิปรัชญา “ไม่ ควบคุมอะไรที่หมายถึงสิ่งที่เราพูด” เขาแสดงให้เห็นว่าความคิดเหล่านี้ยากที่จะเห็นประโยชน์จากคำพูดธรรมดา ในด้านปรัชญานั้น—เขาเองก็ไม่อยากกระทำในทำนองนี้เช่นเดียวกัน

.

เราไม่ต้องการใช้เพียงวิธีกล่าวเชิงนิเสทเท่านั้น

ถ้าเราดำเนินชีวิตในระบบของตรรกะ ด้วยการแยกแยะและทิ้งไว้เพียงรอยแยก ความขัดแย้ง ความสงสัย ปล่อยปะละเลย ความเหลืออด ความโศรกสลด ความสูญเสีย ช่องว่าง หรือความเปลี่ยนแปร เราก็จะไม่มีชีวิตในระบบของตรรกะ โดยไม่ต้องแยกออกเป็นส่วนๆ เราสามารถพูดได้จากสถานะภาพของความเป็นมนุษย์ที่ประณีตขึ้น—จากอะไรอื่นละที่เราจะพูดได้?

เราพัฒนาภาษาที่ข้ามเลยข้อเขียนต่างๆ

ทุกวันนี้ นักปรัชญาส่วนมากหันความสนใจกลับมาสู่ชุมชนเล็กๆ เราอาศัยเวลาเป็นปีๆที่จะรู้ใจความที่แน่ชัดของมันที่ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เราสบายใจที่จะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ Wittgenstein" (หรือ Heidegger, หรือ Peirce, หรือ บางคนที่ไม่ใช่คนพิเศษของเรา) เราสืบไปได้ช่วงหนึ่งของภาษาหรือการใช้ถ้อยคำที่ข้ามเลยเรื่องราวหรือใจความของข้อเขียน ไม่ใช่ทำมันให้เลือนลางไป หากแต่เป็นการเปิดเส้นทางของความคิดใหม่ๆ เท่านั้น

ทฤษฎีและการปฏิบัติที่เปิดให้กับแต่ละคน

พวกนิยม Heidegger พบข้อตกลงเดียวกับพวก Wittgenstein ในเรื่อง “ความสำคัญในเชิงปฏิบัติ..the primacy of the practical," ไม่ใช่ความคิดที่การปฏิบัติอยู่เหนือความคิด แต่เป็นสิ่งเตือนใจที่สำคัญว่าโดยการกระทำของเรา จะทำให้เราค้นพบตัวเองในสถานการณ์หนึ่งมากกว่าสิ่งที่นึกคิดขึ้นเอง ความนึกคิดเกิดขึ้นในทุกสถานะภาพ นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ต้องการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สรุปออกมาเป็นกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้มันไปไกลเกินกว่ายุคหลังทันสมัยแล้ว อรรถาธิบายต่างๆหนีความเป็นยุคหลังทันสมัย หรือไม่ก็ ไม่เป็นทั้งสองเรื่องทั้งของตรรกะและการตัดสินตามอำเภอใจ เราสามารถามตัวเองว่าเรารู้คำอรรถาธิบายนั้นอย่างไร และมันมีผลกับความหมายในคำพูดของเราอย่างไรบ้าง

เราค้นพบตัวเราเองนั้นได้อย่างไร? มักไกลเกินกว่าความรู้ความเข้าใจของเราจะสามารถเข้าถึงได้ มันเปิดเผยความเป็นไปได้ที่ว่า เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากแบบจำลองความคิดดั้งเดิมต่างๆ และอาจเกิดจากการนิเสธของสิ่งเหล่านั้นด้วย

กายสัมผัสมนุษย์ “รู้” ได้โดยการไปอาศัยผูกพันกับสถานการณ์และจักรวาล

ทุกๆวันเรากระทำสิ่งต่างในสถานการณ์ที่มากมายโดยไม่ได้เปิดเผยว่าจากอะไรที่กำลังทำอยู่ แต่เราสามารถสังเกตเห็นได้ใน การยุติ ความลังเลใจนิดๆหน่อยๆ—ไม่จงใจที่จะตัดสินใจ—แต่มีความกระตือรือร้นที่จะปรับกระบวนการใหม่

หลังสมัยของ Merleau-Ponty (นักปรากฏการณ์ศาสตร์) เราสามารถกล่าวได้ว่ากายสัมผัสนั้น ไม่ใช่แค่ที่ว่างด้านหลัง (และด้านหน้า) ของเราเท่านั้น หากแต่เป็นสถานการณ์โดยรอบตัวเรานั่นเอง ในทุกวันการกระทำเป็นการดูดซับประสบการณ์ ที่ช่วยสร้างเสริมความชำนาญในการกระทำเพื่อตอบสนองกับสัมผัสหนึ่งๆของสถานการณ์ของเราเสมอๆ ความรู้สึกในกายสัมผัสที่ถูกต้องนั้น จะบรรลุถึงได้ด้วยความเป็นองค์รวม…a right body-feel that completes a gestalt.

ที่ผู้เกี่ยวข้องรวบรวมความรู้ทั้งหมดที่ผ่านทางเลือกของยุคหลังสมัย มันเกินกว่าความเป็นทฤษฎี และความจงใจ ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมา เช่น… Foucault ผิดตรงที่… กายสัมผัสไม่เคย “ถูกทำลายโดยประวัติศาสตร์” มีการรู้ “จาก” กายสัมผัสมากกว่าอะไรที่ “เกิดกับ” กายสัมผัสจากบนลงล่าง

การรู้โดยกายสัมผัสอย่างไรที่เกี่ยวข้องกับการพูดและการคิด? แนวทางการตอบคำถามนี้คือ “ไม่มีสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการรู้โดยกายสัมผัสและประโยคภาษาต่างๆ แต่มีความสัมพันธ์ผิวเผินระหว่างสิ่งเหล่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการกีดกันการรู้โดยกายสัมผัสที่ลดลงได้ แต่ก็ยังสามารถมีผลต่อการปรับปรุงและนำสืบต่อไป พูดได้ว่าไม่ใช่เป็นการแสดงแทน ลอกเลียน จะเป็นได้เพียงการพรรณนาเท่านั้น

ความเป็นไปได้ของการรู้โดยกายสัมผัส และความเกี่ยวข้องกับภาษาอย่างน้อยได้แล่นผ่านการยืนยันทางเลือกของยุคหลังสมัย แม้ไม่เลยต่อไปได้ทั้งหมดก็ตาม

จริยศาสตร์ใหม่กำลังมาถึง

ค่านิยมทางสังคม จริยธรรม นำการกระทำไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปในยุคต่อจากยุคหลังทันสมัย กระบวนทัศน์แนวคุณธรรมทั้งหมดต้องถูกเปิดเผยมากขึ้น แต่ควรละความสงสัยและคุณธรรมที่แตกต่างกันไว้ก่อน เราได้ยินตัวอย่างมากมายที่ว่าค่านิยมทางสังคมและกฎเกณฑ์ ถูกกำหนดขึ้น “จาก” การปฏิบัติที่สืบต่อกันมา และจากความปรารถนาที่จะปรับปรุงการปฏิบัติเหล่านั้นให้ดีขึ้น

ความไม่พึงพอใจสามารถสร้างขึ้นจากรูปแบบและค่านิยมทางสังคมเดิมๆก็ได้ อัตราและปริมาณของ “สิ่งที่ยังไม่มีรูปแบบ” นำไปสู่ความคิดแปลกใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์ Heidegger กล่าวไว้ว่า “ความไม่พึงพอใจนี้ คือการคงความเป็นมนุษย์ไว้นั่นเอง”

ต้อนรับแบบจำลองความคิดใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือในบริบทที่กว้างขวาง

เพียงเพื่อการเหยียดหยามวิทยาศาสตร์ จะทำให้ปรัชญาอ่อนแอ ขณะที่ตรรกะทางคอมพิวเตอร์จะสร้างเผ่าพันธ์มนุษย์และสัตว์ใหม่ขึ้นเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานการลดทอนลงไม่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยการนิเสท เราต้องการแบบจำลองทางความคิดที่แตกต่างเพื่อความคิดและการศึกษาที่แตกต่างกันด้วย

สำหรับวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์นั้น เสนอรายงานที่แสดงว่ากระบวนระบบทางตรรกะทำงานได้ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะ “รวน.. crashes" และต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เพื่อที่จะ “รวน” อีกต่อไปหลังจากนั้นอีก แทนที่จะดูถูกกระบวนระบบที่เป็นรูปธรรม เราควรรวบวงจรโดยรวมเอาไว้ทั้งหมดก่อน กระบวนระบบเกิดจาก การถูกใช้ และไหลย้อนกลับในสภาพแวดล้อมที่กว้างขวางที่เกี่ยวข้องกับการงานของคนทั้งหลาย สภาพแวดล้อมคือ หลัง-และ-เสมอ-อีก-ก่อน ในเชิงโครงสร้าง

คำพูดในความหมายใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ได้ถูกแนะให้เป็นคำรวมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งโลกทางวิทยาศาสตร์และโลกแห่งชีวิต ยุคหลังทันสมัยผิดตรงที่ขัดขวางแบบจำลองทางความคิดเหล่านี้ เราจึงติดกับดักของแบบจำลองวิทยาศาสตร์ทางวัตถุประสงค์นิยม และเป็นสิ่งใหญ่โตเพียงอย่างเดียว เราต้องการแบบจำลองอื่นอีกมากมาย เพื่อที่จะไม่ติดกับดักในแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

ความจริง และวัตถุนิยม อย่างชนิดใหม่

คำกล่าวทั่วไปที่ว่า “ความจริง” และ “วัตถุนิยม” เป็นเรื่องกำกวมและสงสัยกันมาโดยตลอด – แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ความจริงและวัตถุนิยม ไม่มี เพียงแต่มันต้องการมากกว่า—ต้องการความสมบูรณ์ครบครันจากอะไรเพื่อการดำรงชีวิตสืบไป ก่อนที่จะสามารถเลือกความหลากหลายของกิจกรรมที่พึงกระทำ

แทนที่เป็นพหุนิยมที่เราสามารถสร้างสรรค์ในลักษณะของ “ความซับซ้อนของความจริงที่มากมาย” เท่านั้น มันเกี่ยวข้องถึงความต้องการและการนำทางที่ไม่เกิดความหลงผิดในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยการประยุกต์ใช้ที่มากมายคล้องจองกันได้กับสภาพการณ์เฉพาะในขณะนั้นด้วย

ไม่มีการกำหนด จากบนลงล่าง โดยเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือภาษา

มนุษย์อยู่ไม่ได้โดยปราศจากวัฒนธรรม แต่นี่ไม่ได้หมายความว่ามี“กำพืด” มาจากมัน สถานการณ์รอบตัวเรา (ประสบการณ์ การปฏิบัติ การพบปะกัน…) เป็นสิ่งไกลเกินกว่าความมีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษา

ยุคหลังสมัยปฏิเสธการลดทอนทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็บ่อยครั้งที่ประมาณเอาเองใน “การลดทอนทางวัฒนธรรม” วัฒนธรรมถูกใช้อย่างผิดๆในแง่ “คำที่ครอบงำ.. master term”

"วัฒนธรรม" คือ “การสร้างขึ้น” โดยคนนอกที่พยายามมองหา รูปแบบ/โครงสร้าง/ความหมายที่ตนเองไม่คุ้นเคย นั่นเอง

การเริ่มต้นด้วยความสามารถตามสิ่งที่มีอยู่ของวัฒนธรรมและสิ่งที่มากกว่านั้น

แต่ละวัฒนธรรมมีมิติการปรับปรุงในสิ่งที่วัฒนธรรมอื่นยังค้นหาไม่เจอทั้งหมดเป็นไปได้ที่เป็นการเกิดขึ้นใหม่

สาธกหนึ่งรายงานว่า “ความหายนะ” เกิดขึ้นเมื่อมีความพยายามที่จะประยุกต์แนวคิดแบบเครื่องจักรกล (อย่างเคร่งครัด) ของ “วัฒนธรรมอื่น” มาใช้กับคนในวัฒนธรรมของตน เราสามารถเข้าใจคนในวัฒนธรรมอื่นเมื่อเรายอมพบปะและพูดคุยกันด้วยประสบการณ์ของเขามากกว่าของเรา เป็นการเกี่ยวข้องผ่านในรูปแบบของกลุ่มที่เราไม่ได้รวบเอามารวมไว้ด้วยกัน

ทุกวันนี้ คำปฏิเสธความเป็นธรรมชาติของมนุษย์สากล ดีกว่าในยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก ซึ่งขณะนั้นอาจไม่มี “รูปแบบเป็นสากล” ก็ได้ มีความเป็นสากลได้นั้นก็คือ “ความเข้าใจวัฒนธรรมที่ต่างกัน… CROSS-CULTURAL UNDERSTANDING” เท่านั้น การแตกต่างกันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของตนและของผู้อื่นได้ละเอียดยิ่งขึ้น ประสบการณ์จากวัฒนธรรมต่างกันนี้ ช่วยเปิดเส้นทางของความคิดใหม่ และความเข้าใจบางสิ่งในลักษณะต่างกันและพร้อมที่จะต่างกันยิ่งขึ้นอีกต่อๆไป

มันเป็นสิ่งผิดที่กล่าวว่าเราไม่สามารถพูดด้วยตนเองได้โดยไม่ยึดเอาความคิดเดิมของ “หัวข้อรื่อง” นั้น

บางส่วนถือเอาความเห็นของพวกยุคหลังทันสมัย ที่ว่า เมื่อไม่มีหัวข้อเรื่อง ตนเองก็กลายเป็นผู้บรรยายที่อ่อนเปลี้ย เขาเน้นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้นไม่คงที่หรือไม่มีอยู่จริงเสมอ จะเกี่ยวกับอะไรที่ “เคยเป็น” หรือ “เป็นอยู่” นั้นขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นแปลความหมายอย่างไร และคนๆนั้นเจรจาและแสดงบทบาทต่อๆไปอย่างไรด้วย

อีกความเห็นที่ว่าเหตุการณ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถแสดงความหมายได้อย่างแน่นอน ทำได้เพียงอ้างถึงสิ่งตรงกันข้าม รู้ได้จากอดีตและรู้อะไรที่กำลังเป็นอยู่ขณะนั้น สำหรับความหมายนั้นเป็นบางสิ่งที่คนๆนั้น “เพิ่มเติม” เข้าไปด้วยประสบการณ์โดยไม่รู้ตัว

เราต่างเข้าไปเกี่ยวพันการสนทนากันว่า – สิ่งที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกันกับสิ่งอื่นๆ และเกี่ยวข้องมากไปอีกกับตัวเราเองจนเหนือการควบคุมของเราได้ ในการสนทนา มีสิ่งที่เกิดขึ้นมากจากตัวเรา มากกว่าสิ่งที่เรา “มีอยู่ใน” ตัวเราเสียอีก

เรามองไปที่ข้อเขียนหรือเรื่องราวต่างๆในสิ่งที่เราต้องการและจะนำไปใช้ มีปรากฎการณ์และกระบวนทัศน์มากมายที่สามารถสืบต่อจากยุคหลังทันสมัยได้

ก่อนยุคหลังทันสมัย ข้อเขียนทางปรัชญาหลายเรื่อง ถูกอ่านด้วยความพยายามที่จะเห็นเป็นระบบหรือโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกัน บางคนรู้สึกทำให้อับอายโดย Dewey ในเรื่องคุณค่าที่ “ขาดหาย” ไปมากกว่าการมีขึ้นของเรื่องขบวนการ บางคนกลับเน้นที่ “วิธีการสืบค้นสากล” ของเขาเป็นการทดแทนกัน คนส่วนมากปกป้องปรากฏการณ์เพื่อให้เป็น “การพรรณนาที่บริสุทธิ์ชัดแจ้ง” สำหรับยุคหลังทันสมัยแล้ว บางคนรื้อจัดโครงสร้างของข้อเขียนใหม่ในขณะที่กำลังอ่านมัน

มีบางสิ่งเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เมื่อบางคนมองไปที่ข้อเขียนเหล่านี้ไม่เป็นแบบระบบปิด แต่เห็นว่านักปรัชญาที่เขียนเรื่องเหล่านั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับปริมณฑลที่เปิดรอไว้เสมอ เราพบว่าเขาไม่เพียงแต่ตระหนักในเรื่องนี้ แต่ “เป็นสิ่งที่เขาเอาใจใส่เป็นสำคัญ” ทีเดียว ไกลเกินกว่าที่จะถูกขุดค้นพบโดยยุคหลังทันสมัย รูปการณ์ทางปรัชญาเหล่านี้สามารถทำให้เราเคลื่อนและก้าวข้ามเลยไปได้

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ศาสตร์และกระบวนทัศน์นั้น เราพิจารณาขั้นตอนสามลักษณะของ Peirce ซึ่งบางทีทำให้เราเคลื่อนเลยไปจากกับดักของยุคหลังทันสมัยได้อีก เหมือนเครื่องส่งสัญญาณรับสัญญาณได้แล้ว ในเรื่องปรากฏการณ์ศาสตร์กล่าวไว้ว่า คำกล่าวอ้างใดๆไม่มีความเท่าเทียมกันกับประสบการณ์ ปรากฏการณ์ สถานการณ์ การปฏิบัติ เหตุการณ์…แนวคิดใหม่ของปรากฏการณ์ศาสตร์สามารถครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ จริงที่เดียวที่เพียงปรากฏการณ์ศาสตร์ก็สามารถเปิดเผยในลักษณะที่ประสบการณ์นั้นถูกสืบต่อด้วยคำพูดได้อย่างไร และให้ความคุ้นเคยกับเรา “ทั้งหมด” ด้วยความสัมพันธ์ในวงกว้างระหว่างประสบการณ์และคำกล่าวหรือถ้อยแถลงนั้นๆ

นี่ไม่ใช่การปฏิวัติซ้อนต่อยุคหลังทันสมัย มันเป็นการสืบเนื่องของการปฏิวัติที่กำลังเกิดขึ้น การสนทนา (ในการประชุมครั้งนี้) นั้นไม่ซับซ้อน ไม่เหมือนชื่อเรื่อง (APM) ในรายงานที่นำเสนอ บางรายละเอียดอาจให้ประเด็นที่เป็นไปได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่นความจำเป็นที่ต้องข้ามเลยภาษาออกไป เราต้องกล่าวว่าเป็น “การเปิดโปง”—คำเดียวที่เข้าใจได้เพียง Heidegger หรือ? เราไม่สามารถ..เป็นเหมือนอย่าง Wittgenstein และ Heidegger ใช้คำใหม่สดขณะนี้กับคำว่า “เปิดโปง..disclosure” ในหลายๆวิธี (ตามแต่กรณีเป็นรายๆไป) โดยการเปิดเผยซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้า ความคิดใหม่ การค้นพบ หรือการเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรง ได้หรือไม่? เมื่อเป็นที่เข้าใจ การเปิดเผยสำหรับคำว่า “เปิดโปง” สามารถระลึกถึงลักษณะงานทางปรัชญาได้เลย และแล้วคำว่า “ปรัชญา” สามารถนำความหมายเดิมกลับมาใช้ได้อีก อย่างที่บางคนกล่าวว่า การขุดคุ้ยกระบวนทัศน์ใต้จิตสำนึก “จะคงดำเนินต่อไป—โดยเพียงวิชาปรัชญาทำได้แค่นั้นเอง”

จำนวนผู้นิยมปรัชญาของ Wittgenstein เพิ่มจำนวนผู้นิยมโดยกลุ่ม Heideggerians มีหลายคนที่หยุดความคิดไปหลายปีระหว่างนั้นดูเหมือนว่า Wittgenstein คล้อยตามความคิดของนักปรัชญาแยกแยะ บางคน ถึงกลับไม่ยอมขัดขวางการรื้อฟื้น “รูปลักษณ์ของการวิเคราะห์” ขึ้นมา แต่ตัว Wittgenstein เองไม่ชอบที่เขาเองถูกเข้าใจผิดโดย Russell และสานุศิษย์ ว่าเขาสอนล่วงการก้าวข้ามเครื่องแบ่งกั้น

บางครั้ง Wittgenstein แสดงการใช้คำๆเดียวในความหมายแปลกๆจำนวนเป็นโหลๆ—ด้วยความหมายที่ชัดเจนและใหม่ เกิดจากการนำไปใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่เคยมีแนวคิด (ทางอภิปรัชญาและที่อื่น) ที่ถือเอาความหมายของคำต่างๆ คำเหล่านั้นหมายถึงผลที่กล่าวไว้—ในสถานการณ์—และที่ตรงนั้นมันสามารถหมายถึง “สิ่งนั้นๆในทุกชนิด” (ตามที่เคยกล่าวกัน) ไม่ใช่แค่ความหมายทั่วไปที่เคยใช้ ในเรื่องนี้แม้นักปรัชญาหลายคนสามารถเอาชนะแนวคิดเดิมของอภิปรัชญา ซึ่งไม่เคยบังคับในเรื่องความหมายของคำ เราอาจหลงไปเองกับความหมายทางอภิปรัชญา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้”เอาเสียเลย

อ้างถึงการรับรู้โดยกายสัมผัสนั้น บางคนอาจโต้แย้งว่ามนุษย์นั้นเป็นผลผลิตของสัตว์และพืชพันธ์—สรรพสิ่งที่มีชีวิตและตัวตนจัดการขบวนการของขั้นตอนชีวิตต่อไปด้วยตัวมันเอง กระบวนการของระบบจัดการตนเองนี้ เกี่ยวข้องกับส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ทีเดียว

มันเคยถูกตั้งคำถามว่า กายสัมผัสเชื่อมกันกับจักรวาลโดยตรงได้อย่างไร? โลกทางวัฒนธรรม ความเชื่อโบราณ และสิ่งศักดิ์สิทธ์ สามารถทำความเข้าใจร่วมกันและขยายผลต่อไปได้ ความเชื่องมงายและนิยายเทวะ เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน แล้วนิยายเทวะก็แยกออกมากลายเป็นตำนานของภาษา

เดี๋ยวนี้มีคำที่ใช้แพร่หลาย “การฝึกฝน..training” เรียกเป็น “การเพ่งรวมจุด..focusing” ซึ่งนำไปใช้ในการสอนปรัชญากับบางคนที่จะเชื่อมกันกับการรับรู้โดยกายสัมผัสได้อย่างไร? จะพบความมีสติที่มั่นคงและตรงกันข้ามกับการประจักษ์แจ้งอย่างไร? และจะบอกได้อย่างไร? เมื่อความมีสตินั้นดำเนินต่อไป หรือหยุดลงแล้ว การนึกได้โดยปัจจุบันทันด่วนถูกยกมาเป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง ในเรื่องดนตรีแจ๊สแสดงให้เห็นโครงสร้างที่คงที่ (ด้วยเสียงเพลงที่เข้ากัน) สามารถทำให้เกิดอำนาจการเคลื่อนตัวที่สร้างสรรค์มากกว่าการหยุดยั้งมันไว้ การนึกได้อย่างปัจจุบันทันด่วนในกลุ่มยังแสดงให้เห็นการสัมพันธ์แก่กันและกันในทันทีทันใดและเราสามารถผลิตมันขึ้นมาได้

การคงไว้ของการเล่นและความขบขันของยุคหลังทันสมัย ไม่ได้ถูกรักษาไว้อย่างดีนัก คนเราส่วนมากเคร่งขรึมกัน ซึ่งการเล่นนั้นบางคนเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้โดยกายสัมผัส อาจชี้ให้เห็นว่าสัตว์ก็เล่นเช่นกัน “ลองเฝ้าดูซิ มันยอกล้อกันและกัน—ท่านอาจสงสัยว่ามันกำลังทำอะไรกันอยู่นี่? ร่องรอยความยินดีปรีดาปรากฏที่ใบหน้าของมัน ก็อาจกล่าวได้เลยว่า “มันกำลังทำเรื่องน่าอาย..เรื่องห้าแต้มออกมาแล้ว”

ในส่วนของวิทยาศาสตร์และตรรกะ อาจกล่าวได้ว่าเรากำลังอ่อนล้ากับการขุดคุ้ยเรื่องราวเก่าๆของวัตถุนิยม เพียงมาวิจารณ์ มาเยาะเย้ย หาความสัมพันธ์ มองค่อนไปทาง “การรวมตัวกันใหม่” ของปรัชญาวิทยาศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์เอง

กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ (ทุกกิจกรรม) เกิดขึ้นในกาลเวลาปัจจุบันขณะนั้น นี่เป็นการจัดการเองซึ่งไม่เคยเป็นวัตถุประสงค์สมบูรณ์ในความคิดธรรมดาตอนนั้น มีผู้มีส่วนร่วมการสัมมนาสามคน กำลังศึกษาแบบจำลองใหม่ของเวลาหลายๆแบบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการลดทอนหรือแม้แต่มุ่งความสำเร็จ ให้เห็นกันได้โจ่งแจ้ง เป็นแค่ระบบเส้นตรงแทนเรื่องเวลา

ที่ว่างรอบตัวและเวลา เป็นความสมดุลที่จบสิ้น และบ่อยครั้งถูกอธิบายในลักษณะของตัวเลขและแบบมิติ (แบบหนึ่งมิติ แบบสองมิติ Linear or Non-Linear..และอื่นๆ) การรวมกันของการแยกความสมดุลป์และการสร้างความสมดุล ทำให้เกิดความน่าฉงนโดยจบลงที่ตัวเลขทางมิติเป็นจำนวนเต็มและเปิดเผยจุดต่อเชื่อมทางมิติที่สร้างเป็นเหตุการณ์หนึ่งๆเกิดขึ้นมา

ผลเชิงประจักษ์ขึ้นอยู่กับสมมติฐาน—ไม่ใช่ทั้งหมด แต่รวมบางสิ่งที่ตอบสนองด้วย—และมากด้วยความเที่ยงตรงเท่าที่เราได้มา ธรรมชาติมีระเบียบที่ประนีตกว่าที่จะเข้าใจได้ด้วยระบบทางความคิดเดียว มันค่อนไปทาง “ระเบียบการตอบสนองกลับ” ซึ่งสม่ำเสมอแต่ตอบสนองแตกต่างกันในแต่ละความแตกต่างของขั้นตอนทั้งหลาย

แนวคิดนี้สามารถเป็นการบันทึกใหม่ของการค้นพบเชิงประจักษ์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่วิกฤต ดีกว่าใช้การปฏิเสธลมๆแล้งของยุคหลังสมัยที่ไม่เชื่อถือในวิทยาศาสตร์แบบสังเกตการณ์เดิมๆ วิทยาการสามารถเป็นเครื่องวัดสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมในการพิสูจน์ได้สูงขึ้น รวมไปถึงความละเอียดในเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคม เพื่อสร้างงานค้นคว้าเกี่ยวกับผลกระทบความเป็นมนุษย์กับการประยุกต์ใช้ของวิทยาการใหม่ (ซึ่งเดี๋ยวนี้ทำกันอย่างหลวมๆขาดการเอาใจใส่จริงจัง ไม่ตรงตามขั้นตอน) และการค้นพบเดี๋ยวนี้กลับไปที่ “การค้นคว้าขั้นพื้นฐาน” ด้วยทุนอุดหนุนที่มากมายจากหลายบรรษัท แต่นโยบายทางด้านสังคมยังเป็นเรื่องของ “วิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน” โดยไม่รู้ว่าการประยุกต์ใช้นั้นจะเป็นลักษณะใด ..อย่าว่าแต่จะทราบผลกระทบของประชาชนโดยรวมนั้นเป็นอย่างไรได้เลย

มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะยกเลิกการลดทอนกระบวนการของมนุษย์เพื่อ “ความสมบูรณ์ ตรงตามวัตถุประสงค์ชัดเจน” ตามคำที่ใช้กันในวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน แต่ยังคงยึดถือวิทยาศาสตร์และตรรกะต่อไป—ไม่ใช่ลักษณะตัวแทน แต่เป็นแค่เพียงการตระหนักถึงความเป็นเครื่องมือเฉพาะเท่านั้นเอง.

เป็นไงบ้าง…มันดูเหมือนจะมีแนวคิดเรื่อง ดีคอนสตรั๊คชั่น แฝงอยู่ในแนวทางต่อจาก โพสท์โมเดิร์น อยู่เหมือนกัน หากเป็นมโนทัศน์ที่ได้รับแบบเลือนลาง พร่าๆมัวๆอยู่มาก เห็นต้อง..ติดตามศึกษาแนวคิดใหม่ๆพวกนี้ต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งแนวคิดของ Deconstruction กำลังโชติช่วงชัชวาลในงานออกแบบของสถาปนิกสำคัญสองคน คือ Peter Eisenman และ Bernard Tschumi …ที่น่าติดตาม …น่าติดตามจริงๆ

 

 

วันศุกร์, ตุลาคม 01, 2564

Dedicated to My teacher

 


About Louis I Kahn

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551
The Notebooks&Drawings of Louis I Kahn
From..the notebooks and drawings of Louis I. Kahn
Edited and Designed by
Richard Saul Wurman and Eugene Feldman,1962

Natural light...แสงธรรมชาติ

ที่ว่าง..จะปราศจากคุณค่าในแง่สถานที่ทางสถาปัตยกรรม หากไม่มีแสงธรรมชาติสาดส่อง ส่วนแสงประดิษฐ์นั้้้น เป็นแค่เพียงแสงสว่างในยามค่ำคืนที่สาดมาจากโคมไฟที่ติดตั้งไว้ในตำแหน่งถาวร เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับแสงธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดวัน

สถานที่..ทางเข้า ช่องทางเดิน แตกแขนงมาจากการกระจายตัวของแสง ทางเข้าที่คุ้นเคย เกิดได้กับที่ว่างที่มีีองค์ประกอบของรูปทรงสัมพันธ์เป็นสถาปัตยกรรมอันอิสระ ที่ว่างทางสถาปัตยกรรมนี้ สำคัญเที่ยบเท่าที่ว่างหลัก แม้ว่าที่ว่างเหล่านี้จะถูกออกแบบเพียงแค่ทางผ่าน แต่ก็ต้องออกแบบให้ได้แสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง

สถาปัตยกรรมของความเกี่ยวพันกันเช่นนี้ จะไม่ปรากฏในโปรแกรมความต้องการเรื่องพื้นที่ ซึ่งสถาปนิกนำเสนอต่อลูกค้า หรือแม้ขณะค้นหาความเหมาะสมอื่นทางการใช้สอยสถาปัตยกรรม หรือแม้ขณะกำลังกำหนดทิศทางการออกแบบก็ตาม

ลูกค้าถามหาพื้นที่ ในขณะที่สถาปนิกต้องเสนอคำตอบของที่ว่าง
ลูกค้าคิดถึงทางเดินผ่านอยู่ในใจ สถาปนิกต้องค้นหาเหตุผลเพื่อให้เป็นซุ้มทางเดินที่น่าสนใจใคร่อยากเดิน
ลูกค้าให้งบประมาณ สถาปนิกต้องตอบสนองด้วยความเหมาะสมหรือคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
ลูกค้าพูดถึงห้องแรกรับ สถาปนิกต้องเพิ่มคุณค่าห้องทางเข้านี้ให้เป็นสถานที่ทรงอำนาจและมีความสง่างาม

สถาปัตยกรรมนั้้น เกี่ยวข้องกับที่ว่าง ซึ่งเกิดจากความช่างคิดและมีความหมาย ที่ว่างทางสถาปัตยกรรม เป็นที่ซึ่งโครงสร้างปรากฏให้เห็นในที่ว่างนั้นด้วยตัวของมันเอง โครงสร้างช่วงกว้างแม้เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดก็ไม่ควรขัดขวางการแบ่งกั้นภายใน ศิลปะทางสถาปัตยกรรมเกิดขึ้นจากตัวอย่างของที่ว่างซ้อนทับกันในที่ว่างด้วยกัน โดยปราศจากการเสแสร้งหลอกลวง แต่สำหรับกำแพงที่แบ่งกั้นที่ว่างใต้หลังคาโดม จะทำลายจิตวิญญานของความเป็นโดม เพราะโครงสร้างโดมที่ออกแบบนั้น ถูกกำหนดโดยแสงที่สาดส่องภายใน จากช่องโค้งใต้คาน ทรงกลมของโดมและเสารองรับรวมตัวกันเป็นโครงสร้างที่สอดคล้องกับลักษณะของการรับแสงธรรมชาติ

แสงธรรมชาติสนองให้เกิดอารมณ์ของที่ว่างด้วยความละมุนของลำแสงที่ผันแปรเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาของวัน แต่ละช่วงฤดูของปี อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของที่ว่างตลอดเวลาในที่สุด

About..The realm of Architecture

วันหนึ่ง..ขณะที่ยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้ากำลังลอกภาพวาดของนโปเลียน ตาข้างซ้ายของนโปเลียนในภาพสร้างความลำบากให้มากๆ ข้าพเจ้าต้องลบออกแล้วเขียนใหม่อยู่หลายครั้งก็ย้งไมเป็นที่่พอใจสักที ทันใดนั้นเอง บิดาข้าพเจ้าโน้มตัวลงช่วยเขียนแก้ไขให้ด้วยความสงสาร หลังจากนั้น ข้าพเจ้าก็ขยำภาพวาดนั้นขว้างทิ้งไปกลางห้องพร้อมกับดินสอทันที กับตะโกนตามไปว่า "นี่..ไม่ใช่ภาพวาดของข้าพเจ้าอีกต่อไปแล้ว..ไม่ใช่อีกแล้ว" เพราะ คนสองคนไม่สามารถร่วมเขียนภาพเดียวกันได้เด็ดขาด และ ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนที่มีความชำนาญในการลอกเลียนภาพวาดควรได้รับการตรวจสอบแก้ไขจากศิลปินเจ้าของภาพต้นฉบับเองเท่านั้น

ความอิ่มเอิบใจอย่างแท้จริงอันเกิดมาจากการเขียนภาพ มีลักษณะและคุณภาพเฉพาะในตัวของมันเอง ซึ่งผู้ลอกเลียนไม่สามารถเลียนแบบได้เลย นามธรรมเฉพาะตนกับ ความสอดคล้องระหว่างเรื่องราวและความคิด ก็ไม่สามารถลอกเลียนกันได้เช่นเดียวกัน

Albi ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ปัจจุบัน ข้าพจ้ารู้สึกถึงความเชื่อในการเลือกเฟ้นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของมัน พร้อมกับความปิติและตื่นตาตื่นใจหลอมรวมกันขึ้นในตอนเริ่มต้นของการทำงานจวบจนกระทั่งงานนั้นเสร็จสิ้น ข้าพจ้าเขียนรูปของ St.Cecile Cathedral, Albi จากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนบน ราวกับว่าข้าพเจ้ากำลังก่อสร้างมัน ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอิบใจจริงๆ แม้ความอดทนในการก่อสร้างไม่มีใครพึงต้องการ แต่ข้าพเจ้าก็วาดมันโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายทั้งๆที่ต้องคอยแก้ไขสัดส่วนเพื่อความถูกต้องเลย เพราะข้าพเจ้าต้องการค้นหาเพื่อสัมผัสความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นในใจของสถาปนิกขณะนั้น

เสมอเหมือนการจดบันทึกทางดนตรี ที่เป็นการแสดงออกของโครงสร้างและท่วงทำนองเพื่อการได้ยิน แบบแปลนคือการให้คะแนน หรือการเขียนเพลงสำหรับเครื่องเล่นเฉพาะ เปิดเผยโครงสร้างและองค์ประกอบของที่ว่างท่ามกลางแสงธรรมชาติ แบบแปลนสะท้อนข้อจำกัดของรูปทรงทางสถาปัตยกรรม ในขณะที่รูปทรงเป็นความคล้องจองกันของระบบ เป็นตัวขับเคลื่อนในการออกแบบทางเลือก แบบแปลนจึงเป็นการเผยอุบัติกาลของรูปทรงทางสถาปัตยกรรม

สำหรับสถาปนิกแล้วสรรพสิ่งในโลกปรากฏอยู่ในบริบทหรืออาณาจักรของสถาปัตยกรรม เมื่อเขาเดินผ่านต้นไม้เขาไม่ได้เห็นในบทของนักพฤษศาสตร์ แต่เห็นในแง่ความสัมพันธ์กับตัวตนของเขา เขาวาดภาพต้นไม้ในลักษณะที่เขาจินตนาการว่ามันกำลังงอกงาม เพราะเขาคิดถึงการเจริญเติบโตของมัน ทุกๆกิจกรรมของมนุษย์เกี่ยวข้องกับโลกเป็นตัวตนของเขาแต่ละคน มีการเชื่อมโยงกิจกรรมของคนอื่นๆกับกิจกรรมเฉพาะของตนเอง

สองสามปีมาแล้ว ตอนที่ข้าพเจ้าไปเที่ยว Careassonne ชั่วขณะที่เดินผ่านประตูทางเข้า ข้าพเจ้าเริ่มเขียนบันทึกด้วยการวาดภาพ เพราะจากจินตภาพ จะทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากความฝันที่เป็นจริงต่อมา เพราะข้าพเจ้าเริ่มศึกษาจากความทรงจำนี้ในเรื่องเส้นสาย สัดส่วนและรายละเอียดที่มีชีวิตชีวาของอาคารยิ่งใหญ่เหล่านั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาแทบทั้งวันอยู่ที่บริเวณลานโล่งตรงกลาง ตามแนวป้อมกำแพงป้องกันภัยโดยรอบและตามหอคอยต่างๆ โดยไม่ใส่ใจเรื่องสัดส่วนที่เหมาะสมและเรื่องรายละเอียดที่ชัดเจนนัก ขณะใกล้หมดวัน ข้าพเจ้าจึงลองกำหนดรูปร่างและการจัดวางอาคารต่างๆขึ้นมาใหม่ในความสัมพันธ์ที่แตกต่างจากของเดิม

พวกบรรณาธิการของนิตยสารทั้งหลาย มักเลือกเอาภาพร่างในสองสามโครงการณ์ เลือกทุกอันที่ให้อารมณ์และมีพัฒนาการแทนที่จะคัดเอาแต่เพียงแบบของโครงการณ์ใหญ่ๆ การเลือกทำนองนี้ทำให้สถาปนิกใหม่เหมือนนักเขียนหรือจิตกรกับกระดาษที่ว่างเปล่า ซึ่งเขาสามารถบันทึกทุกขั้นตอนในการพัฒนาหรือปรับปรุงในสิ่งที่เขาต้องการทำให้เกิดขึ้น

สมุดวาดภาพของจิตกร นักปฏิมากร หรือสถาปนิก ควรมีความแตกต่างกัน จิตกรร่างภาพเพื่อวาด ปฏิมากรร่างภาพเพื่อปั้น ส่วนสถาปนิกเขียนแบบหรือวาดภาพเพื่อการก่อสร้างมันในที่สุด

About...the Pantheon

อ้างถึงอาคาร Pantheon ในกรุงโรม ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งอาคารที่ยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่มีหลายแง่มุม แง่หนึ่งมันเป็นสิ่งสะท้อนของความเชื่อและความเห็นที่มั่นคงบนอาคารเพื่ออุทิศให้กับศาสนาและที่ว่างทางพิธีกรรมที่อิสระ สะท้อนความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจน มันนำเสนอความเชื่อของผู้นำที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในการออกแบบทีว่างแบบโดมที่ไร้ทิศทาง ราวกับว่าสถาปัตยกรรมถูกแสดงออกเป็นโลกที่ซ้อนอยู่ในโลกใบใหญ่ของเรา มันสะท้อนออกมาได้อย่างดี ด้วยการปรับแต่งอย่างประนีตในรูปช่องแสงกลมหนึ่งเดียวตรงกลางบนสุดของโดม อาคารนี้ไม่มีต้นแบบ สิ่งเร้าของมันชัดเจนและเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อและพลังของ "ความต้องการเป็น" ให้แรงบันดาลใจในการออกแบบเท่าๆกับแรงปรารถนาในรูปทรงของมัน

ทุกวันนี้ อาคารต้องการบรรยากาศของความเชื่อจากสถาปนิกในงานออกแบบ ความเชื่อสามารถเกิดจากความตระหนักที่ว่า สถาบันใหม่ๆต้องการที่จะเกิดขึ้นและแสดงออกมาให้เห็นได้ในรูปที่ว่าง ความเชื่อใหม่ๆมาพร้อมความเป็นสถาบันใหม่ๆที่ต้องการแสดงออกถึงที่ว่างใหม่และความสัมพันธ์ใหม่ๆ ความรู้แจ้งในสถาปัตยกรรมแสดงออกในแง่ความเป็นสถาบันที่มีรูปทรงเฉพาะเป็นพิเศษเป็นต้นแบบใหม่ เป็นการเริ่มต้นใหม่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าความงามสามารถสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระและเสรี ความงามก่อเกิดออกมาจากความประสงค์ที่ต้องการจะเป็น ซึ่งอาจเกิดจากการแสดงออกมาครั้งแรกๆในลักษณะโบราณสุดๆ เปรียบเทียบกันได้ระหว่าง Paestum กับ Parthenon ความโบราณของ Paestum เป็นการเริ่มต้น มันเป็นช่วงเวลาเมื่อกำแพงผ่านเลยไป และเสากลายเป็นเสมือนดนตรีเข้ามาบรรเลงในงานสถาปัตยกรรม

Paestumให้แรงบันดาลใจแก่ Parthenon ซี่งได้รับการพิจารณาว่ามีความสวยงามกว่า แม้ว่า Paestum ยังคงความสวยงามสำหรับข้าพเจ้าอยู่ก็ตาม เพราะมันนำเสนอการริเริ่มในสิ่งที่รวมความประหลาดใจเข้าไว้ และตามด้วยความตื่นตัวอยู่เสมอ องค์ประกอบใหม่ของเสา เป็นเสมือนตัวจังหวะของการปิดล้อมและเปิดของที่ว่างให้ความรู้สึกของการเข้าถึงที่ว่างนั้นๆ มันเป็นเสมือนที่เก็บจิตวิญญาณของสถาปัตยกรรม หรือความเชื่อในศาสนาซึ่งมีอิทธิพลกับสถาปัตยกรรมของเราในปัจจุบัน

About..Structure of Building

ในยุคโกธิค สถาปัตยกรรมสร้างด้วยหินก้อนตัน ปัจจุบันสถาปนิกสามารถสร้างมันด้วยหินก้อนกลวง ที่ว่างโดนกำหนดด้วยองค์ประกอบของโครงสร้างที่แต่ละชิ้นส่วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขนาดของที่ว่างไล่เรียงเริ่มจากช่องว่างทีปิดทับด้วยแผ่นฉนวน ช่องอากาศเพื่อให้แสงสว่าง และความร้อนพัดผ่าน จนมีขนาดช่องว่างที่ใหญ่ขึ้นพอให้คนเดินผ่านหรือพักอาศัยได้ แรงปรารถนาที่แสดงออกมาของช่องว่าง เกิดจากการออกแบบโครงสร้างบนพื้นฐานความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และการทำงานที่มีพัฒนาการจนนำไปสู่โครงสร้างชนิดประสานกัน รูปทรงที่ถูกนำมาใช้ทดลองมาจากความรู้ที่ใกล้ชิดธรรมชาติและมาจากการคิดค้นบนหลักการที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

การออกแบบจนกลายเป็นนิสัยนำไปสู่การปกปิดโครงสร้างจนไม่มีที่สำหรับอ้างถึงกฏเกณฑ์อีกต่อไป นิสัยเช่นนี้ทำให้พัฒนาการของศิลปะกลายเป็นเรื่องปัญญาอ่อน ข้าพเจ้าเชื่อว่าสถาปัตยกรรมเหมือนศิลปะทั้งหลายทั้งปวง ศิลปินมักใช้สัณชาตญาณเป็นการรักษาไว้ถึงร่องรอยซึ่งจะบ่งบอกว่ามันถูกสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไร

ในความรู้สึกของข้าพเจ้า สถาปัตยกรรมปัจจุบันกลับต้องการการแต่งเติมให้มีส่วนส่งเสริมความพอใจของเราเพื่อการมองเห็น จนปิดบังขบวนการรวมตัวของชิ้นส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน โครงสร้างมักถูกแบ่งแยกไว้เพื่อสนองงานระบบที่จำเป็นสำหรับห้องหรือที่ว่างต่างๆ เพดานมักปิดซ่อนโครงสร้างให้ลดขนาดหรือสัดส่วนลงไป ถ้าเราฝึกให้เขียนแบบเหมือนว่าเรากำลังก่อสร้างจากส่วนล่างขึ้นไปยังส่วนบน ในตำแหน่งเมื่อเราหยุดดินสอเขียนมันจะกลายเป็นเครื่องหมายของจุดต่อเชื่อมการก่อสร้าง ส่วนประดับตกแต่งก็จะเกิดขึ้นตรงนี้บ่งแสดงออกถึงกรรมวิธีการสร้าง และยังมีความจำเป็นต้องปิดซ่อนที่มาของแสงสว่างและท่ออุปกรณ์ต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ของงานระบบที่ปะไว้กับโครงสร้าง ดังนั้น ความรู้สึกถึงโครสร้างและที่ว่างเพื่อตอบสนองกันอย่างไรก็พลอยสูญหายไปด้วย แรงปรารถนาเพื่อแสดงออกว่ามันถูกทำขึ้นมาได้อย่างไรมักโดนบดบังผ่านกระบวนการก่อสร้าง ผ่านต่อถึงสถาปนิก วิศวกร ช่างก่อสร้าง และช่างศิลป์ทั้งหลาย

About..Beginning

เริ่มกันในยุคของความเชื่อเรื่องรูปทรง

การออกแบบ...เป็นเครื่องชี้ชัดสนองความเชื่อเรื่องดังกล่าว

การก่อสร้าง... คือกิจกรรมที่เกิดจากการกำหนดระบบและกฏเกณฑ์ แต่เมื่องานเสร็จสิ้นลง จุดเริ่มต้นควรสามารถหวลรำลึกถึงได้

รูปทรง..คือการประจักษ์แจ้งในรูปลักษณ์ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้ต่อไป รูปทรงซึ่งไม่ใช่วัสดุ รูปร่าง หรือสัดส่วนที่ปรากฏให้เห็นอีกต่อไป

การออกแบบแต่ละครั้ง คือการจุดประกายแต่ละทีที่อุบัติออกมาจากรูปทรงมันเกี่ยวข้องกับวัสดุ รูปร่าง และสัดส่วน เป็นการยากที่จะกล่าวถึงงานเมื่อมันเสร็จแล้ว เพราะท่านจะรู้สึกอยู่เสมอว่ามันคงยังไม่เสร็จสักที

ข้าพเจ้าเรียกการเริ่มต้น คือความเชื่อมั่น เป็นเวลาที่การประจักษ์แจ้งของรูปทรงเกิดขึ้น เป็นความรู้สึกเหมือนเรื่องของศาสนา และความคิดเชิงปรัชญา ซึ่งไม่ใช่เรื่องราวของวัสดุ รูปร่าง และสัดส่วนในที่สุด และแล้วข้าพเจ้าก็หวลระลึกถึงการผจญภัยในการออกแบบ เมื่อความฝันกลายเป็นแรงบันดาลใจ

รูปทรงต้องสนองตอบระเบียบและกฏเกณฑ์ที่มันเป็น คนๆหนึ่งควรรู้สึกถึงงานคนอื่นเสมือนเป็นการจุดประกายการก้าวล่วง ในความอิ่มใจของความเป็นสามัญธรรมดาและในความเชื่อ

About..Richard Medical Research Building

ตึกปฏิบัติการค้นคว้าในมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียที่ข้าพเจ้าออกแบบ เป็นที่รวมความรู้แจ้งในแง่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ควรมีคุณค่าเสมือนห้องเขียนภาพ และอากาศที่หายใจต้องแยกอากาศปนเปื้อนและอากาศเสียออกจากกันโดยสิ้นเชิง โดยทั่วๆไปแบบแปลนของห้องปฏิบัติการณ์มักวางที่ว่างทำงานข้างทางเดินตรงกลาง อีกด้านเป็นที่ว่างสำหรับบันได ลิฟท์ ห้องขังสัตว์ทดลอง ท่อและงานระบบอื่นๆ แปลนแบบนี้ทำให้ตรงบริเวณทางเดินดังกล่าว มีอากาศที่หายใจผสมปนเปกับอากาศเสียที่เกิดจากการทดลองจนเป็นอากาศพิษได้ ความแตกต่างสำหรับที่ว่างในการทำงานของแต่ละคนแบ่งแยกด้วยจำนวนประตูเท่านั้น แต่สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ ข้าพเจ้าออกแบบเป็นลักษณะห้องปฏิบัติการรวมสามชุด คนทำงานแต่ละคนทำงานในส่วนจัดแบ่งเป็นส่วนๆของแต่ละคน แต่ละห้องปฏิบัติการรวมมีปล่องระบายอากาศเสียแยกย่อยในแต่ละกรณี

อาคารหลักศูนย์กลางล้อมด้วยปล่องลักษณะหอคอยสามปล่องเพื่องานระบบท่อต่างๆ ซึ่งในระบบแปลนเดิมๆจะอยู่อีกด้านของทางเดินตรงข้ามส่วนเป็นห้องทำงาน และตรงอาคารหลักนี้ยังมีปล่องระบายอากาศย่อยที่ใช้รับอากาศดีจากภายนอกเพื่อการระบบายอากาศภายในอาคาร โดยอยู่ในระยะไกลจากปล่องระบายอากาศเสียอื่นๆ การออกแบบทำนองนี้เน้นการแยกที่ว่างใช้สอยและส่วนสนับสนุนที่ต้องการอันเป็นลักษณะที่แสดงออกถึงห้องปฏิบัติการค้นคว้าทดลองอย่างเด่นชัด
จากที่กล่าวมานี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงการวางระบบการคิดและทำงานเพื่อชี้นำรูปทรง เพื่อนำไปสู่การออกแบบ แต่การออกแบบควรทำให้เกิดการรู้แจ้งของรูปทรง ในระหว่างสองสิ่งนี้ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างแน่นอนของงานสถาปัตยกรรม

ข้าพเจ้าไม่ชอบท่อ ไม่ชอบรางวางสายอุปกรณ์ต่างๆ ข้าพเจ้าเกลียดมันทั้งนั้น เพราะเกลียดสิ่งเหล่านี้จริงๆ ข้าพเจ้าเลยรูสึกว่าต้องหาที่ทางให้สิ่งเหล่านี้ หากเพียงแต่เกลียดแล้วไม่ใส่ใจ สิ่งพวกนี้ก็จะรุกรานและทำลายอาคารในที่สุด ข้าพเจ้าต้องการแก้ไขในกรณีที่ท่านอาจเข้าใจว่าข้าพเจ้าชอบสิ่งพวกนี้

About...Richard Medical Research Building...again

วันหนึ่งระหว่างที่กำลังรอเพื่อน ข้าพเจ้าสังเกตุเห็นเครื่องยกกำลังทำงานยกชิ้นส่วนหนักๆของตึกปฏิบัติการณ์ในบริเวณมหาวิทยาลัย วันก่อนๆที่เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเจ้าตัวสีแดงนี้ซึ่งมีขนาดใหญ่เกินอาคารและชิ้นส่วนที่มันกำลังยกวางเข้าที่ มันมีภาพปรากฎเสมอในทุกความก้าวหน้าของการก่อสร้างที่ข้าพเจ้าเฝ้าดู
สะท้อนให้ข้าพเจ้ารู้ว่าการออกแบบต้องถูกบังคับโดยความสามารถของเครื่องยกนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าช่วงเสาราวสองสามร้อยฟุตมีช่วงพาดกว้างมากทีเดียว ลักษณะของเสากลายสภาพเป็นที่รวมของห้องบริการ มีชิ้นส่วนประกอบเข้าด้วยกันเห็นรอยต่อและส่วนเชื่อมติดกันในแต่ละชิ้นอย่างน่าสนใจ จริงๆแล้วรอยต่อของชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล มันสะท้อนให้ข้าพเจ้าพบว่า นี่คือส่วนตกแต่งอาคารนั่นเอง

ตรงนี้รูปทรงของเสาถูกออกแบบให้สนับสนุนที่ว่างขนาดใหญ่ เพราะว่าชิ้นส่วนเหล่านี้ใหญ่เกินไปมีน้ำหนักเกินกว่าน้ำหนักของเครื่องยก ข้าพเจ้าคิดว่ามันต้องการเครื่องยกที่ใหญ่กว่านี้จนลืมเรื่องอื่นๆ ขณะนี้รอยต่อต้องการเน้นโดยการอุดรอย ในระดับเดียวกันกับที่เสาถูกบุครอบด้วยแผ่นหินอ่อน

ชิ้นส่วนกลายเป็นเส้นเลือดมีกำลังที่ผสมผสานแสดงออกของการทำงานของมัน ชิ้นส่วนเล็กๆประกอบรวมกันเข้า สะท้อนเรื่องดังกล่าวที่คิด ทันใดนั้นเครื่องยกกลับกลายเป็นความคุ้นเคยกัน

และแล้วข้าพเจ้าก็คิดถึงการปิดล้อมที่ว่าง โครงสร้างของหลังคาและผนังเดิมๆด้วยวัสดุอย่างเดียวกัน ขณะนี้เสาและคานกลายเป็นวิทยาการของคอนกรีตและเหล็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงจังหวะกับการปิดล้อม การปิดล้อมกลายเป็นตัวของมันเองโดยลำพัง

มันเหมือนราวกับว่าสามารถสร้างอาคารด้วยหินในสมัยเรเนซองค์ อาคารนี้ประกอบด้วยห้องที่ต้องการสนับสนุนที่ว่างภายในที่ยิ่งใหญ่ ถ้าคิดถึงการใช้วัสดุในปัจจุบัน การปิดหุ้มอาคารคงเป็นผนังกระจกทั้งหมด มันเน้นกระจกที่อัศจรรย์ จนกรอบแบ่งกลายเป็นกระจกไปด้วย ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้เหล็กแบ่งนี้มีบทบาทน้อยแค่เพียงเชื่อมต่อชิ้นส่วนของกระจก

เมื่อข้าพเจ้าคิดต่อไป ข้าพเจ้ารูสึกว่าทั้งหมดดูน่ารักแต่บอบบางเหมือนคนตัวเล็กเสียงดังพูดกับข้าพเจ้าว่า "หากท่านต้องการการช่วยเหลือ ขอให้ผมแนะนำ.. ผมคือโลหะไร้สนิม ผมสามารถสอนท่านถึงการเสริมกำลังให้กับตัวแบ่งและกระจก โดยไม่ไปบดบังอำนาจของมันเลย"
ตรงนี้ข้าพเจ้าได้บทเรียนใหม่ว่าวัสดุแต่ละอย่างมีสถานะของการออกแบบในงานสถาปัตยกรรมทั้งนั้น ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงเครื่องยกที่มีอิทธิพลต่อความคิดในการออกแบบด้วยประการฉนี้แล

About...Nature

มนุษย์สร้างข้อกำหนดหรือเกณฑ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฏของธรรมชาติและจิตวิญญาณ ธรรมชาติทางวัตถุขึ้นอยู่กับกฏนี้ กฏต่างๆของธรรมชาติมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ระเบียบคือตัวจัดความสัมพันธ์ของสิ่งนี้ หากปราศจากความรู้ของกฏนี้และความรู้สึกต่อกฏนี้แล้ว ทุกๆสิ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้

ธรรมชาติคือผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง จิตมีความปรารถณาในสิ่งเหล่านั้น ท้าทายธรรมชาติโดยการปรุงแต่งแสดงออกในสิ่งที่แสดงออกไม่ได้ และในสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดแน่นอนได้ ไม่มีมาตรวัด ไม่มีแก่นสาร เช่น ความรัก ความชัง ความสูงส่ง เป็นต้น แม้กระทั่ง จิตต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกซึ่งไม่สามารถกระทำได้โดยปราศจากเครื่องมือ

กฏ(ธรรมชาติ)ก็คือเครื่องมือทั้งหลาย เช่น ไวโอลิน งามออกมาจากกฏ จากแผ่นผนังของไวโอลินทั้งบนและล่าง ทำให้ก้านสีกดสายที่ถูกยกกั้นไว้ระหว่างผนังเสมือนเสากั้นที่ต่อเนื่องกัน แม้แต่เสียงที่ออกมาจากช่องเจาะผนังด้านบนที่ถูกตัดแต่งจนมองไม่เห็นคานเล็กๆกั้นผนังที่ต่อเนื่องด้านใน กฏนำไปสู่ข้อกำหนดต่างๆ ข้อกำหนดเปลี่ยนแปลงได้เสมอเพราะเกิดจากมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น

ธรรมชาติทำให้การออกแบบผ่านหลักการของระเบียบ
ธรรมชาติ ให้รู้ว่าพระอาทิตย์ตกนั้นสวยอย่างไร
ธรรมชาติไร้ซึ่งจิตสำนึก
แต่สิ่งมีชีวิตมีจิตสำนึก
ข้อกำหนดหรือเกณฑ์ มีจิตสำนึก
ขณะที่กฏไม่มีจิตสำนึก

About..Question&Answer

ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า คำถามที่ดีหนึ่งคำถามมีความยิ่งใหญ่กว่าคำตอบเป็นร้อยที่สวยหรู เพราะคำถามเกี่ยวข้องกับสิ่งที่วัดได้และสิ่งที่วัดไม่ได้

ธรรมชาติทางวัตถุเป็นสิ่งที่จับต้องได้วัดได้ ขณะที่ความรู้สึก ความฝัน วัดกันไม่ได้ ไม่มีภาษา ความฝันของแต่ละคนเป็นเอกเทศเป็นเรื่องส่วนบุคคล

คนๆหนึ่งยิ่งใหญ่กว่างานของเขาเพราะเขาสามารถสะท้อนแรงบันดาลใจออกมาได้ การแสดงออกในเรื่องดนตรีหรือสถาปัตยกรรม เขาต้องใช้วิธีการที่วัดได้เพื่อแต่งเพลงหรือออกแบบ
เมื่อใดเส้นแรกที่ปรากฏบนกระดาษถูกวัดได้ไปพร้อมกับการแสดงออกที่ยังไม่ได้เต็มที่ เมื่อนั้นเส้นแรกในกระดาษหมดความหมายลงทันที แล้วย้อนกลับไปหาความรู้สึกที่หนีจากความคิดอีก

ความรู้สึกเป็นเรื่องของจิต ความคิดมีทั้งความรู้สึกและกฏเกณฑ์ ระเบียบหรือกฏเกณฑ์หล่อหลอมให้ทุกสิ่งปรากฏออกมาแต่ไร้แรงปรารถนา ไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาปรากฏ

ข้าพเจ้าใช้คำว่ากฏเกณฑ์(ระเบียบ)แทนคำว่าความรู้ เพราะความรู้แต่ละคนมีน้อยมากไม่พอให้แสดงออกทางความคิดที่เป็นนามธรรมได้ ปรากฏการณ์ของความปรารถนาเป็นเรื่องของจิต ทุกสิ่งที่เราปรารถนาจะสร้างสรรค์มีจุดเริ่มต้นของความรู้สึกเพียงลำพัง นี่เป็นความจริงสำหรับนักวิทยาศาสตร์ และเป็นความจริงสำหรับศิลปินด้วย แต่การใส่ใจเพียงความรู้สึกอย่างเดียวละเลยกับความคิดก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

เมื่อความรู้สึกส่วนตนนำไปสู่ศาสนปรัชญา(ไม่ใช่ตัวศาสนาแต่เป็นสาระของศาสนา)และความคิดกลายเป็นปรัชญา ใจถูกเปิดออกสู่ความรู้แจ้ง รู้แจ้ง...เอาเป็นว่า ในปรากฏการณ์ความปรารถนาบนงานออกแบบสถาปัตยกรรมพิเศษในแง่วิสัยทัศน์ของที่ว่าง ความรู้แจ้งที่เป็นธรรมชาตินี้ คือการผสมผสานระหว่างความรู้สึกและความคิดขณะเมื่อจิตใจถูกปิดล้อมไว้ด้วยจิตสำนึก

ต้นเหตุของสิ่งหนึ่งที่ต้องการจะเป็น มันเป็นจุดเริ่มต้นของรูปทรง รูปทรงที่ประมวลความสัมพันธ์ของระบบต่างๆและกฎเกณฑ์ ซึ่งสะท้อนลักษณะต่อเนื่องกันไป รูปทรงไม่ใช่รูปร่างและสัดส่วน ตัวอย่างเช่น ช้อน เกิดเป็นรูปทรงที่มีสองส่วนแยกกันไม่ออก คือส่วนที่เป็นมือจับและส่วนที่เป็นแอ่งพักอาหาร

ในขณะที่การออกแบบเฉพาะเป็นช้อนเงิน ช้อนไม้ หรือช้อนวัสดุอื่นๆ ขนาดใหญ่เล็กและรูปร่างต่างๆนานา รูปทรงเกี่ยวข้องกับคำถาม อะไร? การออกแบบเกี่ยวกับคำถาม อย่างไร? รูปทรงไม่เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่การออกแบบเป็นเรื่องของแต่ละคน การออกแบบเกิดขึ้นจากการแจกแจงในแต่ละสภาวะการณ์ขณะนั้น เช่น มีงบประมาณเท่าไร ที่ตั้งและลูกค้าเป็นอย่างไร กระทำไปด้วยความชำนาญและความรู้ของผู้ออกแบบ แต่รูปทรงไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขเหล่านี้
ในเรื่องสถาปัตยกรรม มันเกี่ยวข้องกับความสอดคล้องกันของที่ว่างที่ดีเพื่อตอบสนองกิจกรรมของมนุษย์ สะท้อนถึงคุณลักษณะอันเป็นนามธรรมของที่อยู่อาศัยที่รวมความเป็นบ้านและความสุขในบ้านเข้าด้วยกัน

About..Home

คำว่าที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะเป็นบ้าน หมายรวมถึงนามธรรมของที่ว่างที่ดีต่อการอยู่อาศัย ความหมายนี้คือ รูปทรง(ของบ้าน)ที่เกิดขึ้นในใจโดยปราศจากขนาดและสัดส่วน

ความหมายนี้ในอีกแง่ คือเงื่อนไขการแปลความหมายของที่ว่างเพื่ออยู่อาศัย ความหมายหลังนี้ คือ การออกแบบ ในความเห็นของข้าพเจ้า ความยิ่งใหญ่ของสถาปนิกขึ้นอยู่กับอำนาจรู้แจ้งของเขาว่าสิ่งไหนคือบ้านมากกว่าความสามารถในการออกแบบบ้าน..ซึ่งบางสิ่งเป็นการจัดเตรียมไว้ในสภาวะการณ์ในขณะนั้น

บ้าน คือที่อยู่รวมกันกับผู้อาศัย ความแตกต่างขึ้นอยู่กับผู้อาศัยแต่ละประเภท เพราะลูกค้าเป็นผู้กำหนดขั้นตอนการออกแบบพื้นที่และความต้องการต่างๆ สถาปนิกสร้างสรรค์ที่ว่างออกมาจากพื้นที่ที่ต้องการเหล่านี้ บ้านเช่นนี้ออกแบบเพื่อครอบครัวหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าจะให้สะท้อนความจริงในรูปทรง การออกแบบต้องตอบสนองคุณลักษณะที่ดีต่อครอบครัวอื่นๆด้วย

About...Schools

โรงเรียน เริ่มต้นจากการที่คนๆหนึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ คนซึ่งไม่รู้ว่าตนเองเป็นครู กำลังสนทนาถึงความรู้แจ้งของเขากับคนอื่นอีกสองสามคนซึ่งไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นนักเรียน เขาเหล่านั้นได้สะท้อนการแลกเปลี่ยนระหว่างกันบนความดีงามที่ปรากฏบนตัวตนของคนๆนี้ พวกเขาอยากให้ลูกๆได้ฟังคนๆนี้ด้วยกัน และแล้วความต้องการที่ว่างก็ถูกสร้างขั้นเป็นโรงเรียนหลังแรกเกิดขึ้น การก่อตั้งโรงเรียนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งในแรงปรารถนาของมนุษย์

ระบบการศึกษาที่กว้างขวางรวมตัวกลายเป็นสถาบันของการเรียนรู้ของเราในปัจจุบัน เป็นแบบสำเร็จรูปและไร้แรงบันดาลใจ เพื่อให้แน่ใจ สถาบันนี้จะประกอบไปด้วยห้องเรียนเหมือนๆกัน มีตู้เก็บสัมภาระวางเรียงตลอดแนวของส่วนที่เป็นทางเดิน พร้อมกับส่วนบริการและอุปกรณ์ ถูกจัดไว้อย่างเรียบร้อย โดยสถาปนิกตอบสนองตามความต้องการและงบประมาณก่อสร้างซึ่งจำกัดโดยผู้มีอำนาจของโรงเรียน โรงเรียนลักษณะนี้ แม้ดูสวยแต่ตื้นเขินสำหรับงานสถาปัตยกรรม เพราะมันไม่ได้สะท้อนจิตวิญญาณของคนอยู่ใต้ต้นไม้เลย

อย่างไรก็ตาม มีการเริ่มต้นโดยไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งถือได้ว่าไม่มีการเริ่มต้นในทุกระบบของโรงเรียน แรงปรารถนาความมีอยู่ของโรงเรียนมีขึ้น ก่อนหน้าจะเกิดสภาวะการณ์ที่มีคนอยู่ใต้ต้นไม้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการดีกับจิตใจที่ย้อนกลับไปสู่การเริ่มต้นใหม่ เพราะการเริ่มต้นของการกำหนดกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ เป็นช่วงเวลาที่มหัศจรรย์ที่สุด เพราะในช่วงขณะนั้นจิตวิญญาณและทรัพยากรทั้งหลาย ซึ่งเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องค่อยๆระลึกถึงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจออกมา เราสามารถทำให้สถาบันของเรายิ่งใหญ่ได้ โดยการให้สถาปัตยกรรมที่เราเสนอ ได้สะท้อนถึงแรงบันดาลใจของเราให้ได้

สะท้อนชั่วขณะในความหมายของโรงเรียน ที่ต่างจากโรงเรียนหรือสถาบันทั้งหลายในปัจจุบัน สถาบันมีอำนาจก็โดยจากที่เราได้ให้ความต้องการพิเศษสำหร้บโรงเรียนนั้นๆ โรงเรียนมีการออกแบบโดยเฉพาะ ก็เพื่อความมุ่งหวังความเป็นสถาบันจากเรา แต่ โรงเรียน...จิตวิญญาณของโรงเรียน สาระของความมีอยู่ในแรงปรารถนา คือสิ่งที่สถาปนิกควรนำไปใช้ผ่านตัวกลางในการออกแบบของเขาด้วย ตรงนี้จะทำให้สถาปนิกแตกต่างจากคนออกแบบทั่วๆไป

ห้องเรียนทั่วไปในโรงเรียนเช่นนี้ ไม่ควรเอาอย่างโรงเรียนทหารธรรมดาๆ แต่ควรมีที่ว่างที่หลากหลาย สำหรับความคิดที่มหัศจรรย์ในจิตวิญญาณของคนอยู่ใต้ต้นไม้ ที่แต่ละคนสามารถระลึกถึงได้ ครูหรือนักเรียนไม่เหมือนกัน กับบางคนที่คุ้นเคยกับห้องที่มีเตาผิง หรือมีห้องขนาดสูงใหญ่สำหรับคนอื่นๆ และห้องอาหารต้องอยู่ชั้นใต้ถุนเพราะใช้กันน้อยครั้งด้วยหรือ? ช่วงเวลาพักผ่อนหลังอาหารไม่ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนด้วยหรือ?

การรู้ซึ้งถึงที่ว่างโดยเฉพาะในความคิดของโรงเรียน ควรทำให้การออกแบบเป็นเรื่องของความเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ กลายเป็นสิ่งท้าทายต่อสถาปนิกและปลุกให้ตื่นในการใส่ใจว่าอะไรคือโรงเรียนที่ต้องการจะเป็น เช่นเดียวกันกับการกล่าวถึงการใส่ใจในรูปทรงของโรงเรียน

Giotto เป็นจิตกรที่ยิ่งใหญ่ เพราะเขาเป็นศิลปินที่วาดท้องฟ้าเป็นสีดำในเวลากลางวัน และวาดนกที่ไม่สามารถบินได้ วาดสุนัขที่ไม่สามารถวิ่งได้ และเขาวาดคนมีขนาดใหญ่โตกว่าประตูทางเข้า จิตกรมีอภิสิทธิ์ในการกระทำสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะเขาไม่ต้องให้คำตอบเรื่องแรงดึงดูดของโลกหรือสร้างจินตภาพตามสิ่งซึ่งเรารู้ในชีวิตจริงๆ ในฐานะของจิตกรเขาแสดงออกด้วยการขัดแย้งกับธรรมชาติ เขาสอนเราผ่านสายตาของเขาในเรื่องความขัดแย้งต่อธรรมชาติของมนุษย์ เช่นกัน ปฏิมากรสามารถปั้นและปรับแต่งที่ว่างด้วยวัตถุที่แสดงออกถึงการขัดแย้งกับธรรมชาติ อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ แม้เราสัมผัสข้อจำกัดของกำแพงที่มองไม่เห็นนี้ แต่เราก็ยังรู้มากขึ้นถึงอะไรที่มันห่อหุ้มไว้ จิตกรสามารถวาดล้อของปืนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านสงคราม ปฏิมากรสามารถปั้นแต่งเป็นล้อเหลี่ยมได้เช่นกัน แต่สำหรับสถาปนิกล้อของปืนใหญ่ต้องเป็นวงกลม แม้ว่าจิตกรและปฏิมากรมีบทบาทสำคัญในโลกสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับที่งานสถาปัตยกรรมมีบทบาทสำคัญต่อโลกของจิตกรรมและปฏิมากรรมก็ตาม แต่มันไม่อยู่บนหลักการเดียวกัน อาจบอกได้ว่างานสถาปัตยกรรมเป็นการคิดสร้างที่ว่าง มันไม่ใช่การสนองตอบตามการชี้แนะของลูกค้า แต่เป็นการสร้างสรรค์ที่ว่างเพื่อสนองความรู้สึกถึงความเหมาะสมในการใช้สอย

About....Buildings

อาคารที่ยิ่งใหญ่ ในความเห็นของข้าพเจ้า เริ่มขึ้นจากสิ่งที่วัดกันไม่ได้ แล้วสืบต่อไปสู่สิ่งที่วัดได้ในขบวนการออกแบบแต่อีกครั้ง ในตอนสุดท้ายควรกลับกลายเป็นสิ่งที่วัดกันไม่ได้เหมือนเดิม
การออกแบบเป็นการทำสิ่งให้วัดกันได้ จริงๆแล้วในประเด็นนี้ ท่านเป็นเหมือนธรรมชาติทางกายภาพในตัวเอง เพราะทุกสิ่งที่เป็นธรรมชาติทางกายภาพหรือวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่วัดกันได้ แม้ว่าขณะนั้นยังวัดไม่ได้ก็ตาม เหมือนเช่นระยะทางระหว่างดวงดาวต่างๆในท้องฟ้าซึ่งเราคาดว่าจะวัดได้หมดในอนาคต

อะไรที่วัดไม่ได้เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ จิตแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดด้วย ข้าพเจ้าเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจิตวิญญาณของความคงอยู่ในแรงปรารถนาอาจเรียกว่าเป็นธรรมชาติที่บ่งชี้ต่อสิ่งที่มันต้องการจะเป็น ข้าพเจ้าคิดว่า ดอกกุหลาบต้องการจะเป็นดอกกุหลาบเท่านั้น

มนุษย์ถูกสร้างขึ้นจากความคงอยู่ของแรงปรารถนา ผ่านกฏของธรรมชาติในเรื่องการวิวัฒนาการ แต่มักมีผลเกิดขึ้นมาน้อยกว่าแรงปรารถนาในจิตวิญญาณของความมีอยู่ ในทำนองเดียวกัน อาคารจะมีความสมบูรณ์ก็เมื่อท่านเริ่มต้นในสิ่งที่วัดไม่ได้สืบไปสู่สิ่งที่วัดได้ต่อมา เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่ท่านสามารถสร้างมันได้ หนทางเดียวที่ท่านจะนำอาคารเข้าสู่สิ่งที่วัดได้ คือท่านต้องยึดถือกฏ แต่ในตอนท้ายเมื่ออาคารนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา มันก็จะกลับไปให้รับรู้ถึงคุณภาพที่วัดกันไม่ได้ในที่สุด ขั้นตอนการออกแบบขึ้นอยู่กับปริมาณของอิฐ วิธีการก่อสร้างและวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ แล้วต่อมาจิตวิญญาณของความมีอยู่ของอาคารก็เข้ามาแทนที่

About..City

เพราะรถยนต์เศร้าใจต่อรูปทรงของเมือง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแบ่งแยกระหว่างสถาปัตยกรรมท่อส่งสำหรับรถยนต์และสถาปัตยกรรมสำหรับกิจกรรมของมนุษย์ แนวโน้มของนักออกแบบต้องการเชื่อมสถาปัตยกรรมสองแบบนี้อย่างง่ายๆ จนสับสนต่อแนวทางการวางผังเมืองและวิทยาการที่ก้าวหน้า
สถาปัตยกรรมท่อส่งเข้าสู่เมืองตรงบริเวณรอบนอก มันต้องวางผังอย่างรอบคอบแม้ว่าจะมีราคาแพง ต้องเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เคารพต่อศูนย์กลางเมือง สถาปัตยกรรมท่อส่งนี้จะรวมถนนที่เคยอยู่ในเมืองเข้าด้วยกันเป็นอาคาร อาคารที่มีห้องของท่อและส่วนบริการอื่นๆใต้ตัวเมือง จึงทำให้ไม่มีอุปสรรคในการจราจรเมื่อมีการซ่อมแซมเกิดขึ้น สถาปัตยกรรมท่อส่งจะรวมแนวคิดของถนนต่างๆเข้าด้วยกัน มันจะแยกส่วนระหว่างจุดเคลื่อนที่และจุดหยุดการเคลื่อนที่ของรถเมล์และรถยนต์ส่วนบุคคล บริเวณที่เป็นเส้นทางด่วนจะเปรียบเหมือนแม่น้ำ แม่น้ำต้องการท่าจอดเรือ ส่วนถนนเปรียบเสมือนคลองต้องการท่าเทียบเรือ
อาคารรับรองของสถาปัตยกรรมท่อส่งนี้คือท่าจอดเรือ ลักษณะเป็นประตูทางเข้าที่ใหญ่โตสะท้อนรูปทรงของสถาปัตยกรรมแห่งการหยุดเคลื่อนที่ อาคารรับรองนี้ประกอบไปด้วยอาคารจอดรถตรงบริเวณศูนย์กลาง มีอาคารโรงแรมและร้านค้าขนาดใหญ่โดยรอบ บริเวณศูนย์การค้าอยู่ตรงระดับชั้นของถนนต่างๆ ยุทธวิธีการจัดวางตำแหน่งรอบใจกลางเมืองนี้ จะเป็นแนวความคิด ในการป้องกันเมืองที่จะโดนทำลายโดยรถยนต์ ในความรู้สึกที่ว่าเมืองกับรถยนต์กำลังทำสงครามกันอยู่ขณะนี้

การวางแผนสำหรับการขยายตัวใหม่ของเมืองจะไม่กระทำกันอย่างเฉยเมยอีกต่อไป แต่จะกลับกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมีความกระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา การแยกส่วนของสถาปัตยกรรมสองแบบนี้ สถาปัตยกรรมท่อส่งและสถาปัตยกรรมของกิจกรรมมนุษย์ จะส่งผลการเติบโตที่มีตรรกและมีสถานะภาพที่มั่นคงต่อการพัฒนาเมือง
เมืองเกิดจากการรวมตัวของสถาบันต่างๆ ที่กำหนดขึ้นและมีการสนับสนุนโดยประชาชนเมือง การศึกษา รัฐบาล และที่อยู่อาศัย คือสถาบันต่างๆดังกล่าว เมื่อสถาปนิกเริ่มงาน อาคารที่เขาออกแบบจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันอันใดอันหนึ่ง ก่อนที่ลูกค้าจะพึงพอใจในความต้องการของเขา ซึ่งจะโดนบังคับให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางสังคม อันต้องถือเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจในการออกแบบกันเลย
ข้าพเจ้าไม่สามารถทำนายสถาปัตยกรรมในอนาคตได้ ขอเพียงให้ทำงานกันภายใต้กฏของการรวมตัวกันก็พอแล้ว ทำให้สถาปัตยกรรมที่อยู่ในกฏเกณฑ์ใหม่เหมือนระบบกฏหมายต่างๆที่กลายเป็นส่วนร่วมรวมระเบียบทางกายภาพและธรรมชาติของมวลมนุษย์เข้าด้วยกัน นี่คืออำนาจที่มนุษย์จะก้าวข้ามข้อจำกัดของตนได้
เช่น คนๆหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าต้องการบินเหมือนนก หรืออยากว่ายน้ำอย่างปลาและวิ่งได้อย่างกวาง ก็จะสามารถทำได้ ท่านอาจพูดได้ว่า..ใบโคลบเวอร์คือเจ้าเสือชีต้านั่นเอง อะไรๆที่ท่านต้องการ แทนที่จะเป็นการมองในแง่ดีเพียงการแก้ไขเมือง ควรเป็นการจัดระเบียบทางกายภาพเสียใหม่ ทำในสิ่งที่รถยนต์ต้องการ คือสถาปัตยกรรมของการเคลื่อนไหวหรือสถาปัตยกรรมท่อส่ง(รถยนต์) สถาปัตยกรรมนี้จะให้จินตภาพในแง่บวกสำหรับเมืองสมัยใหม่ ซึ่งทำให้จุดเปลี่ยนต่างๆของการสัญจรมีการเชื่อมต่อและสัมพันธ์แก่กันและกัน

About..Conclusion

รูปทรงเกิดจากความประหลาดใจ ความประหลาดใจแยกแขนงมาจากสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ ผนวกกับเรื่องราวที่เราถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ในแง่หนึ่ง ธรรมชาติบันทึกกระบวนสร้างนี้ไว้ อะไรๆที่เกิดขึ้นนั้นจะถูกบันทึกไว้รวมกับว่ามันถูกสร้างขึ้นได้อย่างไร

จะสัมผัสกับบันทึกนี้ได้ก็ด้วยความประหลาดใจ ความประหลาดใจเป็นบ่อเกิดของความรู้ แต่ความรู้ต้องเกี่ยวข้องกับความรู้อื่นๆบนความสัมพันธ์ในรูปของระเบียบในความสอดคล้อง เกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กันและกันอย่างไรจึงทำให้สรรพสิ่งปรากฏขึ้น จากความรู้นำไปสู่ระเบียบ ทำให้เรากลับไปสู่ความประหลาดใจที่จะต้องกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะทำให้ความประหลาดใจเกิดขึ้นได้อย่างไร" ...(อาเมน)

This is dedicated to my teacher..Louis I Kahn

y.na nagara ที่ 06:40
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น

หน้าแรก
ดูเวอร์ชันสำหรับเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
รูปภาพของฉัน
y.na nagara
ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน
ขับเคลื่อนโดย Blogger.
htps://yongyudh.blogspot.com


About Louis I Kahn

Thursday 5 June 2008
The Notebooks&Drawings of Louis I Kahn
From..the notebooks and drawings of Louis I. Kahn
Edited and Designed by
Richard Saul Wurman and Eugene Feldman,1962

Natural light...Natural light

The space.. will be without value in terms of architectural place.  If there is no natural light  The artificial light  It's just the night light that shines from the lamps installed in the permanent position.  It is incomparable to natural light that changes throughout the day.

Location.. the entrance, corridor, branched from the distribution of light.  familiar entrance  It can happen with a space that has elements of form related to independent architecture.  this architectural space  as important as the main blank  Although these spaces are designed only through passages  But it must be designed to get natural light thoroughly.

The architecture of this connection  It does not appear in the space requirements program.  which the architect presents to the client  or even while searching for other suitability in architecture  or even while defining the design direction

Customer asks for space  while the architect has to offer the answer to the space
Customers think of the passageway in their hearts.  Architects had to figure out the reasons for this interesting archway to walk.
budget customer  Architects must respond with reasonable or economically viable means.
The customer talks about the first room.  The architect had to enrich this entrance room as a place of power and elegance.

that architecture  related to space  which arises from thoughtful and meaningful  architectural space  It is where the structure manifests itself in that space.  A wide-span structure, even with great effort, should not impede internal partitioning.  Architectural art arises from examples of spaces stacked on top of each other.  without deception  but for the wall that divides the space under the dome  will destroy the spirit of the dome  because the structure of the dome designed  is defined by the light that shines within  from the arch under the beam  The sphere of the dome and its support columns form a structure that conforms to the nature of natural light.

Natural light evokes the mood of an empty space with the softness of the beams that change at different times of the day.  each season of the year  which eventually causes changes in the properties of the space over time.

About..The realm of Architecture

One day.. while I was a child.  I'm copying a painting of Napoleon.  Napoleon's left eye in the picture is very difficult.  I had to erase and rewrite it several times to my dissatisfaction. Suddenly, my father bent down to help me edit it. Afterwards, I crumpled the drawing and threw it in the middle of the room with a pencil.  immediately  with shouting that  "This..not my painting anymore..not anymore" because two people can't write the same picture absolutely and I believe that someone who is skilled in copying paintings should be treated.  Check and edit from the artist who owns the original image only.

The true euphoria that comes from painting  It has its own unique character and quality.  which imitators cannot imitate at all  individual abstraction with  Correspondence between story and idea  They can't be copied as well.

Albi that appears today  I felt a belief in the selection of its architectural elements.  With joy and excitement merging from the beginning of the work until the end of the work.  I painted a picture of St.Cecile Cathedral, Albi from the bottom up to the top.  as if I was building it  I am truly blessed.  Even the patience in construction no one needs.  But I drew it without getting bored despite having to constantly correct the proportions for accuracy.  because I wanted to search to feel the excitement that was going on in the mind of the architect at that moment.

It's like taking notes in music.  that expresses the structure and melody for hearing  The floor plan is a rating.  or writing songs for a specific player  Reveal the structure and composition of the space in natural light.  The plan reflects the constraints of the architectural shape.  while the shape is the harmony of the system  It is the driver of alternative design.  The plan thus reveals the emergence of architectural shapes.

For an architect, the things of the world appear in the context or realm of architecture.  As he walked through the trees, he didn't see the chapter of the Botanist.  but seen in terms of relationship with his identity  He painted the tree in such a way that he imagined it growing.  because he misses its growth  Every human activity has to do with the world as an individual person.  Other people's activities are linked to their own specific activities.

a couple of years ago  When I visited Careassonne for a while, I walked through the entrance.  I started my journal by drawing.  because of the imagination  will allow me to learn from the dreams that come true later  because I began to study from this memory of connections.  The vibrant proportions and details of those grand buildings  I spent most of the day in the open courtyard in the middle.  along the fortress, the surrounding defense wall and the towers  Without paying attention to proper proportions and clear details.  near the end of the day  So I tried to redefine the shape and arrangement of buildings in a different relationship than the original.

The editors of magazines  Often choose to take sketches in a few projects.  Choose everything that is emotional and evolving, rather than just picking out the design of the big project.  This choice makes new architects like writers or painters with a blank sheet of paper.  where he can record every step of the development or improvement of what he wants to achieve.

A sketchbook of a painter, sculptor or architect should be different.  sketch painter to draw  Sculptor sketching for sculpture  As for architects, drawing or drawing for its construction in the end About...the Pantheon

Refer to the Pantheon in Rome, which is considered one of the great buildings.  Greatness has many facets.  On the one hand, it is a reflection of solid beliefs and opinions on the building dedicated to religion and free ceremonial spaces.  clearly reflected the feelings  It showcases one great leader's belief in designing a pointless dome space.  It is as if architecture is expressed as a world nestled in our big world.  It reflects well.  with a refined adjustment in the form of a single circular aperture in the center of the top of the dome.  This building does not have a prototype.  Its stimuli are clear and full of faith and power.  "Need to be" gives design inspiration as much as desire in its shape.

Today's buildings require an atmosphere of faith from architects in their design work.  Faith can arise from the awareness that  New institutions want to emerge and manifest themselves in empty spaces.  New beliefs come with new institutions that express new spaces and new relationships.  Intelligence in architecture manifests itself in the sense of a uniquely shaped institution as a new model.  is a new start  I believe that beauty can be created freely and freely.  Beauty is born out of the will to be.  This may be due to the first manifestations in a very ancient manner.  Comparable between Paestum and the Parthenon, Paestum's ancient beginnings.  It was the moment when the wall passed.  and the pillars became like music to play in the architecture

Paestum inspired the Parthenon, who was considered more beautiful, although Paestum was still beautiful to me.  Because it presents an initiative that combines surprises.  and always followed by alertness  new elements of the pole  It is like a rhythm of enclosing and opening spaces, giving the impression of accessing that space.  It is like holding the spirit of architecture.  or religious beliefs that influence our current architecture

About..Structure of Building

In the Gothic era, the architecture was built of solid stones.  Today architects can build it with hollow stones.  Space is defined by structural elements where each part is equally important.  The size of the space starts from the gap that is covered with insulating plates.  air channel for lighting  and heat blows through  until the space is larger enough for people to walk through or stay  the expressive desire of the gap  Born from the design of structures based on growing interest.  and work that has evolved to lead to a harmonious structure  The shapes that were used in the experiment came from knowledge closer to nature and from the invention of more accurate principles.

Habitual design led to the concealment of the structure until there was no place to refer to the rules anymore.  This habit made the development of art become mentally retarded.  I believe that architecture is like all arts.  Artists often use intuition as a way to preserve traces of how it was created.

in my feelings  Today's architecture needs augmentation to enhance our visual satisfaction.  until obscuring the process of combining the parts together  Structures are often separated to meet the required system tasks for different rooms or spaces.  The ceiling often hides the structure to reduce its size or proportion.  If we practice to draw like we are building from the bottom up to the top.  In position, when we stop the pencil, it becomes the mark of the construction junction.  The decorations will occur here, indicating the creation process.  And there is also the need to hide the source of unwanted lighting and pipes of the system work that is attached to the structure. Therefore, the feeling of structure and space to react with each other is lost.  The desire to express how it was made was often overshadowed through the construction process.  Passed on to architects, engineers, builders and artisans.

About..Beginning

Let's start in the age of belief in shapes.

Design...is a clear indication of such beliefs.

Construction...  is an activity that arises from defining systems and rules  But when the job is finished  The beginning should be remembered.

Form..is manifested in the form that cannot be separated any further.  A shape that is no longer a material, shape, or proportion that is visible.

each design  It is that each spark that emerges from a shape involves material, shape, and proportion.  because you will always feel that it is not finished yet

I call the beginning  is confidence  It is the time when the manifestation of the form takes place.  It's a religious feeling.  and philosophical thinking  which is not a matter of material, shape and ultimately proportions.  And then I reminisce about the adventure of design.  When dreams become inspiration

Shapes must satisfy the rules and rules they are.  One should feel the other's work as a spark of advancement.  in the satisfaction of commonality and in faith

About..Richard Medical Research Building

The research building at the University of Pennsylvania that I designed.  It combines intelligence in a scientific laboratory sense.  should be as valuable as a painting room  And the breathing air must completely separate the contaminated air and the polluted air.  Generally, the floor plan of the laboratory usually places a working space next to the middle aisle.  On the other side are spaces for stairs, elevators, animal cells.  Pipes and other system works  This type of plan makes it occupy the area of ​​the walkway.  The inhaled air is contaminated with the polluted air produced by the experiment until it becomes toxic.  The difference for each working space is separated only by the number of doors.  But for this university  I designed it as a combination of three laboratories.  Each worker works in their own divisions.  Each combined laboratory has a separate exhaust chimney in each case.

The central main building is surrounded by three tower chimneys for various piping works.  which in the original plan system will be on the other side of the corridor opposite the working room

And at the main building, there is also a sub-ventilation chimney that is used to receive good air from the outside for indoor air ventilation.  by being at a distance from other exhaust chimneys  A design like this emphasizes the separation of space and required support, a characteristic that is prominently expressed by a research laboratory.
  from the foregoing  I don't mean to systematize thinking and working to guide shapes.  to lead the design  But the design should bring about the enlightenment of the shape.  in between these two  It's definitely an exciting piece of architecture.

  I don't like pipes  I don't like the cable rails.  I hate it.  because I really hate these things.  So I felt that I had to find a way for these things.  If only hating and not caring  These will eventually invade and destroy buildings.  I would like to make amends in case you may understand that I like these things.

  About...Richard Medical Research Building...again

  One day while waiting for a friend  I noticed that the lifters were working lifting heavy parts of the laboratory building on the university grounds.  Watching the movement of this red one the other days, it was too big for the building and the parts it was putting into place.  It was always present in every construction progress I watched.
  It reflected to me that design must be governed by the capabilities of this lifter.  I think the span of a few hundred feet of pillars is quite wide.  The appearance of the pillars became a collection of service rooms.  There are parts that come together to see the joints and the connecting parts in each of them interestingly.  Actually, the joints of these parts are clearly visible from a distance.  It reflected to me that  This is the decoration of the building itself.

  Here, the shape of the pillars is designed to support a large space.  Because these parts are too big, they weigh more than the weight of the lifter.  I thought it needed a bigger lift that I forgot about other things.  Now the seam needs to be emphasized by filling the seam.  At the same level the columns were covered with marble slabs.

  The piece becomes a powerful vein that combines the expression of its function.  Small parts are put together  reflecting on the thought  Suddenly, the lifters became familiar.

  And then I thought about blocking the empty space.  The structure of the same roof and walls with the same material.  Columns and beams are now the technology of concrete and steel capable but with no rhythmic relationship with enclosing.  The blockade became itself alone.

  It was as if a building could be built with stone during the Renaissance period.  This building consisted of rooms that needed to support a grand interior space.  If thinking about the use of materials today  The cladding of the building would be all glass walls.  It highlights a wonderful mirror.  until the divider becomes a mirror  I don't want this divider to play a small role just by connecting the pieces of glass.

  when I think further  I felt that all of them looked cute but fragile, like a little man loudly saying to me,  "If you need help  Let me suggest..  I am stainless steel  I can teach you how to strengthen dividers and mirrors.  without overshadowing its power."
  Here I have learned a new lesson that each material has a design state in architecture. Therefore, I am reminded of the lifters that have influenced design thinking in this way.

  About...Nature

  Humans create requirements or criteria which are related to the laws of nature and spirituality.  The material nature depends on this law.  The laws of nature are related and related to each other.  Regulations are the organizers of this relationship.  Without the knowledge of this law and the feeling of this law  Everything can't happen

  Nature is the creator of everything.  The mind has desires for those things.  Challenging nature by embellishments and expressions that cannot be expressed.  And in things that cannot be determined, without measure, without substance, such as love, hate, exaltation, etc., even the mind wants to express feelings that cannot be done without tools.

  Laws (nature) are instruments such as the violin. Beauty comes out of the law.  from the top and bottom panels of the violin  causing the color rod to press the cable that was held between the walls like a continuous barrier.  Even the sound coming from the cutout in the upper wall was so trimmed that the small beams blocking the continuous wall could not be seen.  Rules lead to requirements.  Requirements are always subject to change because they are man-made.

  Nature makes design through principles of order.
  Nature to know how beautiful the sunset is.
  unconscious nature
  But living beings have consciousness.
  requirements or criteria have a conscience
  while the law has no conscience

  About..Question&Answer

  I learned that  One good question is more than a hundred beautiful answers.  Because the question concerns what can be measured and what cannot be measured.

  The material nature is tangible and measurable.  While feelings and dreams cannot be measured, there is no language, each person's dream is individual.

  A person is greater than his work because he can reflect inspiration.  Expression in music or architecture  He had to use a measurable approach to compose music or design.
  When the first line that appears on the paper is measured along with the immature expression  Then the first line in the paper immediately lost meaning.  and then go back to find the feeling that escaped the thought again

  Feeling is a matter of the mind.  Thoughts have both feelings and rules.  Rules or regulations forge all things to appear but without desire.  no wish appeared

  I use the word rules (regulation) instead of knowledge.  Because each person's knowledge is so little, it is not enough to express abstract ideas.  The phenomenon of desire is a matter of the mind.  Everything we desire to create has its beginnings alone.  This is true for scientists.  And it's true for artists too.  But focusing only on feelings and ignoring thoughts will do nothing.

  When personal feelings lead to philosophy (not the religion itself but the subject of religion) and thoughts become philosophy.  The mind is opened to enlightenment.  enlightened...let's just say  In the phenomenon of desire on special architectural design in terms of space vision.  This natural intelligence  It is a combination of feelings and thoughts when the mind is surrounded by consciousness.

  The cause of one thing I want to be  It was the beginning of the shape.  Shapes that process the relationships of systems and rules.  which reflects the continuous nature  Shape is not shape and proportion. For example, a spoon forms a shape with two inseparable parts.  is the handle and the resting basin

  while the unique design is a silver spoon, wooden spoon or other material spoon.  large and small and various shapes  The shape is related to the question What?  How about designing questions?  Shape is not an individual matter.  But the design is an individual matter.  The design is made up of distributions for each situation at that time, such as how much is the budget.  How are the locations and customers?  done with the expertise and knowledge of the designer  But the contours are not related to these conditions.
  in architecture  It is related to the coherence of good space to satisfy human activities.  It reflects the abstract features of living that combine home and happiness in the home.

  About..Home

  The term housing that looks like a house  This includes the abstraction of spaces that are good for living.  this meaning is  The shape (of the house) arises in the mind without size and proportion.

  In other words, this meaning  is the interpretation of space for living  The latter meaning is design, in my opinion.  The greatness of an architect depends more on his enlightenment as to what is a house than on his ability to design a house..something is provided in the circumstances of that moment.

  A home is an address that is shared with the inhabitants.  The differences depend on each type of inhabitant.  Because the customer determines the space design process and needs.  Creative architects free the space out of these desired areas.  A house like this is designed especially for one family.  If to reflect the truth in form  The design must meet the attributes that are good for other families as well.

  About...Schools

  School starts with a person under a tree.  a person who does not know he is a teacher  was discussing his intelligence with a few others who did not know they were students.  They reflected the exchange between them on the goodness that appeared in this person's identity.  They wanted their children to listen to this person together.  And then the need for vacancy was created as the first school was born.  Establishing a school is inevitable.  because it has become part of the human desire

  The broad educational system condenses into the institutions of our present day learning.  It is ready-made and uninspired to be sure that the institution will consist of the same classrooms.  There are lockers for luggage along the corridor.  along with services and equipment  neatly arranged  The architects responded to the needs and construction budgets limited by the school authority.  school like this  Although it looks beautiful, it is shallow for architecture.  because it did not reflect the spirit of the people under the tree at all.

  However, it started out inconsistent with human nature.  This is regarded as not being initiated in every school system.  The desire for the existence of the school was born.  Prior to the situation where people were under the trees, it was good for the mind to go back to the beginning.  because of the initiation of defining human activities  It's the most amazing moment.  because at that moment the spirit and resources  It is imperative that we slowly remember to inspire.  We can make our institutions great.  By providing the architecture we offer  can reflect our aspirations

  Momentary reflection in the meaning of school  which is different from schools or institutions nowadays  Institutions are empowered by the fact that we provide special needs for that school.  The school is specifically designed.  It's for our institutional aspirations, but the school...the spirit of the school.  The essence of existence is in desire.  It is something the architect should use through the medium of his design as well.  This will make architects different from general designers.

  A typical classroom in a school like this  Shouldn't take it like a normal military school.  But there should be a variety of spaces.  For the wondrous thoughts in the souls of people under the trees  that each person can remember  Teachers or students are not the same.  with someone familiar with a room with a fireplace  or have a large room for other people  And the dining room has to be in the basement because it's rarely used?  Shouldn't the post-meal break be part of school too?

  Awareness of space, especially in the school's mind.  It should make design a matter of being an institution of learning.  It becomes a challenge for architects and awakens to care about what the school wants to be.  The same goes for the attention to shape of the school.

  Giotto was a great painter.  Because he is an artist who paints the sky black during the day.  and draw a bird that can't fly  Draw a dog who can't run.  and he painted people larger than the entrance door.  The psychic has the privilege of doing these things.  Because he doesn't have to answer the gravity of the world or create an image based on what we know in real life.  As a painter, he expresses himself in contradiction with nature.  He teaches us through his eyes the contradiction of human nature as well. A sculptor can shape and manipulate spaces with objects that express contradictions with nature.  However, the architecture has limitations in this regard.  Even if we feel the limitation of this invisible wall  But we also know more about what it encapsulates.  Artists can draw the wheel of the cannon into squares to express their resistance to war.  Sculptors can also sculpt into square wheels.  But for an architect, the cannon's wheels must be circles. Although painters and sculptors play an important role in the architecture world,  Just as architecture plays an important role in the world of painting and sculpture.  But it's not on the same principle.  It can be said that architecture is the idea of ​​creating space.  It's not a response to the advice of a customer.  but creating a space to satisfy a sense of suitability

   About....Buildings

   A great building in my opinion begins with the immeasurable.  and then continue to what is measured in the design process, but again  In the end, it should turn out to be something that cannot be measured again.
   Design is about making things measurable.  In fact, on this point  You are like your own physical nature.  Because everything that is physical or material nature is measurable.  although at that time it was not yet measurable.  Like the distance between the stars in the sky, which we expect to be measured in the future.

   What is not measured is spiritual.  The mind also expresses feelings and thoughts.  I believe it is something that cannot be measured.  I feel that the spirit of persistence in desire might be called indicative nature of what it wants to be.  I think  A rose only wants to be a rose.

   Human beings are created from the persistence of desire.  through the laws of nature in the matter of evolution  but often has less effect than desire in the spirit of existence in the same way.  Because it's the only way you can create it.  The only way for you to lead a building into something that can be measured.  is that you must adhere to the rules  But in the end when that building becomes a part of our lives.  It will return to the perception of quality that cannot be measured in the end.  The design process depends on the volume of bricks.  construction methods and related engineering, etc., and then later replaced the spirit of the building's existence.

About..City
  
Because the cars are saddened by the shape of the city.  I felt it was time to make a distinction between pipeline architecture for automobiles and architecture for human activities.  Designers tend to want to connect these two architectures simply.  until confused with the approach of urban planning and advanced technology
  
Pipeline architecture into the city occupies the periphery.  It requires careful layout, even if it's expensive.  It must be a strategic point that respects the city center.  This pipeline architecture combines the streets that used to be in the city into buildings.  A building with pipe rooms and other services under the city.  Therefore, there are no obstacles in traffic when repairs take place.  The pipeline architecture combines the concept of roads.  It separates between the moving and stopping points of buses and private cars.  The expressway area is like a river.  The river needs a marina.  As for the road, like a canal, needs a jetty.
  
The building for this pipeline architecture is the marina.  Its appearance is a huge entrance that reflects the shape of the stop-motion architecture.  This lounge consists of a car park in the center.  There are hotel buildings and large shops around.  The shopping center area is at the level of various roads.  Strategic placement around the city center  will be a concept  To protect the city that will be destroyed by cars.  In the sense that cities and cars are at war now.

Planning for a new urban expansion is no longer passive.  But it turns out to be urgent, enthusiastic all the time.  The separation of these two architectures  Pipeline architecture and the architecture of human activities  It will result in logical growth and a stable status for urban development.
  
Cities are formed by the merger of various institutions.  established and supported by city citizens, education, government and housing  are such institutions  When architects start work  The building he designed must be part of an institution.  before the customer is satisfied with his needs  which will be forced to be part of social institutions  which must be considered as the basis of design decisions
  
I cannot predict future architecture.  Let's just work together under the rules of incorporation.  The architecture that is in the new rules is like various legal systems that have become part of the physical and natural order of mankind together.  This is the power by which human beings can transcend their own limitations.
  
For example, a person whom I believe wants to fly like a bird.  Or want to swim like a fish and run like a deer?  it can be done  You might say.. the clover leaf is the cheetah.  anything you want  Instead of just optimism fixing the city.  It should be a physical reorganization.  do what the car wants  It is the architecture of movement or the architecture of the pipeline (car). This architecture gives a positive image for a modern city.  which makes the various turning points of traffic are connected and related to each other.

   About..Conclusion

   The shape was born of surprise.  Astonishment branched from the intangible.  How do we combine this with the story that we've been created?  What happened is recorded along with how it was created.

   This record can be touched by surprise.  Astonishment is the source of knowledge.  Rather, knowledge must be related to other knowledge on the relationship in the form of order in how consistent, relevant, and interrelated it is to make things appear.  From knowledge to order  brings us back to the surprise that must be said.  "How can I make a surprise happen?" ...(Amen)

   y.na nagara at 06:40
   No comments:
   comment
   ›
   home page
   View web version
   about me
   my picture
   y.na nagara
   view all my profile
   Powered by Blogger.
   htps://yongyudh.blogspot.com

About Louis I Kahn

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551
Essays for Louis I Kahn
Essay 1 แปลและเรียบเรียงจาก
The Gift of Light
by Quoc Doan

เด็กน้อยช่างสงสัยวัยสามขวบ เป็นบุตรช่างทำกระจกสีชาวยิว จ้องมองเปลวไฟสีเขียวที่กำลังลุกไหม้จากก้อนถ่านหิน มีความประหลาดใจกับแสงที่ปรากฏ แทนที่มันจะเป็นเปลวสีแดงหรือสีน้ำเงินเช่นปกติ ขณะที่เขาค่อยๆ จ้องดูเข้าใกล้เปลวไฟนั้น เผอิญเป็นเหตุให้ก้อนถ่านหล่นตกลงบนฟูกที่เขากำลังนั่งอยู่ เปลวไฟได้ลุกไหม้ขึ้นจนเกือบทำให้ไฟไหม้ท่วมตัวเด็กน้อยคนนั้น กระนั้นก็ตาม เปลวเพลิงได้ไหม้ใบหน้าและมือข้างหนึ่งของเขา จนกลายเป็นรอยไหม้ปรากฏอย่างถาวรในเวลาต่อมา มารดาซึ่งเป็นหญิงที่มีการศึกษาอย่างดีทางศิลปะและประเพณี เชื่อมั่นว่านี่เป็นลางบอกเหตุแห่งอนาคตของเด็กน้อยผู้นี้

ต่อมาเมื่อเขาเติบโตขึ้น ก็ได้กลายเป็นสถาปนิกชั้นแนวหน้าผู้หนึ่งของศตวรรษที่ ๒๐ ด้วยการออกแบบเน้นรูปทรงเรขาคณิตของสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างที่ว่าง และ ประโยชน์ใช้สอย คุณค่าการออกแบบที่เด่นชัดจะเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ที่ผูกพัน กับ แสงธรรมชาติ Louis Isadora Kahn ถูกจัดเป็นสถาปนิกสำคัญ ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมต่อ ระหว่าง สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และ หลังสมัยใหม่นิยม ในเวลาต่อมา ผลงานของเขาเป็นที่กล่าวขานและสร้างแรงบรรดาลใจในการเรียนรู้ของสถาปนิกรุ่นหลังตลอดมา ถือว่าเป็นผู้ที่ได้สัมผัส “the gift of light.” อย่างแท้จริง ดังความเชื่อของมารดา

Louis Kahn เติบโตในเมือง Philadelphia สหรัฐอเมริกา เผชิญอุปสรรคต่างๆมากมายกว่าจะได้บรรลุถึงความเป็นอัฉริยะ ในทางศิลปะและสถาปัตยกรรม ยังต้องคอยระวังในเรื่องบุคคลิก และการโดนล้อเลียนจากรอยแผลเป็นในวัยเด็ก ครูเป็นผู้สร้างความเชื่อมั่นให้เขาในความมีทักษะในการเขียนแบบ เขียนภาพ และยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่น ให้กับตนเองเมื่อชนะการประกวดภาพวาดแห่งเมือง Philadelphia ระหว่างปีการศึกษาสุดท้ายของการศึกษาระดับมัธยม เขาได้เลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม อันเป็นเหตุทำให้เขาตัดสินใจเลิกล้มแผนการที่จะศึกษาต่อด้านจิตรกรรมในมหาวิทยาลัย ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เขาได้รับการเสนอให้ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะ ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เขาเปลี่ยนไปเข้าศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมต่อมา แต่ก็ไม่ละเลยความสนใจต่อจิตรกรรม ซึ่งเขายังคงชื่นชอบอยู่เสมอมา ที่ University of Pennsylvania ..Louis Kahn ศึกษาสถาปัตยกรรมในแนว Beaux-arts อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการความคิดในการออกแบบของเขาต่อๆมาในภายหลัง หลังจากจบปริญญาทางสถาปัตยกรรม เขาได้มีโอกาศดูงานสถาปัตยกรรมทั่วยุโรป แทนที่จะสนใจสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เขากลับสนใจสถาปัตยกรรมในอดีต เช่น พวกอาคารในเมืองเก่า Carcassonne ของฝรั่งเศส จากประสบการณ์ในครั้งนั้น เขายังหวลรำลึกถึงอยู่เสมอว่า

“It was a great architectural event, centuries ago, when the walls parted and the columns became. The column is the greatest event in architecture, the play of shadow and light , of infinite mystery, The wall is open. The column becomes the giver of light.”

อันเป็นสิ่งเตือนใจถึงอำนาจของ "the gift of light" แสงธรรมชาติ เป็นข้อคำนึงที่สำคัญของการออกแบบโครงสร้างอาคาร ไม่ใช่การเปิดหน้าต่างที่กว้างขวาง หากแต่การให้แสงสอดแทรกเข้าสู่ภายในอาคาร เพื่อการแยกแยะที่ว่างและรูปทรงทางเรขาคณิตของอาคาร การแยกประเภทของที่ว่างอย่างชัดเจน ระหว่างพื้นที่ "serve or master" และพื้นที่ "servant" ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการออกแบบ Richardson Medical Laboratory (1957-1965) ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย การเสนอบรรยากาศของห้องปฏิบัติการของนักวิทยาศาสตร์ เป็นเช่นเดียวกับห้องเขียนภาพของจิตรกร ควรเป็นที่ว่างที่มีชีวิตชีวาและสุขสบายสำหรับการทำงาน ห้องที่อบอุ่นด้วยแสงธรรมชาติ จึงเป็นความต้องการที่จำเป็น ตามคำอ้างที่ว่า

“No space you can devise can satisfy these requirements. I thought what they should have was a corner for thought, in a word, a studio instead of slices of space.”

เขาจัดเรียงกลุ่มห้องปฏิบัติการ สามกลุ่ม เชื่อมต่อกันด้วยปล่องเป็นที่รวมพื้นที่ของ "servant" ไว้ด้วยกัน ประจำแต่ละกลุ่มของห้องปฏิบัติการ โครงสร้างอาคารที่ออกแบบสนับสนุน เป็นระบบสำเร็จรูป คอนกรีตเสริมเหล็ก ทำส่วนยื่นไว้ตรงมุม เป็นการพัฒนาสุนทรีย์ของโครงสร้างที่ก้าวหน้าในยุคนั้น คุณค่าอย่างเดียวกันในการจรรโลงความเป็นมนุษย์ ด้วยแสงธรรมชาตินี้ ถูกนำมาพัฒนาต่อไป ในงานออกแบบ Salk Institute (1959-1965) ที่ La Jolla เป็นลักษณะของการออกแบบชุมชน แยกออกเป็นส่วนๆ ส่วนค้นคว้าเป็นอาคารกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองหลัง วางคู่ขนาน มีลานสะท้อนแสงตรงกลาง ไกลออกไปตรงเนินด้านล่าง เป็นส่วนพักอาศัย ทุกอาคารหันรับแสงธรรมชาติโดยตรงจากด้านมหาสมุทรแปซิฟิค Louis Kahn เน้นแสงธรรมชาติ ปรากฏผ่านรูปทรงสถาปัตยกรรมทางเรขาคณิตอย่างชัดเจน งานออกแบบในระยะเริ่มแรก Yale Art Gallery ที่เมือง New Haven ในรัฐ Connecticut เขาให้แสงกระจายเข้าสู่ภายในอาคารในระดับต่ำ ทำให้เพดานซึ่งเป็นโครงประสานของรูปปิระมิดสามเหลี่ยม สะท้อนให้ปรากฏชัดเจน เพดานลักษณะนี้ยังเป็นที่เก็บซ่อนท่อ และกระจายแสงประดิษฐ์ได้ดีอีกด้วย ดังที่เขา กล่าวไว้ว่า

“better distribution of the general illumination without any diminishment of the opportunities for specific illumination.”

ยังเป็นการเน้นความมีอำนาจทางโครงสร้างของอาคารอีกด้วย การใช้รูปทรงหลักทางเรขาคณิต ยังคงเน้นใช้ต่อเนื่องไปถึงโครงการออกแบบ อาคารรัฐบาลที่ Dacca ในประเทศ Bangladesh (1962-1974) เป็นการใช้อิฐเป็นวัสดุหลักของโครงสร้าง เสริมงานคอนกรีตตรงส่วนเจาะ เป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ การจัดวางเป็นชั้นซ้อนกันหลายชั้น (layers) เพื่อคุณค่าของแสงธรรมชาติ สอดแทรก กระจาย เข้าสู่ที่ว่างสำคัญๆภายในอาคาร สะท้อนการพัฒนาต่อเนื่อง จากอาคารโบราณในอดีตที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับงานออกแบบอาคารห้องสมุด ที่ Philip Exeter Academy เน้นคุณค่าของแสงธรรมชาติเหมือนกัน กล่าวโดยสรุป ให้ความสำคัญของการออกแบบในแนวคลาสสิค เน้นความพิศวงของแสงธรรมชาติที่ปรากฏภายในและภายนอกอาคาร ที่กำหนดจากรูปทรงทางเรขาคณิตที่เคร่งครัด เป็นการปลุกชีวิตแห่งความรุ่งโรจน์ของสถาปัตยกรรมในแนว Beaux arts เปลี่ยนจากความกลัว "the gift of light" ในอดีตแต่เยาว์วัย มาเป็นความกล้า ในการใช้สร้างสิ่งที่มีคุณค่ากับงานสถาปัตยกรรม ที่ต้องกล่าวขานจนถึงปัจจุบันนี้

Essay 2 แปลและเรียบเรียงจาก
That What You Desire and That What Is Available
by Marchelle Rice
(กรณีศึกษา..The Salk Institue. La Jolla, California, USA.)

Louis Kahn เป็นสถาปนิกชาวยิว อพยพมาจาก Estonia ในรัสเซีย เป็นผู้สร้างสถาปัตยกรรมให้โดดเด่น ในลักษณะของความมีแง่มุมกำแพงและที่ว่าง สร้างความเป็นธรรมชาติของอาคารที่มีรูปทรงที่เคร่งครัด เขาเกิดในปี 1901 ที่รัสเซีย และย้ายมาพำนักในสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน เคยชนะการประกวดวาดภาพและเขียนรูป ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยม ศึกษาและได้รับปริญญาตรีทางสถาปัตยกรรมในปี 1925 จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้รับการสอนในแนว Beaux Arts จากศาสตราจารย์ Paul P. Cret แล้วก็ได้ทำงานในสำนักงานของอาจารย์ท่านนี้ ในระหว่างปี 1929-1930 อิทธิพลทางความคิดบางส่วน ได้รับแรงบรรดาลใจจากเพื่อน Buckminster Fuller และ Frederick Kiesler ในงานออกแบบช่วงปี 1930s และ 1940s. เป็นเวลานานร่วมสามสิบปี ก่อนรับงานออกแบบ The Salk Institute เขาได้ออกแบบอาคารอื่นไว้มากมาย รวมทั้งพวก homes, synagogues, dormitories and medical facilities จากประสบการณ์ของการออกแบบที่ผ่านมา เป็นผลของการพัฒนา ไปสู่งานออกแบบ The Salk Institute. La Jolla, California. ต่อมา เขาเคยกล่าวไว้ว่า
"Inspiration is to express our inclination."

Kahn เชื่อว่าผลลัพท์ของการออกแบบ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ plan แต่ขึ้นอยู่กับหลักการออกแบบอื่นอีกมากมาย เช่น form, content, and context ดังนั้น ความประสงค์ทั้งหมดในการออกแบบ The Salk Institute แสดงออกโดยส่วนต่างๆเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานค้นหาคำตอบ จากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ได้มุ่งแสวงหาเพื่อชื่อเสียงในการรักษาโรคเหล่านั้นให้หายโดยตรง แต่มุ่งมั่นเพื่อบรรลุความปารถณาแห่งตนเองที่ยิ่งใหญ่เหนือขึ้นไปอีก ฉันใดฉันนั้น สำหรับสถาปนิกเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทั้ง Kahn และ Salk เห็นตรงกันว่า นอกเหนือจากการออกแบบ เพื่อการใช้งานแล้ว อาคารจะต้องให้คุณค่าของแรงบรรดาลใจแก่ผู้อยู่และผู้มาเยี่ยมเยียนด้วย เขาจึงไม่สามารถออกแบบอาคารอย่างธรรมดาบนสถานที่นี้ได้ หากต้องการสร้างสิ่งเร้าใจ เพื่อผสมผสานความปารถณาแห่งตน กับความบรรดาลใจของวิทยาการสมัยใหม่ในปัจจุบันด้วย

The Salk Institute จึงถูกสร้างสรรค์ให้เป็นศูนย์กลาง ที่อุทิศเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ คุณค่า และสุขภาพทั้งมวล เพราะถ้า นักวิทยาศาสตร์ ปารถณาเพียงเพื่อหาคำตอบของการขจัดเชื้อโรค อันเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บของสุขภาพเพียงอย่าง เดียวแล้ว ขบวนการนั้นก็ไม่พอเพียงกับการให้การช่วยเหลือ อย่างที่สุดและเด็ดขาดได้ เหมือนคำกล่าวของ Kahn ที่ว่า "That which you desire and that which is available" ในความหมายสองนัยคือ ความสงบ (Silence) และ ความสว่าง ( Light) รูปทรงของอาคารนี้ ประกอบขึ้นมาจากส่วนต่างๆ ที่แสดงออกมาในรูป ของ สี เส้น รูปทรง แสง และ ความสมดุลป์ของสถานที่ก่อสร้าง ผลลัพท์การออกแบบเขา คือการสร้างภาพของความเหงียบ ความสันโดษ แทนดั่งชีวิตของนักวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ความเหงียบสร้างปัญญาไปสู่การค้นพบความรู้ Kahn พยายามสร้าง สภาพแวดล้อมของการทำงาน ให้เกิดผลทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แสง น้ำ และ อากาศ จึงเป็นประโยชน์อย่างเหลือเฟือ ในการแสวงหาความคิดที่จำเป็น ในการค้นหา คำตอบได้ โดยการวางตำแหน่งอาคารในจุดเนินสูงที่หันหน้าสู่มหาสมุทร ซึ่งเป็นบ่อเกิดทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ดังแสงสว่างในความมืด (ในมหาสมุทร) ทำให้เกิดอนาคต (เกิดสิ่งที่มีชีวิต)

ความคิดนี้ ดูออกจะซับซ้อนในความเข้าใจในกรณีของสถานที่ตั้ง แต่ความเรียบง่ายในการจัดองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม พอจะเข้าใจได้จาก ภาพที่มองเห็นจากกลุ่มอาคารที่กระจายในสถานที่ เรียงตามแนวของชายฝั่ง บริเวณที่ลานโล่ง ระหว่างตึกปฏิบัติการ Luis Barragan ภูมิสถาปนิก ชาวแม๊กซิกัน กำหนดให้เป็นลานคอนกรีตแข็งที่ปราศจากต้นไม้ ยกเว้นช่องแบ่งลาน เป็นทางน้ำไหล ลักษณะโดยทั่วไป เสมือนเป็นกระจก หรือ ผืนผ้าใบเขียนภาพของจิตรกร สะท้อนภาพของท้องฟ้าที่ชัดแจ้ง อาคารสร้างความรู้สึกดูมั่นคงต่อการต้านพายุ ที่อาจผ่านเยือนสถานที่ตั้งได้ ในบางโอกาศ วัสดุสำหรับอาคารจึงต้องทนทาน ต่อสภาพ ของดินฟ้าอากาศ ในบริเวณนั้น เช่น ลมพายุ ลมที่มีสารของเกลือเจือปน อากาศที่ร้อนอบอ้าวในบางฤดูของรัฐแคลิปฟอเนีย วัสดุเช่น ไม้สักเคลือบผิว คอนกรีต สำหรับภายนอก และ สเตนเลสสตีล คอนกรีต ไม้สัก สำหรับภายใน ผิวคอนกรีต ที่มีสีค่อนไปทางแดง ใช้กับภายนอก ทำให้ลักษณะอาคารทั่วไป ดูคล้ายอาคารโบราณในสมัยโรมัน (Pozzolana architecture) ที่เขาชื่นชอบ การกำหนดวัสดุไม่มากชนิด ทำให้อาคารที่ปรากฏดูเรียบง่าย แต่ความคิดในรายละเอียดบางส่วน เช่นผนังคอนกรีตสำเร็จ ทำให้แนวรอยต่อและผืนผนังทั้งหมดดูน่าสนใจ การแสดงออกทางความเรียบง่ายของอาคาร ดูเหมือนเป็นการช่วยลดความยุ่งเหยิงในจิตใจของ นักวิทยาศาสตร์ ที่มีความจำเป็นต้องหมกมุ่นอยู่กับปัญหาที่ซับซ้อนเป็นประจำอยู่แล้ว แนวแกนหลักการวางอาคาร อยู่ในแนวตะวันออกและตะวันตก ในแนวแกนหลักของที่ตั้งนี้ เป็นที่ตั้ง อาคารพักอาศัย ลานเปิดโล่ง และอาคารปฏิบัติการ สองหลัง Kahn และ Salk เห็นตรงกันว่า มหาสมุทร และท้องฟ้า เป็นสิ่งที่ได้มาเพื่อตอบสนองให้เกิดแรงบรรดาลใจกับนักวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาของการพักผ่อนได้อย่างดี เป็นตัวเชื่อมนักวิทยาศาสตร์เข้าไว้กับธรรมชาติ ความ ร่วมมือกันอย่างดี ระหว่าง สถาปนิกกับเจ้าของอาคารเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่หาได้ยาก คุณค่าต่างๆจึงบังเกิดขึ้น เช่น การเชื่อมบรรยากาศของโลกศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

ในสถานที่นี้ อาคารหลักของโครงการนี้ คือตึกปฏิบัติการสองหลังและอาคารพักอาศัย อาคารปฏิบัติการมีความยาว ๒๔๕ ฟุต เพดานสูง ๑๑ ฟุต มีช่วงพาดยาว ๖๕ ฟุต ใช้ระบบคานชนิด vierendeel truss โครงสร้างอาคารทั้งหมด ออกแบบป้องกันแผ่นดินไหว ตามเทศบัญญัติ อาคารของรัฐแคลิปฟอเนีย ผนังภายในสามารถเปลี่ยนเคลื่อนย้ายได้ เพื่อความเหมาะสมกับ การติดตั้ง หรือ เพิ่มเติมเครื่องมือต่างๆ เหนือเพดานเป็นพื้นที่สำหรับท่อและอุปกรณ์อื่น มีความสูง ๙ ฟุต สามารถเข้าไปตรวจซ่อมความเสียหายได้สะดวก อาคารปฏิบัติการและสถานที่พักอาศัย Kahn จัดเป็นความคิดของพื้นที่ "serve" และส่วนบริการ เช่น ห้องเครื่องระบบน้ำ ห้องแก๊ส ห้องทำ ความร้อน ห้องเครื่องปรับและระบายอากาศ จัดเป็นส่วนพื้นที่ "servant" ของอาคาร Kahn คิดว่า ถ้าไม่แยกส่วนของอาคารดังกล่าวนี้ ส่วนบริการบางสิ่งจะทำความยุ่งเหยิงให้อาคารในภายหลังได้

งานสร้างสรรค์ที่ The Salk Institue นี้เกิดจากบุคคลสองคนที่มีความปารถนาตรงกัน Kahn เป็นศิลปิน ที่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ในขณะ ที่ Dr. Salk เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่มีความคิดเป็นศิลปิน มีความต้องการพื้นฐาน คือ ต้องการสร้างสถานที่ เพื่อเชิญศิลปิน เช่น Picasso ให้มาเยือนได้ ด้วยความพากภูมิใจ ทั้งสองมุ่งสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ที่มีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ และเปี่ยมล้นด้วยแรงบรรดาลใจ ในการแสวงคำตอบ จากความมืด ไปสู่ ความสว่าง ความมืดเป็นที่ทำงานของจิตใจ พัฒนาไปสู่ความสว่าง อันเป็นที่ทำงานของกายต่อไป จนบรรลุผล เป็นการค้นหาด้วยแรงปารถนา ที่ไกลเกินจากสิ่งจำเป็นที่ต้องการ จากความเหงียบ นำไปสู่ความสว่าง เป็นความปารถณา ที่จะทำให้บังเกิดขึ้นกับงานสร้างสรรค์ที่ The Salk Institue นี้ Kahn ได้เปิดเผยความปารถนาภายในของตนเอง ออกมาปรากฏในงานออกแบบนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจในปี ๑๙๗๔ ด้วยผลงานของเขา จะเป็นดังคำกล่าวที่ว่า

"What was has always been, what is has always been and what will has always been"
Bibliography

1. Henderson, Brain. A Delicate Balance. Architecture (July 1993): 46-49. 2. Kieffer, Jeffery, Criticism: A Reading of Louis Kahn's Salk Institute Laboratories, Architecture and Urbanism 271 (1993): 3-17. 3. artists,many. Modern Architecture. New York: Times Press, 1989. 4. Steel, James. Architecture in Detail: Salk Institute, Louis I. Kahn. London: Phaidon Press Limited, 1993. 5. Tyng, Alexander. Beginnings: Louis Kahnนs Philosophy of Architecture. New York: John Wiley and Sons, Inc., 1984. 6. Venturi, Robert, Salk Addition:Pro and Con, Architecture ( July 1993): 41-45. Endnotes (by the author in the original text) 1. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 6.2. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 10.3. James Steele, Architecture in Detail: Salk Institute (London: Phaidon Press Limited,1993), 24 .4. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 6. 5. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 45. 6.. Patrick Pacheco, A Sense of Where You Are, Art and Antiques (December 1990), 117. 7. Pacheco, 117. 8. James Steele, Architecture in Detail: Salk Institute (London: Phaidon Press Limited,1993), 24. 9. Steele, 42,43. 10. Jeff Kieffer, Criticism: a Reading of Louis I Kahn's Salk Institute Laboratories, Architecture and Urbanism (1993), 6. 11. Kieffer, 3. 12. Micheal Crosby, The Salk Institute: Appraising a Landmark,Progressive Architecture (October 1993), 44. 13. Jeff Kieffer, Criticism: a Reading of Louis I Kahn's Salk Institute Laboratories, Architecture and Urbanism (1993), 3. 13. Micheal Crosby, The Salk Institute:Appraising a Landmark, Progressive Architecture (October 1993), 43. 14. Alexander Tyng, Beginnings (New York :John Wiely and Sons,1984), 140. 15. Alexander Tyng, Beginnings (New York :John Wiely and Sons,1984), 140. 16. Micheal Crosby, The Salk Institute: Appraising a Landmark, Progressive Architecture (October 1993), 43. 17. Alexander Tyng, Beginnings (New York :John Wiely and Sons,1984), 140. 18. James Steele, Architecture in Detail: Salk Institute (London: Phaidon Press Limited,1993), 24. 19. Steele, 37. 20. Alexander Tyng, Beginnings (New York : John Wiely and Sons,1984), 140. 21. Ibid., 36 22. Ibid., 4 23. Ibid., 4 24. Micheal Crosby, The Salk Institute: Appraising a Landmark, Progressive Architecture (October 1993), 43. 25. William J.Curtis, Modern Architecture (London: Phaidon Press Limited,1996), 613. 26. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 33. 27. Richard Saul Wurman, What will be Has Always Been; Words of Louis I. Kahn (New York: Access,1986), 27. 28. Ibid.,189
see also:
http://calvin.cc.ndsu.nodak.edu/Arch/Kahn/Kahn.html
http://home.earthlink.net/~lkuper/arkitect/Kahn.html
http://www.skewarch.com/archi-lab/
y.na nagara ที่ 06:18
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น


หน้าแรก
ดูเวอร์ชันสำหรับเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
รูปภาพของฉัน
y.na nagara
ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

About Louis I Kahn

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551
Modulor Man
Louis I. Kahn (1901-74)

Kahn ได้รับการฝึกฝนในรูปแบบการศึกษาของ Beaux-Arts tradition ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania สมัย Paul P. Cret เป็นผู้อำนวยการ เขาเริ่มทำงานในสำนักงาน Cret's office ในช่วงปี 1929-30. ในปี 1930s ถึง 40s เคยร่วมงานทางความคิดที่ท้าทายกับ Buckminster Fuller และ Frederick Kiesler. ต่อมาได้พัฒนาความคิดของประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ไปสู่การสร้างสรรค์ระเบียบที่ต่อเนื่องกันและกัน จากรูปแบบโครงสร้างที่บึกบึนเดิม เขากำหนดที่ว่าง ในความหมายของความทึบที่เกิดจากกำแพงอิฐ ด้วยโครงสร้างที่โปร่งใส ดูเข้าใจง่าย ในองค์ประกอบทางเรขาคณิต รูปแบบเป็นทางการ มีแกนปรากฏอย่างชัดเจน เป็นลักษณะปรากฏที่สำคัญของ ที่ว่าง และรูปทรงอาคารที่เกิดขึ้นตามระเบียบวิธีการของความเป็น Beaux-Arts tradition. Kahn's architecture เน้นคุณภาพทางอารมณ์ รื้อฟื้นความทรงจำในอดีตของอาคารก่ออิฐโบราณที่ขาดหายไป

จุดต่างทางทฤษฎีของ Kahn's คือ การกำหนดตรงประโยชน์การใช้สอย แต่ขยายปรัชญาที่เป็นสาระการใช้สอยของอาคารมากขึ้น "human institution" เป็นที่ซึ่งอาคารต้องตอบสนองให้บังเกิดขึ้น "human institutions" ก่อกำเนิดจากแรงบรรดาลใจของการมีชีวิตอยู่ที่ดี ในสามประการ คือ แรงบรรดาลใจที่จะเรียนรู้ แรงบรรดาลใจที่จะพบกันและกัน และแรงบรรดาลใจที่จะอยู่อย่างปกติสุข และสิ่งเหล่านี้ เขาก็พยายามสะท้อนความคิดในด้านการศึกษาด้วย

"I think of school as an environment of spaces where is good to learn. Schools began with a man under a tree, who did not know he was a teacher, discussing his realization with a few who did not know they were students . . . the existence-will of school was there even before the circumstances of a man under a tree. That is why is good for the mind to go back to the beginning, because the beginning of any established activity is its most wonderful moment."
ปรัชญาข้างต้นนี้ สะท้อนถึงคำตอบในงานสร้างสรรค์ของเขาในทางรูปทรงสถาปัตยกรรม อาคารไม่ใช่การก่อเกิดของการจัดที่ว่าง และรูปทรง อย่างเฉื่อยชา แต่ควรก่อให้เกิดความมีชีวิตชีวา สร้างสรรค์โดยสถาปนิก เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ บ่อยครั้งที่เขามักตั้งคำถาม "What does the building want to be?" นี่เป็นการตอบสนองการสร้างระเบียบที่กว้างขวางไร้ขอบเขตจำกัด เขาทำให้ปรากฏในงานออกแบบระยะหลัง ด้วยการแสดงออกของขบวนการก่อสร้าง ที่ปรากฏได้ชัดเจนทางรูปทรงสถาปัตยกรรม ประโยชน์ใช้สอยต้องรวมอยู่ในรูปทรงทางสถาปัตยกรรม แต่ต้องค้นพบได้จากขบวนการออกแบบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น ความงาม ไม่ใช่สิ่งที่เขาให้ความสนใจในทันที แต่เป็นความจริงที่แสดงออกมา และเหมาะสมกับประโยชน์ที่มุ่งหมาย ตามความคิดเขา เป็นส่วนเกี่ยวข้องกับความประสงค์ที่เรียกร้องให้ปรากฏขึ้น เขาสรุปไว้ว่า ลักษณะพื้นฐานและคุณสมบัติของอาคารต้องการการค้นหาให้ปรากฏ ต้องใส่ใจ ต้องสรุปรวมไว้ ให้เกิดขึ้นให้ได้ในรูปทรงของสถาปัตยกรรม และแล้ว ความงามของสถาปัตยกรรมนั้น ก็จะบังเกิดขึ้นในที่สุด

Kahn ให้ความสำคัญกับ แสงธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งทำให้สถาปัตยกรรมมีชีวิตได้ ไม่เหมือนแสงประดิษฐ์ ซึ่งคงที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นความตาย. Light ในความคิดเขา ไม่เพียงทำให้มนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆได้เท่านั้น แต่เป็นสาระในตัวมันเอง มันเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ซึ่งกฏเกณท์และสาระต่างๆถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน เขาพิศวง ธรรมชาติของแสงที่เป็นเส้นโค้ง คุณสมบัติที่ให้ผลทางจิตวิทยาและความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่มหัศจรรย์ ในความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ของวันเวลาและฤดูกาล Kahn มองเห็นองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ในรูปของ column, arch, dome, and vault, ในความสามารถที่กำหนด แสงและเงา ให้ปรากฏขึ้นในงานสถาปัตยกรรม ในปี 1939, Kahn ปฏิเสธความคิดง่ายๆ ที่ยึดถือกันในสังคม เช่น ลัทธิประโยชน์ใช้สอยนิยม จะต้องสามารถสะท้อนคุณประโยชน์ให้เด่นชัด ในโครงการศึกษา Rational City (1939-48) เขามองเห็น ความต้องการที่ทำให้เกิดความแตกต่างชัดเจน ระหว่าง สถาปัตยกรรม "viaduct" ท่อลำเลียงน้ำ (Le Corbusier's "Ville Radieuse") และอาคารในลักษณะของความเป็นมนุษย์ การจัดวางแผนผังส่วนกลางของเมือง Philadelphia เขาพยายามนำรูปแบบเก่า ของ Piranesi's Rome ในยุคปี 1762 มาประยุกต์ใช้กับเมืองในสมัยใหม่ การเปรียบเทียบถนนทางด่วนเหมือนแม่น้ำ ถนนที่มีสัญญานไฟจราจร เหมือนลำคลอง เขาระมัดระวัง ต่อความขัดแย้งของรถยนต์และเมือง และการเชื่อมต่อที่ล้มเหลว ระหว่าง ผู้บริโภคกับศูนย์การค้าในชนบท และความเสื่อมโทรมของศูนย์กลางชุมชนหลักๆในเมือง เขาเสนอคำตอบในความคิดของ "dock" ท่าจอดเรือ (1956) ประกอบเป็นอาคารปล่องกลมสูง ๖ ชั้น สำหรับที่จอดรถ จุได้ 1,500 คัน ล้อมรอบด้วยกลุ่มอาคารทั่วไปสูง ๑๘ ชั้น ในลักษณะคำนึงถึงขนาดใกล้เคียงสัดส่วนของมนุษย์

Kahn ออกแบบโครงการสำหรับ Philadelphia City Hall (1952-7) มี Ann Tyng เป็นผู้ร่วมงาน โครงการนี้ได้รับอิทธพลความคิดจากผู้ที่เคยสนใจเรื่องเดียวกันมาก่อน คือ Buckminster Fuller จากความคิดพื้นฐานของ geodesic skyscraper ซึ่งประกอบด้วยพื้น เป็นหน่วยๆ รูปปิระมิดสามเหลี่ยม เป็นโครงสร้างสูงที่สามารถตอบสนองการต้านแรงลมโดยตรง,

ในปี 1954, ผลงานออกแบบ Yale Art Gallery เน้นสาระสำคัญของ กำแพง พื้น และ เพดาน อย่างเด่นชัด ประกอบเป็นปริมาตรที่ว่างสำคัญ รูปหกเหลี่ยม กำเนิดจากรูปโค้งกลม เป็นที่ตั้งของบันได กล่องโค้งกลมนี้เป็นส่วนของ "servant" และพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมอื่น เป็น "served" สถาปัตยกรรมที่ไม่สมดุลป์นี้ ไม่ขึ้นอยู่กับหลักการใด ของการประกอบเป็นโครงสร้างโดยทั่วๆไป แต่เป็นการจัดแจงพื้นแผ่นผืนที่ไร้ข้อจำกัดในการสนองการรับแสงธรรมชาติ การจัดที่ว่าง และเสารองรับภายในอาคาร

ในปี 1957, Louis Kahn มีชื่อเสียงในการออกแบบอาคาร Richards Medical Research (1957-61) ให้กับ the University of Pennsylvania ในเมือง Philadelphia. กล่องกำแพงอิฐที่เป็นช่องท่อต่างๆ แสดงออกเหมือนปล่องระบายควันไฟจากเตาผิงในบ้าน ห้องปฏิบัติการผนัง กระจก สะท้อน ภาพหอคอยป้องกันภัยของสถาปัตยกรรมในยุคกลาง หรือเมืองตามภูเขาในอิตาลี่ หลักการสำคัญในการออกแบบ Richards Laboratories คือการกำหนดความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่าง ที่ว่างของ "served" และ "servant" ห้องปฏิบัติการผนังกระจกเป็น "served spaces" แยกจากปล่องอิฐสูงที่ทำหน้าที่เป็น "servant spaces" แต่ละอัน ต่างมีโครงสร้างเป็นอิสระจากกัน ความคิดที่ซับซ้อนในการออกแบบ เป็นวิธีการของเขาที่กำหนดเป็นการรวมตัวของหน่วยหลัก ที่ต่อเนื่องกันเป็นแนว ยอมรับการขยายตัวของชุมชน ที่เน้นเป็นปัญหาสำคัญในสมัยนั้น

ในปี 1959, เขาออกแบบ First Unitarian Church ที่ Rochester New York (1959-63). แนวคิดหลักของโบสถ์ คือ ที่ประกอบพิธีตรงกลาง ทางเดิน และ โรงเรียน ถูกจัดล้อมรอบตามที่นิยมกัน งานออกแบบขั้นสุดท้าย ประกอบด้วย กล่องจตุรัสสองกล่องรวมกันอยู่ตรงกลาง มีปล่องสูง ๔ ปล่องแยกกันอยู่ตรง ๔ มุม ซึ่งเป็นที่รับ และกระจายแสงธรรมชาติไปทั่วบริเวณภายในห้องประกอบพิธีของโบสถ์

ในปี1962, เขาออกแบบอาคาร National Assembly ในเมือง Dacca ประเทศ Bangladesh (1962-74) เป็นวางการซ้อนกันของกำแพงอิฐหลายส่วน (layers) โดยรอบ ก่อนถึงที่ว่างชั้นในสุด ที่เป็นห้องประชุมใหญ่ ห้องแถลงข่าว ห้องประชุมย่อย และห้องสวดมนต์ ซึ่งวางแนวตรงไปที่นครเมกกะ ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ให้ลักษณะเด่นชัด เช่นเดียวกับป้อมปราการในอดีต แนวคิดเรื่องการวางแนวซ้อนหลายชั้นนี้ เพื่อผลการกรองรับแสงธรรมชาติ และผ่านตรงส่วนตัดเฉือนของกล่อง ที่ประกอบด้วยกำแพงก่อโชว์แนว เสริมบางส่วนด้วยโครงคอนกรีตตรงช่องเปิด คุณสมบัติที่เกิดขึ้นนี้ อ้างว่าเขาได้รับแรงบรรดาลใจจากความคิด "brise-soleil" ของ Le Corbusier โดยสรุปความคิด เขาบันทึกไว้ดังนี้ "I thought of the beauty of ruins . . . of things which nothing lives behind . . . and so I thought of wrapping ruins around buildings."

ในปี 1966-ผลงานออกแบบ Kimbell Art Museum ในเมือง Fort Worth, Texas (1966-72), ใช้แนวคิดของหน่วยซ้ำของโครงสร้างผิวเปลือกโค้งทางเดียว แต่ละหน่วย (barrel-vaulted bay) มีขนาด 20 ฟุต x 100 ฟุต วางต่อเนื่องเป็น ๖ แถวขนานกัน แต่ละโค้งเป็นแนวยาว ทำหน้าที่เป็นเหมือนคานยาว ความกว้างโค้ง ๒.๕ ฟุต ลึกถึงฐานตรงคานขอบ ๑๐ ฟุต ส่วนบนสุดของโค้ง เจาะช่องแสงยาวติดแผงโลหะ "natural lighting fixture" ผิวมันโค้ง เพื่อกระจายแสง "silver light" แล้วรวมตัวกับบริเวณสวนปฏิมากรรม เป็น "green light" ลงด้านล่างภายในอาคาร

เรียบเรียงจากบางส่วน หรือทั้งหมดจากเอกสารต้นฉบับที่ผลืตโดย
Bret Thompson
Paul Holje
Jack Potamianos

http://calvin.cc.ndsu.nodak.edu/Arch/Kahn/Kahn.html

Louis I Kahn is considered to be one of the great master builders of our time. This is an educational compilation of his work and history. You may use the navagation bar at the top to explore other parts of this profile.
"You can never learn anything that is not a part of yourself."
B a c k g r o u n d T i m e l i n e
1901: Born in Osel, Estonia
1905: Came to Philidelphia, USA
1928: Studied classical architecture in Europe
1937-1939: Participated in Public Housing Projects
1947: Taught at Yale Univ.
1955: Taught at Univ. of Pennsylvania
1965: F.A.I.A. Medal of Honor Danish Architectural Association,
1971: Gold Medal, A.I.A.,
1972: Royal Gold Medal for Architecture, R.I.B.A.,
1974: Passed away
F a m o u s S t r u c t u r es ..............Year .........................Location
Yale Univ. Art Gallery ...................1951-53 ............New Haven, Connecticut
Newton Richards Medical Research Building 1957-65 Philidelphia, Pennsylvania
First Ulitarian Church and School ...1959-69 ...........Rochester New York
Salk Institute for Biological Studies ..1959-65 .............La Jolla, California
Philip Exeter Academy Library ..........1965-72 ...........Exeter, New Hampshir
Kimbell Art Museum ...........................1966-72 ............Fort Worth, Texas
Sher-E-Bangladesh Nagar: National Capital of Bangladesh Assembly Hall *(completed by D.Wisdom & Associates) ..1962-83 ........Daka, Bangladesh
__________________________________________________
y.na nagara ที่ 03:34
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น

หน้าแรก
ดูเวอร์ชันสำหรับเว็บ
เกี่ยวกับฉัน
รูปภาพของฉัน
y.na nagara
ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

This is dedicated to my teacher..Louis I Kahn